พระธรรมเทศนา
|
สมัยที่หลวงพ่อยังเป็นเด็ก หนังสือในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก การอ่านหนังสือของคนในสมัยนั้น จึงมักเป็นหนังสือที่แปลมาจากแหล่งความรู้สองสาย คือ สายอินเดีย กับ สายจีน เพราะสองประเทศนี้เป็นประเทศใหญ่ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน จึงมีการบันทึกไว้หนาหลายร้อยเล่ม
ส่วนที่เป็นของไทยเราเอง หลวงพ่อก็อ่าน แต่เวลานั้นก็ยังมีจำนวนน้อย ซึ่งมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชนชาติไทยบ้างบทความวิชาการบ้าง นวนิยาย บ้าง ซึ่งเขียนขึ้นโดยผู้รู้และนักวิชาการในยุคบุกเบิกวงการสื่อสิ่งพิมพ์ของประเทศไทย
นอกจากนั้น ก็จะเป็นหนังสือที่แปลมาจากสถานการณ์ของโลกในยุคนั้น ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับสงคราม เช่น สงครามครูเสดบ้าง สงครามเอเชียบ้าง สงครามยุโรปบ้างสงครามอเมริกาบ้าง เป็นต้น
หลวงพ่อได้อ่านหนังสือเท่าที่มีอยู่ในยุคนั้นมาอย่างนี้ แม้กระทั่งหนังสือคัมภีร์วิสุทธิมรรคซึ่งเป็นหนังสือ พระพุทธศาสนาที่โด่งดัง ในยุคนั้น ก็อุตส่าห์ฝืนอ่านจนจบ ไปหลายรอบ ทั้งๆ ที่ความรู้พื้นฐานพระพุทธศาสนาก็ยังไม่พอ
หลวงพ่ออ่านเสียจนไม่รู้จะอ่านอะไร อ่านแล้ว ก็ต้องสรุปสรุปแล้วก็เอามาเล่าที่หน้าห้องเรียนให้ครูกับเพื่อนฟังบ้าง เล่าให้โยมพ่อโยมแม่ฟังบ้าง เล่าให้พี่ๆ น้องๆ ฟังบ้างแล้วพอมีเวลาก็ยังหาโอกาส กลับไปอ่านเล่มที่สนใจซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่หลายเที่ยวจนขึ้นใจ จนกระทั่งกลายเป็นว่าหนังสือ ทั้งหมดในห้องสมุดประชาชน ในยุคนั้นหลวงพ่อได้อ่านจนหมดทุกเล่มเลยทีเดียว
ที่มาของนิสัยรักการอ่าน
การอ่านหนังสือในวัยเด็กของหลวงพ่อนั้น เป็นการอ่านเพื่อต้องการทำความรู้จักโลกที่เราอยู่อาศัยว่าเป็นอย่างไร
ใครเป็นบุคคลสำคัญ มีเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้าง แต่ผลที่ได้กลับมาก็คือ ความโชคดีอย่างมหาศาล นั่นคือ
๑) เห็นภาพของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และการล้มหายตายเกิดของชนชาติต่างๆ ในโลกนี้อย่างชัดเจน
๒) เห็นภาพของหลักธรรมในพระพุทธศาสนา และปรัชญาต่างๆ ที่สอดแทรกอยู่ในพงศาวดาร ไทย-จีน-อินเดีย-ฝรั่งอย่างชัดเจน
๓) เกิดความชำนาญในการอ่าน การเขียน การเล่าเรื่องให้สนุก น่าสนใจ น่าติดตาม
ความโชคดีทั้งสามเรื่องนี้ได้กลายมาเป็น ต้นทุนทางปัญญาที่ทำให้หลวงพ่อรู้จักมองโลกตามความเป็นจริง และก็ได้ข้อสรุปว่า โลกใบนี้ไม่มี อะไรที่เป็นแก่นสารที่แท้จริง นอกจากพระธรรม คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงพ่อจึงตัดสินใจออกบวชเป็นพระภิกษุในร่มเงาบวรพระพุทธศาสนาในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๑๔
|
อ่านหนังสือให้เป็นบุญ
เมื่อหลวงพ่อบวชแล้ว ก็มาทำงานสร้างวัดพระธรรมกาย การอ่านของหลวงพ่อในตอนนี้ จึงไม่ใช่แค่การทำความรู้จักโลกเท่านั้น แต่เป็นการอ่านเพื่อจะเอาความรู้มาสร้างบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป นั่นคือ
๑) หลวงพ่อตั้งใจอ่านพระไตรปิฎก เพื่อให้ได้แม่บทสำคัญที่ใช้เป็นหลักในการฝึกตน การสร้างบุญ การสร้างวัด และการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก
เพราะจะทำให้เราเกิดความมั่นใจว่า เราไม่ได้ก้าวออกนอกเส้นทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒) หลวงพ่อตั้งใจอ่านหนังสือวิชาการต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการฝึกตน
การสร้างบุญ การสร้างวัด ทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆ มาเพิ่มความเข้าใจในแม่บทการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น
สิ่งที่ได้พบและได้เพิ่มจากการอ่านในลักษณะนี้ หลังจากนำไปเทียบเคียงกับแม่บทในเรื่องต่างๆ ของพระพุทธศาสนาแล้ว ก็คือ
๒.๑) ได้รู้จักตนเองอย่างชัดเจน ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้น ถูก-ผิด ดี-ชั่ว บุญ-บาป ควรทำ-ไม่ควรทำหรือไม่ เพราะเหตุใด และอย่างไร เพื่อที่เราจะได้นำไปปฏิบัติให้ถูกดี ถึงดี
และพอดี เราถึงจะได้ดีตามที่ตั้งใจไว้
๒.๒) ได้เพิ่มพูนความรู้ที่ยังไม่รู้ ความคิดที่ยังไม่ได้คิด ทำให้เราได้ความรู้และความคิดใหม่ๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการฝึกตน
การสร้างบุญ การสร้างวัด และการเผยแผ่ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป
๒.๓) ได้ต่อยอดความรู้และความคิดในสิ่งที่เราเคยรู้แล้ว แต่ยังค้นคว้าและค้นคิดในบางเรื่องไปไม่ถึง
ก็จะทำให้ความรู้ของเราสมบูรณ์ขึ้น ทั้งใน ระดับความหมาย (What) ระดับเหตุผล (Why) ระดับการนำไปปฏิบัติ (How to) และระดับผลลัพธ์ (Result)
ที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ทำให้เรามีความรอบคอบในการทำงานยิ่งขึ้น
๒.๔) หากพบเรื่องราวที่ดำเนินมาผิดทาง ซึ่งตนเองได้มีโอกาสรู้มาก่อน แต่ผู้อื่นยังไม่รู้และยังหลงผิดว่าดี ก็จะได้ห้าม ได้เตือนผู้อื่น ให้หยุดเผยแพร่ในสิ่งที่เป็นอันตรายต่อชาวโลก
อันจะเป็นเหตุให้เกิดโทษ เกิดความเสียหายต่อชีวิตที่ร้ายแรงยิ่งๆ ขึ้นไป
๒.๕) ได้แนวทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่กัลยาณมิตรชักชวนผู้คนทุกชาติศาสนาให้มีโอกาสได้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อันเป็นความดีสากล
และเป็นหนทางสร้างสันติภาพโลกร่วมกันในภายหน้าให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
อ่านแล้วต้องสรุปไปใช้งาน
จากการอ่านทั้งพระไตรปิฎกและหนังสือวิชาการต่างๆ มาตามแนวทางนี้เอง เมื่อหลวงพ่ออ่านแล้วสะดุดใจในความร ู้และความคิดใด ก็จะจดบันทึกไว้ในหนังสือเล่มนั้นทันทีโดยมีวัตถุประสงค์ คือ
๑) เพื่อสรุปประเด็นความรู้สำคัญที่ตนเองได้รับให้ชัดเจน จะได้นำไปใช้งานให้ถูกเรื่อง
๒) เพื่อสรุปข้อคิดที่ตนเองได้คิดให้ชัดเจนจะได้นำไปใช้งานได้ถูกเรื่อง
๓) เพื่อประโยชน์ต่อบุคคลรุ่นหลังที่ได้มาอ่านหนังสือเล่มนั้น จะได้ไม่ต้องเสียเวลาค้นคว้ามาก
จะได้นำความรู้หรือข้อคิดนั้นเป็นหนทางลัดไปสร้างสรรค์ประโยชน์ตามความถนัดทันที
๔) เพื่อเป็นข้อเตือนใจว่า หากความรู้ในหนังสือเล่มใดสามารถไปกันได้กับคำสอนของพระพุทธองค์ ก็แสดงว่าเอาไปใช้งานได้ เพราะการยึดคำสอนของพระพุทธองค์เป็นหลักนั้น ย่อมมีแต่คุณประโยชน์ฝ่ายเดียว ไม่มีโทษอย่างแน่นอน
๕)เพื่อเป็นข้อเตือนใจว่า หากเขียนหนังสือเล่มใดขึ้นมาแล้ว ผู้เขียนเองยังหาข้อสรุปไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าคนอื่นจะนำความรู้จากหนังสือเล่มนั้นไปใช้ประโยชน์ได้
๖)เพื่อเป็นข้อเตือนใจว่า เมื่อเราอ่านหนังสือเล่มใดแล้ว ทั้งๆ ที่ผู้เขียนสรุปไว้ดีแล้ว แต่เรายังไม่สรุปออกมาเป็นความเข้าใจในเชิงใช้งานก็ยังเอาความรู้จากหนังสือไปใช้ไม่ได้ เท่ากับว่าเราอ่านฟรี เสียเวลาไปเปล่าๆ โดยไม่ได้สาระสำคัญอะไรเลย
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ หลวงพ่อจึงต้องเขียนสรุปหัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนั้นๆ ไว้เสมอ เพื่อให้ตนเองนำความรู้ไปใช้งานได้นั่นเอง และภายหลังเมื่อเราย้อนกลับมาอ่านใหม่ ก็กลายเป็นการเตือนความจำ ทำให้เราไม่ลืมความเป็นมาของการทำงานนั้นๆ
ข้อควรระวังในการอ่าน
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รักการอ่านนั้น มีข้อควรระวังอยู่ ๒ เรื่องใหญ่ ที่หลวงพ่อได้ประสบมาด้วยตนเอง
๑. หนังสือบางเล่ม ผู้เขียนกล่าวไว้ในทำนอง ความน่าจะเป็น หรือเพียงแต่เคยได้ยินมา เขายังไม่เคยพิสูจน์มาด้วยตัวเอง แต่เราอ่านไม่ระวัง อ่านไม่ละเอียด คิดว่าทำได้จริง จึงเกิดความผิดพลาดเกือบถึงชีวิตตามมา นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องรอบคอบ
๒. นอกจากนี้ ยังมีข้อควรระวังด้วยว่า บางคนอ่านหนังสือมามาก จำได้แม่น ว่าได้คล่องปาก จึงหลงตัวเองว่าวิเศษกว่าผู้อื่น เห็นคนอื่นโง่กว่าตัว ผลสุดท้ายกลายเป็นว่า ใครที่คิดไม่ตรงกับตน คนนั้นมีความผิด ทั้งๆ ที่ตนเองก็ได้แต่จำขี้ปากเขามาโม้ ไม่ได้ค้นคิด ค้นคว้าด้วยตัวเอง พระพุทธองค์เรียกบุคคลแบบนี้ว่า ปริยัติงูพิษ คือ ยิ่งเรียนยิ่งเป็นโทษต่อตัวเอง
ขอให้ระวังเรื่องนี้ให้ดี
ระดับของปัญญา
คนที่ฉลาดจริงๆ นั้น ยิ่งเรียนจะยิ่งรู้สึกว่า ตนเองยังไม่รู้ จึงรีบขวนขวายให้ยิ่งๆ ขึ้นไป คนที่ฉลาดในการอ่านนั้น เขาจะต้องรู้ว่าปัญญามี ๓ ระดับ คือ
๑) สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการอ่านมากฟังมาก จนกระทั่งจดจำไว้ได้ เรียกง่ายๆ ว่า รู้จำ
๒) จินตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการนำความรู้มาไตร่ตรองพิจารณา เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจถูกให้ถูกต้อง-ชัดเจน-ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป เรียกง่ายๆ ว่า รู้คิด
๓) ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการเห็นแจ้งภายในไปตามความจริงของโลกและชีวิตด้วยการทำภาวนา เรียกง่ายๆ ว่า รู้แจ้ง เพราะฉะนั้น ถึงเราจะอ่านหนังสือจนหมดโลกท่องจำได้ขึ้นใจ ว่าได้คล่องปาก ขยายความได้อัศจรรย์ เราก็ยังได้เพียงปัญญาในระดับรู้จำ กับ รู้คิด เท่านั้น ยังไม่ใช่ปัญญาตัวจริง คือ รู้แจ้ง
ปัญญาประเภทรู้จำกับรู้คิดนั้น ยังมีโอกาสเสื่อมได้ แต่ปัญญาที่เกิดจากการรู้แจ้งนั้น เป็นปัญญาที่เกิดจากการทำภาวนา จนกระทั่งเข้าถึงธรรม ที่อยู่ในตัว เป็นปัญญาชนิดเดียวกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยพระองค์เองในคืนวันเพ็ญวิสาขบูชา
ภาวนามยปัญญานี้ ถ้าเราเข้าถึงเมื่อไร ก็ ไม่ต้องจำ ไม่ต้องคิด แต่ใช้ความสว่างจากการ รู้แจ้งไปเห็นความจริงของโลก และชีวิต ทำให้เรา เกิดปัญญาในระดับโลกุตรธรรม เช่น นิพพาน ภพสาม โลกันตร์ เป็นต้น
คนที่สำนึกรู้ตัวอย่างนี้ ว่าปัญญาของเราอยู่ในระดับใด ก็จะช่วยป้องกันความอหังการในการหลงตัวเองว่าวิเศษ เห็นคนอื่นโง่กว่าตัวได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องหมั่นฝึกสมาธิเป็นประจำด้วย มิฉะนั้น เดี๋ยวก็จะอดหลงตัวไม่ได้อีก
คุณธรรมที่ทำให้ปัญญาก้าวหน้า
คนที่จะมีความก้าวหน้าในการศึกษา หรือประสบความสำเร็จในชีวิตนั้น คนๆ นั้นจะต้องประกอบด้วยคุณธรรม ๓ ประการ
๑. เคารพ คือการเปิดใจเพื่อค้นหาคุณความดีที่มีอยู่จริงในบุคคล วัตถุ เหตุการณ์ต่างๆ เมื่อพบแล้วก็ยอม ก็รับ ก็นับ และก็ถือปฏิบัติตามคุณความดีนั้นๆนิสัยมีความเคารพ คือมีนิสัยรังเกียจการจับผิด ชอบจับจ้องมองดูแต่ความถูก
ความดีของทุกคน ทุกสิ่ง และทุกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง เมื่อพบแล้วก็ยอม-รับ-นับ-ถือ และประพฤติปฏิบัติต่อบุคคล วัตถุและเหตุการณ์นั้นๆ อย่างเหมาะสม จนความถูกต้อง ความดีนั้นๆ เกิดขึ้นในตนด้วย
ความเคารพที่ต้องฝึกอยู่เสมอ
๑.๑ เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
๑.๒ เคารพพ่อ แม่ ครูอาจารย์
๑.๓ เคารพการศึกษา
๑.๔ เคารพสมาธิ
๑.๕ เคารพความไม่ประมาท
๑.๖ เคารพการปฏิสันถาร
๒. วินัย คือ ระเบียบ ข้อบังคับ ที่ห้าม ที่อนุญาต วางไว้เป็นหลักให้ถือปฏิบัติตามเพื่อความสงบ เรียบร้อยดี งามของตนเองและหมู่คณะ นิสัยมีวินัย คือ มีปกติรักการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้ด้วยความเต็มใจ
วินัยที่ต้องฝึกอยู่เสมอ
๒.๑ วินัยว่าด้วยวิธีการแสดงความเคารพ
๒.๒ วินัยว่าด้วยความสะอาด
๒.๓ วินัยว่าด้วยความเป็นระเบียบ
๒.๔ วินัยว่าด้วยความตรงต่อเวลา
๓. อดทน คือ ความยืนหยัดไม่ท้อถอยในการทำความดีไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ ขัดขวาง
ลักษณะความอดทน มี ๒ ประการ
๑. ถูกบีบคั้นก็ต้องทน ไม่ยอมล้มเลิก
๒. ถูกยั่วยุ เย้ายวน ก็ต้องอดใจ ไม่ลุ่มหลง
นิสัยอดทน คือ นิสัยไม่ท้อถอยในการทำคุณงามความดีทุกชนิด จึงทำให้เป็นผู้ไม่เคย
ล้มเลิกการทำความดีกลางคันทุกกรณี
ความอดทนที่ต้องฝึกอยู่เสมอ
๓.๑ อดทนต่อความลำบากตรากตรำ เช่น ทนต่อแดด ลม ฝน
๓.๒ อดทนต่อทุกขเวทนา เช่น ทนโรค-ภัย-ไข้-เจ็บ
๓.๓ อดทนต่อความเจ็บใจ เช่น ทนกระทบกระทั่ง
๓.๔ อดทนต่อความยั่วยุ-เย้ายวน เช่น ทนกิเลส อบายมุขต่างๆ
คุณธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ คือพื้นฐานความก้าวหน้าของปัญญา หลวงพ่อได้ฝึกฝนอบรมตนเองมาตามเส้นทางนี้ จึงทำให้สามารถสรุปความรู้และข้อคิดต่างๆ ที่ได้จากหนังสือวิชาการทั้งทางโลกและ ทางธรรมมาช่วยพระเดช พระคุณหลวงพ่อธัมมชโย สร้างวัดพระธรรมกายได้สำเร็จมาถึงทุกวันนี้
พวกเรายังมีงานพระศาสนารออยู่ข้างหน้าอีกมาก แต่เนื่องจากโลกหมุนไปไม่มีหยุด มีแต่ชีวิตมนุษย์ที่นับถอยหลัง
หลวงพ่อจึงไม่อยากให้พวกเราต้องเสียเวลามากเกินไป เพราะได้ซึ้งใจมากับตนเองแล้วว่า กว่าจะได้ข้อคิดมาแต่ละตัวอักษรนั้น บางครั้งหลวงพ่อต้องหมดเวลาไปหลายๆ ปี บางครั้งกว่าจะได้รู้ได้คิด ก็ต่อเมื่อมีโอกาสเดินทางไปพบหนังสือเล่มนั้นๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในร้านหนังสือหลายๆ ประเทศทั่วโลกหลวงพ่อจึงได้พบหนังสือ ที่ทำให้ได้ความรู้ ได้ข้อคิดดีๆ มาใช้ในการทำงานฝึกตน สร้างวัด สร้างบุญมาตราบถึงทุกวันนี้
ดังนั้น หลวงพ่อจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อคิดเรื่องการอ่านให้เป็นบุญนี้ จะเป็นแนวทางในการหาความรู้มาฝึกตน และสร้างบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป และเป็นข้อเตือนใจให้ลูกหลานชาวพุทธในภายหน้า จงรู้จักกลั่นกรองการนำวิทยาการใหม่ๆ มาใช้ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ดี โดยขอให้ยึด หลักการว่า
๑. สิ่งใดที่นำมาใช้แล้ว เป็นผลให้เกิดการละชั่ว ทำความดี กลั่นใจให้ผ่องใสของตนเองและชาวพุทธ สิ่งนั้นนำมาใช้ได้ ใช้แล้วจะเกิดเป็น "บุญ"
๒. สิ่งใดที่นำมาใช้แล้ว ไม่ทำให้เกิด อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ แต่ทำให้เกิดกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ สิ่งนั้นนำมาใช้ได้ ใช้แล้วเกิดเป็น "บุญ"
๓. สิ่งใดที่นำมาใช้แล้ว ไม่ขัดกับพระธรรมวินัย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนั้นนำมาใช้ได้ ใช้แล้ว เกิดเป็น "บุญ"
หลวงพ่อหวังว่า ข้อคิดจากการแนะนำวิธีอ่านให้เป็นบุญนี้ จะเป็นประโยชน์ให้แก่ลูกหลานในการฝึกตน การสร้างบุญ และการนำวิทยาการใหม่ๆ มาจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปตราบนานเท่านาน ทุกๆ คนจะได้สามารถนำความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้สร้างบุญ เพื่อปิดหนทางนรก เปิดหนทางสวรรค์ เปิดหนทางไปพระนิพพานให้ตนเองได้อย่างสมภาคภูมิที่ได้เกิดมาเป็นชาวพุทธนั่นเอง