หลุมพรางของความสำเร็จ

วันที่ 04 สค. พ.ศ.2558

 

หลุมพรางของความสำเร็จ


    ในสังคมปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูง ทำให้เราต้องรีบเร่งทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเอาชนะสิ่งนั้นนำความเครียดอย่างมหาศาลมาให้คนทุกเพศทุกวัย ความเครียดบ่อนทำลายทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย ตั้งแต่ในเด็กไปจนถึงคนชรา ส่งผลให้สังคมเกิดมลพิษ ดังนั้น เราทุกคนจึงควร “ เอาชนะความเครียด ”


เคล็ดลับเอาชนะความเครียด
    คนในสมัยนี้มีความเครียดกันมากขึ้น เหตุผลหนึ่งคือการ “ ตกหลุมพลางของความสำเร็จทางวัตถุ ” ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มองความสำเร็จไปที่เรื่องวัตถุสิ่งของ ตำแหน่างหน้าที่การงาน กระทั่งผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน คนส่วนใหญ่จึงพยายามไขว่คว้า หาวัตถุกันมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองที่เพิ่มสูงขึ้น ๆ นั่นเอง
    หากทุกอย่างเป็นไปตามที่เราหวังไว้ความเครียดก็จะลดน้อยลง แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะส่วนใหญ่ความสมหวังมักจะมากับความผิดหวังเสมอ เนื่องจากเราอาจจะหวังมากเกินไป โดยเฉพาะการมุ่งประเด็นไปที่ความหวังด้านวัตถุที่มากเกินไป จนส่งผลให้เราเกิดความเครียดมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นความล้มเหลวทางด้านจิตใจก็ถูกสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
    จริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่ที่มีความเครียดสูง มักไม่ใช่คนที่ประสบความล้มเหลวแต่เป็นคนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งคนเหล่านี้มักจะมีความมั่นใจว่าตัวเองจะต้องประสบความสำเร็จเพราะเขามีชีวิตที่สมบูรณ์แบบมาก เช่น เกิดในตระกูลที่ดี เรียนหนังสือดีมาโดยตลอด ทำกิจกรรมได้ดี เล่นกีฬาเก่ง เมื่อไม่ค่อยพบกับความผิดหวัง เขาจึงยังไม่คุ้นเคยกับความล้มเหลว
    เมื่อคนกลุ่มนี้ต้องออกไปเผชิญหน้ากับสถานการณ์จริงในโลกแห่งการแข่งขัน ได้ไปพบกับคนมากมายที่มีทักษะในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม หรือมีทักษะในการทำงานมากกว่าตัวเองเขาจึงเกิดความเครียดสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับความเก่งกาจเลย แต่เป็นเรื่องของ EQ (ความฉลาดทางอารมณ์) มากกว่า “ IQ ” (ความฉลาดทางเชาว์ปัญญา) สุดท้ายเมื่อคนกลุ่มนี้ต้องเจอกับความล้มเหลวพวกเขาจึงมักมีความเครียดสูงกว่าคนอื่น


สาเหตุของความเครียด
    บางคนเวลามีปัญหาก็ยิ้มสู้ แต่บางคนเลือกที่จะหลบหนีปัญหา บางคนเครียดถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายเพราะฉะนั้นความเครียดจึงแตกต่างกันออกไป โดยความเครียดเกิดจากปัจจัยใหญ่ๆ 2 อย่าง ดังนี้

ปัจจัยที่ 1 ยึดติดกับอดีต
    ชีวิตคนเราต้องเดินหน้าไปเรื่อยๆ พร้อมๆกับเวลาที่เคลื่อนผ่านไป พบปะเจอะเจอสิ่งต่างๆ มากมาย ล้มบ้างลุกบ้างหยุดอยู่กับที่บ้าง แต่ชีวิตก็ดำเนินไปได้เรื่อยๆ ดังนั้น “ อย่ามัวไปกังวลกับอดีต ” ถ้าเรามัวไปยึดติดกับปัญหา ก็เหมือนกับเราเจอตอไม้ แล้วเอาหนังสติ๊กผูกตัวเราไว้กับตอไม้นั้นในขณะที่เรากำลังเดินถอยห่างออกจากตอไม้นั้นไปเรื่อยๆ เราก็จะถูกดึงรั้งไว้ด้วยหนังสติ๊กที่เราผูกเอง ถ้าถามว่าตอไม้นั้นทำอะไรเราได้หรือไม่ ก็ตอบว่า “ ไม่ได้ ” เพราะตอไม้เปรียบดังประสบการณ์ที่ผ่านไปแล้ว มันเป็นอดีตไปแล้วนั่นเอง
    วิธีการแก้ไขก็คือให้เราคลายหนังสติ๊กที่เราผูกเอาไว้ออก คลายความยึดมั่นถือมั่นออกไป ตัวเราก็จะเบาโล่งแล้วเดินหน้าต่อไปได้อย่างสบายๆ ต่อจากนั้นเราจะเดินชมนกชมไม้แล้วมีโอกาสเจอสิ่งใหม่ๆ อีกมากมาย โดยที่ไม่ต้องเอาตัวเองไปผูกติดกับตอไม้ หรือปัญหาที่ผ่านไปแล้วอีก ดังนั้น เราควรลืมอดีตที่ผิดพลาดให้หมด


ปัจจัยที่ 2 กังวลกับอนาคต
    บางคนพอนึกถึงอนาคตแล้วเกิดความกลัว มัวกังวลกับอนาคตเพราะเอาแต่เพ้อฝัน จริงๆแล้วมนุษย์ทุกคนต้องมีความฝัน แต่ว่า “ ความเพ้อฝัน ” กับ “ ความใฝ่ฝัน ” นั้นแตกต่างกัน 
    “ ความเพ้อฝัน ” คือ การคิดอะไรที่เกินตัวเกินเอื้อม คิดลอยๆ โดยไม่มีช่องทางแผนงานที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จนั้น แต่ “ ความใฝ่ฝัน ” คือการคิดถึงเป้าหมายที่เราจะสามารถก้าวไปถึงได้จริง แล้วมุ่งมั่นแสวงหาหนทางที่จะไปให้ถึงความใฝ่ฝันนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเรากังวลกับอนาคตมากเกินไป เราก็จะกลายเป็นคนที่มัวแต่เพ้อฝัน ว่าจะได้โน่นได้นี่ ชีวิตจะต้องอยู่ท่ามกลางความสุข มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายมีทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต แต่ถ้าไม่ได้อย่างที่คิดไว้ก็จะเกิดความเครียดว่า เราทำงานเต็มที่แล้วทำไมถึงยังไม่ได้ยังไม่มี แล้วระดับของความเครียดนี้ก็จะถูกฝังอยู่ในสมองของเราโดยขึ้นกับระยะเวลาที่เราเอาใจไปผูกติด หรือปล่อยให้ความเครียดนั้นอยู่ในหัวของเรานานแค่ไหนนั่นเอง


    ความเครียดนั้นเหมือนกระแสเงินสด ที่อยู่ในหัวเราได้นานแค่ไหนมันก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวเอง แล้วถ้ามูลค่าเพิ่มมากเกินขีดจำกัด จนกระทั่งในหัวของเรามีแต่ความเครียด สติปัญญาก็เข้ามาไม่ได้การแก้ไขปัญหาทุกปัญหานั้น ต้องใช้ “ สติ ” กับ “ ปัญญา ” ถ้าเราปล่อยให้กระแสความเครียดวนอยู่ในหัวหลายรอบ ความเครียดนั้นก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวมันเอง สติปัญญาจะลดลงจนทำให้เราไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย ก่อนอื่นเราจึงต้องดึงความเครียดออกไปให้ได้ ถ้าเรารู้ว่ามีแค่ 2 เหตุผลที่ทำให้เกิดความเครียด คือ “ การยึดติดกับอดีต ” และ “ กังวลกับอนาคต ” เราก็ควรอยู่กับปัจจุบันเห็นไหม ง่ายนิดเดียว
    หลักการนี้ถือเป็นยุทธการชิงพื้นที่ในใจ เราจะใส่อะไรลงไปในใจบ้าง ถ้าเราใส่เรื่องเครียดลงไปในใจเราก็จะเครียด ถ้าเราใส่เรื่องไม่เครียดลงไปในใจ เราก็ไม่เครียด ดังนั้น ถ้าไม่รู้ว่าจะนึกถึงอะไรเมื่อเกิดปัญหา ก็ให้เรานึกถึงพระรัตนตรัยในตัวก่อน


“ เครียดดี ” กับ “ เครียดไม่ดี ”
    ทางวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศแยกความเครียดออกเป็น “ เครียดดี ” กับ “ เครียดไม่ดี ” ความเครียดดีเรียกว่า “ ยูสเตรส ” (Eustress) ซึ่งเป็นความเครียดที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ เช่น เด็กนักเรียนรู้สึกเครียดมากเพราะต้องสอบเขาจึงตั้งใจอ่านหหนังสือจนสอบผ่าน นี่คือความเครียดดีที่ทำให้เกิดการตื่นตัวและเตรียมความพร้อม เพราะฉะนั้นความเครียดประเภทนี้ทำให้เราเกิดความตื่นตัว ไม่ประมาท มีวิริยะ อุตสาหะทำให้เกิดความมุ่งมั่นว่า เราจะต้องเตรียมความพร้อมจนประสบความสำเร็จในที่สุด
    ส่วนความเครียดไม่ดี เรียกว่า “ ดิสเทรส ” (Distress) ซึ่งเป็นความเครียดที่บั่นทอนจิตใจ ทำให้รู้สึกผิดหวัง เศร้าใจสะเทือนใจ และเสียสุขภาพ เช่น อกหักแล้วเครียด หรือดูข่าวสะเทือนใจแล้วรู้สึกกับสังคมในทางไม่ดีก็เกิดความเครียดได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเครียดดีหรือเครียดไม่กีนั้นขึ้นอยู่กับการจัดลำดับทางความคิดหรือทัศนคติของแต่ละคน เพราะเหตุการณ์เดียวกันบางคนอาจจะเครียดแล้วดี ในขณะที่บางคนเครียดแล้วไม่ดีก็เป็นได้


ความเครียดส่งผลต่อร่างกาย
    คนที่เกิดความเครียดสะสมอันดับแรกเลยจะเป็นโรคปวดศีรษะ และปวดตาเรื้อรัง ปวดท้องบ่อยครั้ง เส้นเอ็นยึดปวดเนื้อปวดตัว โดยสังเกตอาการได้จากเวลาที่เราเครียดจะมีอาการปากแห้ง คอแห้ง น้ำลายเหนียว และมีกลิ่นปากเพราะร่างกายถูกเผาตลอดเวลา พอมีอาการมากๆ กล้ามเนื้อก็โดนเผาไปด้วย ในที่สุดกล้ามเนื้อของเราก็จะแห้งจนแข็ง พอเส้นเอ็นแข็งยึดก็จะเกิดอาการปวดไปทั่วทั้งตัว
    ความเครียดนั้นกระทบกับทั้งร่างกายและจิตใจ ผลกระทบทางจิตใจ คือเมื่อเราเครียดจะเกิดอาการตื่นเต้นง่าย ใจสั่น หงุดหงิดง่าย ใครทำอะไรนิดหน่อยก็ตีโพยตีพาย เกิดอารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ เป็นต้น


เทคนิคแก้อาการเครียด
    วิธีแก้อาการเครียดมีเทคนิคง่ายๆก็คือ “ ละทิ้งอดีตไม่หมกมุ่นกับอนาคตแต่มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ” โดยมีหลักการง่ายๆดังนี้

รู้สาเหตุของความเครียด
    ก่อนอื่นเราควรรู้สาเหตุของความเครียดก่อนด้วยหลักวิเคราะห์ “ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ” โดยข้อแรกเราต้องวิเคราะห์ก่อนว่า ที่เรามีความทุกข์หรือความเครียดนั้นเกิดจากเหตุอะไร เมื่อค้นหาเหตุได้แล้วเราจึงวิเคราะห์ต่อไปว่า เหตุต่างๆนั้นมีต้นตอมาจากอะไร และเราควรจะแก้ไขอย่างไรต่อไป โดยมีหลักสำคัญว่า ให้เราสงบสติอารมณ์ อย่าให้ความเครียดเพิ่มขึ้นจากเดิมไปอีก


มีจิตเป็นบวก
    มีจิตเป็นบวก คือให้เรามองว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีทางออกเสมอ ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไข แล้วสร้างพฤติกรรมแบบนักแก้ไขปัญหา ไม่คิดท้อถอยเอาแต่หลบหนีปัญหา ปัญหาทุกปัญหาไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดชีวิต ดังนั้นไม่มีปัญหาใดที่แก้ไขไม่ได้ เราควรค่อยๆคิดหาทางออก ค่อยๆปลดปล่อยความเครียดออกไป แล้วสติปัญญาจะเข้ามาแทนที่ ที่สำคัญถ้าเกิดความเครียดขึ้น อันดับแรกเราต้องทำใจให้นิ่งโดยทำจิตให้ผ่องใสด้วยการนั่งสมาธิ


ความเครียดคือ ความท้าทาย
    อีกเทคนิคลดความเครียด คือให้เรามองว่าความเครียดเป็นความท้าทาย ความเครียดคือคู่แข่งของเรา ความเครียดเป็นสิ่งท้าทายความสามารถในการแก้ไขปัญหาของเรา ยิ่งมีปัญหามากเรายิ่งเก่งขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะต้องเอาชนะให้ได้ด้วยการสู้กับปัญหา


ไม่เอาใจไปผูกติดกับปัญหา
    การไม่เอาใจไปผูกกับปัญหา คือถ้าเกิดปัญหาขึ้นเราก็ควรแก้ไขอย่างเป็นลำดับขั้นตอน แต่เมื่อใดที่เราเอาใจไปผูกกับปัญหา ก็เหมือนกับเราเอาตัวเองไปผูกติดไว้กับตอไม้ แล้วเริ่มปรุงแต่งให้เกิดปัญหามากขึ้นเกิดความเครียดมากขึ้นจนเกิดกระแสความเครียดท่วมหัว เพราะฉะนั้น เราต้องหยุดตัวเองให้ได้ก่อน ถ้าเรายังทำอะไรไม่ได้ก็ให้นั่งสมาธิ ถ้าฟุ้งซ่านมากจนนั่งสมาธิไม่ได้ก็ให้สวดมนต์แผ่เมตตา สุดท้ายเราก็จะนั่งสมาธิได้แล้วทำใจนิ่งๆ จนเกิดสติปัญญาได้เอง


หมั่นดูแลสุขภาพกายใจ
    เมื่อใดที่มีความเครียดเกิดขึ้นอย่าลืมดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ดี ถ้าเราดูแลสองสิ่งนี้ให้ดีแล้ว ไม่ว่าเราจะมีปัญหามากแค่ไหนก็ย่อมหาทางออกได้เนื่องจากเรามีพื้นฐานที่ดี พอมีพื้นฐานสุขภาพกายดี พื้นฐานใจดี เรื่องร้ายใดๆ ก็ไม่สามารถเข้ามาทำลายกายและใจของเราได้ เมื่อใดก็ตามที่มีความเครียดเกิดขึ้น อันดับแรกเราต้องให้อภัยตัวเองก่อน ด้วยการไม่เพิ่มความเครียดให้กับตัวเอง ไม่ซ้ำเติมหรือต่อว่าตนเอง ทำไมเราต้องมานั่งหมกมุ่นอยู่กับเรื่องนี้ ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไร แต่ทำไมถึงปล่อยวางไม่ได้เป็นต้น


    อันดับสองให้ใจของเรานึกถึงบุคคลที่เราเคารพบูชาเป็นสรณะ เช่น ระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระมหาเถระที่เราคุ้นเคยเคารพนับถือ เราเคารพบูชาหลวงปู่ (พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่สด จันทสโร) ก็ให้เรานำดอกมะลิไปกราบบูชาขอพรจากท่าน แล้วนั่งสมาธิอยู่กับท่านให้ใจนิ่งมากขึ้นๆ ค่อยๆน้อมใจให้พลังบารมีท่านมาสถิตอยู่กับเรา ความเครียดจริงๆแล้ว 90% มาจากใจของเราความคิดปรุงแต่งของเรา พอเราคิดปรุงแต่งมากขึ้น ความเครียดก็งอกเงยยิ่งกว่าดอกเบี้ย ดอกเบี้ยที่ไหนๆ ก็น้อยกว่าดอกเบี้ยในใจของเรา เพราะฉะนั้น หากต้องการจะพิชิตความเครียดให้ได้ เราต้องพิชิตใจตัวเองก่อน

 

--------------------------------------------------------------------

" หนังสือ เนรมิต จิตใจ "
ปลดล็อกความเครียด รู้ทันความเสื่อม สร้างสุข สลัดทุกข์หยุดโกรธ
โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0096325834592183 Mins