ลักษณะของอินทรีย์ 22

วันที่ 18 สค. พ.ศ.2558

 

 ลักษณะของอินทรีย์ 22

1.จักขุนทรีย์

            มีหน้าที่รับสี ได้แก่ จักขุปสาทรูป เป็นรูปธรรม จักขุปสาท เป็นสุขุมรูป มีสัณฐานน้อยเท่าหัวเหา ประดิษฐานอยู่ในท่ามกลางแห่งตาดำ แวดล้อมด้วยปริมณฑลแห่งตาขาว จักษุประเทศนี้ มีสัณฐานดังกลีบดอกอุบลเขียว อาเกียรณ์ด้วยโลมชาติมีสีดำ เนื้อจักษุมีสัณฐานเป็น กลีบๆ เป็นชั้นๆ นับได้ 7 ชั้น จักขุปสาทนั้น ซาบตลอดทั้ง 7 ชั้น เปรียบประดุจปุยสำลี ที่บุคคลนำมารวมซ้อนๆ กันให้ได้ 7 ชั้น แล้วเอาน้ำมันหอมข้นหยอดลงในท่ามกลาง น้ำมันก็จะซึมซาบเข้าไปในสำลีทั้ง 7 ชั้น จักขุปสาทเปรียบประดุจน้ำมันหอมข้นที่หยอดลงในท่ามกลางนั้น

            จักขุปสาท มีธาตุ 4 เป็นผู้อุปการะบำรุงรักษา เปรียบประดุจ ขัตติยราชกุมารที่นางนม ทั้ง 4 ทำอุปการะบำรุงบำเรอ นางนมคนหนึ่งอุ้มไว้ คนหนึ่งตักเอาน้ำมาสรงให้ คนหนึ่งนำเครื่องประดับมาประดับให้ คนหนึ่งนำเอาพัดมาพัดให้ ปฐวีธาตุ ทรงไว้ซึ่งจักขุปสาท ประดุจนางนมที่อุ้มชู อาโปธาตุบำรุงให้สดชื่นประคับประคองไว้ ประดุจนางนมที่ตักน้ำมาสรง เตโชธาตุบำรุงมิให้เน่าเปื่อย ประดุจนางนมที่เอาเครื่องประดับมาประดับ วาโยธาตุบำรุงให้กลับกลอกได้ ประดุจนางนมเอาพัดมาพัดให้

            นอกเหนือจากธาตุ 4 ยังมีตัวอุปการะจักขุปสาทอีก คือ จิตและอาหาร เป็นผู้ช่วยอุปถัมภ์ อายุเป็นผู้เลี้ยงดู สี กลิ่นและรส เป็นต้น เป็นบริวารแวดล้อม จักขุปสาทเป็นวัตถุที่เกิดแห่งจักษุวิญญาณ และเป็นพนักงานที่ให้เห็นรูปทั้งปวง

 

2.โสตินทรีย์

            มีหน้าที่รับเสียง ได้แก่ โสตปสาทรูป เป็นรูปธรรม โสตปสาท เป็นสุขุมรูป ตั้งอยู่ในประเทศอันมีสัณฐานดุจวงแหวน เป็นที่งอกขึ้นแห่งโลมชาติเส้นเล็กๆ สีแดง อยู่ภายในช่องหู โสตปสาทมีธาตุ 4 เป็นผู้อุปการะ มีจิตและอาหารเป็นผู้อุปถัมภ์ มีอายุเป็นผู้เลี้ยง มีสี กลิ่น รส โอชา เป็นบริวารแวดล้อม เป็นวัตถุที่เกิดแห่งโสตวิญญาณให้ได้รับเสียงทั้งปวง

 

3.ฆานินทรีย์

            มีหน้าที่รับกลิ่น ได้แก่ ฆานปสาทรูป เป็นรูปธรรม ฆานปสาท เป็นสุขุมรูป ตั้งอยู่ในประเทศมีสัณฐานดุจเท้าแพะ ภายในช่องจมูก มีธาตุ 4 เป็นผู้อุปการะ มีจิตและอาหารเป็นผู้อุปถัมภ์ มีอายุเป็นผู้เลี้ยง มีสี กลิ่น รส โอชา เป็นบริวารแวดล้อม เป็นวัตถุที่เกิดแห่งฆานวิญญาณ ให้ได้รับกลิ่นทั้งปวง

 

4.ชิวหินทรีย์

            มีหน้าที่รับรส ได้แก่ ชิวหาปสาทรูป เป็นรูปธรรม ชิวหาปสาทเป็นสุขุมรูป ตั้งอยู่ในประเทศมีสัณฐานดังปลายกลีบดอกอุบล อยู่เบื้องบนแห่งลิ้น ในท่ามกลางลิ้นนั้น ชิวหาปสาทมีธาตุ 4 เป็นผู้อุปการะ มีจิตและอาหารเป็นผู้อุปถัมภ์ มีอายุเป็นผู้เลี้ยง มีสี กลิ่น รส โอชา เป็นบริวารแวดล้อม เป็นวัตถุที่เกิดแห่งชิวหาวิญญาณให้ได้รับรสทั้งปวง

 

5.กายินทรีย์

            มีหน้าที่รับสัมผัส ได้แก่ กายปสาทรูป เป็นรูปธรรม กายปสาทเป็นสุขุมรูป ซึมซาบอยู่ทั่วร่างกาย ประดุจน้ำมันอาบอยู่ในปุยฝ้ายที่บุคคลประชีดีแล้ว กายปสาท มีธาตุ 4 เป็นผู้อุปการะ มีจิตและอาหารเป็นผู้อุปถัมภ์ มีอายุเป็นผู้เลี้ยง มีสี กลิ่น รส โอชา เป็นบริวารแวดล้อมเป็นวัตถุ ที่เกิดแห่งกายวิญญาณให้ได้รับสัมผัสทั้งปวง

            กายปสาทนี้แทรกอยู่ในอุปาทินนกรูปทั้งหมด คือ เฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อหยิกเจ็บ ส่วนที่เป็นปลายเล็บ ผม ขน ฟัน ซึ่งพ้นจากเนื้อ หยิกไม่เจ็บนั้น เป็นอนุปาทินนกรูป ในอนุปาทิน-นกรูปนี้ ไม่มีกายปสาท กายปสาทจะแทรกอยู่ในอุปา-ทินนกรูปทั้งสิ้น ซึ่งเป็นปัจจัยให้รู้ โผฏฐัพพารมณ์ ให้รู้จักสัมผัสว่าอ่อน กระด้าง ถ้ากายปสาทวิบัติแล้ว กายก็เป็นเหน็บ ไม่รู้สัมผัส สิ่งทั้งปวง

 

6.มนินทรีย์

            มีหน้าที่รู้อารมณ์ ได้แก่ จิตทั้งหมด เป็นนามธรรม

 

7.อิตถินทรีย์

            มีหน้าที่แสดงลักษณะของทรวดทรงหญิง เครื่องหมายรู้ว่าหญิง กิริยาหญิง อาการหญิง สภาพหญิง ภาวะหญิง ได้แก่ อิตถีภาวรูป เป็นรูปธรรม อิตถีภาวรูปนี้ เกิดต่อเนื่องในสันดานแห่งสตรีมิได้ขาดสาย อิตถีภาวรูปนี้เป็นใหญ่ที่จะทำให้รูปกายเป็นสตรี มีกิริยามารยาทแห่งสตรี

            เมื่ออิตถีภาวรูปเกิดขึ้น รูปก็กลายเป็นสตรี กิริยาอาการก็เป็นสตรี แต่หญิงอาจกลับเป็นชายได้ ในขณะเมื่อเพศกลายเป็นชาย อิตถีภาวรูปดับไป ไม่เกิดขึ้นสิ้นภาวะ 17 ขณะจิต เมื่ออิตถีภาวรูปดับไปไม่เกิดถึง 17 ขณะจิตแล้ว ปุริสภาวรูปก็บังเกิดขึ้นในสันดาน ครั้นปุริสภาวรูปบังเกิด ก็กลายเป็นบุรุษในตอนนั้น

 

8.ปุริสินทรีย์

            มีหน้าที่แสดงลักษณะของทรวดทรงชาย เครื่องหมายให้รู้ว่าชาย กิริยาอาการชาย ภาวะของชาย ได้แก่ ปุริสภาวรูป เป็นรูปธรรม ปุริสภาวรูป เกิดต่อเนื่องในสันดานแห่งบุรุษมิได้ขาดสาย ปุริสภาวรูปนี้เป็นใหญ่ในที่จะทำให้รูปกายเป็นบุรุษ กิริยามารยาทอาการทั้งปวงเป็นกิริยามารยาทแห่งบุรุษ ถ้าบุรุษจะกลายเป็นสตรี ขณะเมื่อเพศจะกลับเป็นสตรีนั้น ปุริสภาวรูปดับไป ไม่ได้เกิดขึ้นสิ้นสภาวะ 17 ขณะจิต เมื่อปุริสภาวรูปดับไปแล้ว ไม่บังเกิดล่วงไปถึง 17 ขณะจิตแล้ว อิตถีภาวรูปก็จะบังเกิดขึ้น

 

9.ชีวิตินทรีย์

ได้แก่ ชีวิตรูป มีหน้าที่รักษารูปและนาม มี 2 ประการ คือ รูปชีวิตินทรีย์ และอรูปชีวิตินทรีย์

  • รูปชีวิตินทรีย์ คือ อายุ ความดำรงอยู่ ความเป็นไปอยู่ กิริยาที่เป็นไปอยู่ อาการที่สืบเนื่องกันอยู่ ความประพฤติเป็นไปอยู่ ความหล่อเลี้ยงอยู่ ชีวิตินทรีย์ คือ ชีวิตของรูปธรรมนั้นๆ ได้แก่ อาการ 32 ที่ประชุมกัน
  • แท้จริง อาการ 32 เมื่อเรียกแต่ละอย่างๆ ก็มีชื่อต่างๆ กัน ชื่อว่า ผม เล็บ ฟันเป็นต้น ครั้นจัดเป็นหมวดๆ ก็เรียก ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ครั้นว่าธาตุทั้ง 4 ประการประชุมกันเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็เรียกว่า รูปชีวิตินทรีย์ มีตัวอย่างคือ รถนั้น เมื่อเรียก แต่ละสิ่ง ก็เรียกว่า งอน แอก ดุม เพลา กำ กง ครั้นเรียกรวมกันก็เรียกว่า ราชรถ
  • อรูปชีวิตินทรีย์ คือ อายุ ความดำรงอยู่ ความเป็นไปอยู่ กิริยาที่เป็นไปอยู่ อาการที่สืบเนื่องกันอยู่ ความประพฤติเป็นไปอยู่ ความหล่อเลี้ยง ชีวิตินทรีย์ คือชีวิตของนามธรรมนั้นๆ ซึ่งได้แก่ จิตและเจตสิก
  • 10.สุขินทรีย์ มีหน้าที่สบาย คือ ความสบายทางกาย ความสุขทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่สบาย เป็นสุขอันเกิดแต่กายสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุขอันเกิดแต่กายสัมผัส ได้แก่สุขเวทนาเจตสิก เป็นนามธรรม

 

11.ทุกขินทรีย์

            มีหน้าที่ไม่สบาย คือ ความไม่สบายกาย ความทุกข์ทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายสัมผัส ได้แก่ ทุกขเวทนาเจตสิก เป็นนามธรรม

 

12.โสมนัสสินทรีย์

            มีหน้าที่ดีใจ คือ ควมสบายทางใจ ความสุขทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุขอันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุขอันเกิดแต่เจโตสัมผัส ได้แก่ โสมนัสเวทนาเจตสิก เป็นนามธรรม

 

13.โทมนัสสินทรีย์

            มีหน้าที่เสียใจ คือ ความไม่สบายทางใจ ความทุกข์ทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สบาย เป็นทุกข์อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สบาย เป็นทุกข์อันเกิดแต่เจโตสัมผัส ได้แก่ โทมนัสเวทนาเจตสิก เป็นนามธรรม

 

14.อุเปกขินทรีย์

            มีหน้าที่วางเฉย คือ ความสบายทางใจก็ไม่ใช่ ความไม่สบายทางใจก็ไม่ใช่ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่ทุกข์ไม่สุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่ทุกข์ไม่สุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส ได้แก่ อุเบกขาเวทนาเจตสิก เป็นนามธรรม

 

15.สัทธินทรีย์

            สัทธินทรีย์ คือ ศรัทธา กิริยาที่เชื่อ ความปลงใจเชื่อ ความเลื่อมใสยิ่ง สัทธินทรีย์ คือศรัทธา สัทธาพละ ได้แก่ สัทธาเจตสิก เป็นใหญ่ในสัมปยุตตธรรม ด้วยสภาวะครอบงำซึ่งมิจฉาวิโมกข์ คือ ความเลื่อมใสศรัทธาหยั่งลงในที่ผิด และเป็นนามธรรม สัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใสในคุณของพระรัตนตรัย จำแนกออกเป็น 72) คือ

1.ปสาทสัทธา ความเชื่อความเลื่อมใสตามปกติของบุคคลทั่วไป เช่น เชื่อต่อพระปัญญาการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อทาน ศีล ภาวนา

2.โอกัปปนสัทธา ความเชื่อความเลื่อมใสที่หยั่งลงไปในวัตถุที่ตนเคารพนับถือนั้นๆ เป็นอย่างดี เช่น เชื่อมั่นในพระรัตนตรัยอย่างไม่หวั่นไหว

3.อาคมสัทธา ความเชื่อความเลื่อมใสต่อพระธรรมคำสั่งสอนที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมานั้น คือ เชื่อต่อปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

4.อธิคมสัทธา ความเชื่อความเลื่อมใสเกิดขึ้นเพราะตนได้บรรลุผลของการปฏิบัติ เช่น ผู้นั้นได้บรรลุโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เป็นต้น

5.ปัจจักขสัทธา ความเชื่อความเลื่อมใสที่ประจักษ์แจ่มแจ้งแก่ตนเอง เพราะได้ปฏิบัติพิสูจน์ จนรู้แจ้งเห็นจริงมาแล้ว ไม่ต้องเชื่อใครๆ อีก

6.ปักขันทสัทธา ความเชื่อความเลื่อมใสที่แล่นไปโดยลำดับๆ ได้แก่ความเชื่อความเลื่อมใสของผู้เจริญวิปัสสนา ผ่านวิปัสสนาญาณเบื้องต้น ท่ามกลางมาแล้ว

7.โวสสัชชนสัทธา ความเชื่อความเลื่อมใสที่สละกิเลสได้เด็ดขาด ได้แก่ ความเชื่อ ความเลื่อมใสของผู้ปฏิบัติที่เกิดกับโสดาปัตติมรรคญาณ สกิทาคามิมรรคญาณ อนาคามิมรรคญาณ หรือ อรหัตตมรรคญาณ

 

16.วิริยินทรีย์

            คือ การปรารภความเพียรทางใจ ความขะมักเขม้น ความบากบั่น ความตั้งหน้า ความพยายาม ความอุตสาหะ ความทนทาน ความเข้มแข็ง ความหมั่น ความก้าวไปอย่างไม่ท้อถอย ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ ความประคับประคองธุระ วิริยินทรีย์คือ วิริยะ วิริยะพละ สัมมาวายามะ ได้แก่ วิริยเจตสิก เป็นใหญ่ที่ครอบงำโกสัชชะ คือ กุศลจิตตุปบาท มีถีนมิทธะเป็นประธาน และเป็นนามธรรม

วิริยะ มีลักษณะคือ เครื่องหมายเป็นต้นอย่างนี้คือ3)

1.อุตสาหลกฺขณํ วิริยคือความเพียรนั้น มีความอุตสาหะเป็นเครื่องหมาย ได้แก่ มีความขยันเป็นที่สุด ทำอะไรตั้งใจทำจริงๆ ไม่อ้างเลศ ไม่แก้ตัว ไม่เป็นไปตามอำนาจของความเกียจคร้าน มีใจเข้มแข็ง

2.สหชาตานํ อุปตฺถมฺภนรสํ มีหน้าที่อุดหนุนค้ำจุนธรรมที่เกิดร่วมกันให้มีกำลังกล้ายิ่งขึ้น เช่น ในขณะเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เมื่อมีความเพียรชอบแล้ว ความเห็นชอบ ดำริชอบ การงานชอบ วาจาชอบ เป็นอยู่ชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบก็สามารถจะเกิดขึ้นได้ จนกระทั่ง เป็นมัคคสมังคี ทั้งนี้เพราะได้กำลังอุดหนุนอันสำคัญมาจากวิริยะนั่นเองเป็นต้นเหตุ

3.อสํสีทนปจฺจุปฏฺฐานํ มีการไม่จมอืด ไม่ย่อท้อ ไม่ย่อหย่อน เป็นผลปรากฏ หมายความว่า ถ้ามีความเพียรอยู่นั้นจะไม่เฉื่อยชา จะไม่ขี้เกียจ จะไม่ทิ้งการงานไว้ครึ่งๆ กลางๆ จะไม่ทำอะไรจับๆ จดๆ ถ้าอยู่ทางโลก ผลของงานก็จะปรากฏออกมาให้เห็นได้อย่างเด่นชัด ถ้าอยู่ในทางธรรม เช่น เจริญกรรมฐาน ผลของการปฏิบัติสำหรับบุคคลผู้มีความเพียรตามอิทธิบาท ข้อที่ 2 นี้จะปรากฏก้าวหน้าไปไกลกว่าบุคคลผู้ไม่มีความเพียรเป็นร้อยเท่าพันทวี อุปมาเหมือน ม้ามีฝีเท้าดี วิ่งออกหน้าม้ากระจอกฝีเท้าเลวอย่างไกลลิบ ฉะนั้น

4.สํเวควตฺถุปทฏฺฐานํ มีสังเวควัตถุ 8 เป็นเหตุใกล้ชิดที่จะให้ความเพียรเกิด สังเวค-วัตถุ แปลว่า ที่ตั้งแห่งความสลดใจ หมายความว่า ถ้าพิจารณาตามนี้ จะทำใจให้เปลี่ยนไปได้ เช่น ใจขี้เกียจ จะกลับเป็นใจขยันขึ้นมา เมื่อใจขยันแล้ว กายก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว กายจึงอยู่ใต้บังคับบัญชาของใจ สังเวควัตถุ 8 นั้นคือ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ นิรยทุกข์ เปตติทุกข์ อสุรกายทุกข์ ดิรัจฉานทุกข์ เมื่อนักปฏิบัติธรรมพิจารณาถึงความทุกข์ต่างๆ ดังกล่าวมานี้จะเห็นทุกข์โทษนานาประการ แล้วเกิดความเบื่อหน่ายในกองทุกข์ ใจอยากจะหลุดพ้นไปโดยเร็ว ดังนั้น จึงเกิดความขยันหมั่นเพียร ตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจังขึ้น ทั้งนี้เพราะสังเวควัตถุ 8 เป็นเหตุใกล้ชิดที่จะให้เกิดความเพียรในการปฏิบัติธรรม คือในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

ความเพียรในข้อนี้ คือ ความเพียร 4 ประการ ได้แก่

1.สังวรปธาน เพียรระวังมิให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้นในขันธ-สันดานด้วยสีลสังวร ขันติสังวร วิริยสังวร สติสังวรและญาณสังวร

2.ปหานปธาน เพียรละกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยตทังคปหาน วิกขัมภนปหาน สมุจเฉทปหาน ปฏิปัสสัทธิปหาน นิสสรณปหาน

3.ภาวนาปธาน เพียรบำเพ็ญมรรค 8 ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน

4.อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาใจให้ตั้งมั่นอยู่กับศีล สมาธิ ปัญญา

ความเพียรในปธานสังขารนั้น เมื่อจะกล่าวโดยย่อก็มีอยู่ 4 อย่าง คือ สัมมัปปธาน 4 แต่เมื่อจะกล่าวโดยพิสดารแล้ว มีอยู่ 28 อย่างคือ

1.วิริยารมฺโภ มีความเพียรเป็นไปทางใจ คือ มีใจขยันที่สุด

2.นิกฺกโม ทำความเพียรเป็นนิจ

3.ปรกฺกโม ทำความเพียรให้ก้าวหน้าเสมอๆ คือให้ทวีขึ้น ให้สูงขึ้น

4.อุยฺยาโม หนีจากความเกียจคร้าน ทำใจให้อยู่เหนือความเกียจคร้านทั้งมวล

5.วายาโม พยายามอย่างเต็มที่

6.อุสฺสาโห มีความอดทน คือเป็นคนใจเพชร

7.อุสฺโสฬฺหี มีความกล้าหาญ คือสู้ตาย ดุจทหารในสนามรบ

8.ถาโม มีกำลังดี คือมี พละ 5 อย่างเข้มแข็ง

9.ธิติ มีเพียรดี คือตั้งใจมั่น ตั้งใจเด็ดเดี่ยวไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น

10.อสิถิลปรกฺกมตา มีความบากบั่นเป็นนิจ ไม่มีจิตย่อหย่อนท้อถอยเลย

11.อนิกฺขิตฺตฉนฺทตา ไม่ทอดฉันทะ คือไม่ละความพอใจในภาวนานั้นๆ

12.อนิกฺขิตฺตธุรตา ไม่วางธุระ ยึดวิปัสสนาธุระไว้เป็นอันดับหนึ่ง

13.ธุรสมฺปคฺคาโห ประคองวิปัสสนาธุระไว้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้

14.วิริยํ อาจหาญ ไม่ครั่นคร้ามเกรงกลัวต่ออุปสรรคอะไรๆ เลยแม้แต่น้อย

15.วิริยพลํ มีความเพียรเป็นกำลังอันแข็งแกร่ง ดุจกำแพงแก้ว 7 ชั้น

16.สัมมาวายาโม เพียรชอบ ได้แก่ ความเพียรที่ประกอบด้วยองค์คุณ 11 ประการคือ

1.ปคฺคาห ประคองจิตไว้กับรูปนาม พระไตรลักษณ์ มรรคผล

2.ปหาน ละ โลภะ โทสะ โมหะ โดยตทังคปหาน วิกขัมภนปหาน และสมุจ-เฉทปหาน

3.อุปตฺถมฺภน ค้ำชูมรรค 8 ให้เป็นมรรคสมังคี

4.ปริยาทาน ครอบงำกิเลสทั้งหลายด้วย ปุพพภาคมรรคและอริยมรรค

5.วิโสธน ชำระใจให้หมดจดจากอาสวะทั้งมวล

6.อธิฏฺฐาน ตั้งใจไว้มั่นในไตรสิกขา

7.โวทาน ยังใจให้ผ่องแผ้วจากนิวรณ์ทั้ง 5

8.วิเสสาธิคม พยายามทำความเพียรจนได้บรรลุมรรคผล

9.ปฏิเวธ เพียรพยายามปฏิบัติจนได้รู้แจ้งแทงตลอดมรรค ผล

10.สจฺจาภิสมย เพียรพยายามปฏิบัติจนได้ทราบชัดอริยสัจ 4

11.ปติฏฺฐาปน เพียรพยายามจนสามารถยังใจให้เข้าถึงพระนิพพาน ดับกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานจากขันธสันดาน

 

17.สตินทรีย์ 

            คือ ความตามระลึก ความหวนระลึก สติ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืมสติ อินทรีย์คือสติ สติพละ สัมมาสติ ได้แก่ สติเจตสิกเป็นเจตสิกที่เป็นใหญ่ที่จะครอบงำอกุศลธรรมอันประพฤติเป็นไปด้วยความประมาทหลงลืมสติและเป็นนามธรรม

