องค์แห่งศีล

วันที่ 11 มีค. พ.ศ.2558

องค์แห่งศีล

     แม้ว่าเราจะตั้งใจรักษาศีลอย่างดี แต่ก็มีบางครั้งบางคราวที่เราอาจพลาดพลั้งเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น โดยที่เราเองก็มิได้ตั้งใจ ซึ่งก็อาจเป็นไปเพราะความจำเป็นบางอย่าง หรืออาจเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์แต่ละเหตุผลนั้นล้วนเป็นเหตุให้เราเกิดความไม่สบายใจ หรือเกิดความสงสัยขึ้นว่าการกระทำของเรา ผิดศีล หรือ ศีลขาดหรือไม่ และบางคนถึงกับเกิดความทุกข์ใจในการรักษาศีล ว่าเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าวิสัยของเรา หรือไม่ ซึ่งความจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเลย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถรักษาศีลอย่างถูกต้อง จึงมีความจำเป็นที่เราต้องศึกษา ข้อวินิจฉัยของศีลแต่ละข้อ ว่าการกระทำอย่างใดจึงถือว่าศีลขาด อย่างไรถือว่า ศีลทะลุ ศีลด่างพร้อย ซึ่งข้อวินิจฉัย มีดังต่อไปนี้

องค์แห่งศีลที่ผิดจากการฆ่าสัตว์ต้องประกอบด้วย คือ

1. สัตว์นั้นมีชีวิต

2. รู้อยู่ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต

3. มีจิตคิดจะฆ่าสัตว์นั้น

4. มีความพยายามฆ่าสัตว์นั้น

5. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

     การฆ่าอันประกอบด้วยองค์ 5 นี้ ไม่ว่าจะฆ่าเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่า หรือแม้แต่การยุยงให้สัตว์ ฆ่ากันเองจนกระทั่งตายไปข้างหนึ่งก็ตาม เช่น การจับไก่มาตีกัน จนกระทั่งไก่ตายไป หรือที่เรียกว่า ชนไก่ ทั้งหมดเรียกว่าศีลขาดทั้งสิ้น แต่หากไม่ครบองค์ เช่น พยายามฆ่า แต่สัตว์นั้นไม่ตาย ก็เรียกว่า ศีลทะลุ และถ้าลดหลั่นลงมาอีก ก็เรียกว่า ศีลด่าง ศีลพร้อย
อนุโลมการฆ่า นอกจากการฆ่าสัตว์โดยตรงดังที่กล่าวมาแล้ว การทำร้ายร่างกาย การทรมานให้ได้รับ ความลำบาก เรียกว่า อนุโลมการฆ่า ก็เป็นสิ่งที่ควรเว้น อนุโลมการฆ่า มีลักษณะดังต่อไปนี้

- การทำร้ายร่างกาย ในที่นี้หมายถึงการกระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน อันได้แก่

- ทำให้พิการ

- ทำให้เสียโฉม

- ทำให้บาดเจ็บ

- การทารุณกรรม ในที่นี้หมายถึงการทำต่อสัตว์เดรัจฉาน อันได้แก่

- การใช้ เช่น การใช้งานเกินกำลังของสัตว์ ไม่ให้สัตว์ได้พักผ่อน หรือไม่บำรุงเลี้ยงดูตามสมควร

- กักขัง เช่น การผูกมัด หรือขังไว้ โดยที่สัตว์นั้นไม่สามารถเปลี่ยนอิริยาบถได้ หรือไม่มีความสุข เช่น ขังนก ขังปลาไว้ในที่แคบ

- นำไป เช่น การผูกมัดสัตว์แล้วนำไป โดยผิดอิริยาบถของสัตว์ ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาน - เล่นสนุก ได้แก่ การรังแกสัตว์ต่างๆ เพื่อความสนุกสนาน

- ผจญสัตว์ ได้แก่ การนำสัตว์มาต่อสู้กัน เช่น ชนโค

     การฆ่าโดยตรงถือว่าศีลขาด ส่วนอนุโลมการฆ่า ไม่นับว่าศีลขาด แต่ถือว่า ศีลทะลุ ศีลด่าง ศีลพร้อย ซึ่งจะให้ผลมากน้อยแตกต่างกันไป การฆ่าสัตว์ มีโทษมากหรือโทษน้อย ขึ้นอยู่กับ

1. คุณของสัตว์นั้น การฆ่าสัตว์ที่มีคุณมาก จะมีโทษมากกว่าการฆ่าสัตว์มีคุณน้อยหรือไม่มีคุณ เช่น ฆ่าพระอรหันต์ มีโทษมากกว่าฆ่าปุถุชน ฆ่าสัตว์ช่วยงานมีโทษมากกว่าฆ่าสัตว์ดุร้าย เป็นต้น

2. ขนาดกาย สำหรับสัตว์เดรัจฉาน เมื่อเทียบกับพวกที่ไม่มีคุณเหมือนกัน การฆ่าสัตว์ใหญ่ มีโทษมากกว่าการฆ่าสัตว์เล็ก

3. ความพยายาม มีความพยายามในการฆ่ามาก มีโทษมาก มีความพยายามน้อย มีโทษน้อย

4. กิเลสหรือเจตนา กิเลส หรือเจตนาแรง มีโทษมาก กิเลสหรือเจตนาอ่อน มีโทษน้อย เช่นการฆ่าด้วยโทสะ หรือความเกลียดชัง มีโทษมากกว่าการฆ่าเพื่อป้องกันตัว

องค์แห่งศีลที่ผิดจากการลักทรัพย์ต้องประกอบด้วย คือ
 

1. ทรัพย์หรือสิ่งของนั้นมีเจ้าของหวงแหน

2. รู้อยู่ว่าทรัพย์นั้นมีเจ้าของหวงแหน

3. มีจิตคิดจะลักทรัพย์นั้น

4. มีความพยายามลักทรัพย์นั้น

5. ลักทรัพย์ได้ด้วยความพยายามนั้น
ลักษณะของการลักทรัพย์

          การลักทรัพย์แยกออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

1. โจรกรรม มี 14 ประเภท ได้แก่

- ลักขโมย ได้แก่ การขโมยทรัพย์ผู้อื่น เมื่อเขาไม่รู้ไม่เห็น

- ฉกชิง ได้แก่ การแย่งเอาทรัพย์ผู้อื่นซึ่งๆ หน้า

- ขู่กรรโชก ได้แก่ การทำให้เจ้าของทรัพย์เกิดความกลัว แล้วยอมให้ทรัพย์

- ปล้น ได้แก่ การยกพวก ถือเอาอาวุธเข้าปล้นทรัพย์ผู้อื่น

- ตู่ ได้แก่ การกล่าวตู่เอาทรัพย์ผู้อื่นมาเป็นของตน

- ฉ้อโกง ได้แก่ การโกงเอาทรัพย์ผู้อื่นมาเป็นของตน

- หลอก ได้แก่ การพูดปด เพื่อหลอกเอาทรัพย์ผู้อื่นมาเป็นของตน

- ลวง ได้แก่ การใช้เล่ห์เหลี่ยม ลวงเอาทรัพย์ผู้อื่นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น โกงตาชั่ง

- ปลอม ได้แก่ การทำของไม่แท้ ให้เห็นว่าเป็นของแท้

- ตระบัด ได้แก่ การยืมของผู้อื่น แล้วยึดเป็นของตน

- เบียดบัง ได้แก่ การกินเศษกินเลย เบียดบังผลประโยชน์ของส่วนรวมมาเป็นของตน

- สับเปลี่ยน ได้แก่ การแอบเอาของๆ ตน ไปเปลี่ยนกับของผู้อื่นซึ่งดีกว่า

- ลักลอบ ได้แก่ การหลบภาษีการค้าขายสิ่งของผิดกฎหมาย

- ยักยอก ได้แก่ การที่ทรัพย์ของตนจะถูกยึด จึงยักยอกเอาไปไว้ที่อื่นเสีย เพื่อหลบเลี่ยง การถูกยึด

2. อนุโลมโจรกรรม มี 3 ประเภท ได้แก่

- การสมโจร เป็นการสนับสนุนให้เกิดการโจรกรรม เช่น การรับซื้อของโจร การให้ที่พัก อาศัย ให้ข้าวให้น้ำแก่โจร

- ปอกลอก เป็นการคบหาผู้อื่นด้วยหวังทรัพย์ พอเขาสิ้นทรัพย์ก็เลิกคบ เป็นการ ทำให้คนสิ้นเนื้อประดาตัว

- รับสินบน เช่น การที่ข้าราชการยอมทำผิดหน้าที่ เพื่อรับสินบน

3. ฉายาโจรกรรม (การกระทำที่เข้าข่ายการลักขโมย) มี 2 ประการ ได้แก่

- ผลาญ คือ สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น โดยมิได้มุ่งหวังจะเอาทรัพย์ของ ผู้อื่นมาเป็นของตน เช่น การวางเพลิง

- หยิบฉวย คือ การถือทรัพย์ผู้อื่นมาด้วยความมักง่าย ถือวิสาสะ
 

การลักทรัพย์ มีโทษมากหรือโทษน้อย ขึ้นอยู่กับ

1. คุณค่าของทรัพย์สินสิ่งของนั้น

2. คุณความดีของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์นั้น

3. ความพยายามในการลักทรัพย์นั้น

 

องค์แห่งศีลที่ผิดจากการประพฤติผิดในกามต้องประกอบด้วย คือ
       

         1. หญิงหรือชายที่ไม่ควรละเมิด

2. มีจิตคิดจะเสพเมถุน

3. ประกอบกิจในการเสพเมถุน

4. ยังอวัยวะเพศให้ถึงกัน

หญิงที่ต้องห้าม มี 3 จำพวก

1. หญิงมีสามี

2. หญิงที่อยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดาหรือญาติ

3. หญิงที่ประเพณีหวงห้าม เช่น หญิงที่กฎหมายหวงห้าม หญิงนักบวช

          ชายที่ต้องห้าม มี 2 จำพวก

1. ชายที่ไม่ใช่สามีของตน

2. ชายที่ประเพณีหวงห้าม เช่น นักบวช

     การประพฤติผิดในกาม มีโทษมากหรือโทษน้อย ขึ้นอยู่กับ

1. คุณความดีของผู้ที่ถูกละเมิด

2. ความแรงของกิเลส

3. ความเพียรพยายามในการประพฤติผิดในกามนั้น

 

องค์แห่งศีลที่ผิดจากการการพูดเท็จต้องประกอบด้วย คือ
    
          1. เรื่องไม่จริง

2. มีจิตคิดจะพูดให้ผิดไปจากความจริง

3. พยายามที่จะพูดให้ผิดไปจากความจริง

4. คนฟังเข้าใจความที่พูดนั้น

     ลักษณะของการพูดเท็จ การพูดเท็จ มี 7 ประการ คือ

- การพูดปด ได้แก่ การโกหก

- การสาบาน ได้แก่ การทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อด้วยการสาบาน

- การทำเล่ห์กระเท่ห์ ได้แก่ การอวดอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันไม่เป็นจริง

- มารยา ได้แก่ การแสดงอาการให้เขาเห็นผิดจากที่เป็นจริง

- ทำเลศ ได้แก่ การพูดเล่นสำนวน คลุมเครือ ให้คนฟังเข้าใจผิด

- พูดเสริมความ ได้แก่ การเสริมให้มากกว่าความเป็นจริง

- พูดอำความ ได้แก่ การตัดข้อความที่ไม่ประสงค์จะให้รู้ออกเสีย เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ที่คลาดเคลื่อน

     การพูดอนุโลมการพูดเท็จ มี 2 ประการ คือ

1. อนุโลมพูดเท็จ คือ เรื่องที่ไม่จริง แต่พูดโดยมีเจตนาให้คนอื่นเชื่อถือ ได้แก่

- เสียดแทง เป็นการว่าผู้อื่นให้เจ็บใจ เช่น การประชด การด่า

- สับปลับ เป็นการพูดปดด้วยความคะนองปาก

2. ปฏิสสวะ คือ การรับคำของผู้อื่นด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ แต่ภายหลังเกิดกลับใจไม่ทำตาม ที่รับนั้น ได้แก่

- ผิดสัญญา คือ การที่สองฝ่ายทำสัญญาต่อกัน แต่ภายหลังฝ่ายหนึ่งได้บิดพลิ้ว ไม่ทำตาม ที่สัญญาไว้

- เสียสัตย์ คือ การที่ฝ่ายหนึ่งได้ให้คำสัตย์ไว้ แต่ภายหลังได้บิดพลิ้วไม่ทำตามนั้น

- คืนคำ คือการรับคำว่าจะทำสิ่งนั้นๆ โดยไม่มีข้อแม้ แต่ภายหลังหาได้ทำตามนั้นไม่
 

     ยถาสัญญา คือ การพูดตามโวหารที่ตนเองจำได้ ถือว่าไม่ผิดศีล มี 4 ประการ

1. พูดโวหาร ได้แก่ การพูดหรือเขียนตามธรรมเนียม เช่น ขอแสดงความเคารพอย่างสูง ซึ่ง ใจจริงอาจไม่เคารพเลยก็ได้ เช่นนี้ถือว่าไม่ผิดศีล

2. การเล่านิทานหรือนิยายให้ผู้อื่นฟัง หรือแต่งเรื่องขึ้นเพื่อใช้เป็นบทละคร หรือภาพยนตร์

3. การพูดด้วยความเข้าใจผิด

4. การพูดเพราะความพลั้งเผลอ

     การพูดเท็จ มีโทษมากหรือโทษน้อย ขึ้นอยู่กับ

1. ความเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามากน้อยเพียงใด

2. คุณความดีของผู้ที่ถูกละเมิด

3. ผู้พูดนั้นเป็นใคร เช่น

- คฤหัสถ์ที่โกหกว่า ไม่มีŽ เพราะไม่อยากให้ของของตน อย่างนี้มีโทษน้อย แต่การเป็นพยาน เท็จมีโทษมาก

- บรรพชิตพูดเล่นมีโทษน้อย แต่การพูดว่าตน รู้เห็นŽ ในคุณวิเศษที่ตนไม่รู้ไม่เห็นมีโทษมาก

 

 องค์แห่งศีลที่ผิดจากการดื่มน้ำเมาต้องประกอบด้วย คือ

          1. น้ำที่ดื่มเป็นน้ำเมา

2. มีจิตคิดจะดื่ม

3. พยายามดื่ม

4. น้ำเมานั้นล่วงพ้นลำคอลงไป
 

     การดื่มน้ำเมา มีโทษมากหรือโทษน้อย ขึ้นอยู่กับ

1. อกุศลจิตหรือกิเลสในการดื่ม

2. ปริมาณที่ดื่ม

3. ผลที่เกิดจากการกระทำผิดพลาด ชั่วร้าย ที่ตามมาจากการดื่มน้ำเมา

- สุรา ได้แก่ น้ำเมาที่ถูกกลั่นให้มีรสชาติเข้มข้น เช่น เหล้าต่างๆ

- เมรัย ได้แก่ น้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น เช่น เหล้าดิบ กระแช่ น้ำตาลเมา ฯลฯ

     นอกจากนี้ การงดเว้นจากการเสพสิ่งเสพติดต่างๆ เช่น ฝิ่น กัญชา ยาบ้า เฮโรอีน รวมถึงวัตถุทุก ชนิดที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ก่อให้เกิดความมึนเมา ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนได้ ก็รวมอยู่ในศีลข้อนี้เช่นกัน จากความรู้ในเรื่อง องค์วินิจฉัยศีล เราจะสามารถตอบข้อสงสัยได้ว่า การกระทำใดเป็นการ กระทำที่ผิดศีล ทำให้ศีลขาด ทะลุ ด่าง หรือพร้อย ตัวอย่างเช่น การที่เราไล่ยุง แล้วบังเอิญทำให้ยุงตาย โดยที่เรามิได้มีจิตคิดจะฆ่ายุงเลย อย่างนี้เรียกว่ายังไม่ผิดศีล ศีลยังไม่ขาด เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ครบ องค์ 5 ของการฆ่าสัตว์ อย่างไรก็ตาม การละเมิดศีลในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น ศีลขาด ศีลทะลุ ศีลด่าง หรือศีลพร้อย หากเกิดขึ้นด้วยเจตนาที่จะล่วงละเมิด แม้ว่าบางกรณีศีลจะยังไม่ขาดก็ตาม แต่บาปได้เกิดขึ้นมาในใจ เป็นเหตุให้ใจต้องเศร้าหมอง และหากละเมิดศีลในกรณีที่เกิดโทษมาก เป็นบาปมาก คุณภาพใจจะยิ่งถูกทำลายให้เศร้าหมองมากยิ่งขึ้น เราจึงควรศึกษาในเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้การรักษาศีลของเรา เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจ อันจะนำมาซึ่งการรักษาใจได้อย่างบริสุทธิ์ สะอาด ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ในภายหลัง

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010945796966553 Mins