การพูดดีและพูดเป็นในการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

วันที่ 26 มีค. พ.ศ.2558

การพูดดีและพูดเป็นในการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

     ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรจะต้องเป็นคนพูดดีและพูดเป็น กล่าวคือ คนพูดเป็นนอกจากเตรียม เรื่องมาดีแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่คิดให้รอบคอบและมีสติก่อนที่จะพูด และมีการกลั่นกรองคำพูดให้ละเอียดอ่อน เสียก่อนแล้วจึงค่อยพูด เพราะการใช้คำพูดหากสามารถอธิบายได้ยิ่งละเอียดอ่อนลึกซึ้งเท่าไร ก็ยิ่งสามารถทำให้เกิดความประทับใจคนฟังได้ลึก และได้นาน ตรงกันข้ามคำพูดยิ่งหยาบเท่าไร ก็กลับจะทำให้เกิดความระคายทั้งหู ระคายทั้งใจมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักในการพูดไว้ถึง 5 ประการด้วยกัน คือ

1.พูดด้วยจิตเมตตา กล่าวคือ ทุกครั้งที่เราจะพูดกับใครก็ตาม ให้ถามตัวเองเสียก่อนว่า ที่เราจะพูดต่อไปนี้ มีความปรารถนาดีต่อเขาหรือไม่ ถ้าคิดว่าพูดแล้วจะระคายหู ระคายใจ ทั้งคนฟังคนพูด ก็อย่าพูด และหากมีการไต่ถามด้วยความไม่เข้าใจ เราจะต้องมีจิตเมตตาที่จะอธิบาย โดยไม่คิดว่าเป็นการยั่วเย้าให้เราโกรธ

2.พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ กล่าวคือ เรื่องที่เราจะพูดหรือยกมาเป็นเรื่องสนทนานั้นจะเป็น ประโยชน์กับคู่สนทนาหรือไม่ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ ก็ให้อดใจงดที่จะพูดออกมา เพราะหากยังพูดก็อาจจะทำให้กลายเป็นพูดเพ้อเจ้อไป

3.พูดถ้อยคำที่ไพเราะ นับตั้งแต่การรู้จักการใช้ภาษาพูดที่ไม่ระคายหู แม้จะพูดคำที่เป็น ประโยชน์แต่ถ้าระคายหูแล้ว ก็ไม่มีใครอยากฟัง ไม่อยากทำตาม บางทีอาจจะเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน ทั้งนี้ควรตระหนักว่าไม่มีใครในโลกชอบให้ใครมาพูดข่มขู่ กระโชกโฮกฮาก และคนที่พูดคำหยาบคาย ถึงแม้จะมีประโยชน์แต่ก็ยากที่ใครจะรับได้

4.พูดถ้อยคำที่เป็นจริง กล่าวคือ คำพูดที่เรานำมาเล่า แนะนำ จะต้องเป็นคำที่เป็นจริง เพราะถึงแม้คำพูดของเราจะไพเราะ มีประโยชน์ เต็มไปด้วยความปรารถนาดี แต่ถ้าไม่เป็นจริงแล้ว ไม่พูดเสียเลย ดีกว่า เช่น มุ่งที่จะทำให้ผู้ฟังเชื่อถือเกินไป จึงพูดในเรื่องที่อาจจะเกินความจริง สิ่งนี้จะทำให้เรากลายเป็นคนโกหก เป็นคนขาดศีล ถึงแม้พูดให้คนอื่นได้ประโยชน์ไป แต่เรากลับเสียประโยชน์ คือผิดศีล และเมื่อพูดไม่จริงจนเคยชินมากเข้า ก็จะกลายเป็นคนหลงๆ ลืมๆ และขาดความเชื่อมั่นในตนเอง

5.พูดถูกกาลเทศะ คือ ก่อนพูดต้องดูกาลเทศะให้ดี เพราะคนที่พูดไม่ถูกเวลา ไม่ถูกสถานที่ อาจทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้ กลับจะทำให้เป็นที่เกลียดชังแก่บุคคลทั่วไป เช่น การจะเตือนคน ต้องรู้จักกาลเทศะ เช่น หากเตือนผู้ใหญ่ต่อหน้าธารกำนัล แม้จะพูดไพเราะแค่ไหน ก็ถือว่าพูดผิดที่ แทนที่จะเป็นผลดีกลับกลายเป็นการฉีกหน้า หรือหากจะเตือนคนที่กำลังมีโทสะพลุ่งพล่าน มีอาวุธอยู่ในมือ ถือว่ายังไม่ใช่โอกาสที่เหมาะสม เพราะอาจจะเป็นภัยแก่ผู้เตือนได้

     ดังนั้น หากผู้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรมีลักษณะอย่างนี้ พร้อมทั้งมีความเพียบพร้อมไปด้วยภูมิปัญญา ทางโลก และเต็มเปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญาทางธรรม เมื่อจะพูดก็พูดดี ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวนี้ย่อมทำให้ ผู้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรเป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธา คือ ทั้งน่ารัก น่าเคารพ และน่าเทิดทูน ย่อมจะมีอานิสงส์ ต่อการทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้อย่างดีเยี่ยม แม้เพียงได้ยินก็ทำให้เกิดความประทับใจแก่ทุกคนได้ ดังนั้น ผู้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ อุปมาเหมือนดั่งดวงอาทิตย์ยามเที่ยงโชติช่วงชัชวาล เป็นใหญ่ในท้องฟ้า ย่อมยังคุณูปการให้เกิดแก่ชาวโลกได้กว้างขวาง

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา DF 202 ทักษะการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001234233379364 Mins