ฉบับที่ 39 มกราคม ปี 2549

มีเพื่อนที่อารมณ์ร้อนจะแก้ไขอย่างไรดี

 

 

 

     หลวงพ่อเจ้าค่ะ ลูกมีเพื่อนที่อารมณ์ร้อน มักหงุดหงิดเวลา ที่ใครมาพูดตัดเตือน จะมีวิธีแก้ไขนิสัยของเขาได้บ้างไหมเจ้าค่ะ ?

 

 

     ในการที่จะไปแก้ไขนิสัยของใครนั้น ไม่ว่าเขาจะเป็นคนอารมณ์ร้อน เป็นคน อารมณ์เฉื่อยชา หรือว่าเป็นคนที่มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ก็ตาม มีหลักง่ายๆ อยู่ ๔ ประการด้วยกัน คือ


            ๑. หากัลยาณมิตรที่เหมาะสมให้ 
หาบุคคลมาเป็นกัลยาณมิตรให้กับเขา แต่ว่า กัลยาณมิตรที่หามาให้นั้น ต้องพอเหมาะพอสมกับนิสัยของเขาด้วย เช่น เขาเป็นคนอารมณ์ร้อน ก็ต้อง หาคนอารมณ์เย็นให้มาเป็นกัลยาณมิตร อย่างนี้จึงจะเรียกว่าพอเหมาะพอสมกัน หรือว่าเขาเป็นคนอารมณ์เย็นเกินเหตุ คือเป็นคนที่เฉื่อยชา ก็คงจะต้องหากัลยาณมิตร ประเภทที่มีความกระฉับกระเฉง ว่องไวมาเป็นกัลยาณมิตรให้
ที่ต้องหากัลยาณมิตรมาให้เขา ก็เพราะว่า คนเราไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าผู้ใหญ่ ล้วนจำเป็นต้องมีต้นแบบที่ดีด้วยกันทุกคน แต่ว่าโลกของเราขณะนี้ สิ่งที่ขาดแคลนมากที่สุดก็คือ ขาดแคลนบุคคลต้นแบบ ซึ่งบุคคลต้นแบบนี้ยิ่งมีมากก็ยิ่งดี เพราะว่าท่านเหล่านั้นนอกจากจะเป็นต้นแบบแล้ว ยังเป็น สิ่งแวดล้อมที่ดีให้อีกด้วย

           ๒. หมั่นให้เขาเข้าใกล้กัลยาณมิตร
หมั่นพาผู้ที่เราต้องการจะแก้ไขนิสัยเข้าไปหากัลยาณมิตร หรือบุคคลต้นแบบบ่อยๆ เพราะว่า นิสัยของคนเราย่อมมีทั้งดีและไม่ดี เมื่อจะให้ใครมาช่วยแก้นิสัยที่ไม่ดี ก็ชักเขินๆ ไม่ค่อยอยากเข้าไปใกล้หรอก เมื่อเขายังไม่ค่อยคุ้นเคยกัน เราเป็น คนกลางก็ต้องช่วยให้บุคคลคู่นี้ได้พบกันบ่อยๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยบ้าง เพื่อท่านจะได้ชี้คุณ ชี้โทษให้บ้าง
ในการชี้โทษนี้ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ด้วยกัน บางทีชี้แรงๆ เขาอาจรับไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่ากลัวเสียหน้า เพราะฉะนั้น พบกันครั้งแรกๆ ท่านอาจจะพูดเฉียดๆ ถากๆ ไปบ้าง พูดแบบหยิกแกมหยอกบ้าง แต่เมื่อมีความคุ้นเคยกันมากเข้า การชี้โทษ การชี้ข้อบกพร่อง คงจะชัดเจนขึ้นตามลำดับ
เมื่อบุคคลที่มาเป็นกัลยาณมิตร สามารถชี้คุณ ชี้โทษ ให้เขาได้ชัดเจนแล้ว นั่นแหละเราจึงค่อยๆ ถอยออกมา แต่ว่าอย่าเพิ่งถอยออกมาไกลนัก เดี๋ยวเขาเกิดอาการเขินกันขึ้นมากลางครัน เราจะได้ เข้าไปช่วยได้ทัน

           ๓. คอยให้กำลังใจเขา 
ในการแก้ไขอะไรก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก้ไขนิสัย สิ่งที่หนีไม่พ้นก็คือ การที่จะต้องช่วยให้กำลังใจกัน เพราะว่านิสัย คือสิ่งที่คนๆ นั้นประพฤติจนกระทั่งเคยชิน บางอย่างเคยชินมาตลอดชีวิตทีเดียว แล้วจะให้เขาหักดิบง่ายๆ ได้อย่างไร
หรือบางทีขณะที่กำลังค่อยๆ แก้ไขอยู่นั้น กำลังใจเกิดตกเสียกลางคันก็มี เพราะฉะนั้นการให้กำลังใจกันเป็นระยะๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

           ๔. ชวนเขาสร้างบุญให้เต็มที่ 
ขณะที่กำลังแก้ไขนิสัยกันอยู่นั้น ยังมีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งแม้จะไม่เกี่ยวกับนิสัยโดยตรง แต่ว่าเป็นเรื่องของการปรับให้เข้าสู่มาตรฐานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ต้องหมั่นชักชวน หมั่นสนับสนุน ให้เขาสร้างบุญ ยิ่งมาก ยิ่งถี่เท่าไรก็ยิ่งดี ชวนเขาไปทำทาน รักษาศีล ถ้าเขาไม่เคยทำภาวนา ก็พาเขาไปนั่งสมาธิทำภาวนาด้วย

           เมื่อเขาได้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นประจำ มีบุญเพิ่มขึ้นมาทุกวัน ใจของเขาจะผ่องใส นุ่มนวลควรแก่การงาน การงานในที่นี้ก็คือ งานดัดนิสัยของเขานั่นเอง
ถ้าเป็นช่างปั้นก็ต้องบอกว่า ดินเหนียวก้อนนี้นุ่มกำลังดี เหมาะที่จะปั้นให้เป็นอะไรก็ได้
เมื่อใจของเขาอิ่มอยู่ในบุญ เขาจะมีกำลังใจขึ้นมาเอง

           จึงกลายเป็นว่าเขาสามารถสร้างกำลังใจให้กับตัวเองได้ ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่ต้องไปคอยให้กำลังใจเขาอีก เพราะเขารู้ด้วยตัวเองแล้วว่า เขาจะต้องเข้มงวดกวดขันกับตัวเองอย่างไร
ทำตามหลักการครบทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว ให้เวลาเขาสักระยะหนึ่ง ไม่ว่านิสัยคนๆ นั้น จะบกพร่องอย่างไร ในไม่ช้าก็แก้ไขให้ดีขึ้นมาได้ ยกเว้นคนประเภทที่เป็นบัวใต้น้ำ หรือว่าบัวที่ยังไม่งอกออกมาจากเมล็ด คนเหล่านั้น แม้มีกัลยาณมิตรอยู่เต็มโลก ก็แก้ไขนิสัยให้เขาไม่ได้
พูดง่ายๆ พวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่าว่าแต่มนุษย์ธรรมดาอย่างพวกเราเลย แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็แก้ไม่ได้ เช่น เทวทัต เป็นต้น เพราะฉะนั้นต้องรอยมบาลมาแก้ให้ก็แล้วกัน

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล