ฉบับที่ 99 มกราคม ปี2554

วิวัฒนาการการสร้างวัด ตอนที่ ๓

พระธรรมเทศนา

 



 

"วิวัฒนาการการสร้างวัด"

เรียบเรียงจากโอวาทพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

ตอนที่ ๓

อัมพาฏกวัน
พุทธอารามเพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

          ในสมัยยุคต้นพุทธกาล จิตตคฤหบดี ชาวเมืองมัจฉิกาสัณฑะ แคว้นมคธ ได้พบเห็น ท่านพระมหานามะ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระภิกษุปัญจวัคคีย์ (กลุ่มบรรพชิตห้ารูปแรกที่ได้รับการประทานการบวชในพระพุทธศาสนาจากพระบรมศาสดาโดยตรง) กำลังเดินบิณฑบาต ด้วยปฏิปทาสงบเสงี่ยม อินทรีย์ผ่องใส ทำให้จิตตคฤหบดีเกิดความศรัทธา ขอรับบาตรจากท่าน และนิมนต์ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตน

          เมื่อพระเถระฉันเสร็จแล้ว ได้เห็นอุปนิสัยแห่งการบรรลุธรรมของจิตตคฤหบดี จึงแสดงธรรมให้ฟัง หลังจบพระธรรมเทศนา จิตตคฤหบดีได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน จึงปรารถนาจะถวายอุทยาน "อัมพาฏกวัน" หรือสวนมะม่วงของตนให้เป็นสังฆาราม ในขณะที่หลั่งน้ำมอบถวายอารามลงในมือพระเถระนั้น แผ่นดินถึงกับสะเทือนหวั่นไหว เป็น การบอกเหตุให้รู้ว่า "พระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่นแล้ว" เพราะในยุคต้นพุทธกาลนั้น ยังขาดแคลนวัดในพระพุทธศาสนาอยู่เป็นจำนวนมาก

          หลังจากนั้น จิตตคฤหบดีได้นิมนต์ให้พระเถระมารับบาตรอยู่เป็นนิจ จึงก่อสร้างวิหารใหญ่และที่อยู่อาศัยถวายแด่พระภิกษุที่เดินทางมาจากทิศทั้งปวง

          ต่อมาพระอัครสาวกทั้งสอง คือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ได้ยินข่าวเรื่องการถวายอุทยานเป็นสังฆารามของท่าน จึงเดินทางมาพร้อมกับพระภิกษุอีก ๑,๐๐๐ รูป เพื่อสงเคราะห์ท่านด้วยเนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่ เมื่อจิตตคฤหบดีทราบข่าว ก็รีบออกไปต้อนรับ ตั้งแต่หนทางกึ่งโยชน์ หรือ ๘ กิโลเมตร (๑ โยชน์เท่ากับ ๑๖ กิโลเมตร) หลังจากต้อนรับปฏิสันถารพระอัครสาวกทั้งสองแล้ว ก็นิมนต์ท่านพักในวิหาร และวิงวอนขอฟังธรรม พระสารีบุตรก็อนุเคราะห์ด้วยการเทศน์สั้น ๆ ไม่กี่คำ ท่านคฤหบดีก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี และนิมนต์พระอัครสาวกทั้งสองพร้อมด้วยภิกษุทั้งหมดไปฉันภัตตาหารที่บ้าน ของตนในวันรุ่งขึ้น ชื่อเสียงของอัมพาฏกวันก็เป็นที่รู้จักเลื่องลือในหมู่สงฆ์และชาวพุทธ ยิ่งขึ้นกว่าเดิม

          ต่อมา เมื่อจำนวนชาวพุทธเพิ่มมากขึ้นแล้ว ท่านต้องการจะเดินทางข้ามแคว้นมคธ ไปเฝ้าพระบรมศาสดา ณ วิหารเชตวัน แคว้นโกศล ปรากฏว่า ในขบวนเกวียน ๕๐๐ เล่ม ที่บรรทุกเสบียงไว้เต็มนั้น มีพุทธบริษัท ๔ ใหม่ ที่ยังไม่เคยเข้าเฝ้าพระบรมศาสดามาก่อนถึง ๓,๐๐๐ คน ได้แก่ ภิกษุ ๕๐๐ รูป ภิกษุณี ๕๐๐ รูป อุบาสก ๕๐๐ คน อุบาสิกา ๕๐๐ คน และบริวารอีก ๑,๐๐๐ คน จำนวนพุทธบริษัท ๔ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ เป็นผล มาจากการสร้างวัดอัมพาฏกวันนั่นเอง

          เมื่อกลับจากการเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาแล้ว ชื่อเสียงของท่านคฤหบดีก็เป็นที่เลื่องลือ ไปทั่วทุกแคว้น วัดอัมพาฏกวันจึงกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาประจำท้องถิ่นที่โด่งดัง ทำให้ มีพระภิกษุจากต่างถิ่นเดินทางไปพำนักที่นั่นไม่ขาดสาย ส่งผลให้ที่นั่นไม่เคยขาดแคลนครูสอนศีลธรรมแม้แต่วันเดียว ชาวบ้านจึงได้ฟังธรรมอย่างเต็มอิ่มจากพระอรหันต์ต่างถิ่นอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ ส่งผลให้พระภิกษุในท้องถิ่นเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและมีผู้บรรลุ ธรรมตามมาเป็นอันมาก ต่อจากนั้นไม่นาน วัดอัมพาฏกวัน จึงกลายเป็น "พุทธอารามเพื่อการศึกษาของผู้คนในท้องถิ่น" และ "ชุมทางพระอรหันต์ที่จะเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์" ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วแผ่นดินไปโดยปริยาย

          ดังเช่นตัวอย่างของ "พระอิสิทัตตะ" ซึ่งก่อนบวช ท่านเป็นบุตรของนายกองเกวียนอยู่ที่หมู่บ้านวัฑคาม แคว้นอวันตี เป็นอทิฏฐสหาย (สหายที่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน) กับจิตตคฤหบดี หลังจากได้อ่านจดหมายพรรณนาพระพุทธคุณที่สหายส่งมาให้แล้ว ก็เกิด หศรัทธาแรงกล้า ตัดสินใจออกบวชในสำนักของพระมหากัจจายนะ (พระอรหันต์เถระผู้เลิศ ด้วยการอธิบายธรรม) บำเพ็ญเพียรไม่นานนัก ก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ หลังจากนั้น ท่านต้องการไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา จึงเดินทางไปที่วัดอัมพาฏกวัน ซึ่งเป็นทางผ่านไปกรุงราชคฤห์ ขณะพำนักอยู่ที่นั่น ท่านได้ตอบปัญหาธรรมะของจิตตคฤหบดีให้เป็นที่แจ่มชัด สร้างความพึงพอใจแก่หมู่สงฆ์ยิ่งนัก หลังจากซักถามประวัติกันแล้ว เมื่อจิตตคฤหบดีได้ทราบว่าท่านคืออทิฏฐสหายที่ออกบวชเพราะได้รับจดหมายข่าวของตน ก็ปีติยิ่งนักและ ได้อาราธนาให้ท่านอยู่ประจำที่วัดนั้น พระเถระกล่าวอนุโมทนาต่อคำเชิญของจิตตคฤหบดี แล้วก็เก็บสัมภาระส่วนตัว เดินทางมุ่งหน้าไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาตามความประสงค์ต่อไป

          เรื่องราวในทำนองเดียวกับพระอิสิทัตตะนี้ มีบันทึกไว้ในคัมภีร์อีกหลายรูปหลายคณะ เช่น พระอรหันต์ที่เป็นพระเถราจารย์ประจำอยู่ที่นั่น พระอรหันต์ที่เดินทางเพียงลำพังเพื่อไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระอรหันต์ที่เดินทางไปเผยแผ่ต่างแคว้น หรือพระภิกษุผู้ปรารภ ความเพียร ซึ่งไม่ว่าพระอรหันต์จะเดินทางไปพำนักที่อัมพาฏกวันจำนวนกี่รูปก็ตาม จิตตคฤหบดีก็ทำหน้าที่ของอุบาสก ให้การต้อนรับอุปัฏฐากดูแลด้วยปัจจัย ๔ อย่างดีเยี่ยม โดยไม่ขาดตกบกพร่อง อีกทั้งยังอาราธนาให้พระอรหันต์เถระแสดงธรรมตามที่ได้บรรลุให้ประชาชนฟังอยู่เสมออีกด้วย ทำให้จำนวนชาวพุทธเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

          ดังนั้น การศึกษาเรื่องราวของ วัดอัมพาฏกวัน ทำให้เห็นภาพการเจริญเติบโตของ พระพุทธศาสนาจากจุดหนึ่งขยายตัวไปสู่อีกหลาย ๆ จุดได้อย่างชัดเจน นั่นคือ การ เริ่มต้นจากศรัทธาของ "จิตตคฤหบดี" ที่มีต่อ "พระมหานามะ" ได้นำไปสู่การถวายอุทยาน เป็นสังฆาราม ก่อกำเนิด "วัดเพื่อการศึกษาประจำท้องถิ่น" หลังจากนั้น ได้กลายเป็น "ศูนย์ผลิตธรรมทายาท" ให้เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา ก่อนจะกลายมาเป็น "ชุมทางพระอรหันต์" ไปโดยปริยาย

          ด้วยฝีมือการพัฒนาวัดเช่นนี้เอง พระบรมศาสดาจึงทรงประกาศยกย่องท่านไว้ในฐานะของ "อุบาสกผู้เลิศด้วยการแสดงธรรม" นับเป็นเกียรติประวัติสูงสุดในชีวิตของท่าน ชาวพุทธทุกแว่นแคว้นจึงยึดเอาจิตตคฤหบดีเป็นบุคคลต้นแบบในการเลี้ยงดูบุตรหลาน เพื่อช่วยกันสร้าง "ชาวพุทธรุ่นใหม่" ให้มีความสามารถใน "การสร้าง-บริหาร-ดูแลรักษาวัด" ที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตนให้กลายเป็น วัดเพื่อการศึกษาอันเป็นสถานที่ชุมนุมของ "พระอรหันต์ทั่วสารทิศ" เหมือนกับวัดอัมพาฏกวันของจิตตคฤหบดี อุบาสกผู้เลิศด้วยการแสดงธรรม นั่นเอง

          ๓. วัดเพื่อการบรรลุธรรม

          วัดเพื่อการบรรลุธรรม โบราณเรียกว่า "อรัญวาสี" หรือ "วัดป่า" หมายถึง วัดที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็น "สถานที่บำเพ็ญภาวนาในป่า" มีบรรยากาศเงียบสงบ ร่มรื่น มีสถานที่หลีกเร้นเหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนาอยู่ในป่าตลอดทั้งกลางวันทั้งกลางคืน

          คำว่า อรัญวาสี (อะ-รัน-ยะ-วา-สี) ในพจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสตร์ฉบับ คำวัด ของ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) ได้ให้ความหมายไว้ว่า

          อรัญวาสี แปลว่า ผู้อยู่ในป่า ผู้อยู่ประจำในป่า

          อรัญวาสี เป็นชื่อเรียกคณะสงฆ์โบราณคณะหนึ่ง ซึ่งตั้งวัดอยู่ในป่าห่างชุมชน เรียกว่า คณะอรัญวาสี คู่กับคณะคามวาสี ซึ่งตั้งวัดอยู่ในชุมชน

         อรัญวาสี ปัจจุบันหมายถึง ภิกษุที่พำนักอยู่ในป่าหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า พระป่า ซึ่งมีกิจวัตรประจำเน้นหนักไปในทางวิปัสสนาธุระคืออบรมจิต เจริญปัญญา นุ่งห่มด้วยผ้าสีปอนหรือสีกรัก มุ่งการปฏิบัติธรรมและการเผยแผ่เป็นหลัก ไม่เน้นงานด้านการบริหารปกครอง การศึกษาพระปริยัติธรรม และสาธารณูปการหรือการก่อสร้างพัฒนาวัด

           วัตถุประสงค์หลักของการสร้างวัดป่า คือ

          ๑. เพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญภาวนาของพระภิกษุผู้ยังไม่สิ้นอาสวกิเลส
          ๒. เพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญเพียรของพระภิกษุที่ถือธุดงควัตรตลอดชีวิต
          ๓. เพื่อเป็นสถานที่จำพรรษาของพระอรหันต์ที่เดินทางไปเผยแผ่ในต่างแคว้น (ดินแดนที่ยังไม่มีศรัทธาบังเกิดขึ้น)
          ๔. เพื่อเป็นสถานที่หลีกเร้นบำเพ็ญภาวนาของพระอรหันต์ผู้บริหารการคณะสงฆ์

          สำหรับวัตถุประสงค์ข้อที่ ๔ นั้น แม้แต่พระบรมศาสดาและพระอรหันต์เถระในครั้งพุทธกาล ก็ยังต้องหลีกเร้นความวุ่นวายไปอยู่ในป่าตามลำพังเช่นกัน ทั้งนี้เพราะงานบริหาร การคณะสงฆ์ เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการประชุมและการต้อนรับแขกตลอดทั้งวันและต่อเนื่อง นับแรมเดือนแรมปี ซึ่งมักต้องเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความดื้อด้านเอาแต่ใจของมนุษย์ ที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ ซึ่งมีมากมายหลายกลุ่ม

           การตรากตรำกรำงานโดยไม่มีเวลาพักอย่างคนทั่วไป เพราะต้องเร่งทำงานให้ทันกับความต้องการของส่วนรวมเป็นใหญ่ ทำให้ร่างกายเกิดอาการสะสมสารพิษตกค้างโดยไม่รู้ตัว กว่าจะรู้อีกทีก็ล้มป่วยเสียแล้ว ซึ่งมีสาเหตุใหญ่ ๒ ประการ ได้แก่

           ๑. อายุสังขารที่ร่วงโรยไปตามวัย
          ๒. อิริยาบถ ๔ ไม่สมดุลตลอดทั้งวัน เช่น นั่ง นอน ยืน เดินไม่สมดุล

          ดังนั้น การได้หลีกเร้นออกไปบำเพ็ญภาวนา จะช่วยให้จิตใจมีความบริสุทธิ์เป็นพิเศษ ร่างกายมีความสะอาดเป็นพิเศษ ในคัมภีร์มีบันทึกไว้ว่า เลือดของคนเราจะบริสุทธิ์ได้ ก็ต่อเมื่อใจบริสุทธิ์ ๑ เมื่อเลือดบริสุทธิ์ อินทรีย์ (ร่างกาย) ก็จะผ่องใส เพราะมีเวลาให้ร่างกายกำจัดสารพิษตกค้างให้หมดไปและฟื้นฟูความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าให้กลับคืนมาอีกครั้ง สังขารก็จะยืดอายุการใช้งานออกไปได้อีกหลายปี การประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคง ก็จะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในระยะยาวมากยิ่งขึ้น

          การสร้างวัดป่า มักนิยมสร้างเป็นกุฏิที่พักขนาดเล็ก พอใช้กันแดดกันลมกันฝน อยู่จำพรรษาได้ ตั้งอยู่ในป่าใกล้เชิงเขา บางแห่งก็สร้างถวายเป็นวิหารที่พักไว้ในป่าใหญ่ บางแห่งไม่มีการสร้างอาคาร แต่อาศัยอยู่ในถ้ำ ซอกเขา เงื้อมเขาแทนกุฏิหรือวิหาร

          ในสมัยพุทธกาลนั้น บุคคลที่สร้างวัดป่าส่วนใหญ่ได้แก่ "หัวหน้าหมู่บ้าน" หรือ "ชาวบ้านที่มีศรัทธา" ถ้าเป็นหัวหน้าหมู่บ้านก็จะใช้กำลังทรัพย์และกำลังบริวารของตัวเอง เป็นเรี่ยวแรงในการสร้างวิหารไว้ในป่า จากนั้นก็จะนำปัจจัย ๔ ไปถวายอุปัฏฐากพระภิกษุ ถึงที่วัดตลอดทั้งพรรษา แต่ถ้าเป็นชาวบ้านก็จะอาศัยกำลังของตัวเองเพียงลำพังในการสร้างกุฏิที่พักไว้ในป่า จากนั้นจะนิมนต์ให้ไปรับบิณฑบาตที่บ้านในเวลาเช้า บางคนก็นิมนต์ พระภิกษุให้ฉันที่บ้าน บางคนก็ใส่บาตรให้พระภิกษุนำกลับไปฉันที่วัด หลังจากพระภิกษุฉันเสร็จแล้ว ก็จะนั่งบำเพ็ญภาวนาในที่หลีกเร้นตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน บรรยากาศ ในวัดป่า จึงไม่มีการประชุมรวมคนในหมู่บ้านเพื่อทำบุญและฟังธรรม มีแต่บรรยากาศของ การบำเพ็ญภาวนาอย่างเงียบสงบตลอดวัน เพราะพระภิกษุต้องการใช้วันเวลาในวัดป่าตลอด ทั้งพรรษา ให้หมดไปกับการกำจัดอาสวกิเลสภายในให้หมดสิ้นไปอย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งเป็น วัตถุประสงค์ของการไปจำพรรษาอยู่ในป่านั่นเอง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล