ฉบับที่ 111 มกราคม ปี2555

มุมใหม่ ๆ รับปีใหม่

ข้อคิดรอบตัว

เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC

มุมใหม่ ๆ รับปีใหม่

การเปลี่ยนวันปีใหม่ของไทยจากวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันที่ ๑ มกราคม มีความเป็นมาอย่างไร?

          ก่อนอื่นอยากให้ลองคำนวณดูว่า คนที่เกิดวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๒ พอถึง ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ จะมีอายุเท่าไร
คนที่เกิด พ.ศ. ๒๔๘๒ จนถึง ๒๕๕๒ ตามหลัก ควรจะมีอายุ ๗๐ ปี ใช่ไหม แต่คำตอบคือ ๖๙ ปีเต็ม เพราะตอนปี ๒๔๘๒ นั้น พอถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ แล้ว วันถัดมาคือวันที่ ๑ มกราคม ซึ่งยังอยู่ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ พูดง่าย ๆ ว่า วันที่ ๑ มกราคม มาทีหลังวันที่ ๓๑ ธันวาคม ใน พ.ศ. เดียวกัน

          ปัจจุบัน ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ จะต้องเป็นวันแรกของปี วันที่ ๓๑ ธันวาคม เป็นวันสุดท้ายของปี แต่ตอนนั้นไม่ใช่ คนที่เกิดวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นน้องของคนที่เกิดวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ถามว่าทำไม เพราะตอนนั้นวันแรกของปีคือ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ วันสิ้นสุดปี คือวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ เราเพิ่งมาเปลี่ยนการนับให้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันแรกของปีในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นครั้งล่าสุด เพราะฉะนั้นปี ๒๔๘๓ จึงเป็นปีพิเศษ ที่มีแค่ ๙ เดือน คือเริ่มต้นที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ แล้วไปสิ้นสุดปีในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓

          ย้อนไปก่อนหน้านี้เราถือว่าวันแรกของปีคือวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย ต่อมาเราเปลี่ยนให้วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันแรกของปี แต่การนับตามจันทรคติ ซึ่งแต่ละปีจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ไม่สะดวกและจำยาก เลยเปลี่ยนไปนับแบบสุริยคติ คือให้วันที่ ๑ เมษายน ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ เริ่มนับอย่างนี้เป็นครั้งแรก ในปี ๒๔๓๒ สมัยรัชกาลที่ ๕ แล้วมาเปลี่ยนเป็นแบบ ปัจจุบัน เมื่อ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เหตุที่เปลี่ยน เพราะเรามีการติดต่อกับชาวต่างชาติมากขึ้น จึงเปลี่ยนให้สอดคล้องกับนานาประเทศ ซึ่งจะทำให้การติดต่อต่าง ๆ สะดวกมากขึ้น ไม่สับสน

ปัจจุบันในช่วงปีใหม่ คนไทยนิยมส่งการ์ด อวยพรให้กัน สมัยก่อนเขาส่งความปรารถนาดีให้กันอย่างไรบ้าง?

          สมัยก่อนในวันปีใหม่เขาจะส่งความปรารถนาดี ด้วยการชวนกันไปทำบุญ ซึ่งเป็นการให้ความปรารถนาดีอย่างถูกหลักวิชาที่สุด และที่บอกว่าจะส่ง ความสุขให้กันนั้น คนส่งต้องมีความสุขก่อนถึงจะส่ง ให้คนอื่นได้ แล้วความสุขจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ต้อง ประกอบเหตุคือทำบุญเสียก่อน ความสุขจึงจะเกิด สมัยก่อนเขาจึงให้ความปรารถนาดีแก่กันด้วยการชวนไปทำความดี ไปสร้างบุญสร้างกุศล เช่น ไปช่วย งานวัด ปัดกวาดลานวัด ฯลฯ

          แต่ถ้าเป็นคนที่มีความสำคัญ มีศักยภาพมาก และมีการติดต่อกว้างขวางกว่าในระดับชุมชนที่ตัวเอง อยู่ เช่น เป็นเศรษฐีที่มีการค้าระหว่างเมือง หรือเป็น พระราชา ซึ่งจะต้องมีการติดต่อกันระหว่างเมือง ฯลฯ ก็อาจจะใช้วิธีฝากข่าวไปถึงกันโดยวาจาหรือโดยหนังสือก็ได้ ใครรู้ข่าวอะไรดี ๆ ก็จะบอกกล่าวกัน อย่างเช่นใครทราบข่าวว่า พระรัตนตรัยบังเกิดขึ้นแล้ว ในโลก ก็รีบส่งข่าวไปถึงเพื่อนฝูงหรือคนรู้จัก ข่าวดี เหล่านี้จะสร้างความปีติแก่ผู้รับข่าวเป็นอย่างยิ่ง อย่างพระราชามหากัปปินะ เมื่อทรงทราบข่าวการเกิดขึ้นของพระรัตนตรัยจากพ่อค้าที่เดินทางไปถึงเมืองของพระองค์ ก็ทรงปีติจนตัวชาไปเลย และทรง ตัดสินใจ สละราชสมบัติออกบวช สมัยก่อนเขา ใจเด็ดขนาดนี้ นี่คือการส่งความปรารถนาดีในรูปแบบ ต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายให้ทุกคนมีโอกาสสร้างบุญสร้างกุศล

อย่างนี้ช่วงปีใหม่ก็ควรจะทำบุญก่อนส่งความสุขให้คนอื่น การไปอยู่ธุดงค์ปีใหม่เป็นวิธีที่ควรทำใช่ไหม?

          จะทำอะไรก็ได้ที่เป็นบุญเป็นกุศล ไม่ว่าจะให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา การให้ทานนั้น เราอาจจะตักบาตรพระที่วัดใกล้บ้าน แล้ววันนั้นก็ตั้งใจรักษาศีลให้ดีเป็นพิเศษ แล้วเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม สวดมนต์ ทำภาวนา เป็นต้น นี่คือสิ่งที่ควรทำ ในวันปีใหม่ ไม่ใช่ปีใหม่แล้วฉลองกันจนเมา แบบนี้ จะเป็นปีที่แย่มาก ต้องฉลองปีใหม่ด้วยใจที่สดใสผ่องแผ้ว ถ้าไปอยู่ธุดงค์ได้ยิ่งดีร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เพราะกิจวัตรกิจกรรมทั้งหมด คือ ทาน ศีล ภาวนา จะครบถ้วนบริบูรณ์ ถือเป็นการรับปีใหม่ที่ดีมาก ๆ

บางคนใกล้สิ้นปีแล้วก็ไม่สิ้นปัญหาเสียที อยากทราบว่าปัญหาต่าง ๆ เกิดจากสาเหตุอะไร?

          ถ้ามองไปถึงรากของปัญหาจริง ๆ จะพบว่า มาจาก ๒ เหตุใหญ่ คือ ความอยากและความไม่รู้

          ๑.ความอยาก เมื่ออยากได้อะไรแล้วไม่ได้อย่างใจที่เราคาดหวังไว้ ก็เสียอกเสียใจ หรือว่าอยากจะเป็นอะไร แล้วไม่ได้เป็นอย่างที่ตัวเองคิด ก็ทุกข์ คือ มีความอยากแล้วไม่สมอยาก ไม่ได้อย่างที่หวัง ไปเจอสิ่งที่ไม่ชอบ เป็นต้น

          ๒.ความไม่รู้ คือ ไม่รู้วงจรของชีวิต

          พอ ๒ อย่างนี้มาประกอบกัน ปัญหาก็เกิดขึ้น สมมุติว่า อยากรวย อยากได้สิ่งอำนวยความสะดวก แต่ไม่รู้ที่มาที่ไปที่แท้จริงของสิ่งเหล่านี้ ก็จะไปมุ่งที่ผล คือ ความอยากได้ แล้วบางคนพออยากมาก ๆ ก็จะไปขโมย จี้ปล้น หรือแสวงหาทรัพย์โดยวิธีการที่ผิดกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาหนักยิ่งขึ้น บางทีอยาก ได้ตัวบุคคล พอไม่ได้อย่างใจก็ทำลายเสียเลย แล้วต้องหนีหัวซุกหัวซุน บางทีต้องไปอยู่ในคุก นั่นคือ "อยาก"Ž แต่ไม่รู้ว่าทำอย่างไรถึงจะสมปรารถนา สุดท้ายใจไปเกาะที่ผล ความเสียหายก็เกิดขึ้น

          แต่ถ้าเข้าใจเรื่องวงจรชีวิต แม้ยังไม่ถึงขนาดหมด กิเลส ความอยากยังไม่หมดไป แต่เข้าใจความจริงของโลกและชีวิตว่า สิ่งที่เราอยากจะได้นั้น จะได้หรือ เปล่าขึ้นอยู่ที่เหตุ คือบุญในตัวเรามีมากพอหรือเปล่า ก็จะสามารถควบคุมความอยากให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่อยากจนกระทั่งดึงดันไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

          เพราะฉะนั้น ใครอยากได้อะไรต้องประกอบเหตุ แทนที่จะเอาใจไปเกาะที่ผลว่าอยากได้ ๆ พอได้ก็ดีใจ หน่อยเดียว เดี๋ยวอยากได้ของใหม่อีกแล้ว พอไม่ได้ก็เสียใจ เราควรจะอยากแค่พอประมาณ ขณะเดียวกัน ต้องเข้าใจว่า จะได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุที่ประกอบไว้ ในอดีต คือบุญที่เราสั่งสมไว้ และเหตุในปัจจุบัน คือ ความขยันหมั่นเพียร แล้วสุดท้ายสิ่งที่ปรารถนาก็จะ ได้มา และความดีที่เราทำในวันนี้ ก็จะเป็นบุญเก่าของวันต่อ ๆ ไป ถ้าบุญเก่าบวกบุญใหม่ประกอบกัน แล้ว สิ่งที่หวังก็จะได้สมปรารถนา กล่าวโดยสรุป ปัญหาเกิดจากความอยากและความไม่รู้ ถ้าจะแก้ ต้องลดระดับความอยากให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ แล้วเพิ่มพูนความรู้เรื่องความจริงของโลกและชีวิตให้มากขึ้น ปัญหาก็จะทุเลาลงไปได้

บางคนมีความรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาใหญ่กว่าคนอื่นมาก บางคนบอกว่าฉันมีปัญหานิดเดียว เราจะใช้อะไรตัดสินว่าปัญหาไหนใหญ่หรือเล็ก?

          ใครเจอปัญหาก็มักจะคิดว่าปัญหาของตัวเองเป็น ปัญหาใหญ่ มีดบาดนิ้วเย็บแค่ ๒ เข็ม รู้สึกว่าเจ็บกว่าคนอื่นแขนขาดไปข้างหนึ่งเสียอีก เพราะมันเกิด กับตัวเอง ถ้าเกิดกับคนอื่นอย่างมากก็สงสาร เห็นใจ อยากจะช่วยเขา แต่ไม่เหมือนที่เกิดกับตัวเอง หรือถ้าเกิดเรื่องกับคนใกล้ตัว ก็จะรู้สึกมากกว่าคนไกลตัว อันนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่หลักการสำคัญอยู่ ที่ว่า เวลาเจอปัญหาอะไรก็ตาม ต้องไม่ขยายปัญหา นั้นเกินจริง อย่าไปขยายให้ปัญหาเท่าหมูกลายเป็นเท่าช้าง เราควรจะเปลี่ยนปัญหาให้เหลือเท่าแมว มากกว่า และเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว อย่าเอาปัญหา ของเราไปเป็นปัญหาของคนอื่น เช่น อยากได้อะไรบางอย่าง ซึ่งเป็นปัญหาของตัวเอง ก็เลยไปปล้นเขา คือ ไปสร้างปัญหาให้คนอื่น อันนี้ไม่ถูก

          มีภูมิปัญญาของสังคมจีนที่สั่งสมมาหลายพันปีมาเล่าให้ฟัง เรื่องผู้เฒ่าซ่ายเสียม้า เรื่องมีอยู่ว่า ผู้เฒ่าชาวจีนคนหนึ่งชื่อซ่าย เขาเป็นคนที่เข้าใจชีวิต ดีมาก มองชีวิตทะลุปรุโปร่ง ไม่ค่อยหวือหวาไปกับเรื่องราวที่มากระทบ มีอยู่คราวหนึ่งม้าของเขาหายไป เพื่อนบ้านรู้ข่าวก็มาแสดงความเสียใจ ผู้เฒ่าซ่าย บอกว่า ม้าหายไปตัวหนึ่งไม่แน่อาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้ ข้าพเจ้าไม่ได้เสียใจอะไร เขาตอบอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่สมัยนั้นม้าหายไปตัวหนึ่งเป็นเรื่องใหญ่

          ม้าหายไปไม่กี่วันก็วิ่งกลับมาเอง แถมไปพาม้ามา อีกตัวหนึ่ง เป็นม้าพันธุ์ดีมาก ฝีเท้าเร็วมาก สง่างาม มาก เพื่อนฝูงรู้ข่าวก็มาแสดงความดีใจ แต่ผู้เฒ่าซ่าย บอกว่า ได้ม้ามาตัวหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องร้ายก็ได้ ข้าพเจ้าไม่ได้ดีใจอะไรมาก
ลูกของผู้เฒ่าซ่ายชอบม้าตัวใหม่มาก เขาชอบขี่มันไปเที่ยว วันหนึ่งเขาขี่ม้าตัวนี้ออกไป มันวิ่งเร็วมาก จนเขาพลาดตกลงมา ขาเป๋ไปข้างหนึ่ง เพื่อนฝูง รีบมาแสดงความเห็นอกเห็นใจ ผู้เฒ่าซ่ายบอกว่า ลูกชายคนเดียวขาพิการไปข้างหนึ่งตลอดชีวิต ที่สุด แล้วจะเป็นเรื่องดีเรื่องร้ายยังยากจะตัดสินใจ

          ต่อมาประเทศจีนเกิดสงครามกับชนเผ่าทางเหนือ ของจีน ชายฉกรรจ์ทั้งแผ่นดินถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร เพื่อป้องกันประเทศ แต่ลูกผู้เฒ่าซ่ายเนื่องจากขาเป๋ เลยไม่ต้องไปเป็นทหาร ศึกครั้งนั้นโหดมาก รบอย่าง ยืดเยื้อยาวนาน คนตายไปเป็นแสนเป็นล้านเลย แต่ลูกผู้เฒ่าซ่ายกลับสามารถอยู่ในบ้านได้อย่างสงบ สุข

          เรื่องนี้สอนว่า ถึงคราวได้อะไรมาก็อย่าเพิ่งดีอกดีใจจนเกินไป ในดีมีเสีย ในเสียมีดี เจอเรื่องเสีย ก็อย่าเสียใจจนเกินไป ก้มหน้าก้มตาทำกิจของตัวเอง ด้วยความไม่ประมาท สุดท้ายเราจะสามารถผ่านปัญหาต่าง ๆ ไปได้อย่างดี

คนเจอปัญหาแล้วเก็บไว้กับตัวเองตลอด เป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด?

          ความอดทนไม่ตีโพยตีพายเป็นสิ่งที่ดี แต่เก็บกดไม่ดี การนิ่งเก็บปัญหาไว้กับตัวเองนั้น ต้องดูว่าเก็บ แบบไหน เก็บด้วยความอดทนหรือเก็บกด อดทนคือทนรับเรื่องนั้นด้วยความเข้าใจ ด้วยใจที่ผ่องแผ้ว แต่เก็บกดเหมือนเก็บดินระเบิดเอาไว้ รอวันระเบิดออกมา ไม่ได้ทำด้วยความเข้าใจ ถ้าเข้าใจคือไม่มีปัญหาอะไรเลย เข้าใจที่มาที่ไปทุกอย่าง แล้วมุ่งมั่น แก้ไขปัญหาเหล่านั้น ใจของผู้ที่อดทนได้จะผ่องแผ้ว แต่ใจคนที่เก็บกดจะเครียดอยู่ข้างใน ข้างนอกอาจจะปั้นสีหน้ายิ้ม แต่ข้างในเครียด บางคนก็เกิดอาการโรคประสาท หรือแสดงอาการกราดเกรี้ยวออก มาเลยก็มี

          เราต้องเข้าใจปัญหา แล้วเดินหน้าแก้ไขด้วยใจที่ผ่องแผ้ว ไม่ย่อท้อ

บางคนเวลามีปัญหาเลือกที่จะเก็บไว้ ไม่เปิดใจกัน เราควรจะเปิดใจกับบุคคลรอบข้างอย่างไร?

          ต้องเข้าใจความจริงว่า ใจคนเราที่ยังไม่หมดกิเลส มันหวือหวามีขึ้นมีลง และต้องการการตอกย้ำสักนิด หนึ่ง สมมุติชายหนุ่มกับหญิงสาวเกิดพึงใจกัน แล้ว ฝ่ายชายบอกฝ่ายหญิงว่า ผมรักคุณ คุณจำไว้เลย นะ คำ ๆ นี้ใช้ได้ตลอดชีวิต ผมพูดครั้งเดียวพอ ผมเขียนให้คุณไว้ก็ได้ อยากจะฟังอีกเมื่อไร ก็เอากระดาษขึ้นมาอ่านแล้วกัน ครั้งเดียวใช้ได้ตลอดชีวิตŽ อย่างนี้ไม่เวิร์ก จะต้องตอกย้ำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น เพราะคนเรามีเหตุผลกับอารมณ์คู่กัน บางคนสัดส่วนอารมณ์มาก บางคนเหตุผลมาก ความเข้าใจธรรมชาติของคนเป็นสิ่งจำเป็น บางทีต่างฝ่ายต่างหวังดีต่อกัน อยากให้อีกฝ่ายมีความสุข แต่ไม่เข้าใจกัน คิดไปเองเรื่อยเปื่อย แล้วก็มานั่งกลุ้ม อยู่คนเดียว อย่างนี้ไม่ถูก ถ้าได้พูดคุยจนเข้าใจกัน ก็เป็นสิ่งที่ดี การเก็บไว้ไม่ดี ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข

          อาตมาเคยเจอโยมท่านหนึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง อายุแค่ ๔๐ ปี เงินเดือน ๆ ละ ๓ แสนบาท เรียกว่า ประสบความสำเร็จมาก แต่เขามาบอกว่ากำลังมีปัญหาครอบครัว จนกระทั่งคิดว่าจะแยกทางกับภรรยาแล้ว แต่สงสารลูก ๒ คน ตอนนี้ออกจากบ้าน เป็นพัก ๆ เพราะเวลาอยู่บ้านเครียดมาก เครียดจน ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

           เขาเล่าว่า เขาต้องทำงานทุกอย่าง กลับถึงบ้านก็ต้องดูแลบ้าน ดูแลลูก แม่บ้านไม่ยอมทำอะไรเลย วันธรรมดาเขาต้องรีบไปทำงาน เพราะงานเยอะมาก หัวค่ำ ๔ ทุ่มต้องนอนแล้ว แต่แม่บ้านยังไม่ยอมนอน ไปนอน ๕ ทุ่ม ๖ ทุ่ม พอวันศุกร์กับวันเสาร์ซึ่งเขาอยู่ดึก ๕ ทุ่ม ๖ ทุ่มได้ ปรากฏว่า ๔ ทุ่มแม่บ้านเข้านอนแล้ว ตั้งใจจะไม่เจอกัน ทำไมไม่เอาใจเขาบ้าง ถ้าช่วยงานเขาไม่ได้ อย่างน้อยน่าจะช่วยทำให้ เขาสบายใจหน่อย คือเอาใจเขาหน่อย

           อาตมาฟังแล้วก็บอกว่า จริง ๆ แล้วแม่บ้านคุณโยมต้องรักคุณโยมมากเลย ถามว่าทำไมพูดอย่างนี้ เพราะว่าแม่บ้านเขาเคยเป็นแอร์โฮสเตส มีความสามารถในการทำงาน ก่อนจะมีครอบครัวก็ เป็นซูเปอร์วูแมน เมื่อมีครอบครัวก็ยอมลาออกจาก งานมาดูแลครอบครัว แสดงว่าเขายอมเสียสละเพื่อคุณโยมมากทีเดียว แล้วมีปัญหาอย่างนี้เขาก็ไม่บ่นเลยสักคำ แต่มีอะไรเขาก็มาให้คุณโยมทำ คุณโยมเคยคิดหรือเปล่าที่คุณโยมบอกว่า แม่บ้านไม่เก่งเลย สักอย่าง คุณโยมทำดีกว่าหมดทุกอย่าง เขาทำอะไรไม่ถูกใจสักอย่าง เขาก็เลยเกิดอาการค่อย ๆ ถอยให้คุณโยมทำทั้งหมด

           แต่ที่ยังอดทนอยู่เพราะลูกและด้วยความรักที่ มีอยู่นั่นแหละ อย่างนี้คุณโยมกำลังถือตัวเองเป็นศูนย์กลางหรือเปล่าว่าตัวเองแน่ คิดอะไรโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เอาใจเขามาใส่ใจเราเลย คิดแต่ว่าฉันดี ฉันเสียสละ เธอทำอะไรก็สู้ฉันไม่ได้ สักอย่าง ช่วยทำให้ฉันสบายใจหน่อย นี่คุณโยมกำลังเรียกร้องให้เขาเป็นตุ๊กตาใช่ไหม

           การที่เขายอมขนาดนี้ แสดงว่าเขาต้องรักคุณมาก ทำไมไม่กระตุ้นเขาด้วยวิธีการชมบ้าง อย่าตำหนิไป เสียทุกเรื่อง ให้ลองเปลี่ยนใหม่ดู พอเขาทำอะไรปั๊บ ชมเลย โอ้โฮ เยี่ยมมาก ดีมาก ให้เขามีกำลังใจทำสิ่งดี ๆ อย่างอื่นต่อไป เขาบอกว่า ผมจะลองดู ปรากฏว่าเรื่องราวจบลงอย่างมีความสุข พลิกมุมมอง นิดเดียวเท่านั้นเอง

           เวลาเกิดอะไรขึ้นอย่าเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วจะเห็นอะไรอีกเยอะ เมื่อไรเราเข้าใจตัวเอง เราจะเข้าใจคนอื่นได้ดี แล้วลองคิดว่าทำอย่างนี้ พูดอย่างนี้ คนอื่นรู้สึกอย่างไร เวลาเห็นอะไรที่ชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ให้มองลึก ลงไปว่าอะไรทำให้เขาทำอย่างนั้น ที่เขาทำอย่างนั้น เขาคิดอย่างไร ถ้ามองอย่างนี้ได้เมื่อไร เราจะเป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง ที่เข้าใจคน มองคนได้ลึกซึ้ง แล้วเราจะดำเนินชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีความสุขและความสำเร็จ

           ปีใหม่นี้ ขอให้พวกเราทุก ๆ คน เป็นผู้ที่มีสติประกอบด้วยปัญญา สามารถสอนตนเองได้ เป็น ผู้ที่ได้ศึกษาเรียนรู้ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแสงสว่างส่องทางชีวิต สามารถมองปัญหา ทุกอย่างชัดเจนตรงตามความเป็นจริง และแก้ไขอุปสรรคปัญหาเหล่านั้นได้สำเร็จเป็นอัศจรรย์ ให้ทุกคนเริ่มต้นปีใหม่ด้วยบุญกุศล ด้วยความดีงาม และประสบความสุขความสำเร็จตลอดปี ตลอดไป จงทุกท่านเทอญ

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล