นิโรธอริยสัจ

วันที่ 19 สค. พ.ศ.2558

นิโรธอริยสัจ

            นิโรธเรียกเต็มว่า ทุกขนิโรธ แปลว่า ความดับทุกข์ เพราะความสิ้นไปของตัณหา ดังพระพุทธพจน์ในธัมมจักกัปปวัตนสูตรที่ว่า

โย ตสฺสาเยว ตณฺหาย อเสสวิราคนิโรโธ จาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย

            ความดับเพราะคายออกโดยไม่เหลือซึ่งตัณหานั้น การสละละทิ้งพ้นไปความไม่มีอาลัยในตัณหานั้น นี่แหละคือทุกขนิโรธ โดยใจความสำคัญ นิโรธคือความดับทุกข์เพราะดับกิเลสได้นั่นเอง คำว่านิโรธก็ดี วิมุตติ ปหานะ วิเวก วิราคะหรือโวสสัคคะ (ความสละ ความปล่อยวาง) ก็ดี มีความหมายอย่างเดียวกัน ท่านแสดงไว้ 5 อย่าง คือ

1.ตทังคนิโรธ ความดับด้วยองค์นั้นๆ หรือดับกิเลสได้ชั่วคราว เช่น เมื่อเมตตากรุณาเกิดขึ้นความโกรธและความคิดพยาบาทคือความคิดเบียดเบียนย่อมดับไป เมื่ออสุภสัญญาคือความกำหนดว่าไม่งามเกิดขึ้น ราคะความกำหนัดยินดีในกามคุณ 5 ย่อมดับไป รวมความว่าดับกิเลสด้วยองค์ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว

2.วิกขัมภนนิโรธ ดับกิเลส หรือข่มกิเลสไว้ได้ด้วยกำลังฌาน เช่น ข่มนิวรณ์ 5 ไว้ด้วยกำลังแห่งฌาน ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป ตลอดเวลาที่ฌานยังไม่เสื่อม บุคคลผู้ได้ฌานย่อมมีอาการเสมือนหนึ่งผู้ไม่มีกิเลส ท่านเปรียบเหมือนหญ้าที่ศิลาทับไว้ หรือเหมือนโรคบางอย่างที่ถูกคุมไว้ด้วยยา ตลอดเวลาที่ยามีกำลังอยู่ โรคย่อมสงบระงับไป

3.สมุจเฉทนิโรธ ความดับกิเลสอย่างเด็ดขาดด้วยกำลังแห่งอริยมรรค กิเลสใดที่อริยมรรคตัดแล้วย่อม เป็นอันตัดขาดไม่กลับเกิดขึ้นอีก เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ถูกถอนขึ้นทั้งรากและเผาไฟทิ้ง เป็นอันตัดได้สิ้นเสร็จเด็ดขาด ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดขึ้นอีก ตัวอย่างเช่นการตัดกิเลสของพระอริยบุคคล 4 จำพวก มีพระโสดาบัน เป็นต้น

4.ปฏิปัสสัทธินิโรธ ความดับกิเลสอย่างสงบระงับไปในขณะแห่งอริยผลนั้นเอง เรียกว่า ปฏิปัสสัทธินิโรธ ไม่ต้องขวนขวายเพื่อการดับอีก เหมือนคนหายโรคแล้วไม่ต้องขวนขวายหายาเพื่อดับโรคนั้นอีก

5.นิสสรณนิโรธ แปลตามตัวว่า ดับกิเลสด้วยการสลัดออกไป หมายถึง ภาวะแห่งการดับกิเลสนั้นยั่งยืนตลอดไป ได้รับความสุขจากความดับนั้นยั่งยืนตลอดไป ได้แก่นิพพานนั่นเอง เหมือนความสุขความปลอดโปร่งอันยั่งยืนของผู้ที่หายโรคแล้วอย่างเด็ดขาด7)

            ในบรรดานิโรธ 5 นั้น นิโรธหรือนิพพานข้อที่ 1 นั้น เป็นของปุถุชนทั่วไป ข้อที่ 2 เป็นของผู้ได้ฌาน ข้อ 3-5 เป็นของพระอริยบุคคล นิโรธหรือนิพพานควรจะเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตของคนทุกคน เพราะถ้าปราศจากจุดมุ่งหมายนี้เสียแล้ว มนุษย์จะว้าเหว่เคว้งคว้าง หาทิศทางแห่งชีวิตที่ดำเนินไปสู่ความร่มเย็นไม่ได้

โดยใจความสำคัญ นิโรธ 3 ประการหลังก็คือ มรรค ผล และนิพพานนั่นเอง

 

ไวพจน์ของนิโรธ

ไวพจน์ของนิโรธมีหลายอย่าง ที่แสดงไว้ในพระสูตร เช่น อัคคัปปสาทสูตร มี 7 คำ คือ

1.มทนิมฺมทโน การย่ำยีความเมาเสียได้

2.ปิปาสวินโย ความดับความกระหายเสียได้

3.อาลยสมุคฺฆาโต การถอนอาลัยเสียได้

4.วฏฺฏูปจฺเฉโท การตัดวัฏฏะได้

5.ตณฺหกฺขโย ความสิ้นตัณหา

6.วิราโค ความสิ้นกำหนัด

7.นิพฺพานํ ความดับเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์

 

นิพพาน

ดังได้กล่าวแล้วว่า นิพพานเป็นชื่อหนึ่งของนิโรธ เพราะฉะนั้น นิพพานกับนิโรธจึงเป็นอย่างเดียวกัน ตามตัวอักษรนิพพานแปลว่า

1.ความดับ หมายถึง ดับกิเลสและดับทุกข์

2.สภาพที่ปราศจากเครื่องร้อยรัดเสียบแทง คือ ตัณหา หรือกิเลสนานาชนิด หรือสภาพที่ออกไปจากตัณหาได้

 

ท่านแสดงนิพพานไว้ 2 นัย คือ

1.สอุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง การดับกิเลสหมดแล้ว แต่เบญจขันธ์เหลืออยู่ เช่น พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่

2.อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง การดับกิเลสหมดแล้ว และดับเบญจขันธ์แล้วด้วย เช่น พระอรหันต์ที่สิ้นชีวิตแล้ว

           ที่ได้กล่าวมานี้ เป็นนัยที่ 1 ส่วนนัยที่ 2 มีว่า สอุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง ดับกิเลสได้แล้วเป็นบางส่วน ยังเหลืออยู่บางส่วน เช่นนิพพานของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง ดับกิเลสไม่มีส่วนเหลือ ดับกิเลสได้หมด เช่น นิพพานของพระอรหันต์

 

พระอริยบุคคล 4 จำพวก

ผู้บรรลุนิพพานแล้วตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป เรียกว่า พระอริยบุคคล คือ ผู้ประเสริฐ มีคุณธรรมสูง มี 4 จำพวกด้วยกัน คือ

1.พระโสดาบัน ละสังโยชน์กิเลส (กิเลสซึ่งหน่วงเหนี่ยวสัตว์ไว้ในภพ) ได้ 3 อย่าง คือสักกายทิฏฐิ ความเห็นว่า ขันธ์ 5 เป็นตัวตนหรือของตน วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในคุณพระรัตนตรัยในทางดำเนินให้ถึงนิพพาน สีลัพพตปรามาส การลูบคลำศีลและพรต กล่าวคือ มิได้ประพฤติศีลหรือบำเพ็ญพรตเพื่อความบริสุทธิ์ และเพื่อความขัดเกลากิเลส แต่เพื่อลาภสักการะ ชื่อเสียง เป็นต้น การประพฤติศีลบำเพ็ญพรตอย่างงมงายก็อยู่ในข้อนี้ด้วยเช่นกัน

2.พระสกทาคามี ละสังโยชน์ได้เหมือนพระโสดาบัน แต่มีคุณธรรมเพิ่มขึ้น คือ ทำราคะ โทสะและโมหะให้เบาบางลงได้

3.พระอนาคามี ละกิเลสเพิ่มขึ้นอีก 2 อย่าง คือ กามราคะ ความกำหนัดในกามคุณ และปฏิฆะ ความหงุดหงิดรำคาญใจ

4.พระอรหันต์ ละสังโยชน์เพิ่มขึ้นอีก 5 อย่าง คือ รูปราคะ ความติดสุขในรูปฌาน อรูปราคะ ความติดสุขในอรูปฌาน มานะ ความทะนงตน อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน และอวิชชา ความไม่รู้ตามจริง

 

            นิพพาน หรือความดับทุกข์นั้นเป็นความต้องการโดยธรรมชาติของมนุษย์ ใครบ้าง ไม่ต้องการดับทุกข์ เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น คนเราก็ทุรนทุราย ถ้าดำเนินการให้ถูกวิธีก็ดับได้ ถ้าดำเนินการผิดวิธีก็ดับไม่ได้ หรือถ้าดับได้ก็เป็นอย่างเทียมๆ การดับทุกข์ได้ครั้งหนึ่งๆ เรียกกันตามโลกโวหารว่า “    ความสุข” ซึ่งมีทั้งอย่างแท้และอย่างเทียม ความสุขที่เจือด้วยทุกข์จัดเป็นสุขเทียม เช่น สุขจากการสนองความอยากได้ หรือสุขที่ได้จากกามคุณซึ่งท่านเรียกว่ากามสุข ความสุขที่แท้จริงหรือสุขที่ไม่เจือด้วยทุกข์นั้น ท่านมีคำเรียกว่า นิรามิสสุข เช่น สุขจากการบำเพ็ญคุณงามความดีต่างๆ เป็นสุขที่ละเอียดประณีตกว่า ยั่งยืนกว่า มีคุณค่าสูงกว่า

 

------------------------------------------------------------

7) นิโรธ 5 อยู่ในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค, มก. เล่ม 69 ข้อ 706 หน้า 782.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0020125508308411 Mins