ฉบับที่ 117 กรกฎาคม ปี2555

วันพระ มีความเป็นมาอย่างไร?


วันพระ

มีความเป็นมาอย่างไร?


          วันพระ หมายถึง วันทบทวนความสมบูรณ์แห่งความเป็นพระ

          ในวันพระพระภิกษุสงฆ์จะไปประชุมพร้อมกันที่อุโบสถ เพื่อทบทวนศีล คือ ความบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ ของตนเอง เพื่อทบทวนปาติโมกข์ คือ สิกขาบทที่เป็นพระวินัย ๒๒๗ ข้อ

           แต่เดิมโดยเฉพาะในช่วงต้นของพุทธกาล ไม่มีการลงปาติโมกข์ในพระพุทธศาสนา เพราะผู้ที่เข้ามาบวชนั้น บารมีแก่กล้ากันเป็นส่วนมาก ท่านจึงสามารถเตือนตัวเองได้ ยิ่งในยุคเริ่มต้นพุทธกาลใหม่ ๆ ก็ไม่มีพระวินัยแม้แต่ข้อเดียว อยู่กันโดยขนบธรรมเนียมของนักบวช ต่อมาเมื่อมีกุลบุตรผู้มีศรัทธาเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนามากขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเรื่อง การลงปาติโมกข์ แม้ผู้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ถือว่าเป็นกิจของหมู่สงฆ์ที่จะต้องลงปาติโมกข์ เพื่อเป็น แบบอย่างที่ดีให้กับพระรุ่นหลัง ๆ ให้เข้มงวดกวดขันตนเอง

          เหตุที่เริ่มมีการลงปาติโมกข์ในพระพุทธศาสนานั้น วันหนึ่งพระเจ้าพิมพิสาร (กษัตริย์ผู้ครอง แคว้นมคธ ผู้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล) ได้ทรงปรารภกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า นักบวชประเภทปริพาชกและนักบวชประเภทต่าง ๆ อีกหลายประเภทในอินเดีย มีธรรมเนียมว่า ในวัน ๑๕ ค่ำ ข้างขึ้น ข้างแรม เขาจะมาประชุมกัน แล้วก็ให้โอวาทแก่นักบวชของเขาด้วย ทำให้ นักบวชของเขามีความเคร่งครัด มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความไม่ระแวงซึ่งกันและกัน ว่าใครจะประพฤติตัวยิ่งหย่อนกว่ากันอย่างไร เพราะได้เห็นหน้ากันอยู่ทุก ๆ ๑๕ วัน สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของนักบวชหมู่นั้น ๆ คณะนั้น ๆ

          ความสำคัญของการประชุมรวม

          ถ้าพิจารณาโดยหลักธรรม ก็จะพบความจำเป็นในการประชุมทุก ๑๕ วัน ว่า

          ประการที่ ๑ ทำให้มี "ทิฏฐิสามัญญตา" และ "สีลสามัญญตา" เกิดขึ้นในหมู่คณะ คือ มีทิฏฐิ (ความคิดเห็น) เสมอกัน และมีศีล (ความบริสุทธิ์) เสมอกัน ทำให้หมดความกินแหนงแคลงใจกัน แล้วก็ช่วยกันประคับประคองหมู่คณะให้สมกับที่สละชีวิตมาบวชกัน แม้หลักธรรมที่นักบวชเหล่านั้นใช้นับถือปฏิบัติ อาจจะไม่ค่อยมีความลึกซึ้งนัก แต่เพราะอาศัยการประชุมพร้อมเพรียงกันทุก ๑๕ วันนี้ ทำให้หมู่คณะของเขามั่นคงเป็นหนึ่งเดียว
ประการที่ ๒ สมาชิกของเขาที่ยังครองเรือน ก็ตั้งใจมาฟังครูบาอาจารย์ของเขา มาฟังนักบวชที่เขาเคารพนับถือ ให้โอวาท ให้การอบรม สมาชิกก็เพิ่มขึ้นมาตามลำดับ ๆ นับเป็นการเผยแผ่ เป็นการขยายงานไปสู่สมาชิกใหม่ ๆ ไปโดยปริยาย

          ทำไมต้องประชุมทุก ๑๕ วัน

          มีคำถามเกิดขึ้นว่า ทำไมจึงต้องประชุมในวัน ๑๕ ค่ำ ด้วย

          เหตุผลนั้นเป็นเหตุผลตามธรรมชาติ นั่นคือ ใครก็ตามถึงแม้จะมีสติปัญญามากมายเพียงไร เมื่อได้ฟังคำเทศน์ ฟังคำสอนของครูบาอาจารย์แล้ว ไม่ว่าเขาจะรักเคารพครูบาอาจารย์ของเขามากเพียงใด มีความซาบซึ้งในหลักธรรมมากน้อยแค่ไหน แต่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ว่า หลังจาก ได้รับการอบรม การชี้แนะไปแล้ว พอผ่านไป ๑๕ วัน ความสามารถในการจดจำของเขา ความขวนขวายที่จะประกอบความเพียร จะค่อย ๆ หย่อนลงไปเรื่อย ๆ พอครบ ๑๕ วัน เท่านั้น ก็ลืม สนิทเลย เพราะฉะนั้น ทุก ๆ ๑๕ วัน ก็จะต้องมีการทบทวนกันสักครั้งหนึ่งเป็นอย่างน้อย

          สำหรับในเมืองไทยเรา เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาแล้ว บรรพบุรุษของไทยท่านพิจารณาว่า การทิ้งห่างในระยะเวลา ๑๕ วัน แล้วมาทบทวนรวดเดียวนั้นยาวไป

          การทิ้งห่าง ๑๕ วัน สำหรับนักบวช ก็ชักจะล้า ๆ ต้องมาทบทวนกันที แต่สำหรับชาวบ้านนั้น ถ้าทิ้งห่าง ๗-๘ วัน ความเพียรก็ล้า ความจำก็เลือนแล้ว คำสอนคำเตือนต่าง ๆ ก็ลืมหมดแล้ว

          ปู่ย่าตาทวดของไทยจึงนำมาซอยจาก ๑๕ วัน ให้กลายเป็นทุก ๆ ๗ วัน โดยกำหนดวัน ๘ ค่ำ เข้ามาใส่ตรงกลาง เพราะฉะนั้น จึงเกิดวันพระเล็กขึ้นมาในบ้านเมืองไทยของเรา

          ทำไมต้องประชุมในวันเดือนหงายกับวันเดือนมืด

          คำถามต่อมา ทำไมต้องเลือกเอาวันเดือนหงาย (คำเรียกคืนที่ดวงจันทร์ส่องแสงสว่างมาก โดยปกติหมายถึงคืนที่มีพระจันทร์เต็มดวง) เดือนมืดด้วย (หมายถึงคืนที่มองไม่เห็นดวงจันทร์)

          ความมุ่งหมายจริง ๆ นั้น มุ่งเอาที่คืนเดือนหงาย เพราะบรรยากาศของคืนเดือนหงาย เหมาะต่อการฟังเทศน์ เหมาะต่อการอบรมจิตใจ แต่ว่าช่วงระยะเวลาระหว่างเดือนหงาย ๓๐ วัน นั้นนานไป จึงแบ่งครึ่งช่วงเวลาออกเป็นวันที่เดือนเต็มดวงกับวันที่เดือนดับเต็มที่

          คืนเดือนหงายมีบรรยากาศที่เหมาะแก่การฟังธรรมดีเหลือเกิน เพราะเห็นหน้าเห็นตากันชัด ท้องฟ้าแจ่มใส ให้โอวาทกันท่ามกลางแสงจันทร์

          คืนเดือนมืดมองหน้ากันไม่ถนัด ก็นั่งหลับตาภาวนาร่วมกันไป เป็นการเทศน์เหมือนกัน แต่ว่าเป็นการเทศน์ในสมาธิ ผู้เทศน์ก็หลับตาเทศน์ คนฟังก็หลับตาฟัง ทำสมาธิไปด้วย เกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติขึ้นมา

          ธรรมเนียมนี้ เป็นธรรมเนียมของนักปราชญ์บัณฑิตตั้งแต่ก่อนพุทธกาลมาแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นความฉลาดของคนยุคโน้น ที่รู้จักใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ทำให้เขาประคับประคองหมู่คณะ มาได้ เพิ่มความเข้มแข็งให้หมู่คณะได้ นักปราชญ์บัณฑิตตั้งแต่อดีตเขาทำกันอย่างนี้มาทุกยุคทุกสมัย

          หลวงพ่อเคยไปเยือนอินเดียหลายครั้ง ก็พบว่าธรรมเนียมนี้นักบวชอื่นเขาก็ยังทำกันอยู่

          การประชุมทุกวันพระ ทำให้แต่ละนิกายยังเก็บรักษาคำสอนหลักในพระพุทธศาสนาได้ครบ

          ในพระพุทธศาสนาเอง แม้ผ่านมา ๒,๖๐๐ ปี แล้ว และมีการแยกเป็นนิกายโน้นนิกายนี้บ้าง แต่ว่าศีล ๒๒๗ ข้อ ยังอยู่ อริยมรรคมีองค์ ๘ ยังอยู่ อริยสัจ ๔ ยังอยู่ แม้เรื่องอื่นแผ่วไป แต่เรื่องสำคัญเหล่านี้ยังอยู่ในพระพุทธศาสนา นิกายต่าง ๆ ยังเก็บรักษาไว้ได้ดีเกือบทั่วโลก

          ทำไมจึงยังเก็บรักษาไว้ได้?

          นั่นก็เพราะทุก ๆ ๑๕ วัน พระภิกษุสงฆ์พร้อมใจกันลงปาติโมกข์ ทบทวนความสมบูรณ์แห่งความเป็นพระ ศีล ๒๒๗ ยังอยู่ ตราบใดที่ยังรักษาวันปาติโมกข์เอาไว้ได้ พระพุทธศาสนาก็ยังมีอนาคตอีกยาวไกล

          วันพระ จึงเป็นหน้าที่ของพระภิกษุที่จะต้องช่วยกันรักษาสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เอาไว้ให้ดี เพราะเป็นที่มาของสีลสามัญญตา ไปทบทวนความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของศีล เป็นการ ปรับทิฏฐิสามัญญตาให้ตรงกัน ทำให้หมู่คณะไปรอด ส่วนพุทธศาสนิกชนก็ได้ใช้วันเวลานี้ เข้าวัด ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญบุญกันสืบมา

          ในยุคนี้ เมื่อวันพระมิใช่วันหยุดการงาน ญาติโยมฝ่ายคฤหัสถ์ยังต้องประกอบหน้าที่การงาน ทำมาหาเลี้ยงชีพ มีโอกาสสั่งสมบุญเพียงช่วงเวลาเล็กน้อย เวลาเช้าก่อนไปทำงาน ก็เตรียมข้าวปลาอาหารอย่างประณีต เตรียมตั้งใจมาถวายพระ ถวายสามเณรเป็นอย่างดี ซึ่งแต่ละรูปก็ล้วนตั้งใจฝึกหัดขัดเกลาตัวเอง ตั้งใจมาเป็นอายุพระศาสนา ด้วยความเพียรของญาติโยมที่จะสร้างบุญ เอาไว้เป็นที่พึ่งของตนอย่างนี้ แม้มีเวลาไม่มากพอจะอยู่ฟังเทศน์ฟังธรรมได้นาน ก่อนจะกลับควรจะได้นั่งสมาธิก่อน เมื่อนั่งสมาธิแล้ว เมื่อใจเป็นกลางแล้ว ก็จะเห็นตัวเองได้ชัดเจนว่า เรามีความประพฤติดีหรือไม่ดีตรงไหน ที่ไม่ดีเมื่อรู้ตัวก็จะได้แก้ไข ที่ดีแล้วก็จะได้ทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

          ญาติโยมเมื่อเข้ามาวัด แม้ไม่ได้ฟังเทศน์ แต่ได้เห็นพระภิกษุ เห็นสามเณร อยู่ในอาการสำรวม ทั้งการนุ่ง การห่ม ทั้งอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง สำรวมอยู่ในวินัย และยิ่งได้เจอความสะอาดของวัด ข้าวของทุกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ความเขียวสดชื่นร่มรื่นของหมู่แมกไม้ สิ่งแวดล้อมที่ดี ภายในวัด ก็พอที่จะทำให้เขาเหล่านั้นได้คิดอะไรขึ้นบ้าง ได้เห็นตัวอย่างแล้วเอาไปทำเป็นประโยชน์ ต่อตัวเขาบ้าง กลายเป็นเหตุน้อมนำให้เขาเกิดความรู้สึก ที่อยากจะมาปฏิบัติธรรมที่วัดให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปในวันหยุด หรือวันพระที่ตรงกับวันหยุด

          เช่นนี้แล้ว วันพระก็จะเป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัทสี่ ทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ก็จะได้ทบทวนศีลของตน และปรับทิฏฐิสามัญญตาของตนให้เสมอกันทั้งหมู่คณะ เสาหลักทั้ง ๔ เสา ที่ค้ำจุนพระพุทธศาสนา ก็จะยังคงแข็งแรง เข้มแข็ง มั่นคง ช่วยกันธำรงรักษาพระพุทธศาสนา ไว้ให้เป็นที่พึ่งแก่มนุษยชาติต่อไปได้อีกนานแสนนาน

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล