ฉบับที่ 82 สิงหาคม ปี2552

แผ่นดินเรืองรอง ยุคทองแห่งการบวชพร

ปกิณกธรรม

เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙

 




 

         ศรีลังกา...ดินแดนเพชรจรัสแสงแห่งวงการพระพุทธศาสนาในอดีตช่วงราว ๒๕๐ กว่าปีก่อนนั้น จะมีสักกี่ท่านที่รู้ว่า ชาวศรีลังกาต้องฝ่าฟันภัยศาสนา อย่างวิกฤตที่สุดถึงขั้นสูญสิ้นนักบวชสืบทอดกันทีเดียว ทั้งนี้เพราะภัยจากชาวต่างชาติและศาสนาอื่น ที่เข้า มาย่ำยีพุทธศาสนาทำลายวัดวาอาราม ซ้ำยังถูกกษัตริย์ที่เป็นมิจฉาทิฐินับถือต่างศาสนา ใช้อำนาจจับ สึกพระภิกษุและเผาพระไตรปิฎกไปเสียสิ้น เหตุการณ์ เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่มีพระภิกษุเหลือ แม้สักเพียงรูปเดียว คงเหลืออยู่ก็แต่สามเณรไม่กี่รูป หนึ่งในสามเณรเหล่านั้น มีสามเณรรูปหนึ่ง ชื่อสามเณรสรณังกร ท่านได้จุดประกายการบวชพระจนทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองยิ่งกว่าเดิม

          สามเณรสรณังกร เป็นบุตรอำมาตย์ ถือกำเนิด เมื่อพ.ศ. ๒๒๔๒ ที่หมู่บ้านเวฬิวิตะ แขวงเมืองตุมปาเณ เมื่อท่านอายุได้ ๑๖ ปี ก็บวชเป็นสามเณร ร่ำเรียนศึกษาจนแตกฉานภาษาบาลี และอุทิศตนกับงานเผยแผ่พระศาสนา ผู้คนมักจะเรียกขานคณะของท่าน ว่า "คณะสรณังกรสมาคม"

 






ศรีลังกาส่งราชทูตมาขอพระไทย

ไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนา

           หลังจากพระพุทธศาสนาทรุดโทรมมานานเพราะหมดสิ้นพระภิกษุ สามเณรสรณังกรคิดว่า "เราน่าจะได้พระภิกษุจากต่างประเทศมาอุปสมบทแก่กุลบุตรเพื่อสืบต่อสมณวงศ์ในแผ่นดิน" ครั้นปี พ.ศ. ๒๒๘๓ ในสมัยของพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะ สามเณรสรณังกรซึ่งในตอนนั้นมีอายุมากแล้ว ได้ทูล แนะนำพระราชาให้ส่งราชทูตไปขอพระภิกษุจากต่างประเทศมาให้การอุปสมบทกุลบุตร พระราชาทรง เห็นชอบตามนั้น ครั้นทรงทราบข่าวจากพวกพ่อค้าชาวฮอลันดาว่า ในตอนนี้ เห็นจะมีแต่กรุงศรีอยุธยา เท่านั้น ที่พระพุทธศาสนาเจริญยิ่งกว่าประเทศอื่น ครั้นสืบทราบชัดเจนแล้ว ก็ไม่ทรงรอช้า ทรงมีรับสั่งให้ราชทูตโดยสารติดเรือไปกับพวกพ่อค้าฮอลันดามุ่งหน้าไปเมืองอยุธยาทันที

           ราชทูตมาถึงเมืองไทยได้ไม่กี่วัน ก็ทราบข่าว ว่าพระเจ้าศรีวิชัยสวรรคตแล้ว เลยต้องรีบกลับไปตั้งหลักที่ศรีลังกาใหม่ เพราะไม่แน่ใจว่า พระราชาองค์ใหม่จะทรงมีพระทัยฝักใฝ่ในพุทธศาสนาหรือไม่ ครั้นได้ทราบข่าวดีว่า กษัตริย์องค์ใหม่ทรงเห็นชอบกับการฟื้นฟูสมณวงศ์ในครั้งนี้ และทรงอาราธนาให้สามเณรสรณังกรแต่งพระราชสาส์นเป็นภาษาบาลี อีกทั้งยังรับสั่งให้เพิ่มคณะราชทูตให้มากขึ้นกว่า เดิม คณะทูตจึงเดินทางมาเมืองสยามอีกครั้งจน เจรจาได้สำเร็จ จากนั้นพระเจ้าบรมโกศทรงโปรด ให้อาราธนาพระอุบาลีเถระแห่งวัดธรรมาราม ผู้แตกฉานพระไตรปิฎกและวิปัสสนาธุระ เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตในภารกิจอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้

 




 

พร้อมพลีชีวิต
เพื่อพิชิตการจรรโลงพระศาสนา

           การเดินทางไปสืบพระศาสนาของพระอุบาลี นับเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจมาก เพราะในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะต้องเผชิญกับความ เกรี้ยวกราดของท้องทะเล ซึ่งพร้อมที่จะคร่าชีวิตทุกวินาที พระเถระและคณะออกเดินทางไปพร้อมกับทูตไทยและทูตลังกา โดยใช้ทั้งเรือกำปั่นของไทย และฮอลันดารวมเป็น ๒ ลำ แล่นออกทะเลทางอ่าวไทย โดยพระอุบาลีเดินทางไปกับเรือกำปั่นไทย ปรากฏว่าเรือทั้ง ๒ ลำ ได้พลัดหลงกัน ซ้ำร้ายเรือไทยถูกคลื่นลูกมหึมาซัดจนเสากระโดงหัก เรือรั่ว น้ำไหลเข้าไม่หยุดเกือบอับปาง ต้องทิ้งข้าวของเพื่อ มิให้เรือจม แต่ทว่าคณะสงฆ์สวดพระปริตรไม่หยุดทั้งกลางวันกลางคืน จึงรอดมาด้วยอานุภาพพุทธมนต์ นั้น แล้วขึ้นมาเกยฝั่งที่เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อทาง อยุธยาทราบเรื่องจึงนิมนต์กลับไปยังอยุธยาตามเดิม

          พระอุบาลีต้องรออีกหลายเดือนกว่าจะเดินทางได้อีกครั้ง ในช่วงนั้นก็มีข่าวเรืออับปางในทะเลอยู่บ่อยครั้ง แต่หัวใจในการประกาศพระศาสนาของ คณะสงฆ์นั้น พร้อมเสมอที่จะไปทำหน้าที่เป็นแสงสว่าง ให้กับชาวศรีลังกา แต่พระเจ้าบรมโกศกลับทรงเป็น ห่วงไม่กล้าที่จะส่งท่านไปอีก เพราะเกรงว่าจะเป็น การเอาชีวิตไปทิ้งกลางทะเลเสียเปล่า ต่อมาเมื่อมี ชาวฮอลันดาซึ่งขึ้นชื่อว่ามีความชำนาญในการเดิน เรืออาสาที่จะนำคณะสงฆ์ไป พระองค์จึงทรงมี พระบรมราชานุญาตให้คณะสงฆ์ออกเดินทางอีกครั้ง

         ในครั้งนี้ คณะพระอุบาลีต้องเผชิญมรสุมในทะเลไม่แพ้กับครั้งแรก เพราะเกิดพายุในทะเลแรงจัดมาก จนถึงกับกางใบเรือไม่ทัน ทำให้เรือเอียง ไปมาแทบพลิกจม เสาเรือหลายต้นหักพังทับลงมา กลางเรือ ธงเรือหลุดลอยตกทะเลไป แต่ถึงกระนั้น ผู้ที่อยู่ในเรือก็ไม่หวั่นไหว เพราะต่างนึกถึงปณิธานอันยิ่งใหญ่ในการเดินทางข้ามมหาสมุทร

        เส้นทางเดินเรือเริ่มตั้งแต่อยุธยาแล้วออกจาก อ่าวไทยมุ่งไปเกาะชวาก่อน แล้วเลี้ยวอ้อมไปทางมหาสมุทรอินเดีย ขึ้นเทียบท่าที่เกาะลังกา แล้วเข้าไป ยังตัวเมืองแคนดี รวมระยะเวลากว่า ๕ เดือน เมื่อไปถึงจุดหมาย พระมหากษัตริย์และชาวเมืองได้ออกมาต้อนรับอย่างเอิกเกริก มื่อท่านพระอุบาลีได้เล่าเรื่องการผจญภัยให้สามเณรสรณังกรฟังว่า "เรือของเราแทบจะอับปาง เกือบเสียชีวิตกลางมหาสมุทรเสียแล้ว" สามเณรฟังแล้วก็กลั้นน้ำตาไม่อยู่พลางพูดว่า "ถ้าเรืออับปาง คงจะไม่ได้พบพวกท่าน ถ้าไม่มีพวกท่าน พระศาสนาก็ไม่อาจกลับคืนมาได้อีกเลย"







วันประวัติศาสตร์แห่งการรอคอย

           และแล้ว ณ วันอาสาฬหบูชา เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๙๖ เวลาพลบค่ำ ก็มีพิธีอุปสมบท ครั้งประวัติศาสตร์ของศรีลังกา ณ วัดบุปผาราม เมืองแคนดี พระเจ้าเกียรติศิริราชสิงหะได้เสด็จมา ร่วมอนุโมทนาด้วยพระองค์เอง พระอุบาลีซึ่งเป็น พระอุปัชฌาย์ได้ให้การอุปสมบทแก่คณะสามเณรศรีลังกา ๖ รูป ซึ่งมีสามเณรสรณังกรเป็นหัวหน้า (อายุ ๕๔ ปี) เมื่อเสร็จสิ้นการอุปสมบท มหาชนก็พากันไชโยโห่ร้อง แซ่ซ้องสาธุการมิขาดสาย มีการประโคมวงดุริยางค์ และยิงปืนใหญ่ขึ้นเป็นสัญญาณ แห่งมหาปีติว่า "บัดนี้แผ่นดินลังกาที่ร้างราพุทธบุตรมาช้านานได้รับการฟื้นฟูแล้ว และต้องกลับมายิ่งใหญ่ กว่าเดิมแน่นอน"  ในสมัยนั้น ท่านพระอุบาลีได้บวชกุลบุตรเป็นจำนวนมาก ทำให้พุทธบุตรในศรีลังกาสืบทอดต่อมาไม่ขาดสาย แผ่นดินศรีลังกาหวนกลับ มาเจริญรุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวพัสตร์อีกครั้งหนึ่ง

           ท่านพุทธบริษัททั้งหลาย... ยุคนี้ คือยุคทองของเราที่จะทำให้ผ้ากาสาวพัสตร์โบกสะบัดไปทั่วทุก มุมโลก เราจะต้องเร่งฟื้นฟูจำนวนศาสนทายาทที่นับวันมีแต่น้อยลงให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ด้วยการ บวชกุลบุตรดังที่บรรพชนต้นแบบได้ทุ่มชีวิตทำสำเร็จ มาแล้ว การบวชพระจะไม่จำกัดอยู่เพียงประเทศไทย หรือบางประเทศเท่านั้น แต่จะต้องมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก  ในยุคแห่งการสร้างบารมีของพวกเรานี้ เราจะร่วมกัน สถาปนาพุทธบุตร ๑,๐๐๐,๐๐๐ รูปให้บังเกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้ โดยเริ่มต้นที่ ๗,๐๐๐ รูปทั่วไทย เป็นพันธกิจที่ต้องเร่งเดินหน้า เพื่อจุดประทีป พระศาสนาให้โชนนิรันดร์ต่อไป ดังที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้ให้โอวาท ไว้ว่า "เราควรจะมองให้ไกลขึ้นไปอีกว่า ทำอย่างไรพระศาสนาจะเจริญไปจนสุดรอยต่อของพุทธันดรนี้กับพุทธันดรหน้า" และโปรดรับทราบเอาไว้เถิดว่า พวกเราคือลูกพระธัมฯ ผู้มากอบกู้พระพุทธศาสนา ผู้นำพาโลกนี้ให้สว่างไสว ผู้จรรโลงพุทธศาสน์ให้กว้างไกล ให้ผ้ากาสาวพัสตร์ ปลิวไสวในใจมหาชน...

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล