วิธีการเจริญอาหารเรปฏิกูลสัญญา

วันที่ 08 สค. พ.ศ.2558

 

 

 วิธีการเจริญอาหารเรปฏิกูลสัญญา

            การพิจารณาความเป็นปฏิกูลในอาหารที่เรารับประทานทุกมื้อนั้น มีวิธีการในการพิจารณาโดยให้พิจารณาความเป็นปฏิกูลโดยอาการ 10 อย่าง คือ

            1.คมนโต พิจารณาความเป็นปฏิกูลในการไปสู่สถานที่ที่มีอาหารว่า โดยปกติอาหารไม่ได้เกิดขึ้นในที่อยู่อาศัยของเราเองได้ ถ้าเป็นฆราวาสต้องประกอบอาชีพ อาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อจะได้ทรัพย์สินเงินทองมาจับจ่ายใช้สอยซื้ออาหารเลี้ยงชีวิต แม้ว่าในที่อยู่อาศัยอาจมีความสะดวกสบายสะอาดสวยงาม แต่เมื่อต้องเดินทางไป ย่อมได้รับความยุ่งยากนับตั้งแต่การแต่งกาย การเดินทางด้วยเท้า ขึ้นรถ ลงเรือ ได้พบเห็นสิ่งที่ไม่ถูกใจต่างๆ ทั้งสถานที่และผู้คน ได้สัมผัสสิ่งที่ไม่ดีงาม กรำแดด กรำฝน เหน็ดเหนื่อย ถ้าเป็นภิกษุก็ต้องภิกขาจารไปในสถานที่ต่างๆ ทั้งที่เฉอะแฉะ สกปรก กรำแดดกรำฝน เพื่อให้ได้อาหารมาเลี้ยงอัตภาพ

 

               2.ปริเยสนโต พิจารณาความเป็นปฏิกูลโดยการแสวงหาว่า มีเงินแล้วก็ต้องไปจับจ่ายซื้ออาหารที่ตลาด ซึ่งเป็นที่รวมของไม่สะอาดนานาชนิด เข้าร้านโน้นออกร้านนี้ ตลาดนั้นตลาดนี้ เหยียบย่ำพบเห็นสิ่งที่ไม่พอใจทั้งสิ่งของและผู้คน ลำบากยุ่งยากอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อซื้ออาหารแล้ว ก็ต้องหอบหิ้วกลับมา ลำบากในการประกอบอาหาร ปรุงแต่งไปตามความต้องการของคนบริโภค คนนั้นชอบอย่างนี้ คนนี้ชอบอย่างนั้น ต้องพลิกแพลงประดิษฐ์สับเปลี่ยนมิให้เป็นที่เบื่อหน่าย มีแต่ความลำบากกายลำบากใจด้วยการแสวงหา

                ถ้าเป็นภิกษุก็ต้องเข้าไปสู่บ้าน ในฤดูฝน เท้าก็ต้องจมลงไปในโคลนเลน ในฤดูร้อนก็ต้องเดินไปด้วยร่างกายที่เปื้อนฝุ่นละออง ถูกลมพัดบ้าง เมื่อถึงประตูบ้าน บางทีก็ต้องเหยียบหลุมโสโครกหรือบ่อน้ำครำ ที่มีน้ำล้างปลา น้ำล้างเนื้อ น้ำซาวข้าว น้ำลาย น้ำมูก อุจจาระสัตว์ เช่น อุจจาระสุนัขหรือแมว เป็นต้น มีหมู่หนอนและแมลงวันไต่ตอม บางทีแมลงวันก็มาเกาะที่ตัวบ้าง ที่บาตรบ้าง ที่ศีรษะบ้าง เมื่อเข้าไปในบ้านคนบางบ้านก็ถวาย บางบ้านก็ไม่ถวาย บ้านที่เขาถวาย บางบ้านก็ถวายอาหารที่สุกแต่เมื่อวานบ้าง อาหารที่เก่าบ้าง ขนม แกงที่บูดแล้วบ้าง ส่วนบ้านที่ไม่ถวาย บางบ้านก็ทำเป็นไม่เห็น บางบ้านก็พูดนิมนต์ให้ไปข้างหน้า บางบ้านก็นิ่งๆ บางคน ไม่ให้แล้วยังตำหนิติเตียน ด่าว่าถากถาง ภิกษุก็จะต้องอดทนเดินเข้าไปในบ้าน เพื่อแสวงหาอาหาร การแสวงหาอาหาร จึงเป็นสิ่งปฏิกูลดังกล่าวมานี้

 

              3.ปริโภคโต พิจารณาความเป็นปฏิกูลโดยการบริโภคว่า เมื่อหยิบอาหารเข้าปากแล้ว อาหารก็คละเคล้าปนกับน้ำลายใสที่ปลายลิ้น น้ำลายข้นที่กลางลิ้น ฟันล่างทำหน้าที่เหมือนครก ฟันบนทำหน้าที่เหมือนสาก ลิ้นเหมือนมือ เวลาเคี้ยวอยู่ อาหารนั้นก็แปดเปื้อนไปด้วยมูลฟันที่ค้างติดอยู่ตามซอกฟัน ทั้งสีและกลิ่นของอาหารที่เคยเห็นก่อนบริโภคว่าเป็นของสวยของดี ก็กลายเป็นของน่าเกลียดไป หากลองคายออกมาแล้วให้กลืนกลับเข้าไปใหม่ก็คงกลืนไม่ลง เพราะดูน่าเกลียดเหมือนรากสุนัข แต่อาหารทุกคำที่เคี้ยวกลืนอยู่ได้นั้น เพราะเมื่อใส่ปากแล้ว ไม่สามารถมองเห็นได้อีก จึงกลืนลง

                   การบริโภคนั้นเล่าก็ไม่มีที่สิ้นสุด อิ่มไปชั่วระยะเวลาหนึ่งไม่นานก็ต้องหิว บริโภคใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ดังนี้ อาหารที่แต่ละคนบริโภคกันมาในชาตินี้ นับแต่แรกเกิดจากครรภ์มารดาจนเติบใหญ่ ถ้าจะนำมากองแยกกันไว้ จะมีจำนวนมากมายนัก ข้าวสารอาจเป็นร้อยๆ กระสอบ น้ำอาจเท่าสระน้ำใหญ่ๆ เนื้อสัตว์ที่บริโภคคิดเป็นจำนวนตัว คงเป็นฝูง ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์บก นี่ไม่รวมอาหารที่เราได้บริโภคไว้ในชาติก่อนๆ ผู้รู้จึงกล่าวอุปมาไว้ว่า ท้องของเราเหมือนมหาสมุทรประจำร่างกาย การบริโภคจึงเป็นสิ่งที่น่าเกลียด ดังกล่าวมานี้

 

               4.อาสยโต พิจารณาความเป็นปฏิกูลโดยที่อยู่ว่า ธรรมดาอาหารที่กลืนเข้าไปในร่างกายแล้วต้องมีดี เสมหะ หนอง เลือด ออกมาคลุกเคล้าปะปน แม้พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดก็ยังต้องมีสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนคนธรรมดาย่อมมีครบทั้ง 4 อย่าง ใครที่มีน้ำดีมาก อาหารก็เหมือนถูกคลุกเคล้าด้วยน้ำมันมะซาง ถ้ามีเสมหะมากก็เหมือนคลุกเคล้าด้วยน้ำกากะทิง ถ้ามีหนองมากก็เหมือนคลุกเคล้าด้วยเปรียงเน่า ถ้ามีโลหิตมากก็เหมือนย้อมอาหารด้วยสีย้อมผ้า ที่อยู่ของอาหารจึงมีอาการน่าเกลียด ดังกล่าวมานี้

 

               5.นิธานโต พิจารณาความเป็นปฏิกูลโดยเป็นที่หมักหมมรวมกันของอาหารว่า อาหารที่เรากินเข้าไปเปื้อนน้ำดี เสมหะ หนอง เลือด หมักหมมรวมกันอยู่ในกระเพาะที่สกปรกโสโครก ถ้วยชามภาชนะเราใช้แล้วยังขัดล้างทำความสะอาด แต่กระเพาะอาหารเป็นที่ใส่อาหารที่ แปดเปื้อนไปด้วยน้ำดี เสมหะ หนอง เลือด ไม่เคยล้างตลอดเวลา 20, 30, 40 ปี แห่งอายุ ของเรา และทุกวันยังมีอาหารใหม่หมักหมมทับถมลงไปอีก

 

               6.อปริปกฺกโต พิจารณาความเป็นปฏิกูลโดยยังไม่ย่อยว่า อาหารที่บริโภคเข้าไปทั้งเก่าและใหม่ที่ลงไปหมักอยู่ในกระเพาะ อันเป็นที่โสโครกยิ่ง คละเคล้ารวมกันทั้งน้ำดี เสมหะ หนอง เลือด ซากของสัตว์ต่างๆ มีกลิ่นเหม็นเน่า คลุกกันอยู่ มิได้แยกออกจากกัน ไฟธาตุสำหรับ ย่อยอาหาร ทำให้อาหารร้อนเป็นฟองเดือดปุดๆ บูดเป็นฝาโสโครกเหมือนกองขยะที่อยู่ในหลุม น้ำฝนตกลงมาขัง พอถูกแดดเผาก็เป็นฟองเหม็นเน่า น่าเกลียดชัง อยู่ในที่มืดแฉะ เป็นดังป่าช้า ฝังซากสัตว์ต่างๆ ที่กินลงไป มีสภาพน่าสะอิดสะเอียน

 

               7.ปริปกฺกโต พิจารณาความเป็นปฏิกูลโดยย่อยแล้วว่า การถลุงแร่ธาตุต่างๆ เมื่อทำเสร็จแล้ว ย่อมได้แร่บริสุทธิ์สวยงาม เช่น เงิน ทอง ดีบุก ทองแดง แต่อาหารที่ถูกย่อยแล้ว ไม่บริสุทธิ์สวยงามดังแร่ แต่กลายเป็นอุจจาระไปขังอยู่ในกระเพาะอุจจาระเป็นก้อนๆ เหมือนดินเหลืองที่เขาบดให้ละเอียดแล้วใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่น้อย ยาวประมาณ 8 องคุลี แต่มีกลิ่นเหม็นร้ายกาจรุนแรง อาหารที่ย่อยแล้วอีกส่วนหนึ่งกลายเป็นน้ำปัสสาวะอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ เป็นสิ่งน่าเกลียดทั้งนั้น

 

               8.ผลโต พิจารณาความเป็นปฏิกูลโดยผลที่สำเร็จว่า อาหารที่ย่อยแล้วกลายเป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กระดูก เป็นอวัยวะต่างๆ แม้จะย่อยออกมาได้ดีดังนั้น ก็เป็นเพียงเหมือนของเลี้ยงซากศพ 

 

              9.นิสฺสนฺทโต พิจารณาความเป็นปฏิกูลโดยการหลั่งไหลว่า อาหารที่บริโภคเข้าไปนั้น เมื่อบริโภคอาหารเข้าไปเพียงทางเดียว แต่เวลาไหลออกก็ออกทางทวารทั้ง 9 เช่น ไหลออกทางช่องตาก็เป็นขี้ตา ไหลออกทางช่องปาก เป็นน้ำลาย เสมหะ ไหลออกจากทวารหนักเป็นอุจจาระ ไหลออกจากทวารเบาเป็นปัสสาวะ ไหลออกจากขุมขนเป็นเหงื่อ เป็นต้น ขณะที่บริโภคอาหารก็ล้อมวงกันรื่นเริง แต่เวลาถ่าย ออกก็แยกกันไปปิดบังกัน ซ่อนเร้นไม่ให้ใครเห็น

โบราณาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า

“    อาหาร เครื่องดื่ม ของเคี้ยวและโภชนะซึ่งมีค่ามาก เข้าโดยทวารช่องเดียวแต่หลั่งออกโดยทวารทั้ง 9 อาหาร เครื่องดื่ม ของเคี้ยวและโภชนะซึ่งมีค่ามาก บุคคลแวดล้อมบริโภคอยู่ แต่เวลาเขาจะถ่ายออกมา ย่อมแอบแฝง อาหาร เครื่องดื่ม ของเคี้ยวและโภชนะซึ่งมีค่ามาก บุคคลชื่นชมบริโภคอยู่ แต่เมื่อจะให้ถ่ายออก กลับเกลียดอาหาร เครื่องดื่ม ของเคี้ยวซึ่งมีค่ามาก โดยขังอยู่เพียงคืนเดียวเท่านั้น กลายเป็นของเน่าไปหมด”5)

 

            10.สมฺมกฺขนโต พิจารณาความเป็นปฏิกูลโดยความแปดเปื้อนว่า อาหารนี้เมื่อเวลาบริโภคอยู่ก็เปื้อนมือ ปาก ลิ้น เพดาน ต้องล้างแล้วล้างอีกไม่ใคร่จะหมดกลิ่น เมื่อย่อยเสร็จแล้วก็ยังกลายเป็นขี้มูก ขี้ตา ขี้หู ขี้ฟัน สิ่งน่าเกลียดเต็มไปทั่วร่างกาย เวลาถ่ายออกก็เปรอะเปื้อน น่าเกลียด ต้องชำระล้าง ใส่เครื่องหอมกลบความโสโครกและกลิ่นเหม็น แม้จะหมั่นอาบน้ำ วันละหลายๆ ครั้ง ก็ไม่อาจให้สะอาดได้นาน ได้เพียงชั่วคราวแล้วก็สกปรก เปรอะเปื้อนใหม่อีก เป็นอย่างนี้ไม่รู้จักจบสิ้น

 

การปฏิบัติอาหาเรปฏิกูลสัญญากัมมัฏฐาน มุ่งหมายเอาเฉพาะเรื่องกพฬิงการาหาร เป็นประการสำคัญ

           ส่วนอาหารอื่นๆ แม้จะมิได้นำมากำหนดเป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน แต่ก็ควรทราบถึงภัย ทั้งหลายเหล่านั้น พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ว่า

ยังกิญจิ ทุกขัง สัมโภติ สัพพัง อาหาระปัจจะยา

อาหารานัง นิโรเธนะ นัตถิ ทุกขัสสะ สัมภะโว ฯ

            แปลว่า ทุกข์ใดๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว ทุกข์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมมีอาหารทั้ง 4 ช่วยอุดหนุนให้เกิดเสมอ ดังนั้นถ้าอาหารทั้ง 4 ดับลงเมื่อใด ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ไม่มี เมื่อนั้น สำหรับอาหารชนิดอื่น คือ ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และ วิญญาณาหาร ก็สามารถนำทุกข์ภัยมาให้ไม่น้อยกว่ากพฬิงการาหาร บางอย่างน่ากลัวเป็นที่สุด เช่น การไม่รู้จัก สำรวมอินทรีย์ ลุแก่อำนาจความปรารถนา ความอยากได้ ความติดใจชอบใจ ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ไม่ควร ไม่เหมาะสม เพราะผัสสาหารที่ได้รับเหล่านั้นจะนำทุกข์ ภัย โทษมาให้ ถ้าไม่รู้จักพิจารณาย่อมประมาทเห็นว่าผัสสะเหล่านั้นไม่มีภัย

            ยกตัวอย่าง ชายหนุ่มที่มีฐานะปานกลาง ไม่ร่ำรวยมาก แต่ได้ไปเที่ยวในสถานเริงรมย์ที่เพียบพร้อมด้วยกามคุณ มีอาหารรสเลิศ สตรีงามปรนนิบัติ ดนตรีไพเราะ กลิ่นหอมจรุงใจ ได้รับความสะดวกสบายหลายประการ เป็นที่ถูกใจยิ่ง หากไม่พิจารณาให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้เมื่อผูกใจเราเสียแล้ว จิตใจย่อมตกเป็นทาส มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะแสวงหามาเสพอีก เมื่อเป็นสิ่งเกินฐานะ แต่อำนาจความต้องการรุนแรง ย่อมเกิดการแสวงหาในทางที่ผิด เช่นทุจริตต่างๆ เพื่อให้ได้ทรัพย์มาจับจ่ายซื้อหาเอาความพอใจเหล่านั้น ซึ่งก็มีลักษณะที่เป็นโทษเหมือน กพฬิงการาหารอยู่ประการหนึ่งคือ ไม่รู้อิ่ม ไม่รู้พอ ต้องคอยเปลี่ยนหามาเสพอยู่เสมอๆ

 

            ฝ่ายมโนสัญเจตนาหารยิ่งเป็นภัยล้ำลึกกว่าผัสสาหาร นับด้วยร้อยเท่าพันเท่า เพราะอาหารชนิดนี้เองเป็นผู้ทำให้เกิดการสร้างกรรมอันเป็นกุศลและอกุศล ก่อให้เกิดวิบาก (ผล) ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ภพแล้วภพเล่า ไม่มีสิ้นสุด นับจำนวนไม่ถ้วน มองไม่เห็น คุณค่าของการเลิกเกิด คือพระนิพพาน กั้นสรรพสัตว์ไว้ให้เนิ่นช้า นับเป็นภัยอัน ใหญ่หลวง ข้ามภพข้ามชาติ น่ากลัวเป็นที่สุด ส่วนวิญญาณาหาร เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปฏิสนธิในกำเนิดทั้ง 4 การเกิดนี้เป็นภัยนัก เพราะเมื่อเกิดแล้วย่อมมีทุกข์ทั้งหลาย ทั้งทุกข์ประจำเช่น ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทุกข์จร เช่น ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ความเสียใจ ฯลฯ ตามมามากมายไม่รู้สิ้น

 

อาหารทั้ง 4 อย่าง นักปราชญ์ให้นึกพิจารณา เพื่อบรรเทาความคิดยึดติดในความพอใจ ดังนี้

            เมื่อบริโภคกพฬิงการาหารให้นึกเหมือนบริโภคเนื้อลูก ที่ตายลงในระหว่างเดินทางกันดาร และไม่มีสิ่งอื่นจะบริโภคนอกจากเนื้อลูกที่ตายนั้น เมื่อคิดเสียดังนี้จะบรรเทาความเอร็ดอร่อยในรสอาหารลง เพราะพ่อแม่ เมื่อรู้ว่าตนกำลังกินเนื้อบุตรที่รักยิ่ง ย่อมไม่สามารถนึกว่าอร่อย นอกจากเพื่อประทังชีวิตให้ร่างกายได้มีกำลังเดินทาง นักปราชญ์เมื่อใช้กลอุบายนึกเทียบเคียงดังนี้ ย่อมบริโภคมิใช่ติดใจในรส คงเพื่อพอให้ร่างกายดำรงอยู่สำหรับใช้บำเพ็ญ คุณงามความดีประการต่างๆ

            เมื่อจะต้องได้มาซึ่งผัสสาหาร เช่น ตามองเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้รับรส กายได้สัมผัสถูกต้อง ให้ปลงใจพิจารณาระแวดระวัง ประดุจเป็นโคที่ไม่มีหนังหุ้มร่าง มีแต่เนื้อสดอยู่ทั้งตัว อารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เหมือนเหยี่ยว นกตะกรุม แร้ง กา ที่กำลังจะมาจิกเนื้อตามตัวกิน ธรรมดาโคที่ปราศจากหนัง มีเนื้อตัวอาบไปด้วยเลือด เมื่อแลเห็นนกที่ชอบกินเนื้อเหล่านั้นบินมาแต่ไกล ย่อมตื่นตระหนก หวาดกลัว เหลียวหน้าแลหลัง หาที่กำบังหลบซ่อน เพื่อป้องกันรักษาตน ให้รอดพ้นจากอันตรายถูกนกร้าย จิกทึ้ง ผู้ปฏิบัติพึงต้องเกรงกลัวผัสสาหาร มีอาการดังโคนั้นระวังรักษาตน

 

            สำหรับมโนสัญเจตนาหาร คือกุศลกรรม อกุศลกรรม อันทำหน้าที่ส่งผลให้เกิดตายไม่รู้สิ้นสุดในภพทั้ง 3 ต้องพิจารณาให้เห็นเป็นประดุจหลุมถ่านเพลิงอันใหญ่ มีเปลวไฟลุกโพลง สรรพสัตว์ทั้งหลายตกลงไปอยู่ในหลุมเพลิงนั้น มีร่างกายถูกเผาไหม้พุพองเป็นเถ้า หาเศษไม่ได้แม้เท่าฝุ่นธุลี สัตว์ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ด้วยกันทั้งสิ้นเหล่านี้ ย่อมตกอยู่ในทุกข์ภัยต่างๆ มีชาติทุกข์ เป็นต้น เหมือนภัยจากหลุมถ่านไฟ จึงควรเกรงกลัวการที่ต้องไปเกิดวนเวียนในภพทั้ง 3 ให้เหมือนกลัวการตกลงไปให้ไฟลุกไหม้อยู่ในหลุมถ่านเพลิง

             วิญญาณาหาร คือปฏิสนธิวิญญาณจิตทั้ง 196) พิจารณาให้เห็นเหมือนจิตเหล่านี้ เป็นดังนักโทษที่ถูกนายเพชฆาตเอาหอกเล่มใหญ่ แทงตรงอกทะลุผ่านตลอดถึงข้างหลัง ได้รับความทุกข์ทรมานเจ็บปวดแสนสาหัสอยู่เฉพาะหน้า กำลังรอคอยเวลาตายในไม่ช้า สัตว์ที่ถือปฏิสนธิในกำเนิดทั้ง 4 เปรียบได้เช่นเดียวกัน เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้องพบทุกข์ต่างๆ และสิ้นสุดลงที่ความตาย ปฏิสนธินี้จึงเป็นเสมือนดอกไม้ของกิเลสมาร เอามาล่อลวงสัตว์ทั้งหลาย ว่านี่เป็นดอกไม้หอม เหมือนกิเลสมารล่อลวงปวงสัตว์ว่า การเกิดที่นั้นที่นี้จะมีความสุขมากมายดังนั้น ดังนี้ สัตว์ทั้งหลายพากันหลงเชื่อ จึงพากันประกอบกรรมล้วนแต่เป็นไปเพื่อการเกิดแล้วเกิดอีก ไม่สนใจในพระนิพพานอันเป็นการเลิกเกิด กลับมองเห็นพระนิพพานเป็นของสูญเปล่า ไม่มีค่า ปราศจากความสนุกสบาย เมื่อหลงเล่ห์กลของมาร ตั้งปฏิสนธิขึ้นแล้ว เท่ากับตกอยู่ใต้อำนาจของเขา มารนั้นก็ได้โอกาสปล่อยทุกข์ภัยต่างๆ มีชราทุกข์ พยาธิทุกข์ เข้ารุกโรมโจมตีจนตั้งตัวไม่ทัน พ่ายยับเยินลุกไม่ขึ้นแล้ว พระยามัจจุราชก็มาฟาดฟันชีวิตินทรีย์ขาดสิ้นดิ้นดับลง ถ้ายังปราศจากปัญญา รู้ไม่เท่าทันอยู่อีก ก็จะตั้งปฏิสนธิใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ผู้ปฏิบัติจึงควรพิจารณาเรื่องนี้ให้รู้แจ้งด้วยปัญญา แสวงหาพระนิพพาน ไม่หลงเล่ห์มารอีกต่อไป

----------------------------------------------------------------------------

5) วิสุทธมรรค
6) เป็นจิตในฝ่ายอภิธรรม ท่านกล่าวว่า ประกอบด้วย อุเบกขาสันตีรณ 1 อกุศลวิปากจิต อุเบกขา สันตีรณ อเหตุกกุศลวิปากจิต 1 มหาวิปากจิต 8 รูปาวจรวิปากจิต 5 อรูปาวจรวิปากจิต 4.

MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.011803030967712 Mins