ธาตุกระทบ 6 ธาตุ

วันที่ 17 สค. พ.ศ.2558

 

ธาตุกระทบ 6 ธาตุ 

1.รูปธาตุ

            มีหน้าที่กระทบตา องค์ธรรมได้แก่ รูปารมณ์ คือ รูปภาพหรือสีต่างๆ ที่อาศัยแสงสว่างแล้วสะท้อนไปกระทบประสาทตา มีลักษณะที่หนาทึบด้วยเม็ดปรมาณูของมหาภูตรูป (ดิน น้ำ ไฟ ลม) ซึ่งแสงสว่างลอดไม่ได้ มีสภาพแตกดับอยู่ตลอดเวลา เมื่อแสงสว่างเกิดขึ้นสะท้อนไปกระทบกับสี สีจะสะท้อนไปกระทบกับประสาทตามีอายุ 17 ขณะจิตแล้วแตกดับไป เกิดดับตลอดสุดแล้วแต่เหตุปัจจัย รูปธาตุนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมทำให้เกิดบาปหรือบุญก็ได้ เช่น เวลาเห็นรูปภาพสีสวยๆอยากได้ โลภเกิด เห็นรูปไม่ดีไม่ชอบ โทสะเกิด หลงรูป โมหะเกิด สิ่งเหล่านี้เป็นบาป ถ้าเวลาเห็นรูปสีอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วมีสติระลึกทันปัจจุบันอยู่ กิเลสไม่เกิดเช่นนี้เป็นบุญ

 

2.สัททธาตุ

            เป็นรูปธรรมมีหน้าที่กระทบโสตธาตุ องค์ธรรมได้แก่ สัททารมณ์ มีสภาวะเป็นคลื่นปรมาณูในอากาศ มีลักษณะสุขุมประณีตมาก พระพุทธองค์ทรงกำหนดมาตราไว้ดังนี้

1.รถเรณู (เม็ดฝุ่น) เท่ากับ 36 ตัชชารีธุลี

2.ตัชชารีธุลี (ละอองเห็นขณะแสงแดดส่อง) เท่ากับ 36 อณู

3.อณู (เล็กมองเห็นด้วยตาเปล่าไม่ได้) เท่ากับ 36 ปรมาณู

4.ปรมาณู (เล็กมาก) เท่ากับ 1 อวินิพโภครูป

5.อวินิพโภครูป (รูปที่แยกกันไม่ได้) เท่ากับรูป 8 ชนิด

รูป 8 ชนิดนั้น คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา ละเอียดที่เป็นเม็ดปรมาณูกระจาย อยู่ทั่วไปหนาทึบในท่ามกลางบรรยากาศ ดังนั้นเสียงจึงสามารถไปได้รวดเร็วและไกลตามขนาดของเสียง ถ้ามีไฟฟ้าเป็นสื่อก็จะไปได้ไกลมาก สามารถข้ามไปอีกมุมโลกได้

สัททธาตุนี้ มีลักษณะแตกดับเหมือนลูกคลื่นที่ทยอยเข้ากระทบฝั่งแล้วแตกกระจายไปฉะนั้น เมื่อเสียงวิ่งไปปะทะใบหูจึงวิ่งเข้าสู่ช่องหูอย่างรวดเร็ว กระทบกับขนสีแดงจึงจะสะท้อน ถึงวงแหวนของประสาทหู เกิดความรู้สึกขึ้นโดยมีโสตวิญญาณได้ยินเสียงขึ้น จะตั้งอยู่ได้ 17 ขณะจิต แล้วจึงดับไป เสียงอันเป็นธาตุกระทบนี้ ย่อมเป็นอารมณ์ให้จิตกุศลหรืออกุศลเกิดขึ้นได้

 

3.คันธธาตุ

            เป็นรูปธรรม มีหน้าที่กระทบประสาทจมูก องค์ธรรมได้แก่ คันธารมณ์ มีลักษณะเหมือนน้ำมันระเหย ล่องลอยไปตามสายลมมาปะทะจมูกเข้าแล้วทำให้เกิดฆานวิญญาณรู้กลิ่นขึ้นได้ คันธธาตุมีธรรมชาติแตกดับเป็นธรรมดาโดยผ่านมากับสายลม กระทบกับจมูกแล้วก็ผ่านไปเช่นนี้อยู่เนืองๆ

 

4.รสธาตุ

            เป็นรูปธรรม มีหน้าที่กระทบลิ้นให้ปรากฏแก่ชิวหาวิญญาณ ความรู้รสทางลิ้น องค์ปรมัตถธรรม ได้แก่ รสารมณ์ มีลักษณะเหมือนยางเหนียวอยู่ในอาหารทุกชนิด เมื่อบริโภค อาหารเข้าไปผสมกับน้ำลาย เป็นต้น รสก็สามารถกระทบกับประสาทลิ้นทำให้การลิ้มรสรู้มีขึ้นได้ รสธาตุมีอาการแตกสลายอยู่เสมอ บรรดารสทั้งหลายไม่ว่าเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด ร้อน ประการใด เมื่อกระทบประสาทลิ้นล่างลำคอลงไปแล้วย่อมหายไปสิ้น ถ้าไปเห็นรสตาม ความเป็นจริงว่า กระทบลิ้นแล้วดับไปก็จะเกิดความทุกข์ไม่สิ้นสุด

 

5.โผฏฐัพพธาตุ

            เป็นรูปธรรม มีหน้าที่กระทบสัมผัสกาย องค์ธรรมได้แก่ ปฐวี เตโช วาโย อาโป หมายถึง สภาวะของดิน ไฟ ลม สภาวะของดินได้แก่ แข็งกับอ่อน สภาวะของไฟได้แก่ ร้อนกับเย็น สภาวะของลมได้แก่ หย่อนกับตึง เวลากระทบกายย่อมผลัดเปลี่ยนกันกระทบ สุดแต่ว่าอันไหนจะเด่นชัดขึ้นเป็นใหญ่อันนั้นก็กระทบแรง ให้เกิดความรู้สึกขึ้นเฉพาะอันนั้น เช่น ฤดูหนาว เย็นกระทบ ฤดูร้อน ร้อนกระทบ ผันแปรไปตามอุตุนิยมซึ่งไม่มีอะไรมาห้ามปรามได้

มีสภาพแตกดับอยู่เสมอ ธาตุดินกระทบแล้ว ธาตุไฟก็กระทบ แล้วก็มีธาตุลมกระทบอีกทำให้กายวิญญาณ รู้สึกร้อน เย็น อ่อน แข็ง หย่อน ตึง แตกดับแปรปรวนเปลี่ยนแปลงกัน ไม่ขาดระยะ ถ้าไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เข้าใจสภาวะนั้น กิเลสก็จะเกิดขึ้นให้ยินดีในเครื่องสัมผัส เกิดโลภะ โทสะ โมหะ ล้วนแต่ก่อให้เกิดทุกข์ภัยทั้งสิ้น

 

6.ธัมมธาตุ

            มีหน้าที่กระทบใจให้มีความนึกคิดต่างๆ และทรงไว้ซึ่งสภาพของตน เป็นธาตุที่พิสูจน์ได้ องค์ธรรมได้แก่ สุขุมรูป 16 เจตสิก 52 นิพพาน 1

นิพพานนั้น หมายถึง ลักษณะว่าเป็นสันติ คือ กิเลสสงบโดยสิ้นเชิงและดับทุกข์โดยสิ้นเชิง

ธัมมธาตุเป็นทั้งรูปทั้งนาม โดยสงเคราะห์ดังนี้

สุขุมรูป 16 เป็นรูปธรรม

เจตสิก 52 เป็นนามธรรม

นิพพาน 1 เป็นนามวิมุตติ ( ดับขันธ์ )

ธัมมธาตุนี้ถ้าไม่กำหนดพิจารณาให้เห็นตามที่มีอยู่แล้ว ก็จะทำให้กิเลสกำเริบ เพราะมี อวิชชา ไม่รู้สภาวะของรูปและเจตสิกที่เกิดดับ และไม่รู้นิพพานที่พ้นจากการเกิดดับ

 

------------------------------------------------------------

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.010332997639974 Mins