ฉบับที่ 52 กุมภาพันธ์ ปี 2550

หลวงพ่อตอบปัญหา :เส้นทางเศรษฐี (ตอนที่ ๑)

พระธรรมเทศนา

 

 

       เรื่องที่จะเทศน์ในวันนี้ เป็นพระสูตรที่สอนให้รู้จักตั้งเนื้อตั้งตัว สอนให้รู้จักการตั้งเป้าหมายชีวิตที่ถูกต้องตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง ตรง ตามวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ อีกทั้งประสบความสำเร็จสูงสุดตามที่ใจปรารถนาทั้งในชาตินี้และภพชาติต่อๆ ไป

             พระสูตรนี้ชื่อว่า ฑีฆชาณุสูตร เป็นพระสูตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับฑีฆชาณุ ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ใช้ชีวิตครองเรือนเหมือนพวกเรานี่แหละ แต่มีพื้นฐานนิสัยเป็นคนใฝ่ดี นอกจากจะตั้งหน้าตั้งตาประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงครอบครัวแล้ว ก็ยังมีความตั้งใจที่จะปรับปรุงชีวิตให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิมอีก ดังนั้น เมื่อได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้กราบทูล ถามถึงหลักธรรมสำหรับบุคคลผู้ปรารถนาจะใช้ชีวิต ให้มีความสุขทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งภพนี้และภพชาติต่อๆ ไป

เส้นทางเศรษฐี

ธรรมะจะเป็นมงคลต่อชีวิตเมื่อลงมือปฏิบัติ

  พระพุทธองค์ทรงแสดงพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการ ซึ่งเป็นหัวข้อธรรมที่จะเป็นเหตุให้มีความสุขในชาตินี้ เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ได้แก่

            ๑. อุฏฐานสัมปทา แปลว่า ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ การหาทรัพย์เป็น ซึ่งต้องประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ

                        ๑ เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานที่ทำ

                        ๒ จะทำการสิ่งใด ต้องประกอบด้วยปัญญาพิจารณา เพื่อที่จะทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ปัญญาในที่นี้มีความหมาย ๒ นัยด้วยกัน คือ ความฉลาดในการทำงานหรือในสาขาอาชีพนั้นๆ และความฉลาดในเรื่องศีลธรรม

            ๒. อารักขสัมปทา แปลว่า ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ การเก็บเป็น จุดเริ่มต้นของการเก็บเป็น คือ การรู้จักการสะสม การออม รู้จักคุณค่าของเงิน
            ขั้นต่อมา คือ ต้องรู้จักหาทางป้องกันทรัพย์จากภัยต่างๆ ซึ่งภัยของทรัพย์ มาจาก ๒ ทางหลัก คือ

                        ๑. ภัยจากคน ทั้งจากคนใกล้ตัวและคนไกลตัว

                        ๒. ภัยจากธรรมชาติ
        นอกจากนี้การเก็บเป็นยังรวมไปถึงการใช้ของอย่างทนุถนอม รู้จักรักษาให้ข้าวของมีอายุ การใช้งานที่ยาวนานอีกด้วย อีกทั้งของหายก็ต้องหา ของเสียก็ต้องซ่อม ไม่อย่างนั้นก็จนไปทั้งชาติ

            ๓. กัลยาณมิตตตา แปลว่า ถึงพร้อมด้วยความเป็นผู้มีมิตรดี คือ การสร้างเครือข่ายคนดีเป็น หากรักจะยืนหยัดอยู่ในโลกกว้างอย่างมั่นคงแล้ว ก่อนอื่นต้องสร้างธาตุแห่งความเป็นคนดีขึ้นมาในตัวก่อน แล้วจึงสร้างเครือข่ายคนดีขึ้นมาเป็นวงจรตามลำดับ
การสร้างเครือข่ายคนดีมี ๓ ขั้นตอนด้วยกัน คือ

            ขั้นที่ ๑ รู้จักวางตัวให้เหมาะสม เช่น พิจารณาให้ดีว่า ขณะนั้นตัวเราอยู่ในสังคมใด อยู่ในฐานะใด มีตำแหน่งหรือบทบาทหน้าที่อะไร เช่น ถ้าเป็นพ่อก็ต้องวางตัวให้สมกับที่เป็นพ่อ เป็นเพื่อนก็วางตัวให้สมกับที่เป็นเพื่อน

         ขั้นที่ ๒ ซึมซับเอาศีลธรรมมาจากคนดีที่อยู่รอบตัวเราในสังคมนั้นๆ โดยการหมั่นเข้าไปสนทนา ซักถาม หมั่นคอยสังเกตผู้ที่ถึงพร้อมด้วยคุณความดี เหล่านี้ เพื่อจะได้ซึมซับและถ่ายทอดเอาความรู้ ความดีจากบุคคลเหล่านั้นมาสู่ตัวเรา

            ขั้นที่ ๓ ถ่ายทอดความรู้และความดีของเราไปสู่ผู้อื่นที่อยู่แวดล้อมรอบด้าน 

      ๔. สมชีวิตา แปลว่า ถึงพร้อมด้วยความเป็นอยู่ที่เหมาะสม คือ การใช้ทรัพย์เป็นนั้น จะต้องมีความรู้ในเรื่องทางเจริญแห่งโภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ เพื่อจะได้หาทางทำทรัพย์ที่มีอยู่ให้เจริญ งอกเงยเพิ่มขึ้น และทางใดที่จะทำให้ทรัพย์ที่มีอยู่เสื่อมไป ก็จะได้วางแผนป้องกันไว้ล่วงหน้า รวมไปถึงการรู้จักเลี้ยงชีพอย่างพอเหมาะพอสม ไม่ให้ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย และไม่ให้ขัดสนฝืดเคือง
ทางเสื่อมของทรัพย์ ๔ ประการ ได้แก่
                   
     ๑. เป็นนักเลงหญิง                  ๒. เป็นนักเลงสุรา

    ๓. เป็นนักเลงการพนัน              ๔. เป็นผู้มีมิตรชั่ว สหายชั่ว มีเพื่อนชั่ว

            ในบรรดา ๔ ข้อนี้ สิ่งที่นำมาซึ่งความเสื่อมมากที่สุด คือ การคบคนชั่วเป็นมิตร เพราะจะทำให้ ความเสื่อมทุกๆ อย่างตามมา
ทางเจริญของทรัพย์ ๔ ประการ ได้แก่

      ๑. ไม่เป็นนักเลงหญิง             ๒. ไม่เป็นนักเลงสุรา

     ๓. ไม่เป็นนักเลงการพนัน         ๔. เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
 
 


           ตามประเพณีไทย เมื่อจะทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ พระท่านมักจะให้ยันต์ ไว้ติดตามประตูบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล ของผู้อยู่อาศัย ซึ่งวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ของคนรุ่นปู่ย่าตายาย ที่ทำยันต์ขึ้นมานั้น ก็เพื่อต้องการให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้นำหัวข้อธรรม ย่อๆ ที่เขียนไว้ในยันต์ นั่นคือ อุ อา กะ สะ ไปขบคิด ไตร่ตรอง เพื่อจะได้นำไปเป็นข้อปฏิบัติที่จะนำพาให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง ไม่ใช่มีไว้กราบไหว้บูชา เพียงอย่างเดียว แล้วหวังจะให้ตนเองร่ำรวยขึ้นมา ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นจะเกิดเป็นมงคลต่อชีวิต ก็ต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติ หากอยากรวย และประสบความสำเร็จในชีวิต ก็ต้องประกอบเหตุแห่งความร่ำรวยขึ้นมาด้วยตัวเราเอง ตามหลักธรรม และแนวทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้สอน เอาไว้..

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล