คนไม่มีศาสนาไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ควรดำเนินชีวิตอย่างไร

วันที่ 24 สค. พ.ศ.2558

 คนไม่มีศาสนาไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ควรดำเนินชีวิตอย่างไร

 

            ปัจจุบันวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้เกิดเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างต่อเนื่อง จากเดิมเป็นสังคมเกษตรกรรม เปลี่ยนมาเป็นยุคอุตสาหกรรม และปัจจุบันกำลังอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสาร หรือที่เรียกว่า โลกไร้พรหมแดน ที่ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้อย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง

 

            เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้น จึงทำให้มีผลต่อความคิด ความเชื่อของบุคคลในสังคมไปด้วย ในยุคแรกๆ คนส่วนใหญ่เชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็น ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ อย่างเช่นเทพเจ้า จึงก่อให้เกิดเป็นศาสนาหรือลัทธิเทวนิยมจำนวนมาก และได้สืบทอดความเชื่อเหล่านั้นเรื่อยมาจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน แต่เมื่อการพิสูจน์การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้คนบางส่วนเริ่มมีความเชื่อในเรื่องเหตุผลที่สามารถพิสูจน์ได้มากขึ้น อย่างเช่นในยุคที่ความเชื่อเรื่องเทวนิยมรุ่งเรืองมากๆ มีการเผยแผ่ความเชื่ออย่างกว้างขวางไปทุกมุมโลก ซึ่งในยุคนั้นเริ่มมีนักวิทยาศาสตร์เกิดขึ้น และนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งชื่อกาลิเลโอ ได้ค้นพบทฤษฎีต่างๆ มากมาย ที่ส่งผลกระทบในด้านลบต่อความเชื่อทางศาสนา ในขณะเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์นั้นได้รับการยอมรับนับถือจากผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถนำเรื่องที่คนสงสัยมาพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ แต่ในที่สุดก็ถูกคุกคามจากศาสนาความเชื่อนั้น จนเกิดความลำบากในการดำรงชีวิต

 

            ปัจจุบันความเชื่อเหล่านั้นยังคงดำเนินอยู่ แต่มีการปรับเปลี่ยนไปบ้างให้เหมาะสมกับสภาพการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การศึกษาได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความคิดของมนุษย์ ปัจจุบันได้มีการทำวิจัยเรื่องการนับถือศาสนาของคนในยุคปัจจุบันในหลายประเทศ พบว่ามีแนวโน้มคนที่จะไม่นับถือศาสนาใดๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะบางคนมองว่าเป็นเรื่องงมงาย พิสูจน์ไม่ได้ บางคนไม่เห็นประโยชน์จากการมีศาสนา อยากใช้ชีวิตแบบสบายๆ ไม่ต้องมีข้อผูกมัด หรือถูกสร้างกรอบทางความคิดให้กับตน

 

            จากข้อมูลวิจัยเหล่านี้ เป็นเรื่องที่น่าวิตกอยู่ว่า หากคนไม่มีศาสนายึดเหนี่ยวใจมากขึ้น จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมและโลกใบนี้ ซึ่งแน่นอนว่า อย่างน้อยเขาจะไม่มีกรอบความคิดที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต เพราะทำแล้วก็ไม่รู้สึกว่าผิดศีลผิดธรรม ไม่กลัวบาป คนจะสนใจวัตถุมากกว่าจิตใจ ใช้ชีวิตตามอำเภอใจ จะไม่เกิดประโยชน์ต่อการมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้

 

            นักศึกษาคงเคยศึกษาในเรื่องการเกิดศาสนาต่างๆ มาบ้างแล้ว เราจะพบว่า ศาสนาส่วนใหญ่มีหลักคำสอนสำคัญที่เป็นประโยชน์ ที่ก่อให้เกิดความสุขในการดำเนินชีวิต ความสงบสุขในสังคม ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเฉพาะพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ว่าด้วยเรื่องเหตุและผล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนการดำเนินชีวิตให้มีความสุขในโลกนี้ โลกหน้า และตลอดไป เมื่อใครปฏิบัติตามย่อมได้รับความสุขทั้งชาตินี้ ชาติหน้า และทุกชาติ จนกว่าจะหมดกิเลส แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่างไอน์สไตน์ยังให้การยอมรับพระพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาที่มีหลักการคล้ายวิทยาศาสตร์ในเรื่องความมีเหตุผล

 

            ส่วนในประเด็นเรื่องคนที่ไม่มีศาสนานี้ ถ้าเราจะกล่าวโดยรวมก็หมายถึง พวกที่ไม่มีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมด้วย ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิตของบุคคลที่ไม่มีศาสนาเป็นแก่นสารไว้ใน อปัณณกสูตร4) เพราะความที่พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงแบ่งปันความสุขให้กับทุกคนในโลก ไม่ว่าจะมีความเชื่อใด หรือไม่มีความเชื่อเลยก็ตาม ก็จะทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องให้เสมอ ดังนั้นในหัวข้อนี้ นักศึกษาจะได้รับทราบสาระสำคัญของอปัณณกสูตรบางส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคคลที่ยังไม่มีศาสนา หรือบุคคลที่ยังไม่มีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม นักศึกษาจะได้นำความรู้เหล่านี้ไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้กับบุคคลเหล่านั้นให้เขาสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขปลอดภัยจากทุกข์โทษภัยในสังสารวัฏ

 

            เนื้อความในพระสูตรที่นำมาเสนอนี้ เป็นเพียงบางส่วนของพระสูตรที่เกี่ยวข้อง และขอยกเพียงตัวอย่างเดียว หากต้องการค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นสามารถหาอ่านได้จากพระสูตรที่อ้างถึงดังกล่าว

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถามพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านเมืองศาลาว่า

“    ศาสดาองค์ใด องค์หนึ่ง ซึ่งเป็นที่ชอบใจของท่านทั้งหลาย ที่เป็นเหตุให้เกิดศรัทธาอย่างมีเหตุผลมีอยู่หรือไม่”

พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านศาลากราบทูลว่าไม่มี พระองค์จึงทรงแสดงอปัณณกธรรม โดยทรงยกทิฏฐิต่างๆ ขึ้นมาอธิบายเปรียบเทียบให้เห็นคุณและโทษอย่างชัดเจน แล้วทรงแนะนำวิธีการปฏิบัติที่ไม่ผิด ซึ่งก็ขอยกตัวอย่าง พอสังเขปดังนี้

พราหมณ์ 2 พวก มีความเห็นขัดแย้งกัน

พวกที่ 1 มีความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มี การบูชาไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำชั่วไม่มี โลกหน้าไม่มี เป็นต้น พวกนี้จักเว้นกุศลธรรม ประพฤติอกุศลธรรมกลายเป็นคนทุศีล ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา ทำตนเป็นข้าศึกกับพระอรหันต์ ในเรื่องนี้วิญญูชนควรพิจารณาให้เห็นดังนี้ และพระองค์ทรงแนะนำวิธีคิดที่ถูกต้องให้กับบุคคลที่มีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ว่า

ถ้าโลกหน้าไม่มี บุคคลนี้ตายไปแล้วจักทำตนให้สวัสดี (ปลอดภัย) ได้

ถ้าโลกหน้ามี เขาก็จักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ถ้าโลกหน้าไม่มีจริง คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือเท็จก็ช่างเถิด เขาก็จะถูกติเตียนในปัจจุบันแน่นอน

ถ้าโลกหน้ามีจริง เขาจะได้รับโทษใน 2 สถาน คือ 1. ในปัจจุบันวิญญูชนตำหนิติเตียน 2. ตายไปแล้วจะไปเกิดในนรก

พวกที่ 2 มีความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การบวงสรวงมีผล การบูชามีผล เป็นต้น พวกนี้จัก เว้นอกุศลธรรม ประพฤติกุศลธรรม ละทิ้งความเป็นผู้ทุศีล ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา ไม่ทำตนเป็นข้าศึกกับพระอรหันต์ ในเรื่องนี้ วิญญูชนควรพิจารณาให้เห็นชัดว่า

ถ้าโลกหน้ามี บุคคลนี้ตายไปแล้วจักเกิดในสุคติโลกสวรรค์

ถ้าโลกหน้าไม่มีจริง คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือเท็จก็ช่างเถิด เขาจะได้รับการสรรเสริญในปัจจุบันแน่นอน

ถ้าโลกหน้ามีจริง เขาจะได้รับคุณใน 2 สถาน คือ 1. ในปัจจุบันวิญญูชนสรรเสริญ 2. หลังจากตายไปแล้ว จักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

 

             จากวาทะของพราหมณ์ทั้ง 2 พวกที่ยกมานี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงให้เห็นว่า ความเห็นของพราหมณ์พวกที่ 1 เป็นความเห็นที่ผิด ความเห็นของพราหมณ์พวกที่ 2 เป็นความเห็นที่ถูกต้อง และทรงชี้ให้เห็นข้อปฏิบัติที่ถูกต้องสำหรับผู้ที่ปฏิบัติผิดว่าควรจะมีความเชื่ออย่างไร ที่จะทำให้การดำเนินชีวิตปลอดภัย หรือผู้ที่ปฏิบัติถูกแล้วพระองค์ก็ทรงยืนยันในสิ่งที่ปฏิบัติเพื่อให้เกิดความมั่นใจที่จะปฏิบัติต่อไป

            ดังนั้น ในความเห็นของพราหมณ์ 2 จำพวกที่ยกตัวอย่างมานี้ สามารถสรุปหลักการปฏิบัติสำหรับคนที่ไม่มีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม คนไม่มีศาสนาได้ว่า แม้บุคคลผู้ไม่มีความเชื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่อย่างน้อยก็ควรมีหลักการพิจารณาในการดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง โดยยึดหลักการปฏิบัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ดังกล่าวว่า ถึงแม้จะมีความเชื่อหรือไม่มีความเชื่อเรื่องโลกนี้โลกหน้า หรือเรื่องกฎแห่งกรรมก็ตาม หากปฏิบัติได้ถูกต้อง อย่างน้อยการดำเนินชีวิตในโลกนี้ก็จะมีความสุข และไม่ต้อง ทุกข์กับการที่ถูกคนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิหรือนินทาจากการกระทำไม่ดีของตน หรือหากโลกนี้โลกหน้ามี กฎแห่งกรรมมีจริง การดำเนินชีวิตหลังจากตายไปแล้วก็ปลอดภัย ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานในอบายภูมิ เพราะฉะนั้นการเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมมีแต่ผลดีอย่างเดียว อีกทั้งยังจะทำให้การดำเนินชีวิตของเรามี เข็มทิศชีวิตที่ถูกต้อง

 

            สรุปสาระสำคัญของบทเรียนนี้ คือ ต้องการให้นักศึกษามองเห็นสภาพของกฎแห่งกรรมในมุมมองกว้าง หลากหลายมุมมอง และเพื่อตอบปัญหาที่ค้างคาใจในหลายคำถาม

ในหัวข้อ 2.1 เป็นเรื่องของหลักกรรมที่เป็นหัวใจของกฎแห่งกรรม ในเมื่อหลักกรรมกล่าวไว้ว่าทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว คำกล่าวนี้ย่อมเป็นจริงเสมอ จะส่งผลช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับเวลาและการกระทำในปัจจุบันส่งเสริมสนับสนุน นักศึกษาควรยึดมั่นในหลักกรรม และนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง

ในหัวข้อ 2.2 ชี้ให้เห็นความสำคัญของกฎแห่งกรรมว่า เป็นตัวจำแนกความแตกต่างของสัตว์ทั้งหลาย มีมนุษย์เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด ในหัวข้อนี้จะตอบคำถามของคนที่มักจะสงสัยหรือสับสนว่า ทำไมเราแตกต่างจากคนอื่น และก็คงได้ข้อสรุปว่า เพราะกรรมที่กระทำมาในอดีตส่งผลให้เป็นเราในปัจจุบันนี้ และทำให้ได้ข้อคิดต่อไปอีกว่า ควรจะประกอบกรรมดี เพื่อจะได้เกิดความสมบูรณ์ในอนาคต และสามารถออกแบบชีวิตของเราในอนาคตได้ด้วยการกระทำของเราในปัจจุบัน

ส่วนในหัวข้อ 2.3 ต้องการชี้ให้เห็นความซับซ้อนของการให้ผลของกรรม ที่มีคนบางส่วนมักจะเข้าใจผิดหลักกฎแห่งกรรมว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป เมื่อนักศึกษาได้เรียนรู้ในหัวข้อนี้แล้วจะได้เข้าใจว่า การให้ผลของกรรมนั้นเป็นเรื่องซับซ้อน ดังนั้นอย่าด่วนสรุปว่า หลักกรรมไม่ถูกต้อง แล้วนำมาตัดพ้อตัวเอง เพื่อไม่ทำความดี หันกลับไปทำความชั่ว ซึ่งอันตรายต่อการดำเนินชีวิต แม้ขนาดว่าคนมีตาทิพย์ ยังเห็นเรื่องราวกฎแห่งกรรมแตกต่างกัน และเข้าใจเรื่องการให้ผลของกรรมไม่ถูกต้อง เพราะว่าเห็นไม่ครบวงจร เห็นเป็นบางส่วน แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นไปถึงต้นเหตุ จึงทรงนำมาถ่ายทอดได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นควรยึดมั่นในหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

และในหัวข้อ 2.4 มีวัตถุประสงค์ที่อยากจะชี้ให้เห็นว่า การไม่เชื่อในกฎแห่งกรรม ย่อมจะได้รับผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้นแม้ไม่มีความเชื่อทางศาสนา หรือไม่มีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม อย่างน้อยก็ควรจะมีหลักในการพิจารณาเพื่อการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามหลักที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ ก็จะทำให้ดำเนินชีวิตในปัจจุบันได้อย่างมีความสุข หรือยิ่งถ้าหากตายไปแล้ว มีโลกหน้าจริงก็จะได้ปลอดภัย คือ จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็ให้ทำความดีเผื่อเหนียวไว้ก่อน

-------------------------------------------------------------------

4) อปัณณกสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 20 หน้า 223-253.

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0051524837811788 Mins