เดินตามทางของบัณฑิต ( ๑ )

วันที่ 05 กค. พ.ศ.2549

 

.....บุคคลควรแบ่งของน้อยให้ตามน้อย ควรแบ่งของปานกลางให้ตามปานกลางควรแบ่งของมากให้ตามมาก การไม่ให้ย่อมไม่ควรการสร้างบารมีเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องสร้างกันทุก ๆ วัน โดยไม่ให้มีการว่างเว้น ตั้งแต่ทานบารมี ศีลบารมีเรื่อยไป จนกระทั่งถึงอุเบกขาบารมี เราเกิดมาเป็นมนุษย์ก็เพื่อการนี้ การที่มีกายมนุษย์นับว่า เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการสร้างบารมี ยิ่งเราเป็นสัมมาทิฏฐิ เข้าใจเรื่องบาปบุญคุณโทษ ยิ่งสร้างบุญบารมีได้เต็มที่ เพราะเรารู้ถึงอานิสงส์ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น เราควรทุ่มเท สร้างความดีอย่างไม่หยุดยั้ง จะได้ชื่อว่า เกิดมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ได้สร้างบารมีซึ่งเป็นงานที่แท้จริง สิ่งที่เราควรทำควบคู่ไปกับภารกิจประจำวัน คือ หมั่นทำใจหยุดใจนิ่งไปพร้อมๆ กัน เพื่อจะได้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง คือ พระรัตนตรัยภายใน

 

มีวาระพระบาลีในสุธาโภชนชาดกว่า

“อปฺปมฺหา อปฺปกํ ทชฺชา อนุมชฺฌโต มชฺฌกํ

พหุมฺหา พหุกํ ทชฺชา อทานํ นูปปชฺชติ

 

บุคคลควรแบ่งของน้อยให้ตามน้อย

ควรแบ่งของปานกลางให้ตามปานกลาง

ควรแบ่งของมากให้ตามมาก การไม่ให้ย่อมไม่ควร”

 

.....มนุษย์ทุกคนดำรงอยู่ได้ด้วยการให้ ชีวิตของเราตั้งแต่ถือกำเนิดมาจน ลมหาย ใจเฮือกสุดท้าย ต้องเกี่ยวพันกับการเป็นผู้ให้และผู้รับ เริ่มต้นเราได้ชีวิตจากการให้ของบิดามารดา เมื่อเติบโตขึ้นก็ได้รับการเลี้ยงดู เมื่อศึกษาเล่าเรียน ก็ได้ความรู้จากครูบาอาจารย์ บางครั้งเราก็เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ โดยเฉพาะการเดินทางข้ามวัฏสงสารอันยาวไกลนั้น เราต้องให้สิ่งที่ดีเพื่อจะได้สิ่งที่ดีติดตัวไป และเมื่อเราให้สิ่งที่เลิศผลบุญอันเลิศย่อมจะบังเกิดขึ้น ผลทานที่ทำไปนั้นไม่สูญหายไปไหน จะเป็นสิ่งที่ติดตามตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ คอยอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ให้เราเป็นผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ กระทั่งได้นิพพานสมบัติใน ที่สุด

 

.....ครั้งนี้ มีเรื่องราวการให้ทานของบัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน ซึ่งมีเนื้อหาที่ค่อนข้างยาว ทว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และมีสาระที่จะช่วยสนับสนุนให้เรารักในการสั่งสมบุญยิ่ง ๆ ขึ้นไป

 

.....เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่งผู้มีอัธยาศัยในการบำเพ็ญทาน ก่อนที่จะตัดสินใจเข้ามาบวช ท่านเป็นลูกของเศรษฐีในเมืองสาวัตถี เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนา ของพระศาสดาก็มีจิตเลื่อมใส ได้ขออนุญาตบิดามารดาออกบวช เพื่อแสวงหาหนทางหลุดพ้นจากทุกข์

 

.....เมื่อบวชแล้ว ท่านเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ประกอบด้วยธุดงคคุณ มีเมตตาจิตแผ่ไปในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ประมาทในการบำรุงพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ วันละ ๓ ครั้ง และเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจริยาวัตรที่งดงาม มีเสขิยวัตรที่น่า เลื่อมใสศรัทธามาก

 

.....คุณสมบัติพิเศษของท่านซึ่งเป็นที่สรรเสริญของเพื่อนสหธรรมิก คือ แม้ท่านจะบวชมาหลายพรรษา ท่านก็ยังมีอัธยาศัยชอบในการให้ทานเป็นปกติ ยินดีในการดำรงตนเป็นผู้ให้มากกว่าการเป็นผู้รับ ได้บำเพ็ญสาราณียธรรมจนครบถ้วนบริบูรณ์ เมื่อรู้ว่ายังมีปฏิคาหก คือ ผู้ต้องการจะรับสิ่งของของท่าน ท่านจะไม่หวงแหนไว้เลย ทั้งๆ ที่บางครั้งตัวท่านเองก็อยากเก็บไว้บ้าง แต่ก็ยอมตัดใจถวายสิ่งของนั้นไปจนหมด บางวันอาหารบิณฑบาตที่รับมา มีเพียงพอเฉพาะตัวท่านรูปเดียวเท่านั้น แต่เมื่อเห็นว่าเพื่อนสหธรรมิกรูปอื่นยังไม่ได้อาหาร และลำบากมาหลายวัน ท่านก็ยอมที่จะอดอาหารมื้อนั้น เพื่อที่จะได้ให้ทานสงเคราะห์เพื่อนพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้น ชื่อเสียงของท่านจึงได้ปรากฏในหมู่ภิกษุว่า เป็นผู้มีอัธยาศัยในการจำแนกทาน ยินดีในการให้เป็นอย่างยิ่ง

 

.....วันหนึ่ง ภิกษุสงฆ์ได้สนทนากล่าวสรรเสริญคุณของท่านในโรงธรรมสภาว่า เป็นผู้มีอัธยาศัยในการจำแนกทาน ยินดียิ่งในการให้ ตัดความโลภได้ แม้มีน้ำประมาณเพียงซองมือหนึ่ง ก็ยังถวายเพื่อนพรหมจรรย์จนหมด เธอมีอัธยาศัยดุจพระโพธิสัตว์ ผู้รักในการให้ทาน และรักในการสร้างบารมียิ่งชีวิต

 

.....พระบรมศาสดาทรงได้ยินถ้อยคำเหล่านั้น ด้วยพระโสตธาตุอันบริสุทธิ์ ทรงตั้งพระทัยว่า จะยกย่องคุณธรรมของภิกษุรูปนี้ให้สูงเด่นยิ่งๆ ขึ้นไป จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี

 

.....พลางตรัสถามเรื่อง ที่ภิกษุกำลังสนทนากัน นี่เป็นธรรมเนียมอีกอย่างหนึ่ง ของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ว่า แม้พระองค์จะทรงรู้เรื่องราวต่างๆ ด้วยอานุภาพพุทธญาณ แต่จะไม่ตรัสดักใจหรือแสดงให้รู้ว่า ทรงรู้เรื่องราวทั้งหมดที่ภิกษุสงฆ์กำลังสนทนากัน

 

.....ด้วยมหากรุณาอันไม่มีประมาณ พระองค์จะตรัสถามไปตามลำดับ เพื่อทรงอนุเคราะห์ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา สาธุชน และเหล่าเทวดา ที่ยังไม่ทันได้ยินเรื่องราวที่ภิกษุสงฆ์สนทนากัน เมื่อภิกษุสงฆ์กราบทูลเรื่องราวที่กำลังสนทนา ก็เป็นอันว่าทุกคนในสมาคมนั้น มีข้อมูลเท่าๆ กัน นี่เป็นความละเอียดลออของพระพุทธองค์ ที่ปรารถนาจะให้เกิดประโยชน์ใหญ่แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

 

.....หลังจากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เมื่อชาติก่อนเคยเป็นผู้ไม่ให้ทานมาก่อน เป็นผู้ตระหนี่เหนียวแน่น แม้หยาดน้ำมันเพียงเล็กน้อยก็หวงแหนไม่ยอมให้ใคร ต่อมาเราได้ทรมานเธอ กระทำให้หมดพยศ พรรณนาผลแห่งการให้ทาน และให้ตั้งอยู่ในทาน เธอจึงหันกลับมาให้ทานอีกครั้งหนึ่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้เคยได้รับพรในสำนักของเราว่า แม้ได้น้ำมาเล็กน้อยเพียงซองมือหนึ่ง หากมิได้ให้ทาน จักไม่ดื่มน้ำนั้น ด้วยผลแห่งการที่ได้รับพรในสำนักของเรานี้ เธอจึงเป็นผู้มีอัธยาศัยในการให้ทาน” 

 

.....เมื่อภิกษุสงฆ์ทูลถามเรื่องราวในภพชาติอดีตของภิกษุผู้ยินดีในการให้ทานรูปนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสเล่าให้ฟังว่า

 

.....*ในอดีตกาล เมื่อครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในพระเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นคฤหบดีผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติประมาณ ๘๐ โกฏิ ภายหลังพระราชาได้ทรงพระราชทานตำแหน่งเศรษฐีประจำเมืองแก่พระโพธิสัตว์ เศรษฐีเองก็ได้รับการเคารพยกย่องจากชาวเมือง และชาวชนบทเป็นอันมากว่า เป็นผู้สมควรที่จะได้รับตำแหน่งนี้ เพราะเป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตั้งแต่นั้นมาพระโพธิสัตว์ก็เป็นที่รักของคนทั้งเมือง

 

.....วันหนึ่ง ท่านเศรษฐีได้พิจารณาดูสมบัติของตัวเอง พลางคิดว่า “ยศตำแหน่งนี้เรามิได้มาเพราะการนอนหลับ หรือว่าทำกายทุจริต แต่เพราะได้บำเพ็ญกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตให้บริบูรณ์ ปัจจุบันที่เราเป็นอยู่สะดวกสบายก็เพราะบุญในอดีต และบุญปัจจุบันที่เราทำนี้ ต่อไปจะกลายเป็นบุญในอดีตของอนาคต ดังนั้น เราจึงควรทำที่พึ่งในอนาคตให้กับตนเอง ด้วยการสั่งสมบุญในปัจจุบันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จะได้มีอนาคตที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป”

 

.....คิดเช่นนั้นแล้ว จึงนำทรัพย์ ๘๐ โกฏิ ออกให้ทาน ท่านเศรษฐีให้สร้างศาลาโรงทานขึ้น ๖ แห่ง คือ ที่ประตูเมือง ๔ แห่ง ที่ใจกลางเมือง ๑ แห่ง และที่ประตูบ้านของท่านเองอีก ๑ แห่ง ท่านได้บริจาคทรัพย์วันละ ๖๐๐,๐๐๐ กหาปณะ บำเพ็ญมหาทานบารมีทุกๆ วันมิได้ขาดแม้แต่วันเดียว ท่านให้ทานเช่นนี้จนตลอดชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตแล้ว ได้ไปบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช ส่วนบุตรของท่านจะดำรงวงศ์ตระกูลอย่างไร ได้ทำตามเนติแบบแผนของพ่อหรือไม่ ต้องติดตามในตอนต่อไป

 

.....ขอให้ทุกคนจงดำรงอยู่ในฐานะของผู้ให้ แล้วเราจะมีสุขใจ จงยินดีในการให้มากกว่าการรับ และอย่าลืมที่จะฝึกตัวให้ เป็นผู้สละความตระหนี่ ให้หลุดร่อนออกจากใจให้ได้ ด้วยการ ให้ทานเป็นประจำทุกวัน ทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทานแด่ภิกษุสงฆ์ผู้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนา หรือบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ เราจะได้มีบุญหล่อเลี้ยง มีสมบัติใหญ่ติดตัว ข้ามชาติกันทุกคน

(*มก. สุธาโภชนชาดก เล่ม ๖๒ หน้า ๔๖๒)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.084507950146993 Mins