ฉบับที่ 118 สิงหาคม ปี2555

ขันติบารมี ตบะธรรมนำสู่นิพพาน

ปกิณกธรรม

เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙ /

ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์

 

 

ขันติบารมี ตบะธรรมนำสู่นิพพาน

         "ท่านจงอดทนต่อคำยกย่อง และคำดูหมิ่นทั้งปวง เปรียบเหมือน..แผ่นดินอดทนต่อสิ่งที่เขาทิ้งลงทุกอย่าง ทั้งสะอาดและไม่สะอาด ไม่แสดงความยินดียินร้าย บำเพ้ญขันติบารมีก้จักบรรลุสัมโพธิญาณได้"

          ความอดทนเป็นอาวุธที่ทรงพลังในการต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะต้องอดทนต่อความลำบาก ตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนาเจ็บไข้ได้ป่วย อดทน ต่อการกระทบกระทั่งกัน ซึ่งเราอาจอดทนต่อถ้อยคำ ของคนที่เป็นใหญ่กว่าได้เพราะกลัว อดทนต่อถ้อยคำ ของคนเสมอกันเพราะอาศัยการแข่งดี ส่วนการอดทน ต่อถ้อยคำของผู้ต่ำกว่าได้ ถือเป็นความอดทนสูงสุด ที่สำคัญต้องอดทนต่อกิเลสเย้ายวนใจ แล้วในที่สุดความอดทนที่สั่งสมมาดีจะกลายเป็นตบะธรรม แก่กล้าเผาผลาญทรมานกิเลสภายในใจให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

          ในอดีตกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ ชื่อว่า "กุณฑลกุมาร" ท่านศึกษาเล่าเรียนจนแตกฉานในศิลปะทุกอย่าง พอบิดามารดาละโลกไปแล้ว ท่านก็ได้ พิจารณาดูกองมรดก จึงเห็นว่า สมบัติที่พ่อแม่และ หมู่ญาติหามาได้ ก็ใช้ได้เฉพาะในภพชาตินี้เท่านั้น ไม่มีใครนำติดตัวไปในปรโลกได้เลย และแล้วท่าน จึงตัดสินใจเปิดคลังสมบัติทั้งหมดบริจาคมหาทานตลอด ๗ วัน จากนั้นก็เข้าป่าหิมพานต์ เพื่อไปบวชเป็นฤๅษี พอบวชแล้วได้ชื่อใหม่ว่า "ขันติวาทีดาบส" บำเพ็ญตบะอยู่ตามลำพัง

 

 

          วันหนึ่งท่านออกจากป่าเข้าไปเที่ยวภิกขาจารในกรุงพาราณสี เสนาบดีท่านหนึ่งเห็นกิริยาอาการของท่านแล้ว บังเกิดความเลื่อมใส จึงน้อมถวาย ภัตตาหารด้วยความเคารพ และถือโอกาสอาราธนา ท่านให้พักอยู่ในพระราชอุทยาน อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้ากลาปุทรงดื่มน้ำจัณฑ์จนมึนเมาในพระราชอุทยาน แล้วทรงบรรทมบนตักของสนมคนโปรด นางหนึ่ง ส่วนพวกหญิงนักฟ้อนคนอื่น ๆ ก็พากันขับร้องให้พระองค์บันเทิงสำราญพระทัย

          พอพระเจ้ากลาปุบรรทมหลับไป พวกหญิงนักฟ้อนก็ชวนกันไปเดินเล่นในสวน เผอิญได้พบฤาษีโพธิสัตว์ จึงชักชวนกันไปฟังธรรม ในขณะที่พวก นางกำลังฟังธรรมอยู่นั้น พระราชาก็ทรงตื่นบรรทม เพราะนางสนมคนโปรดที่ทรงหนุนตักขยับตัว เมื่อทรงตื่นแล้วไม่เห็นนางสนมเหล่านั้น ก็ทรงพิโรธมาก ทรงถือพระขรรค์เสด็จไปหาพระดาบสด้วยความโกรธ หมายจะตัดหัว เมื่อไปถึงก็ตรัสถามว่า ท่านดาบส ท่านมีปกติสรรเสริญคุณธรรมอะไร พระดาบสทูลว่า มหาบพิตร อาตมาเป็นขันติวาทะ กล่าวยกย่องขันติธรรม พระราชาตรัสถามต่อว่า ที่ชื่อว่าขันตินั้นคืออะไร

 

 

          พระดาบสตอบว่า "ขันติก็คือความไม่โกรธ ไม่ผูกพยาบาท แม้มีใครมาประทุษร้ายก็รักษาจิตให้สงบ ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่มากระทบ" พระราชาได้ ฟังดังนั้น จึงตรัสว่า ประเดี๋ยวเถอะ เราจะได้เห็นขันติของท่าน แล้วรับสั่งให้เรียกเพชฌฆาตมาเพชฌฆาตเดินถือขวาน แซ่หนาม และสวมพวงมาลัยแดง เมื่อมาถึง พระราชาตรัสรับสั่งว่า เจ้าจงจับดาบสนี้ให้นอนคว่ำลงกับพื้น แล้วเอาแซ่หนาม เฆี่ยนตามตัว ๒,๐๐๐ ครั้ง เพชฌฆาตก็ทำตามรับสั่ง พระดาบสมิได้คิดประทุษร้ายต่อเพชฌฆาตเลย เพราะท่านหวังจะเพิ่มขันติบารมี เนื้อหนังของพระโพธิสัตว์ ขาดแหว่งไปทั่ว โลหิตไหลเนืองนอง เจ็บปวดทรมาน แสนสาหัส แต่ท่านก็ไม่ปริปากโอดครวญ

          พระราชาตรัสถามซํ้าอีกว่า ท่านดาบส ท่านยังยกย่องอะไรอีก พระโพธิสัตว์ก็ทูลยืนยันตามเดิมว่า มหาบพิตร อาตมายกย่องขันติธรรม ขันติไม่ได้อยู่ที่ผิวหนังหรอก ขันติของอาตมาอยู่ภายในใจ แม้พระองค์ก็ไม่อาจแลเห็นได้ พระราชาทรงกริ้วมาก จึงรับสั่งให้เพชฌฆาตตัดมือทั้งสองข้างของดาบส เพชฌฆาตก็ใช้ขวานตัดมือทั้งสองข้าง จากนั้นก็ตัดที่ข้อเท้าทั้งสอง โลหิตสด ๆ ไหลออกจากปลาย ข้อมือและข้อเท้าเหมือนสายน้ำที่รั่วไหลออกจากท่อ พระราชาตรัสถามอีกว่า "ขันติท่านอยู่ตรงไหน" พระโพธิสัตว์ก็ยังทูลเหมือนเดิมว่า "ขันติอยู่ที่ใจ แต่ พระองค์สำคัญว่าขันติมีอยู่ที่ปลายมือปลายเท้าของ อาตมา ขันติไม่ได้อยู่ตรงนี้ เพราะขันติของอาตมาตั้งอยู่ภายในใจ ที่ลึกซึ้งเกินกว่าพระองค์จะเข้าพระทัยได้"

          จากนั้นพระราชาตรัสสั่งให้เพชฌฆาตตัดหูและจมูกพระโพธิสัตว์ ทำให้ทั่วทั้งร่างกายมีแต่โลหิต ไหลเจิ่งนองไม่หยุด แม้จะได้รับทุกข์ทรมานปางตาย แต่พระดาบสก็ไม่ยอมโต้ตอบ เพราะปรารถนาจะเพิ่มพูนขันติบารมี ฝ่ายพระราชาเมื่อไม่สาแก่พระทัย จึงตรัสประชดประชันว่า ท่านผู้เดียวจงยกย่องเชิดชู ขันติธรรมต่อไปเถอะ แล้วเอาพระบาทกระทืบยอดอกพระดาบส แล้วเสด็จจากไปอย่างไม่ไยดี

          เมื่อพระราชาเสด็จไปแล้ว ท่านเสนาบดีเกรงว่า พระดาบสผู้มีฤทธานุภาพจะโกรธ และอาจบันดาลให้เมืองทั้งเมืองพังพินาศไปได้ จึงรีบเข้ามาเช็ดเลือด และประคองร่างของพระโพธิสัตว์ เก็บรวบรวมอวัยวะ ต่าง ๆ แล้วขอให้ท่านได้อดโทษต่อพระราชาและ ทุก ๆ คน พระโพธิสัตว์ผู้มีมหากรุณาอยู่แล้วจึงบอกว่า "พระราชาพระองค์ใดรับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของเรา ขอพระองค์จงทรงพระชนม์ยั่งยืน นาน ทรงพระเกษมสำราญยิ่ง ๆ ขึ้นไป อาตมภาพ ไม่มีความโกรธเคืองในพระราชาแม้เพียงเล็กน้อย ขอพระองค์ทรงพระเจริญเถิด"

 

 

          ฝ่ายพระราชาเมื่อเสด็จไปลับตาพระโพธิสัตว์เท่านั้น มหาปฐพีซึ่งหนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ ก็ไม่สามารถจะรองรับกรรมหนักของพระราชาได้ จึงแยกตัวออก เปลวไฟจากอเวจีมหานรกก็แลบออกมา เผาไหม้พระองค์ และทรงถูกธรณีสูบลงไปเสวยวิบากกรรมในอเวจีมหานรกทันที ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตในวันนั้นเอง ขันติของ ท่านในครั้งนั้น เป็น ขันติปรมัตถบารมี เพราะแม้ ถูกเบียดเบียนถึงชีวิต ก็อดทนไม่โกรธตอบ

          เราจะเห็นว่า กว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าเพื่อนำตนและสรรพสัตว์ไปสู่ฝั่งนิพพาน ต้องอาศัยขันติธรรมเป็นอย่างมาก คำว่า ขันติ ต้องเป็นความ อดทนด้วยจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น เช่น แม้ถูกเบียดเบียน ก็ไม่โกรธ ไม่ทำร้ายตอบ แต่รักษาใจเป็นปกติ ไม่ขุ่นเคือง และมีเมตตา ส่วนการนิ่งเงียบ ไม่โต้ตอบ แต่ภายในใจแค้นเคืองลุกเป็นไฟเพื่อรอตอบโต้ภายหลัง อย่างนี้ไม่จัดเป็นขันติ เพราะถือว่า จิตยังเจือด้วยอกุศลอยู่

ขันติ..ความอดทน เป็นตบะอย่างยิ่ง

          ขันติความอดทนเป็นเครื่องเผากิเลส เมื่อ ความโลภหรือราคะบังเกิดขึ้น ต้องอดใจหนักแน่น ไม่หวั่นไหว ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจ หรือหากความโกรธ เกิดขึ้น ก็ต้องหยุดมันให้ได้ อดทนอดกลั้นไว้ หาก ความอดทนมีกำลังแรงกว่า ก็จะทำให้กิเลสดับหาย ไปได้ เหมือนถูกไฟเผามอดไป ขันติจึงถูกเรียกว่า ตบะ เครื่องดับเผากิเลสนั่นเอง อดทน..เมื่อถูก ประทุษร้าย อดใจ..เมื่อถูกกิเลสเย้ายวน

พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทรงสรรเสริญ ขันติธรรมว่าเป็นเลิศ เป็นพื้นฐานให้เกิดคุณธรรม คือ ศีล สมาธิ กุศลธรรมทุกอย่างจะเจริญขึ้นมาได้ ก็เพราะอาศัยขันติ ผู้มีขันติธรรมได้ชื่อว่าเป็นผู้ย่างขึ้นสู่หนทางสวรรค์และนิพพาน และพระพุทธองค์ยังทรงสรรเสริญอีกว่า ยกเว้นปัญญาแล้ว เราตถาคต สรรเสริญว่าขันติเป็นเลิศ ดังนั้นเมื่อทราบอย่างนี้แล้ว เราจะต้องสั่งสมขันติบารมีให้มากเข้าไว้ เพื่อเป็นตบะ เผาผลาญทรมานกิเลสภายในตัว จนกว่ากิเลสจะดับ มอดจนสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษให้จงได้

"ผู้มีขันติชื่อว่านำประโยชน์มาให้ทั้งแก่ตนและผู้อื่น ผู้มีขันติชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางไปสู่สวรรค์ และนิพพาน"  (พุทธพจน์)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล