ชาดก 500 ชาติ รวมนิทานชาดกพร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ชาดก 500 ชาติ : ชาดก 500ชาติรวมชาดก 500 ชาติพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ชาดก คือ เรื่องราวหรือชีวประวัติในอดีตชาติของพระโคตมพุทธเจ้า คือ สมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ พระองค์ทรงนำมาเล่าให้พระสงฆ์ฟังในโอกาสต่าง ๆ เพื่อแสดงหลักธรรมสุภาษิตที่พระองค์ทรงประสงค์ เรียกเรื่องในอดีตของพระองค์นี้ว่า ชาดก ชาดกเป็นเรื่องเล่าคล้ายนิทาน บางครั้งจึงเรียกว่า นิทานชาดก

ชาดก 500 ชาติ :: กามชาดก ชาดกว่าด้วยกามและโทษของกาม

ชาดก 500 ชาติ

กามชาดก ชาดกว่าด้วยกามและโทษของกาม

 

 
ชาวนาได้ตัดไม้และแผ้วถางป่าเพื่อทำเป็นที่นาของตน
 
                       ในกาลสมัยเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านนั้น เกิดจากแรงคนงานทำแผ้วถางป่า ใครขยันเพียงไรก็มีพื้นที่ทำกินเท่านั้น และด้วยกาลก่อนนั้นไม่มีเครื่องจักร ไว้ทุ่นแรงเหมือนปัจจุบัน ชาวบ้านมีแต่เพียงมีด จอบเสียมเครื่องไม้เครื่องมือธรรมดากับแรงงานของเขาเท่านั้น
 
 
พระศาสดาทรงกระทำปฏิสันถารกับพราหมณ์ชาวนาผู้หนึ่ง
 
                       ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านเหล่านั้น จึงรักเหล่านั้นจึงรักและหวงแหนไร่นาของเขาเป็นอันมาก ครั้งนั้นเมื่อองค์พระศาสดาทรงประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภกับพราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่ง เขาผู้นี้ได้ทำการหักร้างป่าเพื่อต้องการทำเป็นไร่ พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยของเขา
 
 
พราหมณ์ชาวนามีความสุขกับการหว่านข้าวกล้าในนาของเขา
 
                          เมื่อเสด็จเข้าไปโปรดสัตว์ในพระนครสาวัตถี ทรงแวะลงจากกระทำปฏิสันถารกับเขาบ่อยครั้ง “เธอทำอะไรเล่า” “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ หักร้างที่ไร่พระเจ้าค่ะ” “ดีแล้วพราหมณ์ กระทำการงานไปเถิด” พระองค์ได้เสด็จไปทำปฏิสันถารกับเขาบ่อยๆ ทั้งในเวลาที่เขาขนต้นไม้ที่ตัดแล้ว และสะสาง ที่ไร่ในเวลาก่อคัน ในเวลาหว่าน
 
 
ข้าวของพราหมณ์ออกรวงสวยงามพร้อมเก็บเกี่ยว
 
                          พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นการทำงานของเขาตั้งแต่แรกเริ่ม จนกระทั่งพื้นที่ป่ากลายเป็นไร่นาโดยสมบูรณ์ “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ วันนี้เป็นมงคลในการ หว่านข้าวของข้า พระองค์ ข้าพระองค์จะถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธองค์เป็นประมุข ในเมื่อข้าวกล้านี้สำเร็จแล้ว”
 
 
 
พายุฝนและสายน้ำพัดพาข้าวในนาของพราหมณ์ชาวนาลงสู่ทะเลไปจนหมดสิ้น
 
                         รุ่งขึ้นวันหนึ่ง ขณะที่พราหมณ์กำลังยืนดูข้าวกล้าของเขา ที่กำลังเติบโตเป็นต้นกล้าน้อยๆ อยู่ องค์พระศาสดาเสด็จมาตรัสถาม “พราหมณ์ เธอกำลังทำอะไรอยู่ตรงนั้น” “ข้าแต่สมณะโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์กำลังดูข้าวกล้า” ในครั้งนั้นพราหมณ์คิดว่า เมื่อใดที่ข้าวของเขาออกรวงเป็นเม็ดข้าวแล้ว เขาจะถวายภัตรนั้นแด่พระพุทธเจ้า เมื่อคิดได้อย่างนี้ เขาก็มีความสุขอย่างล้นเหลือ
 
 
พราหมณ์ชาวนาเสียใจมากกับความเสียหายในไร่นาของตน
 
                          วันเวลาผ่านไปจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว ข้าวในนาของพราหมณ์นั้นออกรวงเป็นสีทองเหลืองอร่าม เขาตั้งใจจะเกี่ยวข้าวนั้น แล้วนำมาถวายแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเช้ารุ่งขึ้น แต่แล้วเรื่องราวก็ไม่ได้เป็นไปตามที่หวังไว้ ในคืนนั้นเองเกิดพายุลูกใหญ่ ลูกเห็บตกตลอดคืน ทางเหนือของแม่น้ำอัจจิรวดีก็มีกระแสน้ำใหญ่ไหลหลากมาพัดเอาข้าวกล้าทั้งหมดเข้าไปสู่ทะเล ไม่เหลือไว้ให้แม้มาดว่าทนานเดียว
 
 
พระศาสดาทรงเสด็จมาปลอบใจให้เขาได้คลายความทุกข์โศก
 
                           เมื่อน้ำไหลผ่านไปแล้ว พราหมณ์มองดูความย่อยยับแห่งนาข้าวของตนแล้ว ก็ถูกความเสียใจอย่างแรงเข้าครอบงำ ยกมือตีอกคร่ำครวญไปถึงเรือน แล้วลงนอนบ่นพร่ำ “ไม่ ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ ทำไม นาข้าวๆ ของเรา หมดกันๆ” ในเวลาใกล้รุ่ง พระศาสดาทรงทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ถูกความเสียใจครอบงำ ทรงดำริว่า เราต้องเป็น ที่พึ่งของพราหมณ์ผู้นั้น
 
 
เหล่าภิกษุได้กล่าวถึงองค์พระศาสดาที่ทรงกระทำให้พราหมณ์ชาวนาสร่างโศกได้
  
                       รุ่งขึ้นเสด็จไปสู่ประตูเรือนของเขา พราหมณ์ได้ยินความที่พระศาสดาทรงเสด็จมา ก็รีบให้การต้อนรับ “ดูก่อนพราหมณ์ เหตุใด จึงเศร้าหมองไปล่ะ ท่านไม่สบายอะไรเล่า” “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์ย่อมทรงทราบการงานที่ข้าพระองค์ทรงกระทำ นับแต่ตัดต้นไม้ที่ฝั่งแม่น้ำอัจจิรวดี ข้าพระองค์เคยกราบทูลไว้ว่า เมื่อข้าวกล้านี้สำเร็จแล้ว ข้าพระองค์จักถวายทานแด่พระองค์ บัดนี้ห้วงน้ำใหญ่ พัดข้าวกล้าของข้าพระองค์ ไปสู่ทะเลเสียหมดเกลี้ยงทีเดียว ข้าวกล้าไม่มีเหลือสักหน่อย
 
 
พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาแสดงแก่เหล่าภิกษุสงฆ์ในธรรมสภา
   
                          ข้าวเปลือกประมาณ 100 เกวียนเสียหายหมด เหตุนั้นความโศกอย่างใหญ่โตจึงเกิดแก่ข้าพระองค์” “ดูก่อนพราหมณ์ ก็เมื่อท่านเศร้าโศกอยู่ สิ่งที่เสียหายไปแล้ว จะกลับคืนมาได้หรือ” “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอนพระเจ้าค่ะ” “แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านเศร้าโศกเพราะเหตุไร ขึ้นชื่อว่าทรัพย์และข้าวเปลือก ของสัตว์เหล่านี้ ถึงคราวเสียหายก็เสียหาย สิ่งใดๆ ที่ถึงการปรุงแต่ง จะชื่อว่าไม่มีความเสียเป็นธรรมดานะ ไม่มีดอก ท่านอย่าคิดไปเลย”
 
