ฉบับที่ 66 เมษายน ปี 2551

เรื่องเร่งด่วนการศึกษาของชาติ ตอนที่ ๑

พระธรรมเทศนา

 

 

     ประเทศไทยมิใช่ประเทศเดียวที่อยู่โดดเดี่ยวลำพังในโลก การปรับตัวของโลกย่อมมีผลกระทบกระเทือนทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อประเทศไทยเช่นกัน

   ด้วยเหตุนี้ ความอยู่รอดของประเทศชาติท่ามกลางกระแสการปรับตัวของโลก จึงเป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วนของ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กับการศึกษาของชาติ ที่มีภารกิจสำคัญร่วมกัน คือการสร้างคุณภาพเ ยาวชน ของชาติให้ทันต่อ การเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นเดิมพัน

      แต่การทำงานการศึกษาในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ได้เริ่มต้นทำงานในภาวะปกติ แต่เริ่มต้นในขณะ ที่มีปัญหาตกค้าง อยู่มากมาย จนบางทีไม่รู้ว่าจะแก ้ปัญหาของใครก่อน ระหว่างครู นักเรียน หลักสูตรการศึกษา หรือว่าระบบการบริหารงาน รวมทั้งปัญหาจากภายนอก คือปัญหาสังคมที่เข้ามามีผลกระทบโดยตรงต่อระบบการศึกษาอีกด้วย

     ภารกิจด้านการศึกษาของชาติในวันนี้ จึงมิได้มีเพียงแต่การสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพมากพอต่อความอยู่รอดของ ประเทศเท่านั้น แต่ยังต้องทำงานท่าม กลางสภาพปัญหาสังคมที่เป็นมลพิษต่อการสร้างคุณภาพคนอีกด้วย

    เพราะฉะนั้น ปัญหาการศึกษาของบ้านเราจึงเป็นปัญหาที่ใครๆ ก็ส่ายหน้าและรู้สึกว่าหมดทางเยียวยาแก้ไข

ปรัชญาการศึกษาที่ใช้แก้ปัญหาได้จริงคืออะไร ?

      การแก้ปัญหาการศึกษาให้ได้ผลนั้น ต้องเริ่มต้นที่การทำความเข้าใจให้ถูกก่อนว่า การศึกษาคืออะไร จึงจะสามารถกำหนดแนวทางการทำงานได้ถูกต้อง มีความสอดคล้องต่อการสร้างคุณภาพคน
มีความสอดคล้องต่อการพัฒนาระบบการศึกษา และมีความสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาสังคมอีกด้วย

      มิฉะนั้น หากยังเข้าใจไม่ถูกว่าการศึกษาคืออะไร ย่อมมีโอกาสคิดผิด พูดผิด และทำผิดทำให้การกำหนดทิศทางการแก้ปัญหา การศึกษาไม่ชัดเจน ไม่ไปในทางเดียวกัน และที่น่ากลัวที่สุดก็คือไม่ตรงกับความเป็นจริง และนั่นย่อมกระทบกระเทือนต่อ ความอยู่รอดของประเทศไทยในอนาคตตามไปด้วย

จากการศึกษาค้นคว้าพบว่า

      การศึกษา คือ การสร้างปัญญาของคนในชาติให้มีความเข้าใจถูกในการดำเนินชีวิต มีความใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่กุศล มีศักยภาพในการรับผิดชอบตนเอง สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในระดับที่ไม่ทำลายศีลธรรมอันดีงาม ไม่ทำลายกฎหมายบ้านเมือง ไม่ทำลายวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติและมีศักยภาพในการสร้างเครือข่ายคนดีอย่างเป็นทีม เพื่อช่วยกันพัฒนาสังคมและประเทศให้อยู่รอดในสังคมโลกได้

ทั้งหมดนี้คือคำว่าการศึกษาของชาติในแนวทางที่เป็นสากลของโลก

ทำไมต้องวางปรัชญาการศึกษาเช่นนี้ ?

เพราะพื้นฐานของชีวิตคนนั้น ถูกบีบคั้นให้ก่อความผิดพลาดในชีวิตด้วย ๓ สาเหตุใหญ่ นั่นคือ

๑) คนเราเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้เพราะว่าไม่รู้ มนุษย์จึงทำความชั่ว

๒) คนเราเกิดมาพร้อมกับความทุกข์บีบคั้น เริ่มตั้งแต่ทุกข์เพราะหิว เพราะแก่ เพราะเจ็บ เพราะตาย เพราะว่าถูกความทุกข์บีบคั้น มนุษย์จึงทำความชั่ว

๓) คนเราเกิดมาพร้อมกับความกลัวตาย เพราะเมื่อความไม่รู้และความทุกข์รวมตัวกันบีบคั้นชีวิตอย่างหนักแล้ว ก็ทำให้ความกลัวตายเกิดขึ้นมาในจิตใจและเพราะว่ากลัวตาย มนุษย์จึงทำความชั่ว
       เพราะเหตุนี้ เป้าหมายการศึกษาที่แท้จริงจึงต้องมุ่งพิชิต ๓ สาเหตุปัญหานี้ให้ได้ มิฉะนั้น โลกนี้ยากจะสงบสุข การสอนให้เข้าใจผิดๆ คิดผิดๆ พูดผิดๆ และทำผิดๆ ชนิดทำความชั่วอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันก็จะดำเนินต่อไป ชีวิตมนุษย์ก็ย่อมไม่ต่างจากสัตว์โลกทั่วไป เป็นได้แค่เป็ดไก่ที่จิกตีเบียดเบียนกันเองอยู่ร่ำไป เช่นตัวใหญ่รังแกตัวเล็ก พวกมากเข่นฆ่าพวกน้อย เป็นต้น

      นั่นหมายความว่า เป้าหมายสูงสุดทางการศึกษาที่มนุษย์ทุกคนต้องการก็คือ "ปัญญา" ในการเอาชนะ ๓ เรื่องนี้
ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาทุกฝ่ายทั้งพ่อแม่ ครูอาจารย์ พระภิกษุ ภาครัฐและเอกชน และฝ่ายอื่น ๆ ต้องมาช่วยกันเติมปัญญาให้เด็กของเราสามารถเอาชนะความมืดมนใน ๓ เรื่องนี้ให้ได้

     ดังนั้น มนุษย์จึงอยู่อย่างตัวใครตัวมันไม่ได้แต่จะต้องมาช่วยกันทำเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาของโลกให้บรรลุผลสำเร็จสูงสุด นั่นคือ การได้ปัญญาที่เอาชนะความไม่รู้ ความทุกข์ และความกลัวตายออกไปจากชีวิตของมนุษย์ให้สำเร็จ แล้วคุณค่าของความเป็นมนุษย์จึงจะถูกใช้ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบ สันติสุขของโลกก็จะเกิดขึ้นด้วยปรัชญาการศึกษา ที่มีเป้าหมายสูงสุดเช่นนี้

ทำอย่างไรการศึกษาของชาติถึงจะสามารถเอาชนะความมืดมนใน ๓ เรื่องนี้ได้ ?

     ก่อนอื่น ต้องมองก่อนว่า ปัญหาทั้ง ๓ เรื่องนั้น ไม่อาจแก้เพียงลำพัง ต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้าจากหลายๆ ฝ่ายและหลายๆ ด้าน

    ผลจากการศึกษา ก็พบว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผู้ที่สามารพิชิตปัญหา ๓ เรื่องนี้ได้ มีเพียงท่านเดียว ขอย้ำว่าเพียงท่านเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของชาวพุทธซึ่งปู่ย่าตาทวดอาราธนาคำสอนของพระองค์ท่านมาเป็นศาสนาประจำชาติไทย

     พระพุทธองค์ทรงชี้แนะเรื่องการสร้างคุณภาพคนในชาติให้สามารถรักษาความอยู่รอดของประเทศไว้โดยสรุปด้วยกัน ๔ เรื่องใหญ่ และ ๔ เรื่องนี้ คือเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงศึกษาต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้ทั่วถึงและทันกับการแก้ปัญหาอย่างมากที่สุด นั่นคือ

๑) ต้องเร่งสร้างความเข้าใจถูกว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ จะเป็นสุขได้บ้างด้วยการดำเนินชีวิตตามหลักสัมมาทิฐิ ๑๐ ประการ
ซึ่งแบ่งย่อยเป็น ๓ หมวด
หมวดที่ ๑ คือ หลักการดำเนินชีวิต ๔ ประการ ได้แก่

๑.๑) ชีวิตนี้พอจะเป็นสุขได้บ้างด้วยการแบ่งปันกัน นี่คือบ่อเกิด "เมตตา" ในใจมนุษย์

๑.๒) ชีวิตนี้พอจะเป็นสุขได้บ้าง ด้วยการสงเคราะห์กัน นี่คือบ่อเกิด "กรุณา" ในใจมนุษย์

๑.๓) ชีวิตนี้พอจะเป็นสุขได้บ้าง ด้วยการยกย่องคนทำความดี นี่คือบ่อเกิด "มุทิตา" ในใจมนุษย์

๑.๔) ชีวิตนี้พอจะเป็นสุขได้บ้าง ด้วยการประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม นี่คือบ่อเกิด "อุเบกขา" ในใจมนุษย์

 

 

หมวดที่ ๒ คือ ความจริงประจำโลก ๕ ประการ ได้แก่

๑.๕) ความสุขและความทุกข์ในชีวิตปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากการดำเนินชีวิตในอดีต นี่คือบ่อเกิดปัญญาในการปรับปรุงแก้ไขชีวิตในปัจจุบัน

๑.๖) ความสุขและความทุกข์ในอนาคตเป็นผลมาจากการดำเนินชีวิตนับจากวันนี้จนไปถึงวันนั้น นี่คือบ่อเกิดปัญญาในการออกแบบพัฒนาชีวิตในอนาคต

๑.๗) การดำเนินชีวิตของแม่มีผลกระทบที่เป็นคุณและโทษต่อลูกได้ นี่คือบ่อเกิดปัญญาในการรู้พระคุณ ตอบแทนพระคุณ และประกาศพระคุณของแม่

๑.๘) การดำเนินชีวิตของพ่อมีผลกระทบที่เป็นคุณและโทษต่อลูกได้ นี่คือบ่อเกิดปัญญาในการรู้พระคุณ ตอบแทนพระคุณ และประกาศพระคุณของพ่อ

๑.๙) อย่าประมาทในการดำเนินชีวิต เพราะตายแล้วไม่สูญ ชีวิตหลังความตายในนรกและสวรรค์มีอยู่จริง กรรมดีและกรรมชั่วที่ทำไว้ไม่ได้หายไปไหน
ยังคงติดตามตัวเหมือนเงาไปตลอดเวลา นี่คือบ่อเกิดปัญญาในการเกิดความละอายบาปและกลัวบาป

หมวดที่ ๓ คือ ความสำคัญของต้นแบบศีลธรรมต่อการพ้นทุกข์ ๑ ประการ
ได้แก่

๑.๑๐) คนเราจะพ้นทุกข์ได้ ต้องเข้าไปศึกษาคำสอนจากพระอรหันต์ผู้รู้แจ้งโลกนี้โลกหน้า และขจัดทุกข์ได้หมดสิ้นแล้ว จึงจะสามารถขจัดความไม่รู้ ขจัดความทุกข์
และขจัดความกลัวได้อย่างถูกต้อง นี่คือบ่อเกิดปัญญาในการแสวงหา "ครูดี" มาเป็นต้นแบบศีลธรรมในการขจัดทุกข์ให้แก่ชีวิต

๒) ต้องสร้างความเข้าใจถูกว่า การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในโลกนี้อย่างเป็นสุข ต้องศึกษากฎเกณฑ์ประจำโลกและชีวิต ๔ ประการ ได้แก่ กฎหมายของบ้านเมือง กฎจารีตประเพณี
กฎแห่งกรรม และกฎไตรลักษณ์

๓) ต้องสร้างความเข้าใจถูกว่า "ความอยู่รอดของสังคมขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบ ๔ เรื่องใหญ่" ที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของคนทั้งประเทศ ได้แก่

๓.๑) ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อความเป็นมนุษย์ของตนเองด้วยการไม่ทำกรรมกิเลส ๔ ประการ ได้แก่ ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดปด

๓.๒) ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อความอยู่รอดของสังคมด้วยความไม่ลำเอียง ๔ ประการ ได้แก่ ไม่ลำเอียงเพราะรัก ไม่ลำเอียงเพราะชัง ไม่ลำเอียงเพราะกลัว ไม่ลำเอียงเพราะโง่

๓.๓) ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อความอยู่รอดของเศรษฐกิจด้วยการอุดรูรั่วจากอบายมุข ๖ ประการ ได้แก่ ไม่ดื่มสุรา ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่หมกมุ่นในกาม ไม่เล่นการพนัน
ไม่คบคนชั่วเป็นมิตร ไม่เกียจคร้านการงาน

๓.๔) ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อความอยู่รอดของครอบครัวและชุมชนด้วยการสร้างเครือข่ายคนดีและทำหน้าที่ประจำทิศ ๖

๔) ต้องสร้างความเข้าใจถูกว่า คนดีจะเกิดขึ้นในวงศ์ตระกูลได้ ทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกันดูแล "ห้าห้องชีวิต" ไม่ให้มีมลพิษต่อจิตใจ ได้แก่ ห้องนอนห้องน้ำ ห้องแต่งตัว ห้องครัว ห้องทำงาน เพราะทั้งห้าห้องนี้คือแหล่งเพาะแนวคิดการดำเนินชีวิตและนิสัยดี-ชั่วของมนุษย์

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล