การจัดหมวดหมู่ของอินทรีย์ 22

วันที่ 18 สค. พ.ศ.2558

 

 การจัดหมวดหมู่ของอินทรีย์ 22

อินทรีย์ 22 สามารถจัดแบ่งได้ทั้งหมด 5 หมวด ดังนี้คือ

1.หมวดที่เป็นอายตนะ ได้แก่ อินทรีย์ 6 ประกอบด้วย จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และมนะ

2.หมวดที่เป็นภาวะ ได้แก่ อินทรีย์ 3 ประกอบด้วย อิตถี ปุริส ชีวิต

3.หมวดที่เป็นเวทนา ได้แก่ อินทรีย์ 5 ประกอบด้วย สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา

4.หมวดที่เป็นพละ ได้แก่ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

5.หมวดที่เป็นโลกุตตระ ได้แก่ อนัญญาตัญญัสสามิ อัญญา อัญญาตาวี

 

อินทรีย์ทั้ง 5 หมวดนี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงแต่ละหมวดไว้ มีเนื้อความดังต่อไปนี้

1. หมวดที่เป็นอายตนะ ได้แก่ อินทรีย์ 6

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 6 ประการนี้ คือ จักขุนทรีย์ 1 โสตินทรีย์ 1 ฆานินทรีย์ 1 ชิวหินทรีย์ 1 กายินทรีย์ 1 มนินทรีย์ ”8)

            จักษุและธรรมที่ชื่อว่า อินทรีย์ เพราะอรรถว่าใหญ่ คือ เป็นอธิบดีของธรรมทั้งหลายที่เกิดในจักขุทวารนั้นชื่อว่า จักขุนทรีย์ หมายความว่า จักขุนทรีย์คือความเป็นใหญ่ในจักขุทวาร แม้ในโสตินทรีย์ก็เช่นกัน โสตินทรีย์คือความเป็นใหญ่ในโสตทวาร ฆานินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ในฆานทวาร แม้ในชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ในทวารนั้นๆ พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงอินทรีย์ทั้ง 6 ประการนี้ อันเกี่ยวข้องกับการบรรลุอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า หากผู้ใดได้รู้ทั่วถึงคุณและโทษ และวิธีการสละออก ย่อมทำให้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในทุติยอรหันตสูตรว่า

 

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ทั่วถึงความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอินทรีย์ 6 ประการนี้ตามความเป็นจริงเพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณตนว่า ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น”9)

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เรารู้ทั่วถึงความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอินทรีย์ 6 ประการนี้ ตามความเป็นจริง เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณตนว่าได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ก็แหละญาณทัสสนะได้บังเกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติมีในที่สุด บัดนี้ความเกิดอีกไม่มี”10)

            ในอินทรีย์ 22 นับตั้งแต่ข้อที่ 1 ถึงข้อที่ 6 เป็นเรื่องของอายตนะภายนอกทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามลำดับ ทั้งนี้เพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดมากที่สุด ทำให้เข้าใจได้ง่าย จึงเรียงมาเป็นอันดับแรกในบรรดาอินทรีย์ทั้ง 22

 

2. หมวดที่เป็นภาวะ ได้แก่ อินทรีย์ 3

ในหมวดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในชีวิตินทรียสูตร ว่า

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 3 ประการนี้ 3 ประการเป็นไฉน คือ อิตถินทรีย์ 1 ปุริสินทรีย์ 1 ชีวิตินทรีย์ 1 อินทรีย์ 3 ประการนี้แล”11)

สาเหตุที่นำอินทรีย์ทั้ง 3 ประการนี้ต่อจากอินทรีย์ทั้ง 6 ประการแรกนั้น ตีความได้ว่าเพราะทั้งชายและหญิงต่างก็มีอินทรีย์ทั้ง 6 ประการแรกเหมือนๆ กัน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งเหล่านี้รวมตัวกัน จึงประกอบขึ้นมาเป็นชีวิต

 

3. หมวดที่เป็นเวทนา ได้แก่ อินทรีย์ 5

พระพุทธองค์ได้ทรงอธิบายถึงอินทรีย์ที่เป็นเวทนาในสุทธิกสูตร ว่า

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 5 ประการนี้ 5 ประการเป็นไฉน คือ สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ อุเบกขินทรีย์ อินทรีย์ 5 ประการนี้แล”12)

จากนั้นพระองค์ได้ทรงอธิบายถึงลักษณะของอินทรีย์เหล่านี้ไว้ในปฐมวิภังคสูตร หรือ พระสูตรที่ว่าด้วยการจำแนกอินทรีย์ว่า

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สุขินทรีย์เป็นไฉน ความสุขทางกาย ความสำราญทางกาย เวทนาอันเป็นสุขสำราญเกิดแต่กายสัมผัสนี้ เรียกว่า สุขินทรีย์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขินทรีย์เป็นไฉน ความทุกข์ทางกาย ความไม่สำราญทางกาย เวทนาอันเป็นทุกข์ไม่สำราญ เกิดแต่กายสัมผัสนี้ เรียกว่า ทุกขินทรีย์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็โสมนัสสินทรีย์เป็นไฉน ความสุขทางใจ ความสำราญทางใจ เวทนาอันเป็นสุขสำราญเกิดแต่มโนสัมผัสนี้ เรียกว่า โสมนัสสินทรีย์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็โทมนัสสินทรีย์เป็นไฉน ความทุกข์ทางใจ ความไม่สำราญทางใจ เวทนาอันเป็นทุกข์ไม่สำราญ เกิดแต่มโนสัมผัสนี้ เรียกว่า โทมนัสสินทรีย์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อุเบกขินทรีย์เป็นไฉน เวทนาอันสำราญก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ความสำราญ ก็ไม่ใช่ ทางกายหรือทางใจนี้ เรียกว่า อุเบกขินทรีย์”13)

นอกจากนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอธิบายถึงอินทรีย์ทั้ง 5 ลักษณะนี้ว่า ย่อมมีทั้งเกิดและดับไป มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับปฏิจจสมุปบาท14)

 

            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกขินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้นไม่สบายกาย ก็รู้ชัดว่าเราไม่สบายกาย ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นแหละดับไป เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะนั้น คือ ทุกขินทรีย์ที่อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนาเกิดขึ้นนั้น ย่อมดับไป สงบไป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โสมนัสสินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้นสบายใจ ก็รู้ชัดว่าเราสบายใจ ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสสเวทนานั้นแหละดับไป เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะนั้นคือ โสมนัสสินทรีย์ที่อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสเวทนาเกิดขึ้นนั้น ย่อมดับไป สงบไป

            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทมนัสสินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัสเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุไม่สบายใจ ก็รู้ชัดว่า เราไม่สบายใจย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัสเวทนา นั้นแหละดับไป เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะนั้นคือ โทมนัสสินทรีย์ที่อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัสเวทนาเกิดขึ้นนั้น ย่อมดับไป สงบไป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุเบกขินทรีย์อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้นก็รู้สึกเฉยๆ ก็รู้ชัดว่า เรารู้สึกเฉยๆ ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา- เวทนานั้นแหละดับไป เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะนั้น คือ อุเบกขินทรีย์ที่อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่ง อุเบกขาเวทนาเกิดขึ้นนั้น ย่อมดับไป สงบไป”15)

            การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายเช่นนี้ ก็เนื่องจากว่า ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายที่มีความรู้สึกสบาย ไม่สบายหรือว่าเฉยๆ อันเป็นสภาพของเวทนาเหล่านี้ จะปรากฏได้ก็จะต้องอาศัยการกระทบกันระหว่างอารมณ์, ทวารและจิต การกระทบกันระหว่างสภาพธรรม 3 ประการนี้แหละเรียกว่า ผัสสะ ถ้าไม่มี ผัสสะ คือ การกระทบของจิตกับอารมณ์ที่ทวารหรือว่าทางรับรู้อารมณ์นี้แล้ว ความรู้สึกต่างๆ จะปรากฏขึ้นไม่ได้ และเมื่อสัตว์ทั้งหลายขาดความรู้สึกไปเสียแล้ว ความโลภ พอใจติดใจในอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นเหตุแห่งความเจริญเติบโตของสัตว์ทั้งหลายก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้นผัสสะจึงได้ชื่อว่าเป็นผัสสาหาร เพราะการนำซึ่งเวทนาคือความรู้สึกในการเสวยอารมณ์ของสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง

 

4. หมวดที่เป็นพละ 5

            หากมองดูผิวเผินดูเหมือนว่าอินทรีย์จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเสวยอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ที่ผ่านมาทางทวารทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ได้มีแนวทางในการปฏิบัติเพื่อจะเปลี่ยนจากอินทรีย์ของปุถุชนธรรมดาเป็นอินทรีย์ของพระอริยเจ้า และแนว ทางในการปฏิบัติที่เป็นดั่งสะพานที่เชื่อมต่อนี้ก็ได้แก่ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์และปัญญินทรีย์ ซึ่งอินทรีย์ทั้ง 5 ประการนี้ตรงกับหมวดธรรมที่เรียกว่า พละ 5 ซึ่งในที่นี้มีความหมายว่า ความไม่หวั่นไหว วจนัตถะว่า “    พลียนฺติอุปฺปนฺเน ปฏิปกฺขธมฺเม สหนฺติ มทฺทนฺตีติ พลานิ” แปลความว่า ธรรมเหล่าใด ย่อมมีกำลังให้อดทน ต่อสู้ ทำลายซึ่งปฏิปักขธรรม16) ฉะนั้นธรรมเหล่านั้นชื่อว่า พละ พละ 5 นั้นประกอบด้วย สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงอธิบายถึงสาเหตุที่พละ 5 มีความเกี่ยวเนื่องกับอินทรีย์ไว้ในสาเกตสูตร17) ว่า

            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปริยายที่อินทรีย์ 5 อาศัยแล้วเป็นพละ 5 ที่พละ 5 อาศัยแล้ว เป็นอินทรีย์ 5 มีอยู่ ปริยายที่อินทรีย์ 5 อาศัยแล้ว เป็นพละ 5 ที่พละ 5 อาศัยแล้ว เป็นอินทรีย์ 5 เป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นสัทธินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสัทธาพละ สิ่งใดเป็นสัทธาพละ สิ่งนั้นเป็นสัทธินทรีย์ สิ่งใดเป็นวิริยินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นวิริยพละ สิ่งใดเป็นวิริยพละ สิ่งนั้นเป็นวิริยินทรีย์ สิ่งใดเป็นสตินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสติพละ สิ่งใดเป็นสติพละ สิ่งนั้นเป็นสตินทรีย์ สิ่งใดเป็นสมาธินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสมาธิพละ สิ่งใดเป็นสมาธิพละ สิ่งนั้นเป็นสมาธินทรีย์ สิ่งใดเป็น ปัญญินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นปัญญาพละ สิ่งใดเป็นปัญญาพละ สิ่งนั้นเป็นปัญญินทรีย์

            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำ ซึ่งไหลไปทางทิศตะวันออก หลั่งไปทางทิศตะวันออก บ่าไปทางทิศตะวันออก ที่ตรงกลางแม่น้ำนั้นมีเกาะ ปริยายที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้น อาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่ากระแสเดียวมีอยู่ อนึ่ง ปริยายที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้นอาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่า สองกระแสมีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้น อาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่ากระแสเดียวเป็นไฉน คือ น้ำในที่สุดด้านตะวันออกและในที่สุดด้านตะวันตกแห่งเกาะนั้น ปริยาย นี้แล ที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้นอาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่ากระแสเดียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้น อาศัยแล้ว ย่อมถึงซึ่งความนับว่าสองกระแสเป็นไฉน คือ น้ำในที่สุดด้านเหนือแล้วในที่สุดด้านใต้แห่งเกาะนั้น ปริยายนี้แลที่กระแสแห่งแม่น้ำนั้น อาศัยแล้วย่อมถึงซึ่งความนับว่า สองกระแสฉันใด

            ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นสัทธินทรีย์สิ่งนั้นเป็นสัทธาพละ สิ่งใดเป็นสัทธาพละ สิ่งนั้นเป็นสัทธินทรีย์ สิ่งใดเป็นวิริยินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นวิริยพละ สิ่งใดเป็นวิริยพละ สิ่งนั้นเป็นวิริยินทรีย์ สิ่งใดเป็นสตินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสติพละ สิ่งใดเป็นสติพละ สิ่งนั้นเป็นสตินทรีย์ สิ่งใดเป็นสมาธินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสมาธิพละ สิ่งใดเป็นสมาธิพละ สิ่งนั้นเป็นสมาธินทรีย์ สิ่งใดเป็นปัญญินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นปัญญาพละ สิ่งใดเป็นปัญญาพละ สิ่งนั้นเป็นปัญญินทรีย์ นอกจากนี้ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงการปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน18) เพราะอินทรีย์มีผลต่อการบรรลุธรรม การทำอินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้นให้มีความเสมอกัน ชื่อว่าการปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน ถ้าว่าสัทธินทรีย์มีพลัง อินทรีย์นอกนี้อ่อน จะทำให้ วิริยินทรีย์ก็ไม่อาจจะทำหน้าที่ประคองไว้ได้ สตินทรีย์ก็ไม่อาจจะทำหน้าที่ปรากฏได้ สมาธินทรีย์ก็ไม่อาจจะทำหน้าที่ไม่ให้ฟุ้งซ่านได้ ปัญญินทรีย์ก็ไม่อาจจะทำหน้าที่พิจารณาเห็นได้

            เพราะฉะนั้นพระโยคาวจรพึงให้สัทธินทรีย์นั้นเสื่อมไป โดยพิจารณาถึงสภาวธรรม หรือโดยไม่ใส่ใจถึง โดยทำนองที่เมื่อใส่ใจถึง สัทธินทรีย์จะมีพลัง ก็ในข้อนี้มีเรื่องของพระวักกลิเถระเป็นตัวอย่าง แต่ถ้าวิริยินทรีย์มีพลัง ภายหลังสัทธินทรีย์จะไม่สามารถทำหน้าที่น้อมใจเชื่อได้เลย อินทรีย์นอกนี้ก็ไม่อาจทำหน้าที่ต่างประเภทนอกนี้ได้ เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรพึงให้วิริยินทรีย์นั้นเสื่อมไปด้วยการเจริญปัสสัทธิ เป็นต้น แม้ในข้อนั้นพึงแสดงเรื่องของพระโสณเถระให้เห็น แม้ในอินทรีย์ที่เหลือก็พึงทราบอย่างนั้น เมื่ออินทรีย์อย่างเดียวมีพลัง พึงทราบว่า อินทรีย์นอกนี้ก็หมดสมรรถภาพในหน้าที่ของตน

 

การทำศรัทธากับปัญญาเสมอกัน

            ศรัทธามีพลัง แต่มีปัญญาอ่อน จะมีความเลื่อมใสอย่างงมงาย คือ เลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ ผู้มีปัญญามีพลังแต่มีศรัทธาหย่อน ย่อมจะกระเดียดไปทางข้างเกเรแก้ไขยาก เหมือนโรคดื้อยา ไม่ทำกุศลมีทาน เป็นต้น โดยคิดเลยเถิดไปว่า กุศลจะมีได้ด้วยเหตุเพียงจิตตุปบาทเท่านั้น ย่อมเกิดในนรก แต่เพราะศรัทธาและปัญญาทั้งคู่เสมอกัน เขาจะเลื่อมใสในพระรัตนตรัยทีเดียว

การทำสมาธิกับวิริยะเสมอกัน

            สมาธิมีพลัง แต่วิริยะหย่อนโกสัชชะ(ความเกียจคร้าน) จะครอบงำ(เธอ) เพราะสมาธิเป็นฝักฝ่ายแห่งโกสัชชะ ความเกียจคร้าน(ถ้า) วิริยะมีพลัง แต่สมาธิหย่อน อุทธัจจะ(ความฟุ้งซ่าน) จะครอบงำเธอ เพราะวิริยะเป็นฝักฝ่ายแห่งอุทธัจจะ ก็สมาธิที่ประกอบไปด้วยวิริยะ จะไม่มีตกไปในโกสัชชะ ความเกียจคร้าน วิริยะที่ประกอบไปด้วยสมาธิจะไม่มีตกไปในอุทธัจจะ เพราะฉะนั้น ควรทำสมาธิ และวิริยะทั้งคู่นั้นให้เสมอกันด้วยว่า อัปปนาจะมีได้เพราะวิริยะและสมาธิทั้งคู่นั้นเสมอกัน สำหรับผู้เริ่มบำเพ็ญสมาธิ ศรัทธาถึงจะมีพลังก็ใช้ได้ เมื่อเชื่ออย่างนี้ กำหนดอยู่ จะถึงอัปปนา ในสมาธิ และปัญญาสำหรับผู้เริ่มบำเพ็ญสมาธิ เอกัคคตา(สมาธิ) มีพลังย่อมใช้ได้ ด้วยว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอก็จะบรรลุอัปปนา สำหรับผู้เริ่มบำเพ็ญวิปัสสนาปัญญามีพลังย่อมใช้ได้ ด้วยว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอก็จะถึงการแทงตลอดลักษณะ(พระไตรลักษณ์) ก็เพราะทั้งสองอย่างนั้นเสมอกัน อัปปนาก็จะมีทีเดียว

 

สติ มีพลัง ใช้ได้ในทุกที่ทุกสถาน

            เพราะว่าสติจะรักษาจิตไว้ได้ จากการตกไปสู่อุทธัจจะ ด้วยอำนาจของศรัทธา วิริยะและปัญญา ซึ่งเป็นฝักฝ่ายแห่งอุทธัจจะ จะรักษาจิตไว้ได้จากการตกไปสู่โกสัชชะ ด้วยสมาธิ ที่เป็นฝักฝ่ายแห่งโกสัชชะ เพราะฉะนั้น สตินั้นจึงจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง เหมือนในแกงทุกอย่างต้องเหยาะเกลือ และเหมือนในราชกิจทุกชนิด ต้องประสงค์ผู้สำเร็จราชการด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็แลสติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง ในการบรรลุธรรมที่มีข้อปฏิบัติและผลต่างกัน ก็เพราะอินทรีย์ 5 นี้เป็นตัวกำหนด ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า19)

ปฏิปทา 4 คือ

  • ทุกฺขา ปฏิปทา ทนฺธาปฏิญฺญา ปฏิบัติลำบาก บรรลุช้า
  • ทุกฺขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ปฏิบัติลำบาก บรรลุเร็ว
  • สุขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวก บรรลุช้า
  • สุขา ปฏิปทา ขิปปาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวก บรรลุเร็ว

 

1.ปฏิบัติลำบาก บรรลุช้า เพราะมีราคะ โทสะ โมหะกล้า ได้รับทุกข์โทมนัสเนืองๆ อินทรีย์ 5(สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) อ่อน ย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อสิ้นอาสวะช้า

2.ปฏิบัติลำบาก บรรลุเร็ว เพราะมีราคะ โทสะ โมหะกล้า ได้รับทุกข์โทมนัสเนืองๆ อินทรีย์ 5(สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) แก่กล้า ย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อสิ้นอาสวะเร็ว

3.ปฏิบัติสะดวก บรรลุช้า เพราะมิใช่เป็นคนมีราคะ โทสะ โมหะกล้า และมิใคร่ได้รับได้รับทุกข์โทมนัสที่เกิดจากราคะ โทสะ โมหะ อินทรีย์ 5 (สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) อ่อน ย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อสิ้นอาสวะช้า

4.ปฏิบัติสะดวก บรรลุเร็ว เพราะมิใช่เป็นคนราคะ โทสะ โมหะกล้า และมิใคร่ได้รับ ทุกข์โทมนัสที่เกิดจากราคะ โทสะ โมหะ มีอินทรีย์ 5 (สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) แก่กล้า ย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อสิ้นอาสวะเร็ว

นอกจากนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังได้ตรัสถึงอานิสงส์ของการเจริญอินทรีย์ไว้ว่า

 

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 5 เหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อินทรีย์ 5 เหล่านี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ 5 เหล่านี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว พึงหวังผลได้ 2 อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งคือ อรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีความถือมั่นเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี”20)

และตรัสถึงความต่างแห่งผลเพราะความต่างแห่งอินทรีย์ 5 ไว้ดังนี้ว่า21)

1.บุคคลเป็นพระอรหันต์ เพราะอินทรีย์ 5 ประการนี้เต็มบริบูรณ์

2.เป็นพระอนาคามี เพราะอินทรีย์ 5 ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของพระอรหันต์

3.เป็นพระสกทาคามี เพราะอินทรีย์ 5 ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของพระอนาคามี

4.เป็นพระโสดาบัน เพราะอินทรีย์ 5 ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของพระสกิทาคามี

5.เป็นพระโสดาบันผู้ธัมมานุสารี เพราะอินทรีย์ 5 ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของพระโสดาบัน

6.เป็นพระโสดาบันผู้สัทธานุสารี เพราะอินทรีย์ 5 ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของพระโสดาบันผู้ธัมมานุสารี ความต่างแห่งผลย่อมมีได้เพราะความต่างแห่งอินทรีย์ ความต่างแห่งบุคคลย่อมมีได้ เพราะความต่างแห่งผล

 

5.หมวดที่เป็นโลกุตตระ ได้แก่ อนัญญาตัญญัสสามิ อัญญา อัญญาตาวี

            อินทรีย์ทั้ง 3 ประเภทสุดท้ายนี้คือ อนัญญตัญญัสสามิตินทรีย์ อัญญินทรีย์ อัญญาตาวินทรีย์ จะมีแต่เฉพาะในพระอริยเจ้า ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปเท่านั้น ในเรื่องของอินทรีย์ทั้ง 3 ประการนี้ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี(สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญท่านได้กล่าวไว้ว่า

“    อนัญญตัญญัสสามิตินทรีย์ พระโสดาเป็นใหญ่ เป็นหน้าที่ของพระโสดาปัตติมรรคอัญญินทรีย์ โสดาปัตติผลสกทาคาอนาคาถึงอรหัตมรรคเป็นใหญ่ของหน้าที่นั้นๆ อัญญาตาวินทรีย์อรหัตเป็นใหญ่ เป็นใหญ่ในหน้าที่ของพระอรหัตผลนั้นๆ

เมื่อว่าอินทรีย์ 22 เป็นภูมิของวิปัสสนาแท้ๆ ถ้าไม่มีตาธรรมกายมองไม่เห็น มีตาธรรมกายมองเห็น22)

อินทรีย์ 22 ซึ่งเป็นวิปัสสนาภูมินี้ มีลักษณะเหมือนประมวลรวม เรื่องของขันธ์ อายตนะธาตุ มาอยู่ในนี้ด้วยกัน แต่

ก็มีองค์ประกอบหลายกลุ่มที่จัดเข้าเป็นหมวดกันได้ และมีลักษณะเป็นเรื่องพื้นฐานจนกระทั่งถึงขั้นอรหัตตผล ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งเราจะได้ศึกษาต่อไปในวิปัสสนาภูมิที่เป็นภาคปฏิบัติ

------------------------------------------------------------

8) สุทธกสูตร, สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 31 ข้อ 901 หน้า 38.
9) สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 31 ข้อ 907 หน้า 40.
10) ทุติยอรหันตสูตร, สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 31 ข้อ 908 หน้า 40.
11) ชีวิตินทริยสูตร, สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 31 ข้อ 897 หน้า 30.
12) สุทธกสูตร, สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 31 ข้อ 914 หน้า 44.
13) สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 31 ข้อ 926-930 หน้า 48-49.
14) การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น.
15) อรหันตสูตร, สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 31 ข้อ 954 หน้า 53.
16) ธรรมที่ตรงกันข้ามกับพละ 5 ประการนั้น เช่น โกสัชชะ เป็นปฏิปักขธรรม ต่อ วิริยพละ เป็นต้น.
17) สาเกตสูตร, สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 31 ข้อ 975 หน้า 70.
18) มัชฌิมนิกาย มุลปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 17 หน้า 762.
19) วิตถารสูตร, อังคุตตนิกาย จตุกนิบาท, มก. เล่มที่ 35 ข้อ 162 หน้า 386.
20) ปฐมผลสูตร, สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 31 หน้า 102.
21) ทุติยสังขิตตสูตร, สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 31 ข้อ 878 หน้า 19.
22) วัดปากน้ำภาษีเจริญ และสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ, มรดกธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนี), กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้งกรุ๊พ, 2537, หน้า 295.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.010775236288706 Mins