ศีล 5 เป็น เหฏฐิมศีล ศีล 8 ที่เรารักษาวันนี้เป็นเหฏฐิมศีลไหมล่ะ ไม่เป็นเหฏฐิมศีล เป็น อติเรกสีล ศีลสูงกว่าศีล 5 ขึ้นไป สำคัญอยู่ข้อไหนศีล 8 น่ะ ที่ยกขึ้นเป็นอติเรกสีลขึ้นไปน่ะสำคัญในข้อ วิกาลโภช นัจจคีตะ มาลา อุจจา ชาตรูปะ คือ เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล การบริโภคอาหารเป็นอย่างไรหรือ การบริโภคอาหารนั้นเป็น รสตัณหา ถ้าว่าเว้นเสียละก็เว้นรสตัณหาทีเดียว บริโภคอาหารที่เป็นที่อร่อย มีรสมีชาติขึ้นสำคัญนัก อ้ายรสอันนั้นสำคัญ นัจจคีตะ ฟ้อน รำ ขับร้อง เครื่องประโคมขับร้องดีดสี ตีเป่าต่าง ๆ ฟ้อนรำ ขับร้อง ให้เกิดเป็น สัททตัณหา ฟ้อนรำ ขับร้องเหล่านี้ ดีดสีตีเป่าเหล่านี้ เป็นสัททตัณหาขึ้น ตรึงใจสัตว์โลกให้หมุนเวียนอยู่ในภพ ออกจากภพไม่ได้ ทัดทรงประดับประดาด้วยดอกไม้ของหอมเครื่องให้เกิดยั่วยวนต่าง ๆ เครื่องลูบไล้ละลายทาต่าง ๆ นี่เป็นสัททตัณหาขึ้น นั่งนอนอาสนะสูงใหญ่ ภายในมีนุ่นและสำลี ให้เกิดเป็นโผฏฐัพพตัณหาขึ้น
รับเงินและทองเหล่านี้ เงินทองอันเดียวเป็นตัวสำคัญ ใน 10 สิกขาบทนั่น เงินทองเป็นตัวสำคัญ ถ้าว่าเงินทองหยิบเข้าได้แล้ว อื่นหมด เสียหมด ใช้ไม่ได้แบบเดียวกับสุราสำคัญนัก ถ้าว่าศีล 8 ไม่ถึงเงินและทอง ไม่ห้ามเงินและทองเพียงแค่ 8 สิกขาบท ก็เพื่อตัดตัณหาเหล่านั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นอติเรกสีล เป็นอุดมศีลขึ้น ไม่ใช่ศีล 5 ธรรมดา ศีล 5 ธรรมดาเป็นเหฏฐิมศีล
ภิกษุเป็นผู้มีศีล ๆ ของภิกษุ ศีล 5 ก็รวมอยู่ด้วย ศีล 8 ศีล 10 รวมอยู่ด้วยทั้งนั้น เข้ามารวมอยู่ในศีลของภิกษุหมด แต่ภิกษุเป็นผู้มีศีลน่ะ เมื่อสำเร็จบัญญัติจตุตถกรรมวาจาในท่ามกลางพระสงฆ์ สำเร็จบัญญัติจตุตถกรรมในท่ามกลางของสงฆ์แล้ว ศีลสิกขาบทบัญญัติน้อยใหญ่ไม่ได้สมาทานเลย สมบูรณ์บริบูรณ์เมื่อจบบัญญัติจตุตถกรรม เป็นภิกษุภาวะในพุทธศาสนาขึ้น
ศีลของภิกษุเป็น อปริยันตปาริสุทธิสีล ทีเดียว ศีลไม่มีที่สุด ในวิสุทธิมรรคแสดงไว้ ศีลมีสามล้านกว่าสิกขาบท ศีลของภิกษุจบพระวินัยปิฎกเป็นศีลของภิกษุน่ะ มากมายนัก เพราะเหตุนั้น ภิกฺขุ สีลวา ภิกษุเป็นผู้มีศีลน่ะ มีจริงนะ มีทั้งหมดทีเดียว แต่นี้ท่านจำแนกแยกย่นลงไป ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต วิหรติ ผู้สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามที่พระองค์ทรงอนุญาตอยู่นี้น้อยนิดเดียว ขึ้นสู่พระปาติโมกข์นี้น้อยนิดเดียว ขึ้นสู่พระปาติโมกข์นี้น้อยนิดเดียว โดยสามัญทั่วไปละก็ 227 สิกขาบทนิดเดียว ศีลขึ้นสู่พระปาติโมกข์ แต่ว่าข้อสำคัญทั้งนั้นไม่ใช่ข้อเล็กน้อย เพราะฉะนั้นควรไหว้ควรบูชา ภิกษุประพฤติได้ในสิกขาบัญญัติน้อยใหญ่ของตัวได้ละก็ น่าไหว้ น่าบูชานัก เป็นของทำยาก ไม่ใช่เป็นของทำง่าย
อาจารโคจรสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยอาจารมารยาท เครื่องมาประพฤติโดยเอื้อเฟื้อและ โคจรมารยาท เครื่องมาประพฤติและโคจรของภิกษุน่ะ ภิกษุจะเดินไป หาตำหนิไม่ได้ ตาก็ทอดลงมองชั่วแอกหนึ่ง เรียกว่า ตาตายไม่ใช่ตาเป็น ทอดลง แม้จะเบิกตาขึ้นก็เพียงว่าดูอันตรายเท่านั้น ที่จะแสวงหาวิสภาคารมณ์ ที่จะแสวงหารูปที่จะชอบก็ไม่มีเสีย ไม่มีภิกษุเลย ภิกษุเดินไปก็ตั้งอยู่ในความสำรวม เรียกว่า อินทรียสังวร สำรวมทีเดียว สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้ยินดี ยินร้าย เวลาเป็นรูป ยินเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ สำรวมระวังไม่ให้โทมนัสเล็ดลอดเข้าไปประทุษร้ายจิตได้ คอยระแวดระวังอยู่ทีเดียว นั่นภิกษุหน้าที่สำรวมละ เรียกว่าอาจาระ นั่นแหละเรียกว่าอาจาระทั้งนั้น มารยาทของภิกษุด้วยกาย หาติเตียนไม่ได้ ด้วยวาจาก็หาติเตียนไม่ได้ จะเปล่งวาจาใด ๆ ไม่ครูดโสต ไม่กระทบโสตใครเลย สำรวมทางวาจาทีเดียว มารยาทของกาย ของวาจา ตลอดจนกระทั่งถึงใจ เป็นอัพโพหาริกลงไปในเจตนาของภิกษุก็ไม่ประทุษร้ายผู้หนึ่งผู้ใด เจตนาประกอบอยู่ด้วยเมตตา เป็นปุเรจาริก ทีเดียว นั่นเรียกว่าอาจาระทั้งนั้น ไม่ใช่โคจรสัมปันโน เป็นอาจารสัมปันโน ถึงพร้อมแล้วด้วยมารยาทเครื่องมาประพฤติโดยเอื้อเฟื้อ นี่ย่อลงไปได้ความดังนี้