ศีล มีหลายประเภทขึ้นอยู่กับความมุ่งหมายของผู้รักษาว่ามุ่งหวังอย่างไรจะรักษาเพื่อคงความเป็นปกติของมนุษย์ไว้หรือรักษาเพื่อมุ่งยกระดับจิตใจให้บริสุทธิ์พ้นจากความเป็นมนุษย์ธรรมดาหรือจะรักษา เพื่อความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ซึ่งหากกล่าวโดยสรุปแล้ว ศีล มี 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ ศีล 5 (เบญจศีล, นิจศีล, จุลศีล) เป็นศีลพื้นฐานอันสำคัญยิ่งเพราะการที่เราจะรักษาความเป็นปกติของมนุษย์เอาไว้ได้นั้นจะต้องรักษาศีล 5 ไว้ให้มั่นคงเป็นอย่างน้อยซึ่งศีลประเภทนี้ฆราวาสผู้ที่ยังครองเรือนมีครอบครัวจะต้องพยายามรักษาให้ได้เป็นประจำ
ศีล 5 (เบญจศีล, นิจศีล, จุลศีล) ได้แก่
1. เว้นจากการฆ่าสัตว์
2. เว้นจากการลักทรัพย์
3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4. เว้นจากการพูดเท็จ
5. เว้นจากการดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ศีล 8 (อุโบสถศีล, มัชฌิมศีล)เป็นศีลที่รักษาในวันอุโบสถ(วันพระ)หรือในโอกาสพิเศษตามแต่ต้องการ เพื่อเป็นการยกจิตใจให้ ประณีตยิ่งขึ้น ได้แก่
1. เว้นจากการฆ่าสัตว์
2. เว้นจากการลักทรัพย์
3. เว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์
4. เว้นจากการพูดเท็จ
5. เว้นจากการดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
6. เว้นบริโภคโภชนะในเวลาวิกาล คือ ตั้งแต่เที่ยงแล้วจนอรุณขึ้นมาใหม่
7. เว้นจากการขับร้องประโคมดนตรี ดูการละเล่นต่างๆอันเป็นข้าศึกแก่กุศล ตลอดจนลูบไล้ ทัดทรง ประดับตกแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม เครื่องทา
8. เว้นจากการนั่ง และนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลี
ปาริสุทธิศีล (มหาศีล)
เป็นศีลสำหรับผู้ที่มุ่งสู่ความบริสุทธิ์ และความสงบสุขของชีวิต เช่นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการเกื้อกูลต่อการทำภูมิจิตให้สูงยิ่งขึ้นไป มี 4 ประการ คือ
ปาฏิโมกขสังวรศีล คือการสำรวมในพระปาฏิโมกข์ (ศีล 227 ข้อ) ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ศีลข้อนี้สำเร็จได้ด้วยศรัทธา เพราะด้วยเหตุที่ปาฏิโมกข์สังวรศีลนั้น พระภิกษุได้สมาทานไว้ในวันอุปสมบทด้วยความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าศีลหรือสิกขาบทเหล่านั้นเป็นสิ่งดีจริงที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถกำจัดทุกข์ไปสู่พระนิพพานได้โดยง่ายดังนั้นพระภิกษุทั้งหลายจึงตั้งใจรักษาไว้ด้วยชีวิตสมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ปหาราทสูตรว่า
“ ดูก่อนปหาราทะน้ำในมหาสมุทรย่อมเต็มเปี่ยมอยู่เสมอแต่ไม่ล้นฝั่งขึ้นมาฉันใดสาวกทั้งหลายของเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แล้วด้วยเหตุแห่งชีวิต”
อินทรียสังวรศีล คือการสำรวมในอินทรีย์ 6 อันประกอบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กล่าวคือ ไม่ให้ยินดียินร้ายในการเห็นรูป ฟังเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส การถูกต้องสัมผัส หรือในการรับรู้อารมณ์ต่างๆด้วยใจหมายความว่าสำรวมระวังไม่ให้บาปอกุศลครอบงำ ศีลข้อนี้สำเร็จได้ด้วยสติ (ความระลึกได้)เพราะสติจะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้บาปอกุศลเข้าครอบงำใจดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสติสูตรว่า
”ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเมื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่หิริและโอตตัปปะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสติและสัมปชัญญะ เมื่อ หิริและ โอตตัปปะ มีอยู่ อินทรียสังวรชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ”
อาชีวปาริสุทธิศีล คือการเลี้ยงชีพโดยทางที่ชอบธรรม บริสุทธิ์ ไม่หลอกลวงผู้อื่นพระภิกษุที่มีอาชีพบริสุทธิ์ย่อมแสวงหาปัจจัย 4 โดยชอบธรรม อันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค และเมื่อได้แล้วก็พอใจในปัจจัย 4 ตามมีตามได้ โดยศีลข้อนี้จะสำเร็จได้ด้วยวิริยะ (ความเพียร)
ปัจจัยสันนิสิตศีล คือการพิจารณาปัจจัย 4 อันได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้ที่แท้จริงก่อนที่จะบริโภคซึ่งศีลข้อนี้สำเร็จได้ด้วยปัญญา ปาริสุทธิศีล ทั้ง 4 ประการนี้เป็นคุณธรรมที่จะช่วยประคับประคองชีวิตของบรรพชิตให้มีความหมดจดผ่องใสและร่มเย็นเป็นสุขได้ตลอดเวลา
จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