ฉบับที่ 100 กุมภาพันธ์ ปี2554

"วิวัฒนาการการสร้างวัด" ตอนที่ ๔

พระธรรมเทศนา



"วิวัฒนาการการสร้างวัด"

เรียบเรียงจากโอวาทพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

ตอนที่ ๔

วัดป่ามาติกคามสังฆารามเพื่อการบรรลุอรหัตผล

         พระภิกษุ ๖๐ รูป หลังจากเรียนกรรมฐานจากสำนักของพระบรมศาสดาแล้ว ก็พากันตระหนักว่า การจะติดตามรอยบาทของพระบรมศาสดาได้นั้น มิสามารถกระทำได้ด้วยการเดินตามพระพุทธองค์ไปทุกที่ทุกสถาน แต่จะติดตามไปได้ด้วยการบำเพ็ญภาวนา จนกระทั่งบรรลุเป็นพระอรหันต์ จึงตัดสินใจเดินทางไปแสวงหาวัดป่าในชนบทเพื่อจำพรรษา (การบำเพ็ญเพียรในป่าตามลำพัง พระบรมศาสดาจะทรงอนุญาตให้ไปได้ ก็ต่อเมื่อภิกษุรูปนั้นได้บรรลุปฐมฌานเป็นอย่างน้อย)

         ในบริเวณป่าใกล้เชิงเขาของแคว้นโกศลนั้น มีหมู่บ้านชื่อมาติกคาม เมื่อพระภิกษุ ทั้ง ๖๐ รูป เดินทางไปถึงที่นั่น มหาอุบาสิกาชื่อว่า "มาติกามาตา" ผู้เป็นมารดาของหัวหน้าหมู่บ้านนั้น เห็นหมู่สงฆ์แล้วเกิดศรัทธาเปี่ยมล้น ได้กล่าวอาราธนาให้คณะสงฆ์อยู่จำพรรษา ที่นั่น และประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ยินดีรับพระรัตนตรัยเป็นสรณะ รับศีล ๕ ในวันธรรมดา รับศีล ๘ ในวันอุโบสถ และดูแลอุปัฏฐากด้วยปัจจัย ๔ พร้อมกับชาวบ้านตลอด พรรษา

         พระภิกษุทั้ง ๖๐ รูปปรึกษากันว่า เมื่ออาศัยมหาอุบาสิกานี้ จะไม่ลำบากด้วยภิกษา (อาหาร) และจะสลัดตนออกจากภพได้ จึงตอบรับคำนิมนต์ มหาอุบาสิกามีจิตศรัทธาปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำความสะอาดวิหารที่มีอยู่ก่อนนั้นแล้ว หลังจากนั้นก็ถวายเป็นสังฆาราม สำหรับการอยู่จำพรรษาของคณะสงฆ์ในวันนั้นทันที วิหารแห่งนั้นจึงกลายเป็นวัดป่าประจำหมู่บ้านไปโดยปริยาย

         เมื่อมหาอุบาสิกากลับไปแล้ว พระภิกษุทั้ง ๖๐ รูป ก็ตกลงกันว่า พวกเราจะแยกย้ายกันปลีกวิเวกในป่าตามลำพัง ไม่มีการสนทนาพูดคุยกัน และจะมาประชุมกันเฉพาะเวลาบำรุงพระเถระ ในตอนเย็นและเวลาบิณฑบาตในตอนเช้า หากมีกิจธุระนอกจากนั้น ให้ตีระฆังเรียกประชุมในท่ามกลางวิหาร เมื่อตกลงกันเป็นเอกฉันท์แล้ว ก็แยกย้ายกันไปบำเพ็ญภาวนาในป่าตามอัธยาศัย

         วันหนึ่งในเวลาเย็น มหาอุบาสิกาถือเภสัชทั้งหลาย มีเนยใสและน้ำอ้อย เป็นต้น เดินทางมาที่วัดป่านั้นพร้อมกับทาสบริวาร และผู้คนในหมู่บ้านที่แวดล้อมกันมาเป็นอันมาก แต่เมื่อมาถึงแล้วกลับไม่พบคณะสงฆ์อยู่ที่นั่น จึงสอบถามพวกบุรุษ เมื่อทราบกติกาของคณะสงฆ์นั้นแล้ว ก็ให้บริวารตีระฆัง พระภิกษุแต่ละรูปเข้าใจว่ามีเหตุอันตรายเกิดขึ้น จึงรีบออกมาจากที่บำเพ็ญเพียรของตน

         มหาอุบาสิกาเข้าใจว่า คณะสงฆ์แตกแยกต่างคนต่างอยู่ จึงสอบถามว่าทะเลาะเบาะแว้งกันด้วยเหตุอันใด แต่เมื่อสอบถามแล้ว จึงได้ทราบความว่า คณะสงฆ์มิได้แตกแยก แต่แยกย้ายกันเจริญสมณธรรม ด้วยการพิจารณาความไม่งามของร่างกาย เรียกว่า "อาการ ๓๒" นางจึงขอเรียนสมณธรรมนั้นบ้าง พระภิกษุจึงให้นางเรียนวิธีบริกรรมภาวนาด้วยอาการ ๓๒ อย่างครบถ้วน

         จำเดิมนับตั้งแต่นั้น มหาอุบาสิกาก็ตั้งใจบำเพ็ญภาวนาตามที่เรียนมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตั้งจิตอยู่ในความสิ้นไป และความเสื่อมไปของตนตลอดต่อเนื่องทั้งวัน ไม่นานนักก็เป็นผู้มีกิเลสเบาบางใกล้หมดสิ้น คือบรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔ และโลกิยอภิญญา ซึ่งเป็นการบรรลุโลกุตรธรรมก่อนพระภิกษุทั้ง ๖๐ รูป

         หลังจากนั้น มหาอุบาสิกาได้ออกจากสุขในฌานที่ทำให้เป็นพระอนาคามี ตรวจดูด้วย ทิพยจักษุว่า คณะสงฆ์ทั้ง ๖๐ รูป บรรลุคุณวิเศษใดบ้างหรือไม่ หรือมีอุปนิสัยแห่งอรหัตผล บ้างหรือไม่ ก็พบว่ามีอยู่ จึงตรวจดูต่อไปว่า ยังมีสิ่งใดขาดตกบกพร่องในการอุปัฏฐากบ้าง หรือไม่ ก็พบว่าอาวาสเป็นที่สบายแล้ว ขาดแต่อาหารยังไม่เป็นที่สบาย จึงไม่อาจยังจิตให้บรรลุถึงแก่ความสิ้นอาสวะได้ ทั้ง ๆ ที่การบำเพ็ญเพียรมีอยู่ตลอดเวลากลางวันและกลางคืน

         มหาอุบาสิการู้วาระจิตของพระภิกษุทั้ง ๖๐ รูปแล้ว จึงนำอาหารที่พระภิกษุต้องการ มาอุปัฏฐากให้อาหารเป็นที่สบาย ด้วยการถวายข้าวยาคู และอาหารเลิศรสต่างๆ ให้ถึงพร้อมทุกประการ พร้อมทั้งกล่าวเชิญชวนให้บริโภคตามความชอบใจ เมื่อพระภิกษุเหล่านั้น ได้อาหารเป็นที่สบายแล้ว จิตก็มีธรรมชาติเป็นอารมณ์เดียว การบำเพ็ญเพียรก็ก้าวหน้าไปตามลำดับอย่างรวดเร็ว ในที่สุดก็สิ้นกิเลสอาสวะ บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

         พระภิกษุอรหันต์ทั้ง ๖๐ รูป ต่างรู้สึกขอบคุณในมหาอุบาสิกายิ่งนัก เพราะหากไม่ได้อาหารเป็นที่สบายแล้ว การแทงตลอดในมรรคผลย่อมไม่บังเกิดขึ้น จึงตัดสินใจอยู่เป็นเนื้อนาบุญให้มหาอุบาสิกาและชาวหมู่บ้านที่นั่นจนครบพรรษา ผ่านพ้นวันปวารณาแล้ว อำลามหาอุบาสิกาแล้ว ก็เดินทางกลับไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่วัดเชตวนาราม เมืองสาวัตถี

         พระบรมศาสดาตรัสถามสุขทุกข์ของพระภิกษุทั้ง ๖๐ รูปแล้ว ก็ได้รับการกราบทูลว่า ความเป็นอยู่ที่วัดป่ามาติกคามมิได้ลำบากด้วยบิณฑบาตแม้แต่วันเดียว ด้วยเพราะได้อาศัยมหาอุบาสิกาชื่อ มาติกามาตา ผู้เป็นมารดาของหัวหน้าหมู่บ้าน ให้การอุปัฏฐากดูแล ตลอดทั้งพรรษา ด้วยอำนาจแห่งการหยั่งรู้วาระจิต จึงได้ถวายอาหารเป็นที่สบาย ยังผลให้จิตหยุดนิ่งเป็นอารมณ์เดียว บรรลุธรรมาพิสมัยตามรอยบาทของพระพุทธองค์ไปได้สำเร็จ

         เมื่อพระภิกษุรูปอื่นได้ทราบข่าวนั้นแล้ว หลังจากเรียนกรรมฐานจากพระบรมศาสดาแล้ว ก็กราบทูลลาไปบำเพ็ญเพียรที่วัดป่าแห่งนั้น เมื่อไปถึงที่นั่น ภิกษุรูปหนึ่งก็นึกถึง คำร่ำลือเรื่องการหยั่งรู้วาระจิตของมหาอุบาสิกา จึงคิดในใจว่า "วันนี้เราเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางยิ่งนัก หากอุบาสิกานี้ส่งคนมาช่วยกวาดทำความสะอาดวิหารก็จะเป็นการดี" มหาอุบาสิกาทราบวาระจิตนั้นแล้ว ก็ส่งคนไปทำความสะอาดตามความดำริของภิกษุรูปนั้น

         ส่วนพระภิกษุอีกรูปหนึ่งมีความกระหายอยากจะดื่มน้ำ ก็นึกในใจว่า "หากได้น้ำละลายน้ำตาลกรวดก็จะเป็นการดี" มหาอุบาสิกาทราบวาระจิตนั้นแล้ว ก็ได้ส่งให้คนนำน้ำ นั้นไปให้ เมื่อพระภิกษุรูปนั้นดื่มน้ำแล้ว ก็คิดว่า ถ้าพรุ่งนี้ได้ฉันข้าวยาคูในตอนเช้าก็จะเป็นการดี" พอวันรุ่งขึ้น มหาอุบาสิกาก็ส่งคนให้นำข้าวยาคูไปถวาย หลังจากดื่มข้าวยาคูแล้ว ก็คิดว่า "หากได้ของขบเคี้ยวก็จะเป็นการดี" มหาอุบาสิการู้วาระจิตนั้นแล้ว ก็ส่งคนให้นำของขบเคี้ยวไปถวายอีก ภิกษุรูปนั้นได้ของขบเคี้ยวแล้ว ก็ยังไม่หายสงสัย คิดอีกว่า "หากโยมอุบาสิกานำโภชนาหารเลิศรสมาถวายด้วยตัวเองก็จะเป็นการดี" มหาอุบาสิกาทราบ ความประสงค์ของพระภิกษุผู้เป็นเสมือนบุตรของตนนั้นแล้ว ก็สั่งให้บริวารถือโภชนาหารไปยังวิหาร จากนั้นก็ถวายโภชนาหารเลิศรสนั้นด้วยมือของตัวเอง

         ภิกษุรูปนั้นขบฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ก็ยังไม่สิ้นสงสัย จึงสอบถามว่า "มหาอุบาสิกา ท่านทราบวาระจิตของเราหรือ" มาติกามาตามิได้กล่าวแสดงคุณวิเศษของตนโดยตรง กลับกล่าวด้วยถ้อยคำถ่อมตนว่า"ธรรมดาผู้คนทั้งหลายที่รู้วาระจิตของผู้อื่น ย่อมทำอย่างนั้นได้"

         เมื่อภิกษุรูปนั้นได้ยินเช่นนั้น ก็คิดขึ้นว่า "ธรรมดาปุถุชนเช่นเรา ย่อมมีจิตเผลอไผล คิดถึงอารมณ์อันไม่งามบ้าง หากจิตของเราคิดในเรื่องที่ไม่สมควร อุบาสิกานี้ก็จะล่วงรู้ เราย่อมตกอยู่ในสภาพเหมือนดั่งโจรที่ถูกจับกระชากมวยผม พร้อมด้วยของกลาง เราควรหนีไปจากที่นี้ดีกว่า" เมื่อคิดเช่นนั้น ก็กล่าวลามหาอุบาสิกาออกจากวัดป่าแห่งนั้นทันที

