ฉบับที่ 106 สิงหาคม ปี2554

พรรษาพิสุทธิ์

 

ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ (M.D.; Ph)

 




 

พรรษาพิสุทธิ์

 

ช่วง ๓ เดือนนี้ มีอะไรที่ควรทำ นอกจาก ลด ละ เลิกอบายมุขตามที่สื่อต่าง ๆ โฆษณาเชิญชวน?

          ช่วงเข้าพรรษาทุกคนจะรับรู้กันว่า พระสงฆ์จะอยู่ประจำวัดตลอด ๓ เดือน เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ ช่วงนี้จึงมีพระเยอะ ทั้งพระที่บวชช่วงเข้าพรรษาและพระที่อยู่ประจำวัด ฉะนั้น คนก็จะไปทำบุญเลี้ยงพระ ไปฟังเทศน์ฟังธรรม กันมากกว่าปกติ และถือโอกาสนี้ปฏิบัติธรรมด้วย บางคนกินเหล้าตลอดปี แต่เลิกกินช่วงเข้าพรรษา ซึ่ง เป็นสิ่งที่ดีมาก

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา แต่ก่อนก็เป็นมนุษย์ปกติเหมือนกับเรา ท่านเกิดแรงบันดาลใจตั้งความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าชาติแรกตอนเป็น พ่อค้าไปค้าขายทางทะเล แล้วเรือสำเภาเกิดเจอพายุ ล่ม ท่านเอาแม่ขึ้นหลังแล้วว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทร ๗ วัน ๗ คืน ครั้งนั้น ท่านเห็นว่าชีวิตมนุษย์เป็นทุกข์จริง ๆ ท่านจึงตั้งความปรารถนาว่าจะเป็นผู้ค้นพบหนทางพ้นทุกข์ให้ได้ คือจะเป็นพระพุทธเจ้า และเมื่อพ้นทุกข์แล้วจะไม่พ้นเพียงคนเดียว แต่จะสอนให้คนอื่น ๆ รู้ แล้วพ้นทุกข์ตามไปด้วย ท่านมาคลิกเกิดแรงบันดาลใจตอนลอยคอในมหาสมุทร ได้ ๗ วัน ๗ คืน จากนั้น ท่านก็สร้างบารมีต่อเนื่อง มาทุกชาติเป็นเวลานานถึง ๒๐ อสงไขยกับแสน มหากัป ในชาติสุดท้ายก็ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมา-สัมพุทธเจ้า เห็นไหมว่าก่อนที่จะมีจุดเริ่มต้นนั้น ก็ต้องมีจุดสร้างแรงบันดาลใจเสียก่อน

          เพราะฉะนั้น ช่วงเข้าพรรษาจึงเป็นตัวสร้างแรงบันดาลใจที่ดีมาก ปกติไม่รู้จะเอาวันไหนเป็นตัว คลิก แต่พอเข้าพรรษา จะต้องเอาให้ได้ ยิ่งมีกระแส สื่อโปรโมตยิ่งดี คนไหนดื่มเหล้า สูบบุหรี่ พรรษานี้ก็งดเหล้า งดบุหรี่ และจะต้องรักษาศีล ๕ ให้ได้ จะต้องไหว้พระก่อนออกจากบ้าน จะต้องสวดมนต์ นั่งสมาธิทุกคืนก่อนนอน วันละครึ่งชั่วโมง หรือ ๑ ชั่วโมงก็ได้ แล้วแต่เราจะตั้งปณิธาน เรียกว่าปรับนิสัย เดิมที่เคยทำมาคุ้น ๆ และเราก็รู้ว่าไม่ค่อยดีเท่าไร ตั้งใจทำสิ่งที่ดี ถ้าเป็นเด็กก็ตั้งใจเลย พรรษานี้จะทำการบ้านทุกวัน งดเล่นเกม ๓ เดือน ไม่แตะเลย อย่างนี้เป็นต้น อาศัยจังหวะช่วงนี้เป็นตัวคลิกขึ้นมา แม้กลางพรรษาแล้วก็ยังไม่สายเกินไป บางคนบอกอย่างนี้น่าจะตั้งง่ายกว่า เพราะกลางพรรษาเหลือแค่ เดือนครึ่ง พอสู้ไหว ก็ให้เริ่มตั้งปณิธานตอนนี้เลยว่า เราจะทำสิ่งที่ดี ๆ ในพรรษานี้ แล้วเราจะพบว่า สิ่งนั้นให้ประโยชน์กับชีวิตของเรามากอย่างไม่น่าเชื่อ

          การตั้งเป้าเพื่อฝึกตัวในช่วงเข้าพรรษา เช่น ตั้งใจจะปฏิบัติธรรมทุกวัน ควรจะตั้งอย่างไรจึงจะเป็นไปได้?

          ให้ตรวจสอบตัวเราเอง แล้วตั้งเป้าที่เราคิดว่าพอไหว ไม่มากเกินไป ตั้งแล้วก็ต้องให้เข้าเป้า คือ เมื่อตั้งแล้วให้ตั้งใจทำ พยายามทำให้ได้ อย่าไปเหลว กลางคัน วิธีการให้กำลังใจตัวเองคือ เมื่อตั้งใจแล้ว วันอาทิตย์ไปวัดเลย ไปสวดมนต์ นั่งสมาธิเป็นพิเศษ เติมพลังชาร์จแบต ๗ วันครั้ง จะได้เป็นการตอกย้ำ ถ้าอย่างนี้ก็พอไหว แล้วก็ตั้งใจทำให้ตลอดรอดฝั่ง ปีหน้าก็ยกเป้าขึ้นไปเรื่อย ๆ ทีละสเต็ป อย่างนี้จะดีมาก

          ถ้า ๓ เดือน ผ่านไปแล้ว เราควรจะทำต่อเนื่องไปอีก หรือว่ากลับมาเป็นคนเดิมดีกว่า?

          เราเคยได้ยินชื่ออริสโตเติลใช่ไหม เขาเป็น นักปราชญ์ชาวกรีก เขาเคยบอกว่า Excellence is not an act but a habit. หมายความว่า คนที่เก่งมาก เยี่ยมยอดมาก ๆ ไม่ใช่คนที่ทำนั่นทำนี่เก่ง เรื่องนี้เป็นแค่ส่วนประกอบ แต่ที่สำคัญคือนิสัย อริสโตเติลสรุปได้จากการสังเกต เนื่องจากเขาเป็น ผู้มีปัญญามากจึงสามารถหาข้อสรุปได้อย่างนี้ ซึ่งก็ เป็นอย่างที่เขาสรุปจริง ๆ เพราะคนเราจะเก่งหรือไม่ขึ้นอยู่กับนิสัย คนไหนมีนิสัยขยันขันแข็ง เก็บหอม รอมริบ ละเอียดรอบคอบ นิสัยเหล่านี้จะทำให้เขา ประสบความสำเร็จในชีวิตได้

        วิธีทำใจให้มุ่งมั่นทำสิ่งดี ๆ ต่อไป ต้อง ทำอย่างไร?

          เชื่อหรือไม่ว่าที่เรารู้สึกว่าอุปสรรคเยอะเหลือเกินนั้น เราคิดไปเอง พอเราตั้งใจจะทำความดีจริง ๆ ไม่เห็นมีอะไรเลย วันนี้ อาตมาเพิ่งเจอโยมผู้หญิงท่านหนึ่ง ท่านมีคนรู้จักมาก ปกติท่านต้องแต่งหน้าทุกวัน พรรษานี้ท่านตั้งใจรักษาศีล ๘ แต่งหน้าทาปากไม่ได้ คนเคยแต่งแล้วไม่แต่งเรื่องใหญ่เลย เพราะท่านต้อง เข้าสังคม แต่ดูหน้าตาท่านผ่องใสมีความสุข ไม่เห็น มีปัญหาอะไรเลย ถ้าคนไม่ทำจะรู้สึกว่าไม่ได้หรอก เดี๋ยวคนนั้นทัก คนนี้ทัก เดี๋ยวจะเคอะ ๆ เขิน ๆ แต่พอตั้งใจทำจริง ๆ แล้วไม่เห็นมีปัญหาอะไร ทุกอย่างราบรื่น ปัญหาต่าง ๆ เราคิดไปเอง พอตั้งใจจะทำแล้วไม่ยากเหมือนที่คิด ฉะนั้น ยังไม่ช้าเกินไป พรรษานี้จะเอาอย่างไรดีก็เริ่มเลย แล้วจะพบสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นในชีวิตของเรา

 

แต่ก่อนไม่มีไฟฟ้าใช้ เวลาพระภิกษุท่านศึกษาพระธรรมวินัย ก็ต้องอาศัยแสงสว่างในการอ่านตำรับตำรา เพราะฉะนั้น ชาวบ้านก็จะช่วยกันหล่อเทียนพรรษาต้นโตๆ ที่คิดว่าสามารถใช้ได้ตลอด ๓ เดือน

 

          ประเพณีการหล่อเทียนพรรษามีไว้เพื่ออะไร จะสืบทอดอย่างไรถึงจะเหมาะสมและถูกต้อง?

          แต่ก่อนไม่มีไฟฟ้าใช้ เวลาพระภิกษุท่านศึกษา พระธรรมวินัยก็ต้องอาศัยแสงสว่างในการอ่านตำรับ ตำรา เพราะฉะนั้น ชาวบ้านก็จะช่วยกันหล่อเทียนพรรษาต้นโต ๆ ที่คิดว่าสามารถใช้ได้ตลอด ๓ เดือน แล้วเอาไปถวายวัด กลางคืนพระจะได้จุดเทียนอ่าน หนังสือธรรมะ เป็นการให้ความสะดวกในการศึกษา พระธรรมวินัยแก่พระภิกษุสามเณร และเนื่องจากสิ่งที่ถวายพระเป็นสิ่งที่ควรทำให้ประณีต จึงมีการแกะสลักและพัฒนาจนกระทั่งสวยงาม บางครั้งเป็น ปราสาทผึ้ง หรือเป็นรูปอะไรต่าง ๆ ที่งดงาม ซึ่งบางคนถามว่าทำอย่างนี้จะดีหรือ ต้องตอบว่าเป็นสิ่งที่ดี อยากให้เรามองว่า พระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ มีทั้งส่วนที่เป็นแก่น เป็นกระพี้ และเปลือก ตัวเนื้อหาคำสอน การสวดมนต์ การนั่งสมาธิ คือแก่นคำสอน แต่ถ้ามีแต่แก่นอย่างเดียว ไม่มีประเพณีอะไรมาช่วยเลย มาถึงก็จับนั่งสมาธิอย่างเดียว บางคนทำไม่ได้ แต่พอมีเปลือก มีกระพี้ คือมีพิธีกรรมมาประกอบเข้าไปด้วย เป็นตัวทำให้มีสีสัน สร้างความคึกคัก ก็จะช่วยดึงคนที่มีระดับใจทั้งสูงทั้งต่ำหลายระดับเข้ามาได้

          พอมาถึงวัดแล้วเขาก็จะนึกถึงบุญกุศล ใจ เขาจะเริ่มอินกับบุญกุศลแล้ว เขาก็จะไปทำบุญ สักหน่อยหนึ่ง หยอดตู้บ้าง ไหว้พระบ้าง เวียนเทียน บ้าง หรืออาจจะสวดมนต์แล้วนั่งสมาธิสักหน่อย ค่อย ๆ ขยับขึ้นไป ถ้าไม่มีการแห่เทียนพรรษา บางคนอาจจะไม่ได้เข้าวัดเลย พอมีขบวนแห่ก็ไปดูสักหน่อย เห็นเขาว่าสวยดี ไปดูแล้วก็ได้ทำบุญ ได้สวดมนต์ ได้เวียนเทียน ได้ไหว้พระ ได้นั่งสมาธิ ขยับขึ้นมาตามลำดับ จากเปลือกจากกระพี้ก็มา ถึงแก่น ใครบอกว่าเปลือกและกระพี้ของต้นไม้ไม่สำคัญ ลองไปลอกเปลือกลอกกระพี้ออกให้หมด ผลก็คือต้นไม้ตาย เพราะฉะนั้น แม้แก่นสำคัญที่สุดก็จริง แต่ต้องรู้ว่าเปลือกและกระพี้ก็เป็นตัวสนับสนุน เช่นเดียวกับพิธีกรรมต่าง ๆ เทศกาล ต่าง ๆ งานบุญต่าง ๆ ที่ช่วยดึงใจคนเข้ามาสู่ พระรัตนตรัยได้

 

 

ตักบาตรดอกไม้
วัดพระพุทธบาท
จ.สระบุรี


          ปัจจุบันนี้ หลายคนนิยมถวายหลอดไฟ ในเทศกาลเข้าพรรษา อย่างนี้เรียกว่าผิดวัตถุประสงค์เดิมหรือไม่ และจะมีผล อย่างไรบ้าง?

          ไม่ผิดเลย เวลาทำอะไรก็ตามเราจะดูที่วัตถุประสงค์หลัก ถ้าวัตถุประสงค์หลักคือการให้แสงสว่างเพื่อให้ความสะดวกพระภิกษุในการศึกษาพระธรรมวินัย การถวายหลอดไฟต่าง ๆ ถือว่าใช้ได้ ส่วนการถวายเทียนก็ไม่ได้ผิดอะไร พระท่านก็นำไป ใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น นำไปจุดในโบสถ์บ้าง ใน ศาลาบ้าง เพราะฉะนั้นเราสามารถปรับได้โดยมุ่งเน้น ที่ประโยชน์ใช้สอย ถ้าใครมีกำลังทรัพย์พอจะไปสร้าง ระบบไฟฟ้า ไปตั้งหม้อแปลง ไปเดินระบบไฟฟ้าให้ วัดต่าง ๆ ยิ่งดีใหญ่

          ปัจจุบันนี้ เขาบอกว่าถวายหลอดไฟก็ต้องมีอุปกรณ์ให้ครบ ทั้งบัลลาสต์ สตาร์ทเตอร์ ขาหลอด บางครั้งมีแต่หลอดเต็มวัด
ถ้าจะให้ดีละก็ ถวายหลอดเสร็จแล้ว ถวายปัจจัยเป็นค่าไฟให้วัดด้วยก็ยิ่งดี และเผื่อท่านเอาไป ใช้ในสิ่งที่ยังขาดอยู่ จะได้ตรงวัตถุประสงค์มากที่สุด เป็นประโยชน์ที่สุด

          เราจะได้อานิสงส์อะไรจากการถวายหลอดไฟ?

          ผู้ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุ เพราะฉะนั้น ชาติต่อไปจะเป็นคนที่ตาสวย แวววาว แล้วก็มองเห็น ได้ไกล แล้วยังเป็นผู้มีปัญญาดีอีก เพราะอำนวยความ สะดวกให้พระท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัย เราก็จะได้ปัญญาบารมี เป็นคนฉลาด ได้ทั้งปัญญาจักษุ และ มังสจักษุ

          การตักบาตรดอกไม้แตกต่างจากการตักบาตรประเภทอื่น ๆ อย่างไรบ้าง?

          การตักบาตรดอกไม้ในประเทศไทยที่ถือว่า มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คงจะเป็นที่ วัดพระพุทธบาท สระบุรี ที่มาของการตักบาตรดอกไม้มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คือ ที่กรุงราชคฤห์ ซึ่งมีกษัตริย์คือพระเจ้าพิมพิสาร ในครั้งนั้นจะมีนายมาลาการทำหน้าที่ดูแลเรื่องดอกไม้ เขาจะเอาดอกมะลิไปถวายพระเจ้าพิมพิสารวันละ ๘ กำ มีอยู่วันหนึ่งนายมาลาการกำลังจะเอาดอกมะลิ ๘ กำ ไปถวายพระราชา ระหว่างทางเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีฉัพพรรณรังสีงดงามเหลือเกิน ก็เกิดปีติศรัทธาขึ้นมา เอาดอกมะลิไปถวายบูชาพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าทั้งหมด พอกลับถึงบ้าน เล่าให้ภรรยาฟัง ภรรยาบอกว่า อย่างนี้มีโทษแน่ คอขาดแน่นอน ฉันไม่ได้เห็นด้วยกับพี่ ถ้าอยู่กับพี่ต่อไป สงสัยฉัน โดนประหารไปด้วย นางจึงหนีออกจากบ้านไปเลย
พอเรื่องราวรู้ไปถึงพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเป็นพระโสดาบันแล้ว พระองค์ไม่ได้พิโรธเลย กลับทรงคิดว่า นายมาลาการฉลาดมาก มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเหมือนที่พระองค์ศรัทธา จึงพระ- ราชทานทรัพย์ให้มากมาย และเลื่อนตำแหน่งให้ เรียกว่าบุญส่งผลทันตาเห็นเดี๋ยวนั้นเลย จุดนี้เอง ที่เป็นที่มาของการตักบาตรดอกไม้ในยุคปัจจุบัน

        ที่วัดพระพุทธบาท ในวันเข้าพรรษา คณะสงฆ์ จะออกมาบิณฑบาต ญาติโยมก็จะเอาดอกไม้ ธูป เทียน ไปใส่บาตรกัน และเอาดอกเข้าพรรษา ซึ่ง เป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ออกดอกปีละครั้งเดียวในช่วง เข้าพรรษา มีสีขาว สีเหลือง สวยมาก ไปเก็บกันมา จากรอบ ๆ เขาพระพุทธบาท แล้วก็เอาไปใส่บาตร เมื่อพระท่านรับดอกไม้เสร็จ ก็จะเอาไปบูชารอยพระพุทธบาทและพระบรมสารีริกธาตุ พอบูชา เสร็จเรียบร้อย เวลาพระออกมาจากมณฑปจะมีญาติโยมผู้ชายมานั่งรอเอาน้ำล้างเท้าให้ก่อนที่ท่าน จะเข้าโบสถ์ไปอธิษฐานพรรษา

          หลายคนบอกว่าถ้าไปทำบุญกับวัดที่มี ชื่อเสียงและมีคนเยอะ ๆ จะได้อานิสงส์มาก แบบนี้คิดถูกไหม? 

          พิธีกรรมเป็นเหมือนกับเปลือกหรือกระพี้ เพื่อน้อมนำใจเราให้เข้าใกล้พระรัตