ฉบับที่ 70 สิงหาคม ปี 2551

ธรรมชาติการบรรลุธรรมของมนุษย์

พระธรรมเทศนา

         ส่วนประกอบของมนุษย์

         พวกเราเข้าวัดปฏิบัติธรรมกันมาพอสมควรแล้ว หลายท่านได้มีประสบการณ์ภายในขณะนั่งสมาธิ บางท่านก็เห็นแสงสว่าง บางท่านก็ได้ความสงบใจ ส่วนบางท่านก็อาจจะยังมืดอยู่ ประสบการณ์ภายในเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยตรงกับใจ เราอาจ มองไม่เห็น แต่การนั่งสมาธิของเราทำให้สัมผัสได้ว่ามีใจซ่อนอยู่ในตัว เท่ากับเป็นการบอกให้รู้ว่า ในเบื้องต้นนั้น
คนเราประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ
        ๑. กาย
        ๒. ใจ
        จากประสบการณ์ในการนั่งสมาธิของเรานี้เอง เป็นการยืนยันว่า"สมองไม่ใช่ใจ"สมองเป็นเพียงกล้ามเนื้อก้อนหนึ่งของร่างกาย ยิ่งกว่านั้นหัวใจก็ไม่ใช่ใจ ใจก็คือใจ ทั้งสมองทั้งหัวใจเป็นเพียงก้อนของกล้ามเนื้อที่เป็นเพียงอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้น เพราะฉะนั้น ใจไม่ใช่กาย และกายไม่ใช่ใจ

         การได้ข้อสรุปที่ชัดเจนอย่างนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในการทำสมาธิของแต่ละคนว่ามีมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีประสบการณ ์มากก็จะรู้จักใจของตัวเองมาก
         เราจะไม่เอาเรื่องผลการนั่งสมาธิมาเปรียบเทียบกันว่า  "คนที่นั่งสมาธิได้ดีแสดงว่าเขามีบุญมากกว่าเรา หรือว่าเขาฉลาดมากกว่าเรา  เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวกัน"
         ในสมัยพุทธกาลก็เคยมีปรากฏว่า พระภิกษุรูปหนึ่ง พี่ชายของท่านเป็นพระอรหันต์ ตัวท่านเองมาบวชอยู่กับพี่ชาย เมื่อบวชผ่านหลายพรรษา ก็เกิดจำอะไรไม่ได้ นั่งสมาธิก็ไม่ได้ เรียนธรรมะก็ไม่ได้ เพื่อนที่บวชรุ่นเดียวกันเขาบรรลุธรรมถึงขั้นเหาะได้ก็มีอยู่ไม่น้อย แม้สถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ แต่ท่านก็ไม่มีความคิดที่จะลาสิกขา อย่างมากก็รำคาญตัวเอง

           พระพี่ชายชื่อว่า มหาปันถก เป็นพระอรหันต์ แต่น้องชายชื่อว่า จุลปันถก กลับกลายเป็นพระที่จำอะไรไม่ได้ พระพี่ชายเห็นว่าน้องชายไม่อาจขจัดกิเลสได้ คิดว่าน้องชายไม่เหมาะกับชีวิตในทางธรรม จึงไล่ให้น้องชายไปลาสิกขา พระน้องชาย ไม่รู้จะทำอย่างไรจึงเดินไปร้องไห้เสียใจไป เพราะถึงแม้จะนั่งสมาธิไม่ก้าวหน้า เรียนธรรมะไม่รู้เรื่อง แต่ใจจะลาสิกขาก็ไม่มีแม้แต่นิดเดียว
            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบความจริงเข้า จึงเสด็จไปหา และตรัสถามท่านจุลปันถกว่า "ร้องไห้ทำไม"
ท่านจุลปันถกกราบทูลว่า "มาบวชเป็นพระ เรียนธรรมะเท่าไรก็จำอะไรไม่ได้ นั่งสมาธิก็ไม่เห็นผล พระพี่ชายจึงไล่ให้ไปลาสิกขาเสีย"
            พระพุทธองค์ทรงให้กำลังใจดีเหลือเกิน ท่านตรัสว่า "เธอบวชถวายชีวิตให้กับพี่ชายของเธอ หรือบวชถวายชีวิตให้กับตถาคต"
             ท่านจุลปันถกตอบทันทีว่า "บวชถวายชีวิตกับพระพุทธองค์" จึงได้คิดว่าการบวชไม่ได้เกิดด้วย พระพี่ชายของตน แต่บวชเพื่อพระศาสนาของ พระศาสดาต่างหาก
             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า "ในเมื่อไม่ได้บวชถวายชีวิตให้พี่ชาย แต่บวชถวายชีวิตให้ตถาคต ก็จงตั้งใจฝึกฝนต่อไป ไม่ต้องลาสิกขา"
              พอท่านจุลปันถกรู้ว่าไม่ต้องลาสิกขาเท่านั้น กำลังใจที่ตกลงไป ก็ฟูขึ้นมา กลับกลายเป็นใจที่มีแต่ความปีติยินดีขึ้นมาแทน แล้วพระองค์ก็ทรงแนะวิธีทำสมาธิให้ใหม่เป็นวิธีที่ไม่ต้องท่องจำอะไร อีกทั้งง่ายและเหมาะสมสำหรับท่าน พระพุทธองค์ทรงประทานผ้าขาวมาให้ท่านผืนหนึ่ง แล้วตรัสสอน ให้พิจารณาผ้าขาวว่า "เธอจงลูบมือด้วยผ้าขาวผืนนี้ แล้วเธอจงพิจารณาว่าผ้าขาวผืนนี้จะเปลี่ยนเป็นอย่างไร" ท่านจุลปันถกทำตามที่พระพุทธองค์สอนทุกประการ    เดินไปก็ลูบผ้าไป พิจารณาผ้าไป พอเหงื่อออกตามตัวพักเดียว   จากผ้าสีขาวสะอาดก็มีรอยดำเปื้อนเกิดขึ้น ผ้าสีขาวก็หม่นหมองลงทันที
             ท่านจึงได้คิดว่า "ร่ายกายของมนุษย์นั้น ทั้งเนื้อทั้งตัวไม่มีส่วนไหนสะอาดเลย" แล้วท่านก็พิจารณาต่อไป จนกระทั่งเห็นว่า "ในตัวมนุษย์นั้นมีความไม่งามเป็นทุนเดิม ของแข็งที่ออกมาจากตัว ไม่ว่าจะเป็นขี้ไคล เป็นอุจจาระ ไม่มีสะอาดเลย กลิ่นที่ออกมาจากร่างกาย ก็มีแต่กลิ่นเหม็น เป็นของปฏิกูลทั้งสิ้น แม้แต่ของเหลวที่ออกจากร่ายกาย ไม่ว่าเหงื่อ น้ำลาย น้ำตา ปัสสาวะ ล้วนไม่สะอาดเลย"
              เมื่อท่านพิจารณาได้อย่างนี้ ใจพลันรวมนิ่งเป็นสมาธิที่ศูนย์กลางกาย พอใจเป็นสมาธิถูกส่วน ใจก็หยุด ใจก็นิ่ง ใจก็ใสสว่างบริสุทธิ์ไปตามลำดับๆ จนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์อยู่กลางทางนั่นเอง
              เหตุการณ์ลักษณะนี้ได้เคยมีเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลแล้ว การเข้าถึงธรรมช้าหรือเร็ว อยู่ที่การวางใจให้หยุดนิ่งถูกส่วน เราจะไม่เอามาเปรียบเทียบว่ามีบุญมากหรือน้อยกว่ากัน
              เพราะฉะนั้น เรื่องการทำสมาธิ ต้องยึดหลักการหยุดนิ่ง จนกระทั่งใจปลอดจากความคิดที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นสำคัญ ส่วนวิธีการทำให้ใจหยุดนิ่ง ก็ปรับกันไปตามความเหมาะสม ปรับตามสถานการณ์ และอัธยาศัยของแต่ละคน
             ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า มนุษย์มีองค์ประกอบ ๒ ส่วน คือ กาย กับใจ (Body and Mind) สมองและกล้ามเนื้อหัวใจไม่ใช่ใจ แต่เป็นกล้ามเนื้อที่เป็นส่วนหนึ่งของกาย นี่เป็นเรื่องที่หนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน

           ใจคืออะไร?

             เรื่องที่สองที่พวกเราต้องรู้ก็คือ "ใจคืออะไร"
             ทุกคนเคยเรียนวิชาเคมีมาแล้ว ซึ่งเรื่องหลักของวิชาเคมีก็คือ "ธาตุ" หรือ "Element"
             คำว่า ธาตุ ไม่ใช่ภาษาไทย แต่เป็นภาษาอินเดีย และเป็นภาษาบาลีด้วย
             ธาตุ ก็คือ ส่วนที่ย่อยที่สุด เล็กที่สุด ไม่สามารถจะย่อยต่อไปได้อีก จึงเรียกว่า ธาตุ
             ธาตุุมีอยู่ ๒ ฝ่าย คือ ธาตุหยาบ กับ ธาตุละเอียด
             ธาตุหยาบแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ
             ในทางธรรม โบราณาจารย์ท่านแบ่งธาตุหยาบ เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว เพราะใช้ในงานศึกษาธรรมะเพื่อให้เห็นความจริงของชีวิต และเกิดความเบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิด
             ในทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน เป็นการแบ่งเพื่อ ใช้งานด้านอุตสาหกรรม จึงแบ่งธาตุหยาบเป็น ๒ ประเภท คือ โลหะ และอโลหะ
             นอกจากนี้ยังแบ่งย่อยประเภทโลหะออกไปอีก เช่น ทองคำ (Au) ทองแดง (Cu) เงิน (Ag) เหล็ก (Fe) เป็นต้น การแบ่งธาตุแบบนี้เพื่อให้โรงงานต่างๆ ได้ใช้ในงานอุตสาหกรรมนั่นเอง
             แต่ในห้องทดลองทางการแพทย์ สนใจการแบ่งประเภทของอโลหะมากกว่า โดยขั้นต้นแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ แก๊ส (gas) กับ ของแข็ง (solid) โดยเฉพาะแก๊สได้แบ่งให้ละเอียดลงไปอีก เช่น ออกซิเจน ไฮโดรเจน เป็นต้น เพราะสามารถอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นภายในร่างกายได้อย่างชัดเจน
             ดังนั้น โดยสรุปการแบ่งธาตุในทางโลกกับทางธรรมจึงแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์การใช้งาน

             ในพุทธศาสนาแบ่งเพื่อใช้ในการสอนธรรมะให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งต่างๆ ในโลก นี้ จึงแบ่งธาตุหยาบออกเพียง ๔ ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟเป็นส่วนประกอบหยาบของร่างกาย เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว นี่คือวิธีแบ่งธาตุในพระพุทธศาสนา
             ส่วนธาตุละเอียด คือ ใจ เรียกว่า วิญญาณธาตุ
             วิญญาณ แปลว่า รู้ (ไม่ใช่ผีสางนางไม้)
             วิญญาณธาตุ คือ ธาตุรู้ ซึ่งมีอยู่ในตัวของแต่ละบุคคล และเพื่อทำให้เป็นคำที่เข้าใจง่าย
โบราณาจารย์จึงเรียกคำนี้ว่า ใจ นั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดจะต้องศึกษากันต่อไป

              เพราะฉะนั้น สรุปแล้ว ตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นประกอบด้วย "กาย" กับ "ใจ" เป็นพื้นฐาน สำคัญ
              กายประกอบด้วย ๔ ธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ
              ธาตุดิน คือ โลหะที่อยู่ในตัว เช่น เหล็ก ตะกั่ว แมกนีเซียม แคลเซียม เป็นต้น
              
ธาตุลม คือ ลมหายใจเข้า-ออกที่เข้าไปแทรกอยู่ในตัว แก๊สต่างๆ เป็นต้น
              ธาตุน้ำ คือ ของเหลวที่อยู่ในตัว เป็นต้น
              ธาตุไฟ คือ ความอบอุ่นที่มีอยู่ในตัว เป็นต้น

              ส่วนใจเป็นธาตุละเอียดที่มีความพิเศษ จะต้องศึกษากันอีกมาก จึงให้ชื่อว่า วิญญาณธาตุ ซึ่งความรู้เกี่ยวกับใจ เป็นธาตุพิเศษนี้ ศาสนาอื่น ยังศึกษาไปไม่ถึง นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันก็ยังศึกษาไปไม่ถึง แต่พุทธศาสนาเจาะลึกไปถึงแล้ว โดยโบราณาจารย์บอกไว้อย่างชัดเจนว่า วิญญาณธาตุ มีลักษณะและคุณสมบัติอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะศึกษาอย่างเจาะลึกในหัวข้อต่อไป
(ติดตามต่อฉบับหน้า)

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล