เลี้ยงลูกอย่างไร ให้มีความรับผิดชอบ

วันที่ 24 สค. พ.ศ.2558

 

เลี้ยงลูกอย่างไร ให้มีความรับผิดชอบ


            ศูนย์การศึกษาเขาแก้วเสด็จ จังหวัดปราจีนบุรี ได้อัญเชิญหน่อต้นศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยามาปลูก มีญาติโยมไปร่วมบุญกันมากมายร่วมสามพันคน ตั้งใจจะปลูกให้เป็นต้นโพธิ์ใหญ่ ปกติต้นโพธิ์ลำต้นจะสั้นแล้วก็แตกกิ่งก้านสาขาออกไป แต่อาตมภาพต้องการให้เป็นพญาโพธิ์ อยากเลี้ยงให้ต้นตรงสูงขึ้นไปและจึงค่อยแตกกิ่งก้านสาขาออกไปจะได้แผ่กว้างคลุมทั้งยอดเนิน จึงบอกกับพระที่รับผิดชอบดูแลต้นไม้ว่าให้ช่วยเลี้ยงต้นโพธิ์ให้สูงตรงแน่วขึ้นไปสัก 6 เมตร แล้วค่อยปล่อยให้แตกกิ่งก้าน ท่านก็อุตส่าห์หาวิธีทำให้โดยเอาเหล็กมาถักเป็นท่อกลมสูงขึ้นไป แล้วให้ต้นโพธิ์อยู่ตรงกลางประคองลำต้นให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าต้นโพธิ์โตเร็วทันใจเหมือนกัน เพียงแค่ปีเดียวสูงไปถึง 6 เมตรแล้ว แต่ว่าลำต้นกลับไม่ค่อยโต เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นสักนิ้วเศษๆเท่านั้นเอง


            อาตมภาพไปยืนสังเกตดู ก็คิดว่าอย่างนี้ถ้าจะไม่ได้การ เพราะถ้าเอาตัวโครงเหล็กที่ประคองอยู่ออกเมื่อไร ต้นมีหวังล้มมานอนราบกับพื้น เพราะลำต้นเล็กนิดเดียวพยุงตัวเองไม่ไหว พอให้ชะลอการเร่งความสูงไว้ที่ 6 เมตร แล้วปล่อยให้แตกกิ่งก้านออกไป ดูซิว่าต้นมันจะอวบขึ้นไหม ปรากฏว่ามันก็อวบขึ้นเหมือนกันแต่ไม่มาก จึงมาสังเกตดูว่าเป็นเพราะอะไร พบว่า เป็นเพราะโครงเหล็กที่ประคองลำต้นนั้นแข็งแรงเกินไป แม้ลมจะพัดมาแรงเท่าใดก็ตาม โครงเหล็กก็นิ่งเฉยอยู่อย่างนั้น ลำต้นโพธิ์ก็พิงโครงเหล็กอย่างสบาย ไม่เคยต้องรับแรงลมแรงฝนด้วยตัวเอง ต้นจึงไม่ค่อยจะอวบไม่ค่อยโต

  
            จึงต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ บอกพระท่านว่าให้เอาโครงเหล็กออก แล้วใช้ไม่รวกคือไม้ไผ่ยาวๆ ที่แข็งแรงมาปักแทน แล้วก็มัดต้นโพธิ์ไว้กับไม้รวก ไม้รวกแตกต่างกับโครงเหล็กคือ เมื่อถึงคราวลมมาไม้รวกก็โอนเอนไปมาเหมือนกัน มันทำหน้าที่ลดแรงปะทะจากแรงลมแรงฝนให้กับต้นโพธิ์ แต่ว่าไม่ใช่ลดลงเหลือศูนย์ แต่ลดลงในระดับที่ต้นโพธิ์พอพยุงตัวยืนต้นอยู่ได้ไม่ให้หักกลางไป พอลมมาต้นโพธิ์ก็โอนเอนไปด้วย พายุมาก็โอนเอนมากหน่อย แต่ก็มีไม้รวกคอยประคองไม่ให้หักไม่ให้ล้มไป พอเปลี่ยนวิธีอย่างนี้ต้นโพธิ์เริ่มโตอวบขึ้นมาทันตาเห็นทีเดียวผ่านไปสัก 3-4 เดือน ลำต้นโตเกือบเท่าโคนขาไปแล้ว เพราะพอเจอแรงลมแรงฝนอย่างนั้นเข้า มันรู้แล้วว่าจะต้องรีบปรับตัวเองสู้กับอุปสรรคที่โถมเข้ามาหา การปลูกต้นโพธิ์นี้เทียบได้กับการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ ถ้าเลี้ยงแบบไข่ในหินระวังถนอมทุกฝีก้าว ริ้นไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม เด็กจะไม่รู้จักโตไม่รู้จักดูแลตัวเอง เพราะไม่เคยต้องรับผิดชอบตนเอง ไม่เคยต้องปะทะมรสุมในชีวิตด้วยตนเอง แต่ถ้าเราทำหน้าที่เป็นแบบไม้รวก คือลดแรงปะทะให้แต่ค่อยๆ ให้เด็กเรียนรู้ เรามีเป้าหมายว่าเราจะดูแลเขาเพื่อให้เขาสามารถดูแลตัวเองได้ ไม่ใช่ให้เขาอาศัยเราไปตลอดชีวิตพอเขาโตแล้วเขาต้องยืนด้วยตัวเองได้ ต้นไม้ พอโตถึงจุดหนึ่งก็สามารถเอาไม้รวกออกได้ เพราะมันยืนด้วยตัวเองได้แล้ว ไม้รวกทำหน้าที่คอยประคองเมื่อต้นมันยังเล็กอยู่เท่านั้น


            พระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโวเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนที่ท่านไปศึกษาต่อที่ออสเตรเลีย วันหนึ่งไปเยี่ยมบ้านเพื่อนที่ออสเตรเลียซึ่งมีครอบครัวแล้ว มีลูกสาวอายุประมาณสัก 5 ขวบ กำลังรบเร้าจะขอเล่นมีด


แม่ก็บอกว่า “ อย่าลูก เดี๋ยวมันบาด ”
ลูก “ ไม่บาด ไม่บาด ”
แม่ “ เดี๋ยวมันบาดนะ ”
ลูก “ ไม่บาด ”
แม่เลยบอกต่อว่า “ แล้วถ้าบาด ยูห้ามร้องไห้นะ ”
เด็กก็ตอบว่า “ ไม่บาด ถ้าบาดไอจะไม่ร้อง ”
แม่ถามย้ำ “ ยูสัญญานะ ”
ลูกตอบว่า “ ไอสัญญาไม่ร้อง ”
แม่ก็เลยบอกต่อว่า “ แล้วถ้าบาดยูต้องทำแผลเองนะ ”
ลูก “ ได้ไม่บาด ถ้าบาดแล้วจะทำแผลเอง ”
แม่ “ นี่ทิงเจอร์นะ ยูรู้ใช่ไหมมันแสบ ”
ลูก “ รู้ ”
แม่ “ นี่ผ้าก๊อซ นี่พลาสเตอร์ นี่กรรไกรนะ ถ้าบาดยูต้องทำแผลเองนะ ”
ลูก “ ได้ ไม่บาด ถ้าบาดแล้วจะทำแผลเอง ”
แม่จึงบอก “ ถ้าอย่างนั้นอนุญาตให้ไปเล่นได้ แต่ให้ไปหยิบมีดเล่มโน้นนะ ” 


            คือเป็นเล่มที่มันทื่อที่สุด เพราะถือขืนให้ไปหยิบเอาเล่มที่คมปลาบไปเล่น ลูกกลับมาหาแม่อีกทีลูกอาจจะบอกแม่ว่า “ แม่นิ้วมันด้วนไปแล้ว ” ถึงตอนนั้นจะทำอย่างไร ดังนั้นถึงแม่จะอนุญาตให้เล่นแต่ให้เอาด้ามที่มันทื่อที่สุด
เมื่อลูกไปแล้ว พระเดชพระคุณหลวงพ่อก็ถามเพื่อนว่า “ คิดว่าจะบาดไหม ” เพื่อนตอบ “ บาด ยังไงก็บาด ” ฟังครั้งแรกหลวงพ่อก็ตกใจว่า รู้ทั้งรู้ว่ามันจะบาด ทำไมยอมให้ลูกไปเล่น เพื่อนบอกว่าลูกอายุ 5 ขวบแล้ว กำลังจะเข้าโรงเรียนถึงคราวต้องห่างตัวเราไปแล้วเด็กจึงควรเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเอง และรู้จักรับผิดชอบตัวเองนั่นคือเหตุผลที่เขาอนุญาตให้ไปเล่น ทั้งๆที่เขารู้ว่ามีดจะต้องบาด ปรากฏว่าไม่ถึง 10 นาทีลูกสาวตัวน้อยกลับมาพร้อมทั้งยื่นนิ้วมาก่อนเลย “ มัมมี่ ” ปากชักเบะแล้วเพราะถูกมีดบาด ถึงแม้ไม่มีบาดแผลอะไรมาก เพราะมีดทื่อ แต่ก็คือโดนเข้าไปแล้ว


แม่บอกเลย “ ยูสัญญาแล้วนะว่ายูจะไม่ร้อง ”
ลูกสาวตอบ “ ก็ไอยังไม่ได้ร้องน่ะ ” ปากชักเบะแล้วแต่ยังไม่ร้อง ต้องฝืนกลั้นไว้เพราะสัญญากับแม่แล้ว
แม่ก็เลยบอกต่อ “ เอ้า...นี่ ทิงเจอร์อยู่นี่ ยูทำแผลเองนะ ”
เด็กเอานิ้วซ่อนควับไปด้านหลังเลยเพราะรู้ว่ามันแสบ เคยเป็นแผลแล้วแม่ทำแผลให้ จึงรู้ว่าทิงเจอร์มันแสบรีบซ่อนนิ้วควับเลยนะ
แม่เลยบอก “ ยูต้องทำแผลเองนะ ยูสัญญาแล้ว ถ้ายูไม่ทำไอจะจับนิ้วจุ่มลงไปในขวดทิงเจอร์ทั้งขวด ”
เด็กก็เลยต้องมานั่งทำแผล ทำเสร็จครั้งแรกปรากฏว่าได้ออกมาเป็นผ้าก๊อซขยุกเป็นก้อนๆ อยู่บนนิ้ว 
แม่บอก “ อย่างนี้ยังไม่ได้ ยูเดินสองก้าวมันก็หลุดแล้ว ” ว่าแล้วก็ดึงออกให้ทำใหม่ เด็กก็ทำใหม่ ครั้งที่สองก็ดีขึ้นมาแต่ก็ยังใช้งานไม่ได้ แม่ก็ดึงออกอีกให้ทำใหม่อีกรอบ จนถึงรอบสาม คราวนี้ก็พอดูได้


            ที่จริงแผลเล็กๆแค่นั้น ถึงแม้ไม่ทำแผลก็หายเองอยู่แล้ว แต่แม่ก็ให้ทำ เป็นการฝึกลูกให้รู้จักการทำแผล และแม่ก็พอจะอุ่นใจได้ว่า ลูกของตนได้เรียนรู้แล้วว่า การเล่นมีดนั้นอันตราย และจะต้องระมัดระวังอย่างไร นี่คือวิธีการเลี้ยงลูกอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่เลี้ยงแบบไข่ในหิน แต่ว่าต้องฝึกเขาให้รู้จักยืนด้วยตัวเอง ซึ่งการเลี้ยงแบบนี้เป็นเรื่องที่ยากกว่า เพราะเราจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดทุกฝีก้าว ว่าอะไรควรปล่อยอะไรควรห้าม สิ่งที่เป็นอันตรายเกินไปก็ต้องห้าม จะปล่อยเท่าที่ปล่อยได้เท่านั้น ปล่อยแค่ไหนอย่างไร จึงมีความละเอียดอ่อนมากๆ แต่ถ้าเลี้ยงลูกอย่างนี้ได้ ลูกจะโตขึ้นมาเป็นคนมีความรับผิดชอบในตัวเอง ทั้งเก่งทั้งดี

 

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 1  "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.039407233397166 Mins