ฉบับที่ 102 เมษายน ปี2554

ผู้พิพากษาสั่งลงโทษประหารชีวิตผิดศีลข้อที่ ๑ หรือไม่

หลวงพ่อตอบปัญหา

โดย : พระราชภาวนาวิริยคุณ

 

 

 

 

 

 

 

          กรณีที่ผู้พิพากษาสั่งลงโทษผู้ต้องหาถึงขั้นตัดสินประหารชีวิต   กรณีนี้ผู้พิพากษาไม่ได้ลงมือประหารชีวิตเอง จะผิดศีลข้อที่ ๑  หรือเปล่า?

 

 

 

 

 

           การลงโทษคนตามกฎหมายเป็นเรื่องของกฎหมายบ้านเมือง  ต้องทำความเข้าใจอีกนิดหนึ่งว่ากฎหมายก็ยังมีกฎหมายแม่
  และกฎหมายลูก   กฎหมายลูกก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายแม่

 

          ถ้ากฎหมายลูกว่าผิด แต่กฎหมายแม่ว่าไม่ผิด ก็เป็นอันว่าไม่ผิด แต่กฎหมายลูกและกฎหมายแม่เป็นเรื่องที่มนุษย์ตั้งขึ้นมา ส่วนที่ว่าผิดศีลหรือไม่ผิดศีลเป็นกฎแห่งกรรม อย่าเอามาปนกัน ถ้าปนกันเมื่อไร พลาดเมื่อนั้น กฎหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาตามกาลเทศะ บางประเภทตัดสินเรื่องเดียวกัน อาจจะเหมือนกันหรือไม่เหมือนกันก็ได้ แต่ในเรื่องของกฎแห่งกรรมแล้ว ไม่ว่าการตัดสินฆ่าหรือการฆ่านั้น ๆ จะเกิดตรงไหนในโลกก็ตาม ผิดทั้งนั้น เพราะว่ากฎแห่งกรรมเป็นกฎของจักรวาล ไม่ใช่กฎของบ้านเมืองใดบ้านเมืองหนึ่ง

          ดวงอาทิตย์ที่คนในประเทศจีน ประเทศไทย ประเทศฝรั่งเห็น เป็นดวงเดียวกัน ดวงอาทิตย์ ที่คนต่างศาสนาเห็น ก็ดวงเดียวกัน เพราะฉะนั้นความรู้สึกนึกคิดหรือความร้อนแรงก็อยู่ในระดับเดียวกัน ไม่เปลี่ยน ขณะนี้เมื่อเราพูดถึงแง่กฎหมายบ้านเมืองแล้ว ดูเหมือนว่าผู้พิพากษาท่านไม่ผิด เพราะกฎหมายอนุญาตท่าน แต่อย่างไรก็เข้าข่ายฆ่าสัตว์ตัดชีวิตตามกฎแห่งกรรม กฎเกณฑ์ ในเรื่องของการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตในศีลข้อที่ ๑. ว่าอย่างไร

          ๑. สัตว์นั้นมีชีวิต ๒. ผู้ฆ่ารู้ด้วยว่ามีชีวิต ๓. มีจิตคิดจะฆ่า ๔. ลงมือฆ่า ๕. สัตว์นั้นตายสมใจนึก

          เมื่อไรก็ตามที่มีการสั่งฆ่ากันขึ้น แล้วก็ฆ่าเสร็จสรรพแล้ว ใครมีส่วนไหนใน ๕ ขั้นตอนนี้ ก็รับเอาไป ชัดเจนดี แต่บางอย่างก็ผ่อนหนักเป็นเบา อย่างกรณีที่เราไม่ได้ยินดีกับการฆ่านั้น ๆ และคนที่ถูกสั่งฆ่าก็รู้ตัวว่าตนทำผิดจริง ยอมรับด้วยว่าตนทำผิด ยอมรับว่าตัวเองเลว แล้วก็ไม่ได้ ผูกพยาบาทผู้พิพากษา อย่างนี้ผิดก็ผิด แต่เบาหน่อย แต่ถ้าหากคนที่ถูกสั่งฆ่าคิดว่าตัวเองไม่ผิด ทั้ง ๆ ที่ความจริงเขาผิด แล้วก็จองเวรด้วย ถ้าอย่างนี้คงจะได้ตามล้างตามผลาญกันอีกหลายชาติ และในกรณีที่ไปตัดสินผิดคน เขาไม่ได้ทำผิด แต่มีหลักฐานเท็จไปมัดเขา เลยต้องตัดสินให้เขา กลายเป็นคนผิด ตรงนี้จะยิ่งหนักเข้าไปอีก

          ก็ขอฝากเอาไว้เป็นข้อคิดว่า ตำรวจก็ตาม ทหารก็ตาม ท่านผู้พิพากษาก็ตาม "อย่าเอากฎหมาย กับกฎแห่งกรรมไปปนกัน ถ้าเมื่อไรพูดถึงกฎแห่งกรรม ผิดก็คือผิด ส่วนกฎหมายเป็นเรื่องที่คนช่วยกันกำหนดขึ้นมา เพราะฉะนั้นก็ขอให้ระมัดระวังเรื่องนี้ให้ดี" แล้วอาตมาก็อยากจะแถมไว้ด้วยว่า ไม่ว่าตำรวจ ไม่ว่าทหาร ไม่ว่าท่านผู้พิพากษา ที่ท่านมารับภาระตรงนี้ มันเป็นปลายเหตุ เขาทำ กรรมกันมาเรียบร้อย เขาก่อเวรกันมาเรียบร้อย เขาทำผิดพลาดกันมาแล้ว ท่านผู้พิพากษาที่นั่งอยู่ในบัลลังก์มาสั่งให้ฆ่าเขาอีกทีหนึ่ง ตรงนี้กฎหมายจะว่าอย่างไร อาตมาไม่เกี่ยว แต่อยากจะพูดว่าขณะนี้เราทำกันที่ปลายเหตุ

          อยากให้ทั้งทหาร ทั้งตำรวจ ทั้งท่านผู้พิพากษา มาช่วยกันคิดอย่างนี้ดีกว่า ว่าทำอย่างไรจึงจะเอาธรรมะ เอาพระพุทธศาสนาเข้าไปอยู่ในจิตใจคน ดูเผิน ๆ ว่าไม่ใช่หน้าที่ของท่าน แท้จริง แล้วเป็นหน้าที่ของคนไทยทั้งชาตินั่นแหละ ไปช่วยกันคิด ช่วยกันวางมาตรการตัดไฟต้นลมตรงนั้น ถ้าถึงคราวจะต้องฆ่าต้องฟันกันก็น้อยหน่อย หรือบางทีอาจจะผ่อนหนักเป็นเบาได้ แทนที่จะต้องฆ่าก็เอาแค่จำคุกตลอดชีวิตเถิด เพราะอะไร ก็เพราะว่าใคร ๆ ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะฆ่าใคร เพราะเราไม่ได้ให้ชีวิตเขาขึ้นมา ในเมื่อเราไม่ได้ให้ชีวิตเขามา แล้วเราไปฆ่าเขา กรณีไหนมันก็บาปทั้งนั้นแหละ จองเวรกันไม่รู้จบ

          ยิ่งกว่านั้น ฆ่าคนไปแล้ว เบอร์ ๑ ตายไปแล้ว เดี๋ยวเบอร์ ๒ เบอร์ ๓ เบอร์ ๔ ก็ตามมา เพราะยังไม่ได้แก้ไขนิสัยสันดานของรุ่นหลังให้ดี มันก็ฆ่ากันไม่รู้จบอยู่นั่นแหละ มาช่วยกันนะ

          อยากจะฝากอีกนิดหนึ่ง คนที่บาปมาก ๆ ในเมื่อเกิดมีความจำเป็นต้องตัดสินประหารชีวิต ขึ้นมา คือผู้ที่ออกกฎหมาย ไม่ว่าผู้ที่ออกกฎหมายชุดนั้น ๆ คนนั้น ๆ ตายไปนานเท่าไรแล้วก็ตาม เมื่อมีการสั่งประหารตามกฎหมายที่เขาออกเอาไว้นี้ บาปก็เพิ่มขึ้น แม้ตัวเองตกนรกอยู่แล้ว ก็ตกนรกหนักเข้าไปอีก เพราะฉะนั้น ใครจะออกกฎหมายเกี่ยวกับการฆ่ากันละก็ คิดให้มาก ๆ

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล