ฉบับที่ 105 กรกฎาคม ปี2554

บวช..คำตอบสุดท้ายของชีวิตในสังสารวัฏ

ปกิณกธรรม
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙ / ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์

 



บวช..คำตอบสุดท้าย
ของชีวิตในสังสารวัฏ


"กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัยละไปตามลำดับ บุคคลเมื่อเห็นมรณภัยแล้ว
พึงละอามิสในโลกเสีย มุ่งสู่สันติเถิด" (พุทธพจน์)

        ท่านพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวานับเป็นตัวอย่างที่น่าอัศจรรย์ของผู้เห็นภัยในสังสารวัฏนอกจากจะละสมบัติมากถึง ๘๗ โกฏิออกบวชแล้วยังชวนน้องสาว ๓ คน คือ นางจาลา นางอุปจาลา นางสีสุปจาลาและน้องชายอีก ๒ คน คือ จุนทะ อุปเสนะ ให้บวชทั้งหมด เหลือแต่เรวตกุมารคนเดียวที่ยังอยู่ที่บ้านแม่ของท่านเลยคิดว่า " ถ้าพระลูกชาย มาชวนเรวตะให้ไปบวชอีกคนละก็ วงศ์สกุลก็จักขาดสูญเราจักผูกมัดเรวตะเอาไว้ด้วยการให้แต่งงานตั้งแต่ยังเป็นเด็กนี่แหละ "

        ฝ่ายพระสารีบุตรเถระก็ได้สั่งภิกษุทั้งหลายไว้ก่อนว่า "ผู้มีอายุถ้าเรวตะมาเพื่อขอบวชพวกท่านจงให้เขาบวช เพราะมารดาของกระผมเป็นมิจฉาทิฐิ ขอให้ถือว่ากระผมเองเป็นมารดาและบิดาของเรวตะนั้น "

พ่อแม่จับแต่งงานตอนอายุ ๗ ขวบ

          พ่อแม่ได้จับลูกชายผู้มีอายุเพียง ๗ ขวบ หมั้นกับเด็กหญิงที่มีชาติตระกูลเสมอกัน เมื่อถึงกำหนดวันวิวาห์แล้ว ก็ได้แต่งตัวให้หนูน้อย แล้วพาไปบ้านของญาติฝ่ายหญิง พร้อมขบวนขันหมากมากมาย เมื่อพวกญาติของทั้งสองมาพร้อมกันแล้ว ได้ให้พรว่า "พวกเธอจงอายุยาวนานเหมือนยายของเธอนะ" เรวตกุมารจึงถามว่า "คนไหนเป็นยาย" "พ่อหนู คนที่มีอายุ ๑๒๐ ปี มีฟันหลุด ผมหงอก หนังหดเหี่ยว ตัวตกกระ หลังโกง เจ้าไม่เห็นหรือ นั่นแหละยาย"

          เรวตะเห็นดังนั้นจึงถามว่า "แม้หญิงนี้ ก็จะต้องเป็นอย่างนั้นหรือ ใช่สิ ถ้าเธออายุมากเช่นนั้น ก็จักเป็นอย่างนั้นแหละ"

เรวตะคิดหาอุบายออกบวช
          เรวตะคิดว่า "โอหนอ...ถ้าอย่างนั้น เราจะยินดีในรูปนี้ไปทำไม ไปบวชกับพี่ชายดีกว่า เรา ควรหนีไปบวชในวันนี้แหละเมื่อเสร็จพิธีแต่งงาน ระหว่างเดินทางกลับ หนูน้อยแสร้งทำเป็นปวดท้อง ขอไปปลดทุกข์ข้างพุ่มไม้ก่อน พอลับตาคนก็วิ่งเข้าป่าลึกทันที แล้วได้ไปพบพระภิกษุ ๓๐ รูป จึงเข้าไปกราบขอบวช พวกภิกษุไต่ถามความเป็นไปทุกอย่างแล้ว จึงทำการบวชให้กับหนูน้อยเรวตะ สามเณรใช้เวลาทำความเพียร ๓ เดือน จึงบรรลุพระอรหัตผล หมดกังวลว่าใครจะมาตามอีกต่อไปแล้ว เพราะท่านเป็นสามเณรน้อยอรหันต์ผู้ทรงอานุภาพมาก

 



 

พระสารีบุตรโปรดมารดา

         ต่อมา พระสารีบุตรเถระรู้ว่าอายุสังขารจะอยู่ได้อีก ๗ วันเท่านั้น จึงอยากโปรดมารดาก่อนนิพพาน เมื่อกราบทูลลานิพพานกับพระบรมศาสดาแล้ว พระพุทธองค์ทรงมีรับสั่งว่า "สารีบุตร ภิกษุน้องๆ จะเห็นพี่เหมือนอย่างเธอ หาได้ยาก ฉะนั้น เธอจงแสดงธรรมแก่ภิกษุน้องๆ ของเธอ เพื่อเป็นที่ตั้งแห่ง ความระลึกสำหรับครั้งนี้ก่อนเถิด "

          เมื่อพระสารีบุตรได้รับประทานโอกาสเช่นนั้น จึงสำแดงปาฏิหาริย์ เหาะขึ้นไปในอากาศ สูงประมาณชั่วลำตาล แล้วกลับลงมาถวายนมัสการพระบรมศาสดาเสียครั้งหนึ่ง ครั้งที่ ๒ เหาะขึ้นไปสูงได้ ๒ ชั่วลำตาล แล้วกลับลงมาถวายนมัสการอีก ๑ ครั้ง จนถึงครั้งที่ ๗ เหาะขึ้นไป ๗ ชั่วลำตาล ลอยอยู่บนอากาศ แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายในท่ามกลางอากาศ แล้วก็ลงมาจากอากาศ ถวายอภิวาทบังคมลาคลานคล้อยถอยออกมาจากพระคันธกุฎี

         พระสารีบุตรเถระเดินทางไป ๗ วัน ก็ถึงบ้านนาลันทคามในเวลาเย็นพอดี บังเอิญหลานชายของ ท่านมาเห็นก็ดีใจรีบไปบอกยาย นางสารีพราหมณี คิดเข้าข้างตัวเองว่า "ลูกเราบวชมานาน คงจะเบื่อชีวิตนักบวช มาคราวนี้อาจมาสึกก็ได้" คิดแล้วก็สั่งให้คนใช้รีบจัดแจงห้องนอนให้อย่างรวดเร็ว พอเวลาค่ำ โรคาพาธกล้าได้เกิดแก่พระมหาเถระ ถึงขนาดอาเจียนเป็นโลหิต พระภิกษุเข้าถวายปฏิบัติ นำภาชนะอาเจียนและภาชนะอาจมออกมาชำระผลัดเปลี่ยนอยู่เนือง ๆ นางสารีพราหมณีเป็นทุกข์ใจ ในการอาพาธของพระมหาเถระเป็นอันมาก นั่งคอยดูอยู่ที่ประตูห้อง          

          ในค่ำคืนนั้น เทพยดามากมายได้พากันมาเยี่ยมพระสารีบุตร ทั้งท้าวโลกบาลทั้ง ๔ องค์ ท้าวโกสีย์เทวราช ท้าวสุยามเทวราช และท้าวสันดุสิต-เทวราช ตลอดจนท้าวมหาพรหม ต่างเข้ามาขอโอกาสปฏิบัติพยาบาล แต่พระสารีบุตรปฏิเสธไปว่า "ภิกษุผู้ปฏิบัติพยาบาลของอาตมามีแล้ว ขอให้ท่านกลับไปเถิด"

         ฝ่ายนางสารีพราหมณีเห็นเทวดามาไม่ขาดสาย แต่ละองค์ล้วนมีรัศมีโอภาสงามยิ่งนัก และเพียบพร้อมด้วยทิพยรัตน์สรรพาภรณ์ล้ำค่าทั้งสิ้น ต่างเข้าไปหาพระเถระเจ้าด้วยอาการคารวะ นางสารีพราหมณีมีความสงสัยว่าเทวดานั้นคือใคร จึงเข้าไปถามอาการไข้จากพระจุนทะซึ่งเป็นพระลูกชายว่า "พ่อจุนทะ อาการไข้ของพี่ชายเธอเป็นอย่างไรบ้าง? ยังพอทนได้อยู่โยมแม่ ถ้าอยากเข้าไปเยี่ยมไข้ตอนนี้ก็ได้นะ" นางพราหมณีได้โอกาสเข้าไปหาพระสารีบุตรแล้วถามว่า

 



 

         "แขกที่เข้ามาหาพ่อนั้น คือใครหรือ" "ท้าวจตุโลกบาลจ้ะ โยมแม่" นางพราหมณีตะลึงในเกียรติอันสูงของลูกชาย พลางสงสัยต่อไปว่า "ลูกแม่ยังเป็นใหญ่กว่าท้าวจตุโลกบาลอีกหรือนี่" "ท้าวจตุโลกบาลก็เหมือนคนอุปัฏฐากบำรุงวัดเท่านั้นแหละแม่ เมื่อครั้งพระบรมศาสดาของลูกปฏิสนธิในครรภ์ ท้าว จตุโลกบาลยังลงมาถวายอารักขาเป็นนิจ" "คนที่สอง ล่ะลูก คือใคร" "นั่นท้าวโกสีย์อมรินทราธิราชจ้ะ โยมแม่ ลูกแม่ ลูกยังสูงกว่าจอมเทพชั้นดาวดึงส์ อีกหรือ"

          "ท้าวโกสีย์ก็เหมือนกับสามเณรถือบริขารของพระบรมศาสดาเท่านั้นแหละแม่ เมื่อครั้งพระบรม-ศาสดาเสด็จลงจากเทวโลก ท้าวโกสีย์ยังถือบาตร นำเสด็จพระบรมครูเลย"

          "ใครกันเล่าที่เข้ามาหาลูก หลังจากใครต่อใครกลับไปแล้ว ท่านผู้นั้นช่างมีรัศมีรุ่งเรืองยิ่งนัก" "ท้าว มหาพรหมจ้ะ โยมแม่" "ลูกแม่เก่งปานนั้นเชียวหรือ ลูกยังเหนือกว่าท้าวมหาพรหมอีกหรือลูก" "ท้าวมหาพรหมองค์นี้แหละแม่ ในวันที่พระบรมศาสดาประสูติ ได้ถือข่ายทองเข้ารองรับพระกุมาร และถวาย การบำรุงรักษาพระบรมศาสดาอยู่เนืองนิตย์ แม้ในวันที่พระบรมศาสดาเสด็จลงจากเทวโลก ก็ยังกั้นเศวตฉัตรถวาย ปรากฏแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ที่ประชุมอยู่ ณ ประตูเมืองสังกัสสนครทั่วทุกคน"


          นางสารีพราหมณีฟังพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรบรรยายแล้ว เห็นคุณอันมหัศจรรย์ในพระมหาเถระว่า "อานุภาพบุตรเรายังปรากฏถึงเพียงนี้ และอานุภาพของพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นครูของลูกชายเรา คงจะสูงยิ่งกว่านี้เป็นแน่" นางเกิดปีติเบิกบานใจเป็นล้นพ้น

 



 

          และต่อมา พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรก็แสดง ธรรม พรรณนาพุทธคุณโปรดโยมมารดาจนตั้งอยู่ใน พระโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลในพระศาสนา สมมโนรถที่อุตสาหะมาสนองพระคุณมารดา โยมมารดารู้สึกเสียดายเวลาที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ที่ ไม่ได้สัมผัสอมตธรรม จึงพูดกับท่านเป็นเชิงต่อว่า "ลูกรัก ทำไมจึงเพิ่งมาให้อมตธรรมนี้แก่แม่เล่า"

          จากนั้น พระสารีบุตรก็เชิญให้มารดาออกไป พัก เนื่องจากดึกมากแล้ว ครั้นนางสารีพราหมณี ออกไปแล้ว พระสารีบุตรจึงนิพพานในเวลาอรุณขึ้น ตั้งแต่นั้นมา โยมมารดาก็หันมานับถือพระพุทธ-ศาสนา ได้ทำการสร้างวัดขนาดใหญ่ในหมู่บ้าน เปิด ประตูต้อนรับพระสงฆ์จากจตุรทิศ มีทรัพย์เท่าไรก็นำออกมาทำบุญอย่างเต็มที่ ได้สั่งสมบุญจนตลอดชีวิต

          นี่คือการตอบแทนคุณอันยิ่งใหญ่ คือการ ปิดนรก เปิดสวรรค์ และยกใจมารดาสู่พระนิพพาน การพลิกใจโยมมารดาที่เป็นมิจฉาทิฐิให้เป็นสัมมาทิฐิ เป็นสิ่งที่ลูกชายทั้งหลายควรศึกษาและปฏิบัติตามโดยแท้ 

          พรรษานี้ เป็นโอกาสดีที่ลูกผู้ชายควรให้โอกาส ตนเองในการศึกษาธรรมะ
          ให้โอกาสตนเองในการศึกษาความจริงของชีวิต
          ให้โอกาสตนเองที่จะได้ชำระกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ ผ่านการบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา
          ให้โอกาสตนเองในการตอบแทนพระคุณอันยิ่งใหญ่ของบิดามารดา
          และให้โอกาสตนเองในการใช้สิทธิพิเศษเป็น สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง


วันเข้าพรรษาแม้มีหลายครั้ง สักครั้งที่ลูกผู้ชายควรบวชให้ได้อย่างน้อย ๑ พรรษา เพื่อคุณค่าตลอดชีวิต...

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล