ฉบับที่ 65 มีนาคม ปี 2551

พระธรรมเทศนา :การทำงานเผยแผ่ พุทธศาสนาไปทั่วโลก (ตอนสุดท้าย)

พระธรรมเทศนา

ทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

        การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศทุกวันนี้ ส่วนมากผู้ทำหน้าที่มักมุ่งทำกันอยู่ในระดับการดำเนินชีวิต
และระดับศีลธรรมเท่านั้น ทำให้ประชาชนทั้งในระดับชนชั้นล่าง ชั้นกลาง ชั้นสูงของสังคมนั้นไม่สามารถเห็นความวิเศษ
ของคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ลึกซึ้งในระดับกำจัดกิเลสได้ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ จึงไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างเท่าที่ควรจะเป็น

       ด้วยเหตุนี้ ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาจะประสบความสำเร็จได้นั้น จึงมีอยู่ทางเดียว คือ ต้องมุ่งเผยแผ่ในระดับ
การกำจัดกิเลสเป็นสำคัญ เพราะผลของการมุ่งสอนเพื่อกำจัดกิเลสนั้น ก็คือ การเข้าถึงธรรมะภายใน ซึ่งไม่ว่าคนๆ
นั้นจะอยู่ในระดับไหนของสังคม แต่เมื่อเขาสามารถเข้าถึงพระธรรมกาย หรือพระรัตนตรัยภายในได้จริงแล้ว
เขาก็จะเกิดศรัทธาที่แท้จริงในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า "ตถาคตโพธิศรัทธา" คือ "ความศรัทธา อันเกิดจากการเข้าถึง
พระรัตนตรัยภายใน" เขาก็จะเป็นหลักในการขยายงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา สู่คนท้องถิ่นให้แก่เราต่อไป การทุ่มเทลงไป
ในระดับ สูงสุดนี้แม้ได้ผู้เข้าถึงธรรมมาเพียงคนเดียวก็ถือว่าคุ้มเกินคุ้มเพราะเขาจะเป็นกำลังสำคัญในการขยายงานออกไปสู่
คนท้องถิ่นด้วยความปรารถนาดีในหมู่ชนทุกระดับชั้นได้ไม่ยาก

       แต่การที่พระพุทธศาสนาจะได้บุคลากรที่มีฝีมือการเผยแผ่ในระดับการกำจัดกิเลสนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ที่จะสอนผู้อื่น
ได้ในระดับนี้ นอกจากจะต้องฝึกตนเองให้เป็นต้นแบบการดำเนินชีวิตและต้นแบบการรักษาศีลแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ
ต้องเป็นต้นแบบการฝึกสมาธิเพื่อการเข้าถึงธรรมอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันอีกด้วยโดยผู้ที่ทำหน้าที่เผยแผ่จะต้องปฏิบัติตนอย่าง
ทุ่มเทตามแนวทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้กำหนดไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ที่ว่า
๑. อนูปวาโท คือ ห้ามกล่าววาจาว่าร้ายล่วงเกินผู้หนึ่งผู้ใดในประเทศนั้นๆ ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หญิงหรือชาย

๒. อนูปฆาโต คือ ห้ามทำร้ายเบียดเบียนใครๆ แม้แต่สัตว์

๓. ปาฏิโมกเข จ สังวโร คือ ตั้งใจรักษาศีลและมารยาทของตน ตลอดจนกฎหมายอย่างเคร่งครัด

๔. มัตตัญญุตา จ ภัตตัสมิง คือ ต้องเป็นต้นแบบการใช้ปัจจัย ๔ ในการดำเนินชีวิตด้วยความประหยัดและตามความจำเป็น

๕. ปันตัญจ สยนาสนัง คือ ต้องระมัดระวังในการเข้าไปอยู่อาศัยตลอดจนพักค้างในสถานที่ต่างๆ ซึ่งต้องเหมาะสมแก่ผู้ทรงศีล
ไม่ไปในสถานที่ไม่ควรไป (อโคจร) เพราะแม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผู้คนในสังคมอาจตำหนิติเตียนเอาได้

๖. อธิจิตเต จ อาโยโค คือ ต้องตั้งใจฝึกสมาธิอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อถึงกำหนดเวลานั่งสมาธิ ในแต่ละวันห้ามมีข้อแม้เงื่อนไขไปทำอย่างอื่นโดยเด็ดขาด

       ผู้ที่ปฏิบัติตนในแต่ละวันตามนี้เท่านั้น จึงจะสามารถเป็นนักเผยแผ่ได้ เพราะเมื่อผู้คนใน ท้องถิ่นเห็นข้อวัตรปฏิบัติเช่นนี้แล้ว
เขาย่อมเชื่อถือ ว่า บุคคลท่านนี้สามารถเป็นครูสอนศีลธรรมและวิธีกำจัดกิเลสให้แก่เขาได้จริงเพราะได้ปฏิบัติตนเป็นต้นแบบทั้งใน
การดำเนินชีวิต การรักษาศีล และการทำภาวนาได้จริง ทำให้เขาเกิดความเชื่อถือ ว่าพระพุทธศาสนาและวิชชาธรรมกาย
มีคุณค่าต่อชีวิตของเขาจริง และนั่นคือโอกาสที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าไปสู่คนท้องถิ่นได้สำเร็จ

      เพราะฉะนั้น การส่งบุคลากรไปเผยแผ่ ในต่างประเทศจะต้องคัดเลือกคนที่ปฏิบัติได้ตามนี้ และเมื่อถึงคราวที่ทำหน้าที่
เผยแผ่ให้แก่คนท้องถิ่น จะต้องมุ่งเป้าหมายที่ระดับการกำจัดกิเลสอย่างจริงจังและจริงใจ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงกำหนดหลักการไว้ชัดเจนว่า ต้องฝึกคนให้ละเว้นความชั่ว ตั้งใจทำความดี และกลั่นใจให้ผ่องใส อยู่เป็นนิตย์ ซึ่งเท่ากับ
ทรงสั่งว่าต้องฝึกฝนอบรมให้คนในท้องถิ่นนั้น "สร้างบุญเป็น" เพราะการสร้างบุญ อย่างต่อเนื่อง ก็คือ การสร้างนิสัยที่ดีๆ
ควบคู่ไปกับการกำจัดกิเลสในใจให้หมดไปนั่นเอง

      แต่การที่ผู้เข้ามาศึกษาใหม่จะเต็มใจ สร้างบุญกับเราหรือไม่นั้น เราจะต้องตอบเขาให้ชัดเจนก่อนว่า

บุญคืออะไร? บุญคือพลังงานบริสุทธิ์ที่ไปฆ่ากิเลสหรือความไม่รู้อันมืดมิดที่อยู่ในใจ

ทำไมต้องสร้างบุญ? เพราะบุญเป็นที่มาของความสุขและความเจริญในด้านต่าง ๆ ของชีวิต

ทำอย่างไรจึงได้บุญ? บุญจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อบุคคลนั้นตั้งใจละเว้นความชั่ว ทำความดี และกลั่นใจให้ผ่องใส อย่างจริงใจ จริงจังและต่อเนื่อง

      เพราะฉะนั้น เมื่อถึงคราวฝึกคน ก็ต้องฝึกให้สร้างบุญเป็นทุกชนิด ทุกระดับ ทุกสภาพ

      การฝึกคนให้สร้างบุญเป็นนั้น นอกจากเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่คนท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการเพิ่มบุญให้แก่ทีมงาน
เผยแผ่พระพุทธศาสนา อีกด้วย เพราะว่าความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นขึ้นอยู่กับบุญรวมทั้ง ๓ งบ คือ
๑) บุญของผู้ทำหน้าที่เผยแผ่
๒) บุญของทีมงาน และ
๓) บุญของผู้เข้ามาศึกษา

      ดังนั้น ทุกคนจึงต้องเข้าใจในการสร้างบุญ ยึดมั่นอยู่กับบุญ และนำวิถีชีวิตประจำวันของทุกคนเข้าสู่การสร้างบุญเป็นประจำให้ได้
พระพุทธศาสนา จึงจะขยายไปสู่การดำเนินชีวิตเพื่อการกำจัดกิเลสของคนในท้องถิ่นนั้นได้จริง

      จากนั้น จึงฝึกให้รู้จักทุ่มเทสร้างบุญอย่างจริงจังเพิ่มขึ้นไปอีก เพื่อให้ได้บุญที่มีคุณภาพพิเศษในระดับที่สามารถ
กำจัดกิเลสอย่างเด็ดขาดที่เรียกว่า"สร้างบารมี" นั่นคือต้องฝึกให้มีอุดมการณ์ มั่นคงขึ้นไปอีก

      กล่าวคือในขณะที่ฝึกให้สร้างบุญเป็นอยู่นั้น ก็ต้องปลูกฝังอุดมการณ์ชาวพุทธไปด้วย เพื่อยกระดับใจให้เข้มแข็งแกร่งกล้า
ในการสร้างบุญบารมีตามรอยพระโพธิสัตว์ให้ยิ่งขึ้น ซึ่งพระสัมมา สัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ชาวพุทธทุกคนมี
"อุดมการณ์ในการสร้างบารมีกำจัดกิเลส" ว่า

๑. ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา คือ ต้องอดทน กับสารพัดทุกข์ให้ได้ เพราะยิ่งอดทนมากเท่าไร ต้นตอของความทุกข์คือกิเลส ยิ่งมีโอกาสถูกกำจัดออกไปง่ายและมากเท่านั้น

๒. นิพพานัง ปรมัง วทันติ พุทธา คือ ต้องยกใจให้เข้มแข็งมุ่งไปสู่เป้าหมายสูงสุดของทุกๆ ชีวิต คือ พระนิพพานให้ได้ เพราะหากเข้าถึงพระนิพพาน ได้เมื่อไหร่ ความทุกข์ก็หมดไปเมื่อนั้น แต่การจะเข้าถึงพระนิพพานได้ ต้องทุ่มเทชีวิต
ปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย หรือพระรัตนตรัยภายในให้ได้ก่อนจากนั้นจึงอาศัยพระธรรมกายกำจัดกิเลส
ให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษต่อไป

๓. นหิ ปัพพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรัง วิเหฐยันโต อุดมการณ์ข้อสุดท้ายที่สำคัญของ ชาวพุทธคือ ตราบใดที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่นี้ ต้องไม่ก่อเวรใหม่อย่างเด็ดขาด แม้ผลวิบากของกรรม เก่าตามมาบีบคั้นอย่างหนักก็ต้องอดทน จะถูก คนพาลใส่ความตามรังแกโหดร้ายสาหัสปานใดก็ต้องอดทน เป็นตายร้ายดีอย่างไรไม่ยอมก่อเวรใหม่อีกเด็ดขาด

      เมื่อทั้งตนเอง ทีมงาน และผู้เข้ามาศึกษาในประเทศนั้นๆ แต่ละคนที่มาถึงเรา ล้วนมีอุดมการณ์ ชาวพุทธอย่างเปี่ยมล้น
เช่นเดียวกันนี้แล้ว ประชาชนในประเทศนั้น ๆ ย่อมเห็นว่า หมู่คณะนี้เป็นทีมที่เอาชีวิตเป็นเดิมพันในการสร้างบุญจริง สมาชิกในหมู่คณะนี้สามารถเป็นต้นแบบการดำเนินชีวิตจริง ต้นแบบการรักษาศีลจริง และต้นแบบการทำภาวนา ให้แก่เขาได้จริง ก็จะทำให้หมู่คณะของเราใน ต่างประเทศเติบโตขึ้นได้ แล้วเราก็เคี่ยวเข็ญให้ผู้เข้า มาศึกษารุ่นเก่าเป็นต้นบุญต้นแบบให้แก่คนรุ่น ต่อไป ในที่สุด วันหนึ่งต้องมีคนใดคนหนึ่งเข้าถึงพระธรรมกายภายใน แม้จะได้มาเพียงคนเดียวก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว เพราะบุคคลนั้นก็
จะเป็นกำลังใจให้คนอื่นๆ ที่มาก่อนและมาใหม่ตั้งใจสร้างบุญเพื่อกำจัดกิเลสอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันตามๆ กัน ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและวิชชาธรรมกายก็จะบังเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ

      นี่คือภารกิจอันแท้จริงและยิ่งใหญ่ที่ นักเผยแผ่ทุกคนจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องทั้งในแง่ของการฝึกตนเองให้เป็นต้นแบบ และในแง่ของการเป็นแสงสว่างให้ชาวโลก ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ "ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน" เราถึงจะสามารถฝึกตนเองให้เข้าถึงธรรมได้ สอนคนอื่นให้เข้าถึงธรรมตามมาได้และสร้างหมู่คณะที่ช่วยกันปักหลักพระพุทธ
ศาสนาให้มั่นคงทั่ว ทุกมุมโลกได้สำเร็จอย่างแท้จริง

สรุป

๑. การเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือ การขยายโอกาสให้ผู้อื่นได้ศึกษาวิธีทำภาวนาเพื่อเข้าถึงสันติสุขที่แท้จริงอันเป็นความดี
สากลที่ทุกคนทำได้ และเป็นหนทางที่นำไปสู่ปัญญาและความบริสุทธิ์ภายในที่ใช้ขจัดความไม่รู้ ความทุกข์ และความกลัว ให้หมดสิ้นไปจากใจของมวลมนุษยชาติอย่างเด็ดขาด อันเป็นที่มาของการขยายสันติภาพภายในไปสู่การบังเกิดขึ้นของ
สันติภาพโลกได้อย่างแท้จริง

๒. การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่ใช่การเปลี่ยนเชื้อชาติ ไม่ใช่การเปลี่ยนศาสนาไม่ใช่การเปลี่ยนเผ่าพันธุ์ และไม่ใช่การเผยแผ่
วัฒนธรรมของประเทศใดประเทศหนึ่งไปยังประเทศอื่นๆ เพราะนอกจากไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการเผยแผ่
พระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นการจำกัดขอบเขตการเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาของคนในท้องถิ่นอีกด้วย ทำให้การเผยแผ่
พระพุทธศาสนาในช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงจำกัดวงอยู่เฉพาะคนเชื้อชาติเดียวกันที่ไปทำมาหากินอยู่ในประเทศนั้น ไม่ขยายตัวออกไปอย่างที่ควรจะเป็น

๓. การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ต้องมุ่งทำในระดับการกำจัดกิเลสอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันเพราะคุณค่าของการตรัสรู้
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ที่

๓.๑ พระองค์สามารถเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการกำจัดกิเลสได้หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษได้สำเร็จด้วยพระองค์เอง

๓.๒ พระองค์สามารถสอนให้ผู้อื่นสามารถเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการกำจัดกิเลสได้หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ
ได้สำเร็จเช่นเดียวกับพระองค์

      นั่นก็ย่อมหมายความว่า คุณค่าของพระพุทธศาสนาที่มีต่อชาวโลก ก็คือ การเป็นศาสนา เดียวในโลกนี้ที่มุ่งสอน
ให้ทุกคนสร้างสันติสุขให้แก่ตนเองและโลกใบนี้ด้วยการทำภาวนาเพื่อขจัดกิเลสภายในให้หมดสิ้นไปอย่างเด็ดขาด

๔. บุคลากรที่จะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศนั้น ต้องคัดเลือกบุคคลที่ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองอย่างเอา
ชีวิตเป็นเดิมพัน เพราะต้องไปเป็นต้นแบบการดำเนินชีวิต ต้นแบบศีลธรรม และต้นแบบการกำจัดกิเลสอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
โดยต้องยึดเอาคำสอนใน"โอวาทปาฏิโมกข์" เป็นแม่บทสำคัญในการฝึกฝนอบรมตนเองอย่างจริงจังและจริงใจให้ต่อเนื่องเป็นนิสัย
แล้วบุคคลนั้นจึงจะสามารถเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธาในสายตา ของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ ได้จริง ประชาชนในท้องถิ่น นั้นๆ
จึงจะเกิดความสนใจใคร่ศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาด้วยตัวของเขาเอง และนั่นคือโอกาสที่จะขยายความรู้ในการทำภาวนา
เพื่อเข้าถึงสันติสุขภายในเข้าไปสู่ใจของชาวโลกได้อย่างแท้จริง

๕. การสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ต้องสอนให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้นเข้าใจเรื่อง "บุญ"และ"บารมี"และการที่เขาจะเข้าใจ
เรื่องบุญและบารมีได้นั้น ก็ต้องสอนให้เขาเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมและคุณค่าของการเกิดมาเป็นมนุษย์ว่าเราเกิดมาเพื่อทำ
พระนิพพานให้แจ้ง แสวงบุญ สร้างบารมี เขาถึงจะเข้าใจว่าบุญคืออะไร ทำไมต้องสร้างบุญ และทำอย่างไรจะได้บุญ เมื่อทุกคนเข้าใจอย่างนี้แม้จะมีคนมาวัดเป็นจำนวนมาก แต่เขาจะยินดีต่อการ ฝึกความเคารพ ความมีวินัย และความอดทน
ในการ สร้างบุญไปเป็นหมู่คณะเพราะเขาเข้าใจแล้วว่าบุญนั้นสำคัญต่อการขจัดความทุกข์ ความกลัวอันเกิดจากความ
ไม่รู้ให้หมดไปจากชีวิตของเขาได้อย่างไร บรรยากาศของการปฏิบัติธรรมในวัดก็จะไม่สูญเสียไป และวัดที่สร้างนั้น ก็จะกลายเป็นโรงเรียนเพื่อสอนการบรรลุธรรมให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ในรุ่นต่อๆ ไป

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล