สาลิตตกชาดก ว่าด้วยคนมีศิลปะ
พระบรมศาสดาทรงปรารภภิกษุผู้ฆ่าหงส์รูปหนึ่งให้เป็นต้นเหตุ มีเรื่องปรากฏว่า
มีภิกษุรูปหนึ่งเคยได้เรียนสำเร็จวิชาดีดกรวดจนชำนิชำนาญเป็นอันดี เมื่อบวชแล้วก็ไม่สู้พอใจศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ ในเวลาวันหนึ่ง มีหงส์ ๒ ตัวบินผ่านมา ภิกษุนั้นได้หยิบเอาก้อนกรวดดีดตามหงส์นั้นไป หงส์ตกใจก็เหลียวหน้ามาดู ภิกษุนั้นก็ดีดกรวดตามไปอีกก้อนหนึ่ง ถูกนัยน์ตาหงส์ทะลุออกข้างหนึ่ง หงส์ตัวนั้นก็ตกลงมาในทันใด
ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นต่อพระพุทธองค์
พระองค์จึงทรงติเตียนภิกษุนั้นด้วยประการต่าง ๆ แล้วมีพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นได้เคยเป็นผู้ฉลาดในวิชาดีดกรวดมาแล้วแต่ปางหลัง แล้วทรงแสดงเรื่องอดีตว่า
ในกรุงพาราณสีมีปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตอยู่คนหนึ่งเป็นคนเจรจามาก เมื่อได้เริ่มเจรจาแล้ว ย่อมไม่ให้โอกาสแก่ผู้อื่นเจรจาเลย พระมหากษัตริย์ทรงรำคาญพระราชหฤทัย ใคร่ครวญหาอุบายที่จะให้ปุโรหิตนั้นเจรจาแต่น้อยอยู่เป็นเวลากาลนาน แต่ไม่สำเร็จการดังพระราชประสงค์
ครั้งนั้น มีบุรุษเตี้ยคนหนึ่งเป็นผู้ชำนาญในการดีดกรวด วันหนึ่งพวกเด็ก ๆ ได้เห็นบุรุษเตี้ยนั้นนั่งบนรถน้อย ๆ ค่อย ๆ ลากออกไปที่ประตูพระนคร ที่ริมประตูพระนครนั้นมีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง มีกิ่งและใบสมบูรณ์ดี พวกเด็ก ๆ จึงกล่าวแก่บุรุษเตี้ยว่า ถ้าท่านทำใบไม้เป็นรูปต่าง ๆ ได้ พวกเราจะให้ทรัพย์แก่ท่านกากณึกหนึ่ง บุรุษเตี้ยก็ดีดก้อนกรวดขึ้นไปให้ถูกใบไม้ทะลุเป็นช่อง ๆ ปรากฏเป็นรูปต่าง ๆได้
เวลานั้นพระเจ้าแผ่นดินเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ก็พอดีเสด็จมาถึงสถานที่นั้น เมื่อพวกเด็กแลเห็นก็พากันวิ่งหนีไป ทิ้งบุรุษเตี้ยไว้ในที่นั้นคนเดียว เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จไปถึงได้ทอดพระเนตรเห็นใบไม้สะพรั่งไปด้วยรูปต่าง ๆ จึงทรงเงยพระพักตร์ขึ้นทอดพระเนตร ได้ทรงเห็นเหตุใบไม้ทะลุเป็นช่องน้อยช่องใหญ่เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ หลายอย่างหลายประการ จึงมีพระราชโองการรับสั่งถามว่า ผู้ใดทำให้ใบไม้เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ดังนี้
ราชบุรุษผู้รู้คดีก็กราบทูลชี้แจงว่า บุรุษเตี้ยนี้เป็นคนกระทำ
จึงทรงพระดำริว่า ถ้าเราได้บุรุษเตี้ยนี้ไปเห็นจะพอแก้ไขความอึดอัดใจของเราได้ จึงโปรดให้นำตัวบุรุษเตี้ยเข้ามาเฝ้า ตรัสเล่าเหตุการณ์ให้ฟังแล้วตรัสถามว่า เจ้าสามารถทำให้ปุโรหิตเลิกพูดมากได้หรือไม่
บุรุษเตี้ยกราบทูลว่า ถ้าข้าพระบาทได้ขี้แพะสักทะนานหนึ่ง ก็จะสามารถทำให้สำเร็จดังพระราชประสงค์ได้
พระเจ้าพรหมทัตจึงโปรดให้พาบุรุษเตี้ยนั้นเข้าไปในท้องพระโรง ให้นั่งภายในม่านที่เจาะช่องเล็ก ๆ ไว้ และจัดขี้แพะทะนานหนึ่งพระราชทานให้แก่บุรุษเตี้ยนั้น แล้วให้จัดที่นั่งสำหรับท่านปุโรหิตาจารย์บ่ายหน้ามาตรงช่องนั้น
พอถึงเวลาเข้าเฝ้าท่านปุโรหิตาจารย์ก็นั่งตามที่จัดพระราชทานไว้ พระมหากษัตริย์ทรงเริ่มสนทนากับหมู่อำมาตย์ราชบริวาร ฝ่ายท่านปุโรหิตาจารย์ประสงค์จะไม่ให้โอกาสแก่คนอื่นพูดจึงเริ่มเผยปากขึ้นกราบทูล ทันใดนั้น บุรุษเตี้ยก็เริ่มดีดขี้แพะเข้าในปากของปุโรหิตนั้นทีละก้อน ๆ ตามช่องม่าน พอท่านปุโรหิตจะพูดก็ต้องหยุดกลืนขี้แพะเข้าไปก่อนแต่หารู้สึกตัวไม่ เป็นดังนี้เรื่อยไป
พอพระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าสิ้นขี้แพะทะนานหนึ่งแล้ว จึงตรัสแก่ท่านปุโรหิตว่าท่านกลืนขี้แพะเข้าไปทะนานหนึ่งแล้ว ท่านก็ยังไม่รู้สึกตัว เป็นเพราะท่านเป็นคนเจรจามากเกินไป บัดนี้ท่านไม่อาจจะให้ขี้แพะย่อยไปได้ ท่านจงไปดื่มน้ำใบประยงค์สำรอกออกมาเสียจึงจะไม่เป็นอันตราย
ฝ่ายปุโรหิตาจารย์ เมื่อได้สดับพระราชโองการดังนั้น ก็มีความอดสูแก่เสวกามาตย์ราชมนตรี แล้วได้ไปทำตามพระราชโองการ ต่อนั้นมาก็ไม่เจรจามากเหมือนเมื่อหนหลัง
พระมหากษัตริย์ก็ได้ความสบายพระราชหฤทัยสมพระราชประสงค์ จึงทรงพระราชทานบ้านส่วย ๔ ตำบล ซึ่งมีในทิศทั้ง ๔ แห่งราชธานีอันมีส่วยขึ้นปีละแสนตำลึงให้แก่บุรุษเตี้ยนั้น
ครั้งนั้นมีอำมาตย์ของพระเจ้าพาราณสีคนหนึ่งได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมุติเทวราช ขึ้นชื่อว่าศิลปะศาสตร์แล้วสมควรที่บุคคลจะศึกษาทุกประการ ดูแต่บุรุษเตี้ยซึ่งเพียงแต่ชำนาญในวิชาดีดกรวด ก็ยังได้รับพระราชทานถึงเพียงนี้ เมื่อกราบทูลดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า
" ศิลปะไม่ว่าชนิดใด ย่อมให้สำเร็จประโยชน์ทุกอย่าง ดูแต่บุรุษเตี้ยนี้เถิด ยังได้บ้านส่วยถึง ๔ ตำบล เพราะศิลปะดีดกรวดเท่านั้น ดังนี้ "
ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาโปรดประทานเทศนาเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
บุรุษเตี้ยในครั้งนั้น คือภิกษุผู้ดีดกรวดถูกตาหงส์นี้เอง
พระเจ้าพรหมทัต คือ อานนท์พุทธอนุชา
ส่วนอำมาตย์ผู้กล่าวคาถาสรรเสริญศิลปะนั้น คือเราตถาคตนี้แล ดังนี้