         ภิกษุรูปนั้นเมื่อกลับถึงวัดเชตวนารามแล้ว ก็เข้าไปกราบพระบรมศาสดา ภิกษุ รูปนั้นกราบทูลเล่าถึงความเป็นผู้หยั่งรู้วาระจิต ของมหาอุบาสิกาทุกประการ และสารภาพ อย่างตรงไปตรงมาว่าตนไม่อาจอยู่ในที่นั้นได้ พระบรมศาสดาจึงทรงแนะนำว่า "การฝึกจิต ที่ข่มได้ยาก เป็นธรรมชาติเร็ว มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่ ย่อมเป็นการดี เพราะจิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำสุขมาให้" จากนั้นก็ทรงให้กำลังใจ และส่งภิกษุรูปนั้นกลับไปบำเพ็ญเพียรยังหมู่บ้านนั้นอีกครั้ง

         ภิกษุรูปนั้นก็เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาอย่างเคร่งครัด ตามรักษาจิตไว้ภายใน ไม่ยอมเปิดช่องให้ความคิดแบบฆราวาสวิสัยแทรกซึมเข้ามาได้ ฝ่ายมหาอุบาสิกาหยั่งรู้วาระจิตนั้นแล้ว ก็รู้ว่าภิกษุผู้บุตรของตนตามรักษาจิตอยู่ในโอวาทของพระบรมศาสดา จึงตั้งใจอุปัฏฐากด้วยอาหารเลิศรสให้เป็นที่สบาย ผ่านระยะเวลาไปเพียง ๒-๓ วัน เท่านั้น พระภิกษุรูปนั้นก็บรรลุอรหัตผลที่วัดป่าแห่งนั้น นับเป็นวัดป่าที่มีพระอรหันต์บังเกิดขึ้น อีกรูปหนึ่ง ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

         ดังนั้น ด้วยการอาศัยเหตุ ๒ ประการ ได้แก่ หนึ่ง คือ กำลังศรัทธาของชาวหมู่บ้าน มาติกคาม ที่ช่วยกันดูแลรักษาสังฆารามให้ยังคงสภาพความเป็นวัดป่าที่น่ารื่นรมย์เหมาะแก่ การบำเพ็ญเพียรอยู่เสมอ

         สอง คือ อาศัยการอุปัฏฐากด้วยอาหารเป็นที่สบายของมาติกามาตา มหาอุบาสิกาผู้หยั่งรู้วาระจิตของภิกษุ

         นับจากนั้นเป็นต้นมา วัดป่ามาติกคามจึงกลายเป็น "สังฆาราม แห่งการผลิต พระอรหันต์" ให้บังเกิดขึ้นในโลกนี้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนกลายเป็นตำนานที่เล่าขาน กันมาถึงยุคนี้ และมาติกามาตาก็เป็นต้นแบบของมหาอุบาสิกา ผู้อุปการะพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองด้วย "พระอริยสงฆ์" อย่างแท้จริง

         สรุป
         การกำเนิดของการศึกษาเรื่องวิวัฒนาการของการสร้างวัดในยุคพุทธกาล ได้สะท้อนให้ ชาวพุทธยุคปัจจุบันได้เห็นว่า วัดทั้งสามประเภท ได้แก่ วัดเพื่อการเผยแผ่ วัดเพื่อการศึกษา วัดเพื่อการบรรลุธรรม ล้วนต้องพึ่งพาอาศัยอุปการะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน พระพุทธศาสนาจึงจะมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงเป็นหนึ่งเดียวกัน วัดย่อมไม่ร้างจากพระ ญาติโยมย่อมไม่ร้าง จากการทำบุญ โลกย่อมไม่ร้างจากพระอรหันต์ นี่คือ "สามประสานแห่งความมั่นคงของพระพุทธศาสนา" ที่ชาวพุทธทุกยุคทุกสมัยต้องการอย่างแท้จริง โดยไม่อาจขาดวัดใดวัดหนึ่งไปได้เลย แม้แต่ประเภทเดียว

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล