ฉบับที่ ๑๘๒ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

กำเนิดพรหมสร้างโลกและการเปลี่ยนขั้วอำนาจในระบบวรรณะ ยุคพราหมณะ

อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.

ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

ตอนที่ ๕ : กำเนิดพรหมสร้างโลกและการเปลี่ยนขั้วอำนาจในระบบวรรณะ
ยุคพราหมณะ (Brahmana Period : ๓๐๐ - ๑๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช)

       หากยังคงจำกันได้ ในยุคแรกที่ชนเผ่า “อารยัน” เข้ามาครอบครองอินเดีย “อารยัน” มีความเชื่อทางศาสนาที่เชื่อมโยงกับเทพเจ้าสูงสุดและเป็นเทพสงครามอย่าง “พระอินทร์” (Indra) ดังนั้นในคัมภีร์ “ไตรเพท” ซึ่งเป็นคัมภีร์ในยุคพระเวท จึงไม่เคยปรากฏเทพเจ้าสูงสุดนามว่า “พระพรหม” (Brahma)

       คำว่า “พรหม” เริ่มปรากฏครั้งแรกในคัมภีร์ยุคปลายพระเวทอย่าง “อถรรพเวท” (Atharveda) หรือ “ศตปถพราหมณะ” (Śatapatha Brāhmaṇa) ราว ๓๐๐ - ๑๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช ได้กล่าวถึง “พระพรหม” ว่าเป็นเทพเจ้าสูงสุดผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งหลาย เป็นเทพเจ้าอันอุดม อยู่เหนือเทพเจ้าทั้งปวงที่ปรากฏด้วยรูปกาย (ไร้รูป) และอยู่เหนือเพศภาวะทั้งปวง (ไร้เพศ) และในยุคนี้ ได้ลดบทบาทของ “พระอินทร์” ที่เคยเป็นเทพเจ้าสูงสุดลง ด้วยเหตุที่ “พระอินทร์” เมาสุราบ้าง เจ้าชู้บ้าง พ่ายแพ้ให้แก่พวกอสูรบ้าง

      เมื่อ “พระพรหม” เริ่มเป็นที่ยอมรับแทน “พระอินทร์” แล้ว ได้มีการสร้าง “ตำนานพรหมสร้างโลก” โดยกล่าวว่า ก่อนโลกจะถือกำเนิดขึ้นมีสภาวะว่างเปล่า และเมื่อกาลเวลาผ่านไป มีการประชุมรวมกันของสภาวะบางอย่างเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มก้อนกลมเหมือนไข่ทองคำ และ “พระพรหม” ถืออุบัติขึ้นในไข่ทองคำนั้น และบันดาลให้ไข่ทองคำแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนเป็น “เทวโลก” ส่วนล่างเป็น “มนุษยโลก” จากนั้นจึงได้สร้างพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว และธรรมชาติต่าง ๆ ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย

      “พระพรหม” กลายเป็นเทพเจ้าสูงสุด ผู้ให้กำเนิดสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งปวง แต่ด้วยความที่ “พระพรหม” มีสภาวะอุดมคติ ไร้รูป จึงเป็นการยากที่จะเคารพสักการะ ต่อมาจึงได้ถือกำเนิด “พระพรหม ๔ หน้า” เพื่อดูแลตลอดทิศทั้ง ๔ ขึ้น แต่ด้วยความที่มีเพียง “ผู้สร้าง” อย่าง “พระพรหม” จึงไม่อาจตอบปัญหากฎของธรรมชาติบางประการได้ ทำให้ในกาลต่อมาได้กำเนิด “พระวิษณุ” (Viṣṇu) เทพเจ้าผู้รักษา และ “พระศิวะ” (Śiva) เทพเจ้าผู้ทำลาย ที่รวมเรียกว่า “ตรีมูรติ” (Trimūrti) เพื่อตอบกฎธรรมชาติของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลาย และเพื่อไม่ให้ขัดกับหลักการเดิมในเรื่อง “พระพรหม” เป็นผู้ให้กำเนิดทุกสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง ดังนั้น “พระพรหม” จึงเป็นผู้ให้กำเนิดทั้ง “พระวิษณุ” และ “พระศิวะ”

 

กำเนิดพรหมสร้างโลก

- ยุคพระเวท 800 ปี ก่อนพุทธศักราช พระอินทร์เป็นเทพเจ้าสูงสุด

  แต่ด้วยเหตุที่ในตำนานพระอินทร์เมาสุราบ้าง เจ้าชู้บ้าง แพ้แก่พวกอสูรบ้าง ทำให้ไม่เป็นที่น่าศรัทธา พราหมณ์จึงต้องสร้างเทพที่เหนือกว่าพระอินทร์ขึ้นมาคือ “พรหม” (Brahma) ซึ่งคำว่าพรหมไม่ได้มีมาแต่เดิมในคัมภีร์ยุคเก่าแก่คือ “ไตรเพท”แต่ปรากฏขึ้นในคัมภีร์ยุคปลายพระเวทอย่าง “อถรรพเวท”
 

- ยุคพราหมณะ 300 - 100 ปี ก่อนพุทธศักราช พระพรหมเป็นเทพเจ้าสูงสุด

ภาพสลักหินพรหม ๔ หน้ายุคโบราณ

ภาพสลักหินพรหม ๔ หน้ายุคโบราณ

      พระพรหมยุคดั้งเดิมเป็นสภาวะอุดมคติยังไม่มีรูปร่างเป็นเทพเจ้าสูงสุดผู้ให้กำเนิดสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งปวง

       ต่อมาสร้างรูปเคารพของพรหม เพื่อใช้ในการทำพิธีกรรมโดยทำเป็นพรหม ๔ หน้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการดูแลทิศทั้ง ๔
 

กำเนิดตรีมูรติ

พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ รวมเรียกว่าตรีมูรติ

       เพื่อตอบกฎที่ยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลายไป จึงสร้างให้มีมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ ๓ องค์ คือ พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ รวมเรียกว่าตรีมูรติ


- พราหมณ์ตอกย้ำระบบชนชั้นวรรณะ โดยกำหนดว่าวรรณะเกิดจากส่วนต่าง ๆ ของพรหม


จาก timeline การเกิดขึ้นในยุคต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว
“เทพเจ้าอาจจะไม่ใช่ผู้สร้างมนุษย์” แต่ในทางกลับกัน “มนุษย์อาจจะเป็นผู้สร้างเทพเจ้า”

 

ตอนที่ ๕ (ต่อ)
      “ตรีมูรติ” มีอยู่ด้วยกันหลายรูปลักษณ์ บ้างว่ามี ๓ เศียร บ้างว่ามี ๑ เศียร แต่ ๓ พักตร์ แม้ว่าจะสามารถตอบโจทย์เรื่องกฎธรรมชาติได้ แต่ในกาลต่อมา แนวความคิดเรื่อง “ตรีมูรติ” นี้กลับกลายมาเป็นความขัดแย้งในเรื่อง “เทพเจ้าสูงสุด” จนกลายเป็นมูลเหตุในการแบ่งแยกนิกายคือ กลุ่มที่บูชา “พระวิษณุ” ได้ก่อกำเนิดเป็นนิกาย “ไวษณวะ” มีอิทธิพลทางอินเดียตอนเหนือส่วนกลุ่มที่บูชา “พระศิวะ
ได้ก่อกำเนิดนิกาย “ไศวะ” มีอิทธิพลทางอินเดียตอนใต้

    จากแนวความคิดเรื่องเทพเจ้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใน “ยุคพราหมณะ” นี้ นอกจากจะเห็นได้ว่าแท้ที่จริงแล้วเทพเจ้าอาจจะไม่ใช่ผู้สร้างมนุษย์ แต่ในทางกลับกัน มนุษย์กลับเป็นผู้สร้างเทพเจ้าต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น ยังทำให้เห็นถึงแนวคิดในการถ่ายโอนอำนาจจากวรรณะ “กษัตริย์” ไปสู่วรรณะ “พราหมณ์” โดยจะเห็นได้จากใน “ยุคพระเวท” เทพเจ้าสูงสุด คือ “พระอินทร์” เป็นเทพสงครามเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ เปรียบเสมือนตัวแทนของวรรณะ “กษัตริย์” แต่เมื่อมาถึง “ยุคพราหมณะ” เทพเจ้าสูงสุดถูกเปลี่ยนมาเป็น “พระพรหม” ซึ่งเปรียบเสมือนกับตัวแทนของวรรณะ “พราหมณ์” ตรงนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนขั้วอำนาจของวรรณะชั้นสูงทั้ง ๒ วรรณะ

     ไม่เพียงแต่วรรณะ “กษัตริย์” เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แม้แต่วรรณะชั้นล่างอย่าง “แพศย์” (ไวศยะ) และ “ศูทร” ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน กล่าวคือ “พราหมณ์” ได้ยกเอาเนื้อความในคัมภีร์ “ปุรุษสูกตะ” (Puruśasūkta) ซึ่งเป็นคัมภีร์ในปลายยุคพระเวท ที่มีใจความกล่าวถึงวรรณะ“พราหมณ์” ว่ามีกำเนิดมาจาก “ปาก” ของพระพรหม วรรณะ “กษัตริย์” กำเนิดจาก “แขน” วรรณะ “แพศย์” กำเนิดจาก “ต้นขา” และวรรณะ “ศูทร” กำเนิดจาก “เท้า” ของพระพรหม มาขยายผลในระบบวรรณะ เป็นการตอกย้ำให้ผู้ที่อยู่วรรณะชั้นล่าง ไม่เห็นหนทางในการเอาชนะระบบ วรรณะได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของการแบ่งชั้นวรรณะในสังคมอินเดียโบราณ “ยุคพราหมณะ” อย่างชัดเจน เป็นความรุนแรงที่มีมากกว่าใน “ยุคพระเวท”

      ใน “ยุคพราหมณะ” นี้ เราได้เห็นถึงการกำเนิดขึ้นของ “พระพรหม” เทพเจ้าที่ได้ชื่อว่า “เป็นผู้สร้างโลก” รวมถึงพัฒนาการไปสู่ “ตรีมูรติ” เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและมีอำนาจของวรรณะ “พราหมณ์” ที่อาจจะกล่าวได้ว่าอยู่เหนืออำนาจของวรรณะ “กษัตริย์” อีกทั้งยังทำให้การแบ่งชนชั้นวรรณะทวีความรุนแรงขึ้นอีกด้วย แต่ทว่าความเรืองอำนาจของ “พราหมณ์” ใน “ยุคพราหมณะ” นี้ กลับมีเหตุที่ทำให้ต้องหยุดชะงักลง จนเป็นเหตุให้แนวคิดในเรื่อง “โมกษะ” (mokṣa) มีบทบาทขึ้นมาแทนที่ โปรดติดตามตอนต่อไป...

 

การเปลี่ยนขั้วอำนาจในระบบวรรณะ

      “พระอินทร์” ผู้เป็นเทพสงคราม เสมือนตัวแทนของวรรณะ “กษัตริย์” ถูกลดความสำคัญ

    “พระพรหม” เป็นผู้สร้าง เสมือนกับตัวแทนของวรรณะ “พราหมณ์” ถูกสร้างความสำคัญแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนขั้วอำนาจของวรรณะชั้นสูงทั้ง ๒ วรรณะพราหมณ์จึงสร้างระบบต่าง ๆ เพื่อตอกย้ำให้วรรณะของตนเข้มแข็งขึ้น

วรรณะต่างๆ

   จะเห็นว่าวรรณะพราหมณ์มาจาก “ปาก” ของพระพรหมส่วนวรรณะกษัตริย์มาจาก “แขน” ซึ่งอยู่ต่ำกว่าเป็นการแสดงอำนาจที่อาจกล่าวได้ว่าวรรณะพราหมณ์อยู่สูงสุดซึ่งเป็นการสร้างอำนาจของพราหมณ์ และทำให้การแบ่งชนชั้นวรรณะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

  และหลังจากนี้จะเกิดแนวคิดเรื่อง “โมกษะ” ที่ทำให้ยุคพราหมณะต้องชะงักลง ซึ่งจะเป็นอย่างไรและเกี่ยวข้องอย่างไรกับพระพุทธศาสนา โปรดติดตามในตอนต่อไป.

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล