วัตถุประสงค์ของการให้ทาน

วันที่ 06 มีค. พ.ศ.2558

วัตถุประสงค์ของการให้ทาน 

เหตุที่ให้ทาน  

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงเหตุที่ทำให้คนทำทานไว้หลายประการด้วยกัน เช่น ในปฐมทานสูตร ตรัสถึงเหตุที่บางคนให้ทานไว้ 8 ประการ คือ 

(1) บางคนให้ทานเพราะหวังอยากได้

(2) บางคนให้ทานเพราะความกลัว

(3) บางคนให้ทานเพราะคิดว่าเขาเคยให้แก่เรามาก่อน

(4) บางคนให้ทานเพราะคิดว่าเขาจะให้เราตอบแทน

(5) บางคนให้ทานเพราะคิดว่าทานเป็นความดี

(6) บางคนให้ทานเพราะคิดว่าเราหุงหากินได้ แต่คนเหล่านี้หุงหากินไม่ได้ การไม่ให้แก่คนเหล่านี้ เป็นสิ่งไม่สมควร

(7) บางคนให้ทานเพราะคิดว่ากิตติศัพท์อันดีงามย่อมขจรขจายไป

(8) บางคนให้ทานเพื่อยกระดับจิตใจให้ดีงาม มีคุณภาพสูงขึ้น

 

 ทานวัตถุสูตร 6 ตรัสถึงเหตุอีก 8 ประการ คือ     

(1) บางคนให้ทานเพราะชอบพอกัน

(2) บางคนให้ทานเพราะความโกรธ

(3) บางคนให้ทานเพราะความหลง หรือโง่

(4) บางคนให้ทานเพราะความกลัว

(5) บางคนให้ทานเพราะนึกว่าบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้มา เคยทำมา เราไม่ควรทำให้ เสียวงศ์ตระกูลดั้งเดิม

(6) บางคนให้ทานเพราะคิดว่าเมื่อตายจะได้ไปสุคติโลกสวรรค์

(7) บางคนให้ทานเพราะคิดว่าจิตใจย่อมเลื่อมใส ความเบิกบานใจ ความดีใจ ย่อมเกิดขึ้นตามมา

(8) บางคนให้ทานเพื่อยกระดับจิตใจให้ดีงาม มีคุณภาพสูงขึ้น

     ในบรรดาเหตุของการให้ทานทั้งหลายเหล่านั้น ทานบางอย่างเราไม่จัดเป็นการให้ทานที่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ของการทำทานในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เช่น การให้เพราะหวังอยากได้ เนื่องจาก เป็นการให้ด้วยใจที่ไม่บริสุทธิ์

 

วัตถุประสงค์ของการให้ทาน อาจแบ่งตามลักษณะของการให้ ที่ประพฤติปฏิบัติตามกันมาได้ 4 อย่าง คือ

1. การให้เพื่อชำระกิเลส คือความตระหนี่ในใจของผู้ให้ เรียกว่า บริจาคทาน หมายถึง การให้ ด้วยการเสียสละเพื่อกำจัดความขุ่นมัวแห่งจิต โดยไม่คำนึงถึงว่าผู้รับจะเป็นใครก็ตาม การให้แบบนี้ได้บุญ มากที่สุด ยิ่งเรามีใจที่บริสุทธิ์ และให้แก่ผู้ที่บริสุทธิ์มากก็จะยิ่งได้บุญมาก

2. การให้เพื่อตอบแทนคุณความดี เรียกว่า ปฏิการทาน หมายถึงการให้เพื่อตอบแทน หรือบูชาคุณความดีแก่ผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่า หรือผู้ที่มีอุปการะแก่ตน การให้แบบนี้ ผู้ให้อาจจะไม่นึกถึงบุญ แต่นึกถึงเฉพาะคุณความดีของท่าน เช่น การให้สิ่งของแด่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และบุคคลต่างๆเป็นต้น การให้เพื่อบูชาคุณความดีอย่างนี้ หากผู้ให้ได้นึกถึงบุญไปด้วย จะทำให้มีผลานิสงส์มากยิ่งขึ้น

3. การให้เพื่อสงเคราะห์ เรียกว่า สังคหทาน หมายถึง การให้เพื่อผูกมิตร ยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ในกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตน ไม่ว่าจะเป็นโดยส่วนตัว หรือโดยหน้าที่การงานก็ตาม โดยมุ่งที่จะให้เกิดคุณประโยชน์แก่ผู้รับเป็นสำคัญ

4. การให้เพื่ออนุเคราะห์ เรียกว่า อนุคหทาน หมายถึงการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่คนยากจน ด้วยจิตเมตตาสงสาร เมื่อเห็นเขาตกทุกข์ได้ยาก ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครจะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตนหรือไม่ก็ตามก็อนุเคราะห์ช่วยเหลือกันตามกำลัง

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017280169328054 Mins