 
พระเจ้าพรหมทัตทรงมีพระราชโอรส 2 พระองค์
 
                        พระศาสดาทรงปลอบเขาด้วยประการฉะนี้ เมื่อทรงแสดงธรรมอันเป็นที่สบายแก่เขา ตรัสกามสูตร เมื่อพระสูตรถึงปริโยสาร พราหมณ์ดำรงในโสดาปัตติผล พระศาสดาทรงทำให้เขาสร่างโศกได้ ณ ตอนนั้นชาวพระนครรู้สิ้นทั่วกันว่า พระศาสดาทรงกระทำพราหมณ์ผู้นั้นให้สร่างโศก ให้ดำรงในโสดาปัตติผลได้ พวกภิกษุพากันยกเรื่องขึ้นสนทนากันในธรรมสภา
 
 
พระโอรสองค์โตทรงมอบราชสมบัติทั้งหมดให้กับน้องชายของตน
  
                         “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายมิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน เราก็ได้กระทำให้พราหมณ์นี้สร่างโศกแล้วเหมือนกัน” เมื่อตรัสแล้วก็ทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้ ในอดีตกาลพระเจ้าพรหมทัต ณ พระนครพารณสี มีพระโอรส 2 พระองค์ ท้าวเธอประทานตำแหน่งอุปราชแก่พระโอรสองค์ใหญ่ พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่พระโอรสองค์เล็ก ครั้นต่อมาพระเจ้าพรหมทัตสิ้นพระชนม์ พวกอำมาตย์พากันตั้งการอภิเษกแก่พระองค์ใหญ่ แต่พระองค์ก็ได้ทำการปฏิเสธราชสมบัติเหล่านั้น
 
 
พระโอรสองค์โตได้พักอาศัยอยู่บ้านเศรษฐีตระกูลหนึ่งในแถบชนบท
 
                          แม้ได้รับคำทูลวิงวอนบ่อยๆ ก็ทรงห้ามเสีย “ฉันไม่ต้องการครองราชย์สมบัติ พวกท่านจงพากันให้แก่น้องชายของฉันเถิด” “เสด็จพี่ทรงรับตำแหน่งอุปราชไว้เถิด” “ไม่ละ เราไม่ต้องการความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ ไม่ทรงปรารถนาแม้แต่ตำแหน่งอุปราช” “ถ้าเช่นนั้นน้องก็จะไม่กวนพระทัยเสด็จพี่อีก ขอเสด็จพี่ทรงจงอยู่สบาย ในพระราชวังนี้เถิด” “ฉันไม่มีเรื่องที่จะต้องกระทำในพระนครนี้ พี่จะขอไปใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในชนบทที่ห่างไกล”
 
 
เศรษฐีรู้ความจริงว่าชายหนุ่มที่มาพักอาศัยอยู่กับตนคือพระราชโอรส
  
                          พระราชกุมารเสด็จออกจากพระนครเมืองพาราณสีไปสู่ชนบทปลายแดน อาศัยสกุลเศรษฐีตระกูลหนึ่ง ทรงกระทำการงานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองประทับอยู่ “เออ เจ้าคนนี้ฝีมือดีเหมือนกัน มิเสียแรงที่เลี้ยงเอาไว้” ครั้นกาลต่อมาพวกเหล่านั้นรู้ความที่ท้าวเธอเป็นพระราชกุมารก็พากันไม่ยอมให้ทำการงาน พากันห้อมล้อมท้าวเธอด้วยการปฏิบัติในฐานะพระราชกุมาร
 
 
เหล่าข้าราชการได้ออกรังวัดเขตพื้นที่จนมาถึงบ้านของท่านเศรษฐี
 
                          “พระองค์อย่าได้ได้ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายเลย เชิญอาศัยอยู่ให้สบายเถิด หม่อมฉันยินดีรับใช้พระเจ้าค่ะ” “หม่อมฉันก็ยินดีรับใช้พระองค์เหมือนกันเพค่ะ เชิญรับสั่งได้เลยเพค่ะ” “เอาเถิดเราขอบใจพวกท่านทุกคนมาก” ดำเนินการนานมา พวกข้าราชการได้ไปถึงบ้านนั้น เพื่อรังวัดเขต ท่านเศรษฐีเข้าไปเฝ้าพระราชกุมารเพื่อกราบทูลขอให้พระองค์ทรงช่วยเหลือ “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้านาย พวกข้าพระองค์ พากันบำรุงเลี้ยงพระองค์ ขอพระองค์ทรงส่งหนังสือถึงเจ้าน้องให้ทรงช่วยลดส่วยแก่พวกข้าพระองค์ด้วยเถิดพระเจ้าค่ะ”   
 
 
เศรษฐีได้ทูลขอให้พระโอรสทรงงดการส่งส่วยของตนไปยังพระนคร
 
                          “ได้สิ ท่านเศรษฐี ท่านเองก็ทรงช่วยเหลือเรามามากแล้ว เราควรตอบแทนท่านบ้าง” ครั้งนั้นพระราชกุมารทรงส่งหนังสือไปถึงพระอนุชาผู้เป็นเจ้าแผ่นดิน “พี่ได้อาศัยสกุลเศรษฐีพำนักอยู่ โปรดเห็นแก่พี่ ยกเว้นส่วยแก่พวกเหล่านั้นเถิด” “เมื่อเสด็จพี่ทรงขอมา เราก็ยินดีทำตามรับสั่ง ทหารเว้นภาษีของเศรษฐีนั้นเถิด” ครั้งนั้นพวกชาวบ้านทั้งหมด ทั้งชาวชนบทบ้างชาวบ้านอื่นๆ บ้าง พากันเข้าไปเฝ้าท้าวเธอเพื่อทูลขอยกเว้นส่วย ดังที่พระองค์ทรงพระราชทานขอให้เศรษฐี
 
 
พระราชโอรสองค์รองได้รับสาสน์จากพี่ชายซึ่งอยู่ชายแดนชนบท
 
                           กาลนั้นท้าวเธอทรงส่งหนังสือไปเพื่อช่วยเหลือพวกเหล่านั้น ให้พระราชาทรงยกเว้นส่วยให้ “ข้าพระองค์จักถวายส่วยแด่พระองค์เท่านั้น โปรดให้พระราชาทรงยกเว้น แก่พวกข้าพระองค์บ้างเถิด” “เอาเถิดๆ เราจะช่วยพวกเจ้าทุกคน” ตั้งแต่บัดนั้น พวกเหล่านั้นก็พากันถวายส่วยแก่พระราชกุมาร พระองค์จึงบังเกิดลาภสักการะใหญ่ ด้วยเหตุนั้นความอยากของพระองค์ก็พลอยเติบใหญ่ไปด้วย กาลต่อมาพระองค์ได้ทูลขอชนบทนั้นทั้งหมด แล้วทูลขอราชสมบัติกึ่งหนึ่ง
 
 
มีชาวบ้านมากมายนำส่วยมามอบให้พระราชโอรสองค์โต
 
                            พระอนุชาก็ได้ประทานทุกอย่างตามที่พระองค์ทรงทูลขอ “ฮ่าๆๆ มีสมบัติมันก็ดีอย่างนี้นี่เอง ฮึ แต่จริงๆ แล้วสมบัติทั้งเมืองต้องเป็นของเราซินะ เราควรจะได้ครอบครองทั้งหมด ไม่ใช่แค่ครึ่งเดียวเช่นนี้” เมื่อกิเลสตัณหาพอกพูนไม่ทรงพอพระทัย ด้วยราชสมบัติเพียงกึ่งนั้น ทรงดำริจะยึดราชสมบัติทั้งหมด ด้วยเหตุนี้จึงแวดล้อมด้วยชาวชนบท เสด็จไปสู่พระนครนั้น หยุดทับอยู่ภายนอกพระนคร ทรงส่งหนังสือแก่พระอนุชา เพื่อให้พระอนุชาทรงยกราชบัลลังก์ให้ มิเช่นนั้นก็ต้องออกรบกัน
 
 
พระโอรสองค์โตเริ่มมีความลุ่มหลงในลาภสักการะ
 
                           “พี่นี้เป็นพาล เมื่อก่อนทรงห้ามราชสมบัติ แม้กระทั่งตำแหน่งอุปราชก็ทรงห้าม คราวนี้ตรัสว่า จะยึดเอาด้วยการรบ ก็ถ้าเราจักฆ่าพี่นี้ให้ตายเสียด้วยการรบ ความครหาจักมีแก่เราได้ เราจะต้องการอะไรด้วยราชสมบัติ” พระอนุชาทรงส่งหนังสือมาถึงพระเชษฐา ว่าไม่ต้องการรบ ขอมอบราชสมบัตินั้นคืนแด่พระองค์ นับแต่นั้นพระราชกุมารโอรสองค์ใหญ่ทรงครองราชย์สมบัติและทรงตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหา มิได้ทรงพอพระหทัยด้วยราชสมบัติพระนครเดียว
 
 
พระราชโอรสองค์โตได้ยกกองทัพมาประชิดเมืองของน้องชายตน
 
                          ทรงปรารถนาราชสมบัติ 23 นคร ไม่ทรงเห็นที่สุดแห่งความอยากเลย ครั้งนั้นท้าวสักกะเทวราชทรงตรวจดูว่า ในโลกชนเหล่าไหนบ้างที่บำรุงมารดาบิดา เหล่าไหนทำบุญต่างๆ มีให้ทาน เหล่าไหนตกอยู่ในอำนาจตัณหา ทรงทราบความที่พระราชกุมารโอรสองค์ใหญ่ เป็นไปในอำนาจตัณหา พระองค์จึงทรงจำแลงเพศเป็นมานพประทับยืนที่พระทวารหลวง
 
 
พระโอรสองค์เล็กทรงมอบราชสมบัติทั้งหมดให้กับพี่ชายของตน
 
                            “พระราชาองค์นี้เป็นพาล ไม่ทรงพอพระหทัยแม้ด้วยราชสมบัติในพระนครพาราณสี เราต้องสั่งสอนให้ทาวเธอได้รู้บ้าง” ท้าวสักกะเทวราชในร่างของบัณฑิต ให้มหาดเล็กไปทูลพระราชาว่าตนมีอุบายแยบยลถวาย “ข้าแต่พระมหาราช ข้าพระองค์เห็นพระนคร 3 แห่ง มั่งคั่ง มีฝูงคนแออัด สมบูรณ์ด้วยพละและพาหนะ ข้าพระองค์จักยึดราชสมบัติทั้ง 3 ด้วยอานุภาพของตนถวายแด่พระองค์ ควรที่พระองค์จะไม่ทรงชักช้า รีบเสด็จเถิดพระเจ้าข้า”
 
 
ท้าวสักกะเทวราชทรงตรวจดูว่าชนเหล่าใดที่ได้สร้างคุณงามความดี
 
                         ท้าวสักกะนั้นเล่าตรัสเพียงเท่านี้แล้ว ก็ได้เสด็จไปดาวดึงส์พิภพส่วนพระราชานั้นเมื่อได้ยินสิ่งที่ท้าวสักกะในร่างบัณฑิตกล่าว ก็ทรงตกอยู่ในความโลภ พระองค์ทรงรับสั่ง ให้ราชบุรุษเตรียมกองทัพเพื่อตามบัณฑิตนั้นไปยึดราชสมบัติ “มานพผู้หนึ่งกล่าวว่า จะยึดราชสมบัติ 3 นครให้พวกเรา พวกเธอจงเรียกมานพนั้นมาทีเถิด จงนำกลองไปเที่ยวตี ประกาศในพระนครเรียกประชุมพลกาย เราต้องยึดครองสมบัติ 3 นครไม่ต้องชักช้า” ราชบุรุษรีบทำตามกระแสรับสั่ง เตรียมไพล่พลกองทัพ แต่ไม่มีใครพบเห็นบัณฑิตที่พระราชากล่าวไว้เลย         
 
 
ท้าวสักกะเทวราชทรงจำแลงตนเป็นชายหนุ่มมาเข้าเฝ้าพระโอรส
 
                              “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ก็พระองค์ทรงกระทำสักการะแก่มานพนั่นอย่างไร หรือทรงถามที่อยู่อาศัยของมานพนั้นไว้อย่างไร” “พวกเราไม่ได้ทำสักการะเลย ไม่ได้ถามที่พักอาศัยไว้เลย พวกเธอจงพากันไปค้นหาเขาเถิด” “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พวกข้าพระองค์ ไม่เห็นมานพนั้นทั่วพระนครพระเจ้าข้า” พระราชาทรงเกิดโทมนัส ครั้งนั้นความร้อนบังเกิดขึ้นในร่างพระกายพระองค์ผู้ทรงตกอยู่ในตัณหา
 
 
พระโอรสองค์โตทรงให้ราชบุรุษตามหาชายหนุ่มผู้ที่มาเข้าเฝ้าพระองค์
 
                          เมื่อพระสรีระทุกส่วนเร้าร้อนอยู่ กริยาที่วิ่งพล่านแห่งโลหิต ก็ทำท้องให้กำเริบแล้วเกิดการถ่ายท้องอย่างแรงขี้น ภาชนะอันหนึ่งเข้าอันหนึ่งออก พวกแพทย์สุดฝีมือ ที่จะถวายการรักษาได้ ครั้งนั้นการที่ท้าวเธอถูกความเจ็บป่วยเบียดเบียนได้เลื่องลือไปทั้งพระนคร “ราชสมบัติทั้ง 3 นครเสื่อมหายแล้ว เราเสื่อมเสียจากยศอันใหญ่ มานพคงโกรธเรา ว่าไม่ให้เสบียงแก่เรา แล้วก็ไม่ให้ที่อยู่อาศัยด้วย เลยไม่มา”
 
 
พระโอรสองค์โตโทมนัสจนทรงพระประชวร
 
                           กาลนั้นมีบัณฑิตหนุ่มเรียนศิลปะสำเร็จจากตักศิลา มาสู่สำนักบิดามารดาในพระนครพาราณสี เมื่อเขาได้ฟังเรื่องของพระราชานั้นก็คิดว่าต้องช่วยรักษาพระองค์ให้ได้ จึงไปสู่พระราชทวาร “ท่านราชบุรุษได้โปรดเข้าไปช่วยกราบทูลพระราชาด้วยเถิด ว่าเราสามารถรักษาพระองค์ได้” “มีบัณฑิตหนุ่มผู้หนึ่ง มารอที่หน้าประตูเมืองเขาบอกว่า รักษาพระองค์ได้พะยะค่ะ” “รักษาเราได้งั้นเรอะ แม้พวกแพทย์ทิศาปาโมกใหญ่ๆ ยังไม่สามารถรักษาเราได้ มานพหนุ่มจะสามารถได้อย่างไร
 
 
บัญฑิตหนุ่มเรียนสำเร็จศิลปะจากตักศิลาขอเข้าเฝ้าพระราชาที่ทรงประชวร
 
                          พวกท่านพากันให้เสบียงแล้วปล่อยเขาไปเถิด” ราชบุรุษนั้นนำพระราชดำริของพระกุมารโอรสองค์ใหญ่มาบอกแก่บัณฑิต แต่เขาก็ยังไม่ละความพยายามนั้น “ข้าพเจ้าไม่มีเรื่องที่ต้องทำ ด้วยค่ากำนัลหมอเลย ข้าพเจ้าจะขอถวายการรักษา โปรดให้เพียงค่ายาเท่านั้นก็พอ” พระราชาทรงสดับคำนั้น จึงทรงเปลี่ยนพระทัยให้บัณฑิตหนุ่มเข้ามารักษาพระองค์ มานพนั้นตรวจดูพระราชาแล้วกราบทูล “ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลยพระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะถวายการรักษาก็แต่ว่า พระองค์ทรงโปรดบอกสมุฏฐานแห่งโรค แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิดพระเจ้าข้า”
 
 
บัณฑิตหนุ่มได้รับอนุญาตให้รักษาอาการประชวรของพระราชา
 
                            “เจ้าจะเอาสมุฏฐานไปทำไม จงบอกยาเท่านั้นเถิด” “ข้าแต่มหาราช ธรรมดาหมอทราบว่าว่าความเจ็บนี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยสาเหตุนี้ ย่อมกระทำยาให้ถูกต้องกับความเจ็บปวด นั้นได้พระเจ้าค่ะ” พระราชาทรงตรัสบอกสมุฏฐานซึ่งเป็นเรื่องทั้งหมดตั้งต้นแต่ที่มานพหนุ่มมาบอกพระองค์ว่า จะสามารถช่วยให้พระองค์ให้เอาราชสมบัติใน 3 พระนครมาให้แล้ว เขาคนนั้นก็หายไป “แน่ะพ่อ เราเจ็บคราวนี้เพราะตัณหา ถ้าเจ้าพอจะรักษาได้ ก็จงรักษาเถิด” “ข้าแต่มหาราช พระองค์อาจได้พระนครเหล่านั้นด้วยการโศกเศร้าหรือ”
 
 
พระราชาทรงประทานทรัพย์ให้แก่บัญฑิตหนุ่ม
 
                           “ไม่อาจดอกพ่อ” “ถ้าเช่นนั้นเหตุใดพระองค์จึงโศกเศร้าพระเจ้าข้า ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายย่อมละร่างกายของตนเป็นต้น ตลอดถึงสวิญญาณกทรัพย์ อวิญญานกทรัพย์ ทั้งหมดไปแม้พระองค์จะยึดครองราชสมบัติในพระนครทั้ง 4 ได้ พระองค์ก็ยังเสวยพระกระยาหารในสุวรรณภาชนะทั้งสี่ บรรทมเหนือพระที่ทั้งสี่ ทรงเครื่องประดับทั้งสี่พร้อมกันในคราวเดียวไม่ได้ พระองค์ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจของตัณหา เพราะตัณหานี้เมื่อเจริญขึ้นย่อมไม่ปล่อยให้พ้นจากอบายทั้ง  4 ไปได้พระเจ้าค่ะ
 
 
บัญฑิตหนุ่มได้ตัดสินใจออกบวชเป็นฤาษี
 
                         เมื่อบุคคลปรารถนากาม ถ้าสิ่งที่ปรารถนาของบุคคลนั้นย่อมสำเร็จได้ สัตว์ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้นแล้ว ย่อมมีจิตใจอิ่มเอิบแท้ บรรดาความอิ่มเอิบทั้งหลาย ความอิ่มด้วยปัญญา ประเสริฐยิ่งนัก เพราะผู้อิ่มด้วยปัญญานั้น ย่อมไม่เดือดร้อนด้วยกามทั้งหลาย คนผู้อิ่มด้วยปัญญา ตัณหาย่อมกระทำให้อยู่ในอำนาจไม่ได้พระเจ้าค่ะ” บัณฑิตเมื่อได้กล่าวคาถานั้น ก็ได้เกิดฌาน มีโอทาตกสิณเป็นอารมณ์ เพราะหน่วงเอาพระเศวตฉัตรของพระราชาเป็นอารมณ์ แม้พระราชาก็ทรงหายจากโรค พระองค์ทรงมีความยินดีเสด็จลุกจากพระที่บรรทม ได้อย่างที่ผู้ที่ไม่เคยมีโรคภัยอันใด พระองค์ทรงประทานทรัพย์ให้แก่บัณฑิตหนุ่มแต่เขาก็ปฏิเสธ “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เมื่อพระองค์กำลังกล่าวคาถาอยู่นั้นแล ใจก็ไม่ยินดีในทั้งวัตถุกาม ทั้งกิเลสกาม เพราะข้าพเจ้านั้นในขณะที่กล่าวคาถาก็ยังฌาณให้บังเกิดด้วยพระธรรมเทศนาของตน ข้าพระองค์ไม่ขอรับทรัพย์เหล่านั้นด้วยพระเจ้าค่ะ”
 
                         หลังจากนั้นบัณฑิตหนุ่มก็บวชเป็นฤาษี เจริญพรหมวิหารอยู่จนตลอดชนมายุแล้วไปเกิดในพรหมโลก พระราชาทรงปกครองเมืองยังทรงธรรม พระศาสดาครั้นทรงนำพระเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดก
 
 
พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็น พราหมณ์
ส่วนมานพผู้เป็นบัณฑิต เสวยพระชาติเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
 
 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

* * ชาดก 500 ชาติ แนะนำ * *

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล