ชมพูทวีปเป็นโลกแห่งความแตกต่าง

วันที่ 06 กค. พ.ศ.2558

 

 

 

ชมพูทวีปเป็นโลกแห่งความแตกต่าง

            นักศึกษาลองพิจารณาถึงหลักความจริงทั่วไป จะพบว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความแตกต่างของแต่ละบุคคล แม้เราจะมีอวัยวะที่เป็นคนเหมือนกัน แต่มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน เช่น อวัยวะบางคนมีอาการครบ 32 ประการ บางคนขาด บางคนเกิน บางคนมีผิวพรรณสวยงาม ละเอียดอ่อน บางคน ผิวพรรณหยาบกระดำกระด่าง บางคนเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวย บางคนเกิดในครอบครัวที่ยากจน ความแตกต่างเหล่านี้ หากให้เราคิดหาคำตอบด้วยตนเอง ก็คงจะกะโหลกบานสติเฟื่องเป็นแน่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงให้คำตอบเหล่านี้ไว้แล้วใน จูฬกัมมวิภังคสูตร3) ว่า

 

“    ดูก่อนมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรม เป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลว และประณีตได้”

 

            จากพุทธพจน์นี้ นักศึกษาคงทราบแล้วว่า การกระทำของเรานั่นเองที่ทำให้เราแตกต่างกันใน หลายๆ ด้าน ซึ่งสามารถสรุปการกระทำที่ทำให้แตกต่างกัน ดังที่มีปรากฏในจูฬกัมมวิภังคสูตรเช่นเดียวกัน ดังนี้


ฆ่าสัตว์ ไม่มีความกรุณา เป็นเหตุให้อายุสั้น

ไม่ฆ่าสัตว์ มีความกรุณา เป็นเหตุให้อายุยืน

เบียดเบียนสัตว์ เป็นเหตุให้มีโรคมาก

ไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นเหตุให้มีโรคน้อย

มักโกรธ มีความคับแค้นใจมาก เป็นเหตุให้ผิวพรรณทราม

ไม่โกรธ ไม่มีความคับแค้นใจ เป็นเหตุให้ผิวพรรณผ่องใส

มีใจประกอบด้วยความริษยาผู้อื่น เป็นเหตุให้มีอานุภาพน้อย

มีใจไม่ริษยาผู้อื่น เป็นเหตุให้มีอานุภาพมาก

ไม่บริจาคทาน เป็นเหตุให้ยากจน อนาถา

บริจาคทาน เป็นเหตุให้มีโภคสมบัติมาก

กระด้าง ถือตัว เป็นเหตุให้เกิดในสกุลต่ำ

ไม่กระด้าง ไม่ถือตัว เป็นเหตุให้เกิดในสกุลสูง

ไม่อยากรู้ ไม่ไต่ถามผู้มีปัญญา เป็นเหตุให้มีปัญญาน้อย

อยากรู้ หมั่นไต่ถามผู้มีปัญญา เป็นเหตุให้มีปัญญามาก

 

            นักศึกษาจะเห็นว่า ทุกการกระทำของเราล้วนมีผลแห่งการกระทำทั้งสิ้น และการกระทำนี้เองที่ทำให้ เราแตกต่างกัน หากจะกล่าวว่า ชีวิตลิขิตได้ด้วยการกระทำของตัวเองก็คงจะได้ความหมายที่ชัดเจนในข้อนี้ เช่น ถ้าต้องการอายุยืน ก็ต้องไม่ฆ่าสัตว์ ปรารถนาทรัพย์ก็ต้องบริจาคทาน ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ดังนั้นนักศึกษาปรารถนาจะเป็นอย่างไร ต้องประกอบเหตุดังที่กล่าวแล้ว ยิ่งประกอบเหตุที่ดีไว้มากเพียงไร เราก็ยิ่งมีความสมบูรณ์และความสุขมากเพียงนั้น เราจะเป็นผู้ที่โดดเด่นในความแตกต่าง และสามารถใช้ผลจากการประกอบเหตุนั้นมาสั่งสมความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เช่น หากเรามีทรัพย์มากก็จะทำทานได้มาก ถ้ามีปัญญามาก จะทำสิ่งใดก็สำเร็จได้ทุกอย่าง เป็นต้น

 

            มนุษย์ในชมพูทวีปแม้จะมีความแตกต่างกันถึงเพียงนี้ แต่ถ้าเทียบคุณสมบัติทั่วไปของมนุษย์ในชมพูทวีปกับมนุษย์ในทวีปอื่นแล้ว มนุษย์ในชมพูทวีปคงเทียบไม่ได้ แต่มีคุณลักษณะพิเศษบางประการที่มนุษย์ในชมพูทวีปประเสริฐกว่า และสามารถสร้างความดีได้อย่างเต็มที่มากกว่า คุณลักษณะที่พิเศษ 3 ประการนั้น คือ

1. สูรภาวะ คือ มีจิตใจกล้าแข็งในการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา

2. สติมันตะ คือ มีสติตั้งมั่นในคุณพระรัตนตรัย

3. พรหมจริยวาส คือ สามารถประพฤติพรหมจรรย์ คือ อุปสมบทได้

            ด้วยคุณสมบัติทั้ง 3 ประการนี้ จึงทำให้มนุษย์ในชมพูทวีปมีความโดดเด่นกว่ามนุษย์ในทวีปอื่น และเพราะความที่เป็นโลกแห่งความแตกต่าง พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายที่จะมาบังเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเลือกชมพูทวีปให้เป็นทวีปมงคลที่จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะมนุษย์ในทวีปอื่นมีความดีที่ทำเป็นปกติ มีรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ที่สมบูรณ์พร้อม แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาบังเกิด และทรงแสดงธรรมอย่างไร คนเหล่านั้นก็ไม่อาจจะทำความเข้าใจได้ เพราะตนสมบูรณ์พร้อมแล้ว เช่น พระพุทธองค์แสดงเรื่องความเสื่อมของสังขาร มนุษย์ในทวีปนั้นก็จะนึกไม่ออก เพราะตนไม่มีความชรา ทุกคนมีวัยที่สวยงาม โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่มี เหล่านี้เป็นต้น

 

------------------------------------------------------------------


3) จูฬกัมมวิภัง, มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์, มก. เล่ม 23 ข้อ 581 หน้า 251.

จากหนังสือ DOU GL 102 ปรโลกวิทยา

มนุสสภูมิ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018303799629211 Mins