หลักมนุษยสัมพันธ์ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

วันที่ 10 กย. พ.ศ.2557

หลักมนุษยสัมพันธ์ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตร
 

       มีคำสอนที่น่าศึกษาในพระพุทธศาสนาคือ หลักการปฏิบัติเพื่อการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ถูกต้องดีงามในสังคม ทั้งนี้เพราะว่ามนุษย์ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวลำพังในโลก แต่ยังต้องติดต่อและมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ซึ่งบุคคลทั้งหลายเหล่านี้ ต่างก็มีความแตกต่างกัน ทั้งด้านนิสัย พื้นฐาน แม้กระทั่งมีสถานะที่แตกต่างกัน เช่น มีสถานะเป็นเพื่อน เป็นบิดามารดา ครูอาจารย์ เป็นต้น ดังนั้น การที่บุคคลแต่ละคนจะกระทำ เพื่อก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคลอื่นๆ ดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ควรศึกษา และนำมาปฏิบัติ เพื่อเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดีอีกด้วย

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ได้แสดงหลักการมีมนุษยสัมพันธ์ดังกล่าวไว้อย่างมีระเบียบแบบแผน   ทั้งถือว่าเป็นการวางแบบแผนของสังคมที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ในทุกฐานะ และยังสามารถ นำความสงบสุข มาสู่สังคมได้ นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่า แม้พระพุทธองค์จะไม่ได้ประกาศตนว่าเป็นนักปฏิวัติสังคมแต่คำสอนของพระองค์ก็ทำให้เกิดความเป็นระเบียบในสังคม และแสดงหลักความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไว้อย่างดีงาม ดังปรากฏในสิงคาโลวาทสูตร (หรือสิงคาลกสูตร) ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เปรียบเสมือนเป็นวินัยของผู้ครองเรือนทั้งหลาย

       สิงคาโลวาทสูตร เป็นเรื่องที่กล่าวถึง ชายคนหนึ่งชื่อสิงคาลกะ บิดาเป็นผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา แต่ตัวเขาศรัทธาในความเชื่ออย่างอื่น แม้จะได้รับการชักชวนจากบิดาไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่สิงคาลกะเห็นว่าไปแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไร ดังนั้น ก่อนที่บิดาจะเสียชีวิตได้บอกสิงคาลกะว่าให้บูชาทิศทั้ง 6 ด้วยหวังว่าการกระทำของสิงคาลกะ จะทำให้เมื่อใดพระอรหันต์ท่านได้มาได้เห็นแล้ว จะได้ชี้แนะว่าการบูชาทิศ ทั้ง 6 นั้นมีความหมายว่าอย่างไร

   หลังจากบิดาของสิงคาลกะเสียชีวิตไปแล้ว ปรากฏว่าในเวลาต่อมาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จไปพบสิงคาลกะกำลังไหว้ทิศทั้งที่ตนเองไม่ทราบว่ามีความหมายอย่างไร และพระพุทธองค์จึงได้ตรัส อธิบาย และสั่งสอนถึงการบูชาทิศทั้ง 6 ที่ถูกต้องนั้น เป็นเช่นไร โดยพระพุทธองค์ตรัสอธิบายความหมายของ แต่ละทิศไว้ ดังนี้

1.ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ มารดาบิดา

2.ทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูบาอาจารย์

3.ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ บุตรภรรยา

4.ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรสหาย

5.ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ คนรับใช้ คนงาน หรือบริวาร

6.ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพรหมณ์ หรือพระภิกษุสงฆ์

      บุคคลทั้ง 6 ประเภท ที่เปรียบเสมือนทิศ 6 ทิศรอบตัวมนุษย์นี้ คือ บุคคลที่แต่ละบุคคลต้องมีความ สัมพันธ์หรือติดต่อประสานงานกัน ซึ่งรูปแบบความสัมพันธ์ของบุคคลกับประเภทบุคคลต่างๆ นั้น ในทางพระพุทธศาสนาก็ได้จำแนกรูปแบบ อันเป็นหน้าที่หรือบทบาทที่จะพึงมีแก่กันและกัน ดังต่อไปนี้

1. ทิศเบื้องหน้า บิดามารดา หน้าที่ของลูกพึงปฏิบัติต่อมารดาบิดา บุตรมีหน้าที่ปฏิบัติต่อมารดาบิดา 5 ประการ คือ

1.ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ
2.ช่วยทำการงานของท่าน
3.ดำรงวงศ์ตระกูล
4.ประพฤติตนให้เป็นผู้สมควรรับมรดก
5.เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

หน้าที่ของมารดาบิดาพึงมีต่อบุตร หน้าที่ของมารดาบิดา คือ การอนุเคราะห์บุตร 5 ประการดังนี้

1.ห้ามไม่ให้ทำชั่ว
2.ให้ตั้งอยู่ในความดี
3.ให้ศึกษาศิลปวิทยา
4.หาภรรยาหรือสามีที่สมควรให้
5.มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันสมควร

 

2.ทิศเบื้องขวา ครูอาจารย์หน้าที่ของศิษย์พึงปฏิบัติต่อครูอาจารย์ ศิษย์มีหน้าที่ปฏิบัติต่อครูอาจารย์ 5 ประการ ดังนี้คือ

1.ลุกขึ้นยืนรับ
2.เข้าไปคอยรับใช้ใกล้ชิด
3.เชื่อฟัง
4.ปรนนิบัติรับใช้
5.เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ

หน้าที่ของครูอาจารย์พึงปฎิบัติต่อศิษย์ ครูอาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา พึงอนุเคราะห์ศิษย์ 5 ประการ คือ

1.แนะนำดี
2.ให้เรียนดี
3.บอกศิษย์ด้วยดีในศิลปวิทยาทั้งหมด
4.ยกย่องให้ปรากฎในเพื่อนฝูง
5.ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย

 

3. ทิศเบื้องหลัง บุตร ภรรยา  หน้าที่ของสามีพึงปฏิบัติต่อภรรยา สามีมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อภรรยา 5 ประการ คือ

1.ยกย่องว่าเป็นภรรยา
2.ไม่ดูหมิ่น
3.ไม่ประพฤตินอกใจ
4.มอบความเป็นใหญ่ให้
5.ให้เครื่องแต่งตัว

หน้าที่ของภรรยาพึงปฏิบัติต่อสามี

1.จัดการงานดี
2.สงเคราะห์คนข้างเคียงสามี
3.รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้
4.ไม่ประพฤตินอกใจสามี
5.ขยันไม่เกียจคร้านในกิจทั้งปวง
 

4. ทิศเบื้องซ้าย มิตรสหาย  บุคคลพึงปฏิบัติหน้าที่ต่อมิตรสหาย 5 ประการ คือ

1.ให้ปัน
2.เจรจาถ้อยคำเป็นที่รัก
3.เป็นผู้มีตนเสมอ
4.ช่วยเหลือประโยชน์ของเพื่อน
5.ไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง

หน้าที่ของเพื่อนพึงปฎิบัติต่อเพื่อน ควรอนุเคราะห์เพื่อน หรือพึงปฎิบัติต่อเพื่อน 5 ประการ คือ

1.รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว
2.รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว
3.เมื่อมิตรมีภัย สามารถเป็นที่พึงได้
4.ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ
5.นับถือตลอดถึงวงศ์ตระกูลของมิตร
 

5. ทิศเบื้องล่าง ลูกน้องหรือคนใช้  หน้าที่ของนายพึงปฏิบัติต่อลูกน้องและคนรับใช้ 5 ประการ คือ

1.จัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง
2.ให้อาหารและรางวัล
3.รักษาในคราวเจ็บไข้
4.แจกของมีรสแปลกประหลาดให้ ของพิเศษในโอกาสพิเศษ
5.ให้หยุดตามโอกาส หรือให้มีเวลาพัก

หน้าที่ของลูกน้องและคนรับใช้ที่พึงปฏิบัติต่อเจ้านาย ลูกน้องและคนรับใช้พึงอนุเคราะห์ คือ ปฏิบัติต่อเจ้านาย 5 ประการ คือ

1.เริ่มทำการงานก่อนเจ้านาย
2.เลิกทำงานทีหลังนาย
3.ถือเอาแต่ของที่นายให้
4.ทำการงานให้ดีขึ้น
5.นำคุณของนายไปสรรเสริญ
 

6.ทิศเบื้องบน สมณพราหมณ์ หน้าที่ของบุคคลอันพึงปฏิบัติต่อสมณพราหมณ์ 5 ประการ คือ

1.ปฏิบัติต่อท่านด้วยจิตใจเมตตา
2.พูดกับท่านด้วยจิตเมตตา
3.คิดต่อท่านด้วยจิตเมตตา
4.ให้การต้อนรับท่านด้วยความเต็มใจ
5.ให้อามิสทานเนืองๆ คือบำรุงด้วยปัจจัย 4

หน้าที่ของพระสงฆ์อันพึงปฏิบัติต่อคฤหัสถ์ พระสงฆ์ผู้เป็นทิศเบื้องบนย่อมอนุเคราะห์ คือ ปฏิบัติต่อญาติโยม 6 ประการ ดังนี้

1.ห้ามทำความชั่ว
2.ให้ตั้งอยู่ในความดี
3.อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจงาม หรือด้วยความปรารถนาดี
4.ให้ได้ฟังสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ ที่ยังไม่ได้ฟัง
5.อธิบายสิ่งที่เคยได้ฟังมาแล้วให้แจ่มแจ้ง

 

บอกทางสวรรค์ให้

    จากตัวอย่างข้างต้น จะพบว่าในพระพุทธศาสนาได้แสดงลักษณะความสัมพันธ์ ที่บุคคลจะพึงประพฤติปฏิบัติต่อบุคคลอื่นหรือสิ่งแวดล้อมไว้อย่างชัดเจน ทั้งในรูปแบบความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ หรือหมายถึงการกระทำต่อบุคคลอื่นและการที่บุคคลอื่นกระทำตอบกลับมา

       เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อได้ศึกษาประวัติและความเป็นมาของพระพุทธศาสนาแล้วจะพบว่า แม้ พระพุทธองค์และสาวก จะมีชีวิตปลีกห่างออกจากทางโลก บำเพ็ญตนเป็นผู้ไม่ครองเรือน แต่ก็ได้ทำหน้าที่เป็นทั้งกัลยาณมิตร เป็นครูหรือผู้สอน แก่ประชาชนผู้ครองเรือนทั้งหลาย และได้นำพาชาวโลกให้เข้าใจถึงชีวิตและเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต ตลอดจนการดำเนินชีวิตด้วยหลักศีลธรรม เพื่อทำให้เกิดการดำเนินชีวิตของผู้คนและสังคมไปในทิศทางที่ดีงาม เป็นสังคมที่สงบและมีระเบียบเรียบร้อย

         ดังนั้นบุคคลทั้งหลาย จึงควรที่จะดำเนินตามแบบอย่างของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งการเป็นกัลยาณมิตรให้กับตนเองและเป็นกัลยาณมิตรให้กับผู้อื่น ซึ่งการทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้กับบุคคลอื่นนั้น สามารถทำได้หลายทาง คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ดังจะได้อธิบายเป็นลำดับต่อไป

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.047817333539327 Mins