ขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

วันที่ 14 สค. พ.ศ.2558

 

ขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

            พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้กล่าวถึงการเห็นขันธ์ 5 ด้วยธรรมจักขุของพระธรรมกาย ซึ่งเป็นการเห็นอย่างแท้จริงไว้ว่า ทำให้เห็นลักษณะของขันธ์ 5 ที่มี การเกิดดับตลอดเวลา เมื่อเห็นเช่นนี้จึงทำให้รู้ว่า ขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดังนี้

 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกว่า เบญจขันธ์ คือ ขันธ์ 5

 

            รูป จะกล่าวในที่นี้ เฉพาะรูปหยาบๆ คือ สิ่งซึ่งธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบกันเข้ารวมกันเป็นก้อนเป็นชิ้นเป็นอัน แลเห็นด้วยตา เช่นร่างกายมนุษย์และสัตว์ ที่เรียกว่ารูป เพราะเหตุว่าเป็นของซึ่งย่อมจะต้องแตกสลายไปด้วยเหตุต่างๆ มีหนาวและร้อน เป็นต้น กล่าวคือ หนาวจัด เย็นจัด จนเกินขีด หรือถูกร้อนจนเกินขีด ย่อมแตกสลายไป แต่ถ้าแยกโดยละเอียดแล้ว รูปนี้มีหลายประเภทด้วยกัน เช่น อุปาทายรูป เป็นต้น แต่ว่ายังไม่นำมาแสดงในที่นี้ การพิจารณา โดยสามัญลักษณะ พิจารณาไปๆ ละเอียดเข้า ซึ้งเข้าทุกที จนเห็นชัดว่านี่มิใช่ตัวตน เรา เขา อะไร สักแต่ว่าธาตุประชุมตั้งขึ้นแล้วก็ดับไป

 

            ตาธรรมกายนั้นเห็นชัดเจน เห็นเกิด เห็นดับติดกันไปทีเดียว คือ เห็นเกิดดับๆ ๆ ๆ คู่กันไปทีเดียว ที่เห็นว่าเกิดดับๆ นั้นเหมือนอะไร เหมือนฟองน้ำ เหมือนอย่างไร เราเอาของ ฝาด เช่น เปลือกนุ่นมาต้มแล้วรินใส่อ่างไว้ ชั้นต้นจะแลเห็นเป็นน้ำเปล่าๆ ต่อมาเมื่อเอามือแกว่ง เร็วๆ อย่างที่เขาเรียกว่า ตีน้ำให้เป็นฟอง เราจะเห็นมีสิ่งหนึ่งปรากฏทวีขึ้นมา เป็นรูปเป็นร่างสิ่งนี้เรียกว่า ฟองน้ำ

 

            ดูให้ดีจะเห็นในฟองน้ำนั้นมีเม็ดเล็กๆ เป็นจำนวนมากติดต่อกันเป็นพืดรวมกัน เรียกว่า ฟองน้ำ เราจ้องดูให้ดีจะเห็นว่าเม็ดเล็กๆ นั้น พอตั้งขึ้นแล้วก็แตกย่อยไปเรื่อยๆ ไม่อยู่นานเลย นี่แหละเห็นเกิดดับๆ ตาธรรมกายเห็นอย่างนี้ เห็นเช่นนี้จึงปล่อยอุปาทานได้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอีก 4 กองนั้นก็ทำนองเดียวกัน เห็นเกิดดับๆ ยิบไป เช่นเดียวกับเห็นในรูป ทุกข์เป็นของมีและขึ้นประจำกับขันธ์ 5 เป็นของธรรมดา แต่ที่เราเดือดร้อน ก็เป็นเพราะไปขืนธรรมดาของมันเข้า

 

            ขันธ์ 5 เป็นอนิจจังไม่เที่ยง ย่อมแปรผันไปตามธรรมดาของมัน เกิดแล้ว ธรรมดา มันก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เมื่อมันถึงคราวแก่ เราไม่อยากจะแก่หรือไม่ยอมแก่ อาการของมันที่แสดงออกมามีผมหงอก เป็นต้น ถ้าเราขืนมัน ตะเกียกตะกายหายาย้อมมันไว้ นี่ว่าอย่างหยาบๆ ก็เห็นแล้วว่าเกิดทุกข์แล้ว เกิดลำบากแล้ว ถ้าเราปล่อยตามเรื่องของมันก็ไม่มีอะไรมาเป็นทุกข์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ทำนองเดียวกันความทุกข์เกิดขึ้นเพราะขืนมัน ขืนธรรมดาของมัน สิ่งไม่เที่ยงจะให้เที่ยง สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนก็ยังขืนยึดว่าเป็นตัวตน…”8)

 

------------------------------------------------------------

8) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ. มรดกธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำ(พระมงคลเทพมุนี), กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิซซิ่ง, 2537, หน้า 12.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011543154716492 Mins