คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบกัลยาณมิตรชีวิตสดใส

วันที่ 28 สค. พ.ศ.2557

คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบกัลยาณมิตรชีวิตสดใส

คบคนพาล พาลพาไปหาผิด , คบกัลยาณมิตรชีวิตสดใส , มหิลามุข , กัลยาณมิตร

       เราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ต่างปรารถนาความสุขความเจริญ สิ่งที่ดีงาม ที่เป็นมงคลเกิดขึ้นแก่ชีวิตของตนด้วยกันทั้งนั้น    เส้นทางสู่ความรุ่งโรจน์ของชีวิตอย่างหนึ่งคือการได้คบหากัลยาณมิตร ผู้จะมาคอยชี้แนะเส้นทางที่ถูกต้อง ดังธรรมภาษิตบทหนึ่งที่กล่าวว่า   บุคคลปรารถนาความสุขอันแน่นอน พึงเว้นมิตรชั่ว พึงคบหากัลยาณมิตร และพึงตั้งอยู่ในโอวาทของกัลยาณมิตรนั้น  เต่าตาบอดเกาะขอนไม้เล็กๆ จมอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ ฉันใด กุลบุตรอาศัยคนเกียจคร้านเป็นอยู่ ย่อมจมลงในสังสารวัฏ ฉันนั้น 

       เพราะฉะนั้น บุคคลพึงเว้นคนเกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม ควรอยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลายผู้สงัดเป็นอริยะ มีใจเด็ดเดี่ยว เพ่งฌาน ปรารภความเพียรเป็นนิตย์ ความดีขั้นแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบอกให้ทำ คือต้องไม่คบคนพาล จากนั้นให้คบหาบัณฑิตผู้จะมาเป็นกัลยาณมิตรชี้ทางสวรรค์นิพพานให้กับตัวเรา

       คนพาล  คือคนที่มีใจขุ่นมัวเป็นปกติ มีความคิดเห็นต่อสิ่งต่างๆ ผิดจากความเป็นจริง ชอบคิดชั่ว พูดชั่ว แล้วทำชั่ว ไม่ยอมรับรู้ระเบียบวินัย นำแต่ความเดือดร้อนมาให้ ใครไปคบหาสมาคมด้วย มีแต่ความเสื่อมเสีย ตั้งแต่เสียชื่อเสียง ทรัพย์สินเงินทอง งานการ ญาติมิตร และคุณงามความดีของตัวเอง พลอยติดเชื้อพาล จากที่เคยเป็นคนดี กลายเป็นคนพาลไปด้วย

    ดังเช่นเรื่องในอดีตกาล  ที่กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นปุโรหิต คืออำมาตย์ที่ปรึกษาของพระราชาพระนามว่าพระเจ้าพรหมทัต มีช้างมงคลอยู่เชือกหนึ่ง ชื่อมหิลามุข เป็นช้างใจดี ไม่เกะกะเกเร ไม่เคยทำร้ายใคร

        อยู่มาวันหนึ่งมีโจรกลุ่มใหญ่ หลังจากปล้นชิงทรัพย์สินของชาวบ้านแล้ว ตกกลางคืนก็มาชุมนุมกัน ที่ข้างโรงช้างของพระราชา เพื่อปรึกษาหารือ นัดแนะกันว่า พรุ่งนี้ จะไปทำการตัดช่องย่องเบาที่ไหน ปล้นชิงอย่างไร ขุดอุโมงค์ตรงไหน     จะทำร้ายเจ้าทรัพย์ด้วยวิธีใดจึงจะไม่มีใครต่อสู้ได้ และสอนวิชาโจรให้กันว่า เราเป็นโจร ไม่ต้องมีมารยาท ไม่ต้องมีความเมตตา ต้องทำใจให้แข็งกระด้างเข้าไว้ ไม่ต้องสงสารใคร ต้องดุร้าย หยาบคาย ถึงจะทำงานในอาชีพโจรได้สำเร็จ

