ฉบับที่ 113 มีนาคม ปี2555

กำเนิดผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

เรื่องจากปก

เรื่อง : สิขีแก้ว






กำเนิดผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

        พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หรือ หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชชา ธรรมกาย มีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อ วันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๒๗ ณ บ้านสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่สองของนายเงินและนางสุดใจ มีแก้วน้อย

        ในวัยเด็ก ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนจนสามารถอ่านเขียนทั้งหนังสือไทยและขอมได้คล่องแคล่ว เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ท่านก็กลับมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าข้าว จนอายุได้ ๑๔ ปีเศษ บิดาถึงแก่กรรม ท่านเป็นลูกชายคนโตจึงต้องหาเลี้ยงครอบครัวแทนบิดา

        เมื่ออายุได้ ๑๙ ปีเศษ ท่านเกิดความสังเวชว่า การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบาก บิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมีก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใคร นับหน้าถือตา เข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอาย ไม่เทียมหน้าเขา บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกัน จนถึงบิดาเราและตัวเราในบัดนี้ก็คงทำอยู่อย่างนี้ ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายหมดแล้ว แม้เราก็จักตายเหมือนกัน ท่านคิดแล้วก็อยากออกบวช เพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ จึงจุดธูปบูชาพระและอธิษฐานว่า ขออย่าให้เราตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวช ถ้าบวชแล้วไม่สึกจนตลอดชีวิต

        ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ขณะมีอายุได้ ๒๒ ปี ท่านได้บรรพชาอุปสมบท ณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ฉายาว่า จนฺทสโร นับแต่วันแรกที่บวช ท่านก็เริ่มฝึกธรรมปฏิบัติทุกวันตลอดมา ควบคู่ไปกับการเรียนคันถธุระ

        ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง ๗ เดือนเศษ จากนั้นเดินทางไปจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ กรุงเทพฯ ศึกษาความรู้ในพระไตรปิฎกอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ เป็นเวลาถึง ๑๑ พรรษา จนเชี่ยวชาญภาษาบาลี จากนั้นจึงตั้งใจเรียนวิปัสสนาธุระให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป โดยศึกษาธรรมปฏิบัติจากพระอาจารย์หลายท่าน และศึกษาวิธีการปฏิบัติเพิ่มเติมด้วยตนเองจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค

ค้นพบวิชชาธรรมกาย

        ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ย่างเข้าพรรษาที่ ๑๒ ท่านเดินทางไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดโบสถ์ (บน) ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

        ในวันเพ็ญเดือน ๑๐ ระหว่างกลางพรรษาที่ ๑๒ เวลาเช้าตรู่ก่อนออกบิณฑบาต ท่านระลึกขึ้นมาว่า เราบวชมานานนับได้ ๑๒ พรรษา แล้ว ยังไม่บรรลุธรรมของพระพุทธเจ้าเลย ทั้งที่ การศึกษาของเราก็ไม่เคยขาดสักวัน เราควรจะ รีบกระทำความเพียรให้รู้เห็นของจริงในพระพุทธ-ศาสนา หากไม่เริ่มปฏิบัติก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ตกอยู่ในความประมาท

        หลังฉันภัตตาหารเช้า ท่านจึงเดินเข้าสู่อุโบสถเพื่อปฏิบัติธรรม โดยตั้งปณิธานในใจว่า หากไม่ได้ยินกลองเพลก็จะยังไม่ลุกขึ้นจากที่ ท่านหลับตาภาวนา สัมมา อะระหัง จนกระทั่งใจหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ความปวดเมื่อยทั้งหลายมลายหายไปหมด พอดีกลองเพลดังกังวานขึ้น

        เย็นวันนั้น หลังจากลงพระปาติโมกข์แล้ว ท่านก็เข้าไปในอุโบสถ เพื่อปรารภความเพียร ท่านหวนคิดถึงเมื่อครั้งอายุ ๑๙ ปี ที่ปฏิญาณตนบวชจนตาย บัดนี้เวลาผ่านมาถึง ๑๕ ปี ก็ยังไม่ได้บรรลุธรรมที่พระพุทธองค์ทรงรู้เห็นเลย ท่าน จึงตั้งสัจจาธิษฐานทำสมาธิภาวนาอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันว่า ถ้าเรานั่งลงไปครั้งนี้ไม่เห็นธรรม ที่พระพุทธเจ้าต้องการ เป็นอันไม่ลุกจากที่นี้ จนหมดชีวิต

        จากนั้นก็นั่งเจริญสมาธิภาวนา เวลา ผ่านไปประมาณครึ่งค่อนคืน ใจหยุดสงบนิ่งที่ศูนย์กลางกายได้ส่วนพอดี ดวงกลมโตใสบริสุทธิ์ที่ศูนย์กลางกายที่เห็นเมื่อเพลยิ่งใสสว่างมากขึ้นราวกระจกเงา ใหญ่ขนาดเท่าดวงอาทิตย์ เห็นอยู่อย่างนั้นหลายชั่วโมงโดยไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไป

        ขณะนั้นมีเสียงหนึ่งผุดขึ้นมาจากกลางดวงนั้นว่า มัชฌิมา ปฏิปทา ทางสายกลางไม่ตึงนักไม่หย่อนนักในความหมายของปริยัติ ขณะเดียวกันที่ศูนย์กลางกายดวงกลมใสสว่างนั้น ปรากฏมีจุดเล็กเรืองแสงสว่างวาบขึ้นมา ท่านคิดว่า นี่กระมังทางสายกลาง ท่านจึงมองไปที่จุดนั้นทันที จุดนั้นค่อย ๆ ขยายโตขึ้นมาแทนที่ดวงเก่าซึ่งหายไป ท่านมองเข้ากลางจุดเล็กที่อยู่กลาง ดวงใสเรื่อยไป ก็เห็นดวงใหม่ที่สุกใสยิ่งกว่าลอย ขึ้นมา ท่านเข้ากลางดวงใหม่ที่ลอยขึ้นมาแทนที่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายไปเรื่อย ๆ ในที่สุดจึงเห็นกายต่าง ๆ เกิดขึ้นจนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายกลางดึกคืนนั้นเอง

        ในเวลานั้น ท่านเข้าใจอย่างชัดเจนด้วยตนเองว่า ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ลึกซึ้งนัก พ้นวิสัยของการที่จะตรึกนึกคิดหรือคาดคะเนเอาได้ เพราะถ้ายังตรึกนึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง จะเข้าถึงได้ต้องทำให้ใจหยุดเป็นจุดเดียวกัน พอหยุดก็ดับ ดับแล้วจึงเกิด ในเวลาต่อมาท่านจึงกล่าวสรุปไว้เป็นประโยคสั้น ๆ ว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ

        การเข้าถึงพระธรรมกายของพระเดชพระคุณหลวงปู่ นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ เพราะมิได้เป็นเพียงการปฏิบัติตามหรือจดจำจากตำรา แต่เป็นการรู้เห็นและเข้าถึงธรรมจริงแท้ที่มีอยู่ภายในด้วยตนเอง โดยการดำเนินจิตเข้าไปในหนทางสายกลาง ด้วยการทำใจให้หยุดนิ่ง

        วิธีการดำเนินจิตเข้าไปในเส้นทางสายกลาง อันเป็นหนทางสู่ความพ้นทุกข์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายได้ดำเนินไปแล้วนี้หายไปเกือบสองพันปี การค้นพบของท่าน จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ และ ยังเป็นพยานยืนยันพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสไว้แก่เหล่าพระสงฆ์สาวกว่า ธรรมกายเป็นชื่อของตถาคต

        เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ได้เข้าถึง พระธรรมกายแล้ว ท่านก็มุ่งมั่นในการทำสมาธิภาวนา ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งลึกซึ้งมากขึ้น เมื่อออกพรรษาแล้วท่านเดินทางไปปฏิบัติธรรมและสอนธรรมปฏิบัติที่ วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม สอนอยู่ราว ๆ ๔ เดือน มีพระภิกษุปฏิบัติได้ ๓ รูป และฆราวาส ๔ คน ถือเป็นพยานในการบรรลุธรรม ของท่าน การสอนครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของ การเผยแผ่วิชชาธรรมกาย

        ต่อมาท่านเดินธุดงค์ไปสอนธรรมะในที่ต่าง ๆ อีกหลายแห่ง มีประชาชนมาศึกษาธรรม-ปฏิบัติกันเป็นจำนวนมาก และต่างได้รับผลดีตามความตั้งใจแห่งการปฏิบัติของตน

เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

        ในราวกลางปี พ.ศ. ๒๔๖๑ (กลางรัชกาลที่ ๖) พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งในขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมมากเป็นกึ่งวัดร้าง มีพระประจำวัดอยู่เพียง ๑๓ รูป

        ท่านทำนุบำรุงวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จนกระทั่งมีความเจริญรุ่งเรือง มีพระภิกษุสามเณรถึง ๕๐๐ กว่ารูป มากที่สุดในประเทศไทยในยุคนั้น สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่พระพุทธศาสนา เป็นอย่างยิ่ง

        พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านตระหนักดีว่า วิชชาธรรมกายเป็นสิ่งเดียวที่สามารถช่วยชาวโลกให้พ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง ด้วยความเมตตาอยากให้ทุกคนมีที่พึ่งที่ระลึกอันประเสริฐ ท่านจึงทุ่มเทเผยแผ่วิชชาธรรมกาย โดยเปิดสอนทำสมาธิภาวนาที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ รวมทั้งส่งพระภิกษุและ แม่ชีออกเผยแผ่วิชชาธรรมกายแก่ประชาชนใน จังหวัดต่าง ๆ และในต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศในทวีปยุโรป ทำให้มีผู้ ปฏิบัติธรรมเข้าถึงดวงปฐมมรรค เข้าถึงกาย ต่าง ๆ และเข้าถึงพระธรรมกายเป็นจำนวนมาก ท่านเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงของมหาชน ทุกชนชั้นทั้งภายในและต่างประเทศ ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านโด่งดังระบือไกลตั้งแต่ยุคนั้น มาจนกระทั่งปัจจุบัน

        ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ก่อนที่ท่านจะมรณภาพประมาณ ๕ ปี ท่านเรียกประชุมศิษย์เป็นกรณีพิเศษที่ศาลาการเปรียญ เพื่อแจ้งให้ทุกคนทราบว่าท่านจะมรณภาพในอีก ๕ ปีข้างหน้า กิจการใดที่ท่านดำเนินไว้แล้ว ขอให้ช่วยกันทำกิจการนั้น ๆ ต่อไปอย่าทอดทิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเผยแผ่วิชชาธรรมกาย

        นับตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นต้นมา พระเดชพระคุณหลวงปู่อาพาธด้วยโรคความดันโลหิตสูง และมรณภาพในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ รวมอายุได้ ๗๕ ปี รวมพรรษาได้ ๕๓ พรรษา



 

ขึ้นอยู่กับบุญ

...ในมนุษย์โลกถ้าเรามีบุญเสียแล้ว

จะค้าขายก็ร่ำรวย จะทำงานทำกิจการ

อะไรก็เจริญ จะหาทรัพย์สมบัติก็ได้

คล่องสะดวกสบายไม่ติดขัดแต่ประการใด

ถ้าว่าไม่มีบุญ

จะทำอะไรก็ติดขัดไปเสียทุกอย่าง

ทุกประการ ดังนั้น จึงได้ชักชวนพวกเรา

ให้มาทำบุญทำกุศล จะได้เลิกจน

เลิกทุกข์ยากลำบากเสียที...

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล