ครุกรรม

วันที่ 29 สค. พ.ศ.2558

 

ครุกรรม

 ความหมายของครุกรรม

            ครุกรรม หมายถึง กรรมที่กำลังแรงมากหรือกรรมที่หนักมาก สามารถที่จะให้ผลแก่ผู้เป็นเจ้าของกรรมเป็นลำดับแรก โดยกรรมอื่นๆ ไม่มีอำนาจที่จะสามารถขวางกั้นการให้ผลแห่งครุกรรมได้

 

ลักษณะของครุกรรม

            ครุกรรมนี้เป็นกรรมหนักที่สุด เป็นกรรมที่มีกำลังแรงที่สุดและจะให้ผลเป็นลำดับแรก ซึ่งไม่มีกรรมใดที่จะสามารถให้ผลได้ก่อน เพราะมีกำลังในการให้ผลน้อยกว่าครุกรรม โดยอาจจะเปรียบครุกรรมเหมือนก้อนกรวดหรือก้อนเหล็ก แม้ประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่โยนลงห้วงน้ำ ย่อมไม่สามารถจะลอยขึ้นเหนือน้ำได้ แต่จะจมลงใต้น้ำอย่างเดียว ครุกรรมก็เช่นกันต้องให้ผลก่อนกรรมอื่น เว้นไว้แต่จะเป็นครุกรรมด้วยกัน ซึ่งถ้าครุกรรมใดมีกำลังแรงกว่า ครุกรรมนั้นก็จะมีอำนาจในการให้ผลมากกว่า ส่วนครุกรรม ที่มีกำลังอ่อนกว่าก็จะทำหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมครุกรรมที่มีกำลังแรงนั้น แม้ว่าจะเป็นครุกรรมที่ทำหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมครุกรรมที่มีกำลังมากกว่า แต่ถ้าไม่มีครุกรรมที่มีกำลังแรงกว่ามาให้ผล ครุกรรมนั้นก็จะทำหน้าที่ให้ผลแก่ผู้กระทำครุกรรม

           ครุกรรมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ครุกรรมฝ่ายอกุศลกรรมและครุกรรมฝ่ายกุศลกรรม ครุกรรมฝ่ายอกุศลกรรม คือ กรรมฝ่ายชั่วหรือฝ่ายบาป ซึ่งจะให้ผลในภพชาติต่อไปอย่างแน่นอน โดย ครุกรรมนั้นจะชักนำให้ผู้ที่ทำครุกรรมไว้ไปบังเกิดในทุคติภูมิ ส่วนครุกรรมฝ่ายกุศลกรรม คือ กรรมฝ่ายดีหรือฝ่ายบุญ ซึ่งก็จะให้ผลในภพชาติต่อไปเช่นกัน แต่ต่างกันตรงที่ครุกรรมนั้นจะชักนำให้ไปเกิดในสุคติภูมิ โดยที่ไม่มีกรรมใดจะมาขัดขวางได้

 

ครุกรรมฝ่ายอกุศลกรรม

ครุกรรมฝ่ายอกุศลกรรม มี 2 ชนิด ได้แก่

1. นิตยมิจฉาทิฏฐิกรรม คือ การที่มีความเห็นผิดอย่างแรงกล้า เช่น มีความเห็นผิดว่ากรรมไม่มีผล การกระทำทั้งหลายไม่ถือว่าเป็นความดีเป็นความชั่วหรือเป็นบุญเป็นบาป เป็นต้น นิตยมิจฉาทิฏฐิกรรมนี้ มี 3 อย่าง คือ

1.1 นัตถิกทิฏฐิ การมีความเห็นผิดว่า การทำดีทำชั่วย่อมไม่มีผล ในสมัยพุทธกาลท่านอชิตเกสกัมพลได้ประกาศลัทธินี้ เป็นการปฏิเสธการกระทำของมนุษย์ เพราะการทำความดีความชั่วนี้ ไม่มีผลที่จะทำให้มนุษย์ได้รับสุขหรือทุกข์

1.2 อเหตุกทิฏฐิ การมีความเห็นผิดว่า สัตว์ทั้งหลายที่กำลังเป็นไปอยู่นี้ไม่ได้อาศัยเหตุใดเลย ในสมัยพุทธกาลท่านมักขลิโคศาลได้ประกาศลัทธินี้ ซึ่งเป็นการปฏิเสธเหตุที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างกัน เพราะการที่มนุษย์มีความแตกต่างกันนั้น เป็นการเกิดขึ้นมาเอง ไม่ใช่เกิดจากการกระทำที่มนุษย์ทำไว้และไม่ใช่เกิดจากผลแห่งกรรมใดทั้งสิ้น

1.3 อกิริยาทิฏฐิ การมีความเห็นผิดว่า การกระทำต่างๆ ของสัตว์นั้นไม่สำเร็จเป็นบุญเป็นบาปแต่อย่างใด ในสมัยพุทธกาลท่านปูรณกัสสปะ ได้ประกาศลัทธินี้ ซึ่งเป็นการปฏิเสธการกระทำของมนุษย์ว่า ไม่เป็นบุญเป็นบาป เพราะบุญและบาปไม่มี

 

2. อนันตริยกรรม คือ กรรมหนัก ที่มีอำนาจให้ผลในภพชาติต่อไปอย่างแน่นอน ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มี 5 ประการ คือ

2.1 มาตุฆาต การฆ่ามารดาผู้ให้กำเนิด

2.2 ปิตุฆาต การฆ่าบิดาผู้ให้กำเนิด

2.3 อรหันตฆาต การฆ่าพระอรหันต์

2.4 โลหิตุปบาท การทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต

2.5 สังฆเภท การทำให้สงฆ์แตกแยกกัน

 

-------------------------------------------------------------------

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013131697972616 Mins