สัมมาสติ เป็นการระลึกชอบอยู่กับกาย เวทนา จิต ธรรม ในสติปัฏฐาน 4 ซึ่งประกอบด้วยองค์ 34) คือ

1.อาตาปี มีความเพียรเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนสามารถเผากิเลสให้ร้อนและให้ไหม้ได้ คือ ให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดาน

2.สัมปชาโน มีสัมปชัญญะ คือ กำหนดรู้รูปนามอยู่ทุกๆ ขณะ

3.สติมา มีสติระลึกอยู่กับกาย เวทนา จิต ธรรมเป็นประจำ

 

18. สมาธินทรีย์

            คือ ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบอินทรีย์คือ สมาธิ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก เป็นใหญ่ที่จะครอบงำอกุศลอันเป็นฝักฝ่ายให้ฟุ้งซ่าน คือ อุทธัจจะ และเป็นนามธรรม

สัมมาสมาธิ5) ในวิปัสสนา ได้ปรมัตถ์ คือ รูปนามเป็นอารมณ์ มีลักษณะ 11 ประการ1 คือ

1.อวิกฺเขป ทำจิตเจตสิกให้สงบระงับ ให้ตั้งมั่นในศีล สมาธิ ปัญญา จนกระทั่งถึงมรรคญาณ

2.ปหาน ละมิจฉาสมาธิ ตั้งอยู่ในสัมมาสมาธิ จนถึงมรรคญาณ

3.อุปตฺถมฺภน อุปถัมภ์ค้ำชูมรรคที่เหลืออีก 7 ให้เป็นมัคคสมังคี

4.ปริยาทาน ครอบงำกิเลสโดยตทังคปหาน วิกขัมภนปหาน และสมุจเฉทปหาน

5.ปฏิเวธาทิวิโสธน ยังใจให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเพราะปฏิเวธ

6.อธิษฺฐาน ตั้งจิตไว้ให้มั่นคงในศีล สมาธิ ปัญญา จนถึงมรรคญาณ

7.โวทาน ยังใจให้ผ่องแผ้วจากกิเลส จนกระทั่งถึงมรรคญาณ

8.วิเสสาธิคม บรรลุคุณวิเศษคือ มรรคญาณ

9.อุตตริปฏิเวธ แทงตลอดในมรรคญาณเบื้องสูงยิ่งๆ ขึ้นไปตามลำดับ นับแต่โสดาปัตติมรรคญาณเป็นต้นไป จนกระทั่งถึงอรหัตตมรรคญาณ

10.สจฺจาภิสมย ได้ตรัสรู้อริยสัจ 4

11.ปติฏฺฐาปน ยังใจให้เข้าถึงพระนิพพาน

 

19.ปัญญินทรีย์

            มีหน้าที่คือ กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก (โลกีย์) เป็นใหญ่ในสัมปยุตธรรมด้วยสภาวะครอบงำความหลง และเป็นนามธรรม

สัมมาทิฏฐิ มี 6 อย่าง6) คือ

1.กมฺมสกตาสมฺมาทิฏฺฐิ เห็นชอบ คือ เห็นว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนเอง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แล้วละชั่ว ประพฤติดี

2.ฌานสมฺมาทิฏฺฐิ เห็นชอบ คือ เห็นว่าการเจริญสมถกรรมฐานจนได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน เป็นของดีเพราะข่มนิวรณ์ 5 ได้ มีผลให้ไปเกิดในพรหมโลก แล้วลงมือเจริญสมถกรรมฐานทันทีไม่รอช้า

3.วิปสฺสนาสมฺมาทิฏฺฐิ เห็นถูก คือ เห็นว่าการเจริญวิปัสสนาเป็นของดี เพราะเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นทางสายเอก คือ เป็นทางสายเดียวเท่านั้นที่จะยังสรรพสัตว์ให้รีบรัดไปสู่พระนิพพาน แล้วลงมือเจริญวิปัสสนาจนเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา โดยลำดับๆ ตั้งแต่ญาณที่ 1 จนถึงญาณที่ 13

4.มคฺคสมฺมาทิฏฺฐิ เห็นชอบ คือ เห็นว่ามรรคประหารกิเลสได้โดยง่ายเด็ดขาด แล้วลงมือเจริญวิปัสสนาจนถึงมรรคญาณ

5.ผลสมฺมาทิฏฺฐิ เห็นชอบ คือ เห็นว่าผลนี้สืบเนื่องมาจากมรรค เมื่อมรรคเกิด ผลก็ต้องเกิดเพราะเป็นอกาลิกธรรม คือ ไม่มีอะไรมาคั่นได้ พอมรรคจิตเกิด ผลจิตก็เกิดต่อทันทีในวิถีจิตเดียวกัน แล้วลงมือเจริญวิปัสสนา จนถึงผลญาณ

6.ปจฺจเวกฺขณสมฺมาทิฏฺฐิ เห็นชอบ คือเห็นว่าการพิจารณากิเลสที่ละได้แล้ว พิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่ พิจารณามรรค พิจารณาผล พิจารณานิพพานเป็นสมบัติของพระอริยเจ้า คือ ท่านผู้ห่างไกลจากกิเลส แล้วลงมือเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนได้บรรลุมรรค 4 ผล 4 ปัจจเวกขณญาณ 19

 

20.อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์

            มีหน้าที่คือ กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ ธัมมวิจยสัม-โพชฌงค์ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค เพื่อรู้ธรรมที่ยังไม่เคยรู้ เพื่อเห็นธรรมที่ยังไม่เคยเห็น เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่เคยบรรลุ เพื่อทราบธรรมที่ยังไม่เคยทราบ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยัง ไม่เคยทำให้แจ้งนั้นๆ หรือรู้พระนิพพาน ตัดอกุศลได้ 5 ชนิด ได้แก่ ปัญญาเจตสิก(โลกุตตระ) เป็นนามธรรม

 

21. อัญญินทรีย์

            มีหน้าที่คือ กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ ธัมมวิจยสัม-โพชฌงค์ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค เพื่อรู้ธรรมที่รู้แล้ว เพื่อเห็นธรรมที่เห็นแล้ว เพื่อบรรลุธรรมที่บรรลุแล้ว เพื่อทราบธรรมที่ทราบแล้ว เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ทำให้แจ้งแล้วนั้นๆ หรือรู้พระนิพพาน ตัดอกุศลไปตามลำดับญาณ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก(โลกุตตระ) เป็นนามธรรม

 

22. อัญญาตาวินทรีย์

            คือ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค เพื่อรู้ธรรมที่รู้แล้ว เพื่อเห็นธรรมที่เห็นแล้ว เพื่อบรรลุธรรมที่บรรลุแล้ว เพื่อทราบธรรมที่ทราบแล้ว เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ทำให้แจ้งแล้วนั้นๆ หรือรู้พระนิพพาน ตัดอกุศลได้ 12 ชนิดทิ้งโดยสิ้นเชิง ได้แก่ ปัญญาเจตสิก(โลกุตตระ) เป็นนามธรรม

ตารางสรุปอินทรีย์

------------------------------------------------------------

2) พระธรรมธีรราชมหามุนี, วิปัสสนากรรมฐาน ภาค 2, กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ป, 2532, หน้า 509-510.
3) พระธรรมธีรราชมหามุนี, วิปัสสนากรรมฐาน ภาค 2, กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ป, 2532, หน้า 568-573.
4) พระธรรมธีรราชมหามุนี, วิปัสสนากรรมฐาน ภาค 2, กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ป, 2532, หน้า 529.
5) พระธรรมธีรราชมหามุนี, วิปัสสนากรรมฐาน ภาค 2, กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ป, 2532, หน้า 538.                                       6) พระธรรมธีรราชมหามุนี, วิปัสสนากรรมฐาน ภาค 2, กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ป, 2532, หน้า 484-485.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0050766666730245 Mins