      พวกโจรมาปรึกษาหารือกันแบบนี้ทุกคืน ช้างมหิลามุขได้ยินบ่อยจนเข้าใจว่าเขาสอนให้ตนเองทำแบบนั้น คือสอนให้เป็นโจร ให้ดุร้าย ให้ทำร้ายผู้อื่น เลยอาละวาด คนเลี้ยงช้างมาที่โรงช้างแต่เช้าตรู่ก็เอางวงจับเขาฟาดพื้นจนตาย เห็นใครผ่านมาฆ่าเขาตายหมด จนใครๆ เข้าใจว่า ช้างมหิลามุขเป็นบ้าไปแล้ว พากันไปกราบทูลพระราชา

     พระราชาส่งพระโพธิสัตว์ไปดู หาต้นสายปลายเหตุของการเปลี่ยนแปลง ว่าทำไมช้างมงคลถึงกลายเป็นช้างดุร้ายไปได้ ปรากฏว่า ช้างไม่ได้เป็นอะไรเลย

     พระโพธิสัตว์ท่านเป็นบัณฑิต มีปัญญา ตรึกตรองดูแล้วสันนิษฐานว่า คงจะมีใครมาพูดอะไรให้ช้างได้ยินเป็นแน่ จึงถามคนเลี้ยงช้างว่า ตอนกลางคืน เคยเห็นใครมาสนทนาหรือมาปรึกษาหารืออะไรกันให้ช้างได้ยินบ้างไหม ได้รับคำตอบว่า มีพวกโจรมาปรึกษาหารือกันอยู่ใกล้ๆ โรงช้างหลายคืนติดต่อกันนานแล้ว พระโพธิสัตว์ฟังแล้ว เข้าใจทันทีว่า ช้างมงคลกลายเป็นช้างดุร้ายไป เพราะได้ฟังพวกโจรแล้วเข้าใจผิด คิดว่าเขาสอนให้ตนเองทำตัวดุร้ายแบบนั้น

    พระโพธิสัตว์จึงไปกราบทูลพระราชา ว่าช้างไม่ได้เป็นบ้า ไม่ได้ป่วยเป็นอะไร แต่ที่เป็นอย่างนี้ เพราะฟังถ้อยคำของพวกโจร ท่านแนะนำว่า ถ้าจะแก้ไขให้เป็นช้างใจดีเหมือนเดิม ต้องนิมนต์สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มาพูดธรรมะ พูดเรื่องศีล เรื่องมารยาทให้ช้างฟัง พระราชาทรงเห็นด้วย รับสั่งให้ทำตามนั้นพระโพธิสัตว์นิมนต์สมณพราหมณ์ผู้มีศีลทั้งหลาย ให้มานั่งสนทนาเรื่องศีลกันในโรงช้าง ให้ช้างได้ยิน

    สมณพราหมณ์เหล่านั้นสนทนากันว่า “คนดีจะต้องมีศีล มีมารยาทดีงาม อ่อนโยน ไม่ควรด่าใคร ไม่ควรทำร้ายใคร จะต้องมีขันติ มีความเมตตา เอื้อเฟื้อเอ็นดูเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย” ช้างฟังดังนั้นก็เข้าใจว่า" สมณพราหมณ์เหล่านี้สอนเรา ต่อแต่นี้ไปเราควรเป็นช้างที่มีศีล” ตั้งแต่นั้นมาช้างมหิลามุขกลับเป็นช้างใจดี สุภาพอ่อนโยนเหมือนเดิม พระราชาทราบเข้าทรงโสมนัสและชื่นชมพระโพธิสัตว์ว่าเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เข้าใจแม้กระทั่งอัธยาศัยของสัตว์เดียรัจฉาน จึงได้พระราชทานยศใหญ่ให้แก่พระโพธิสัตว์

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011208534240723 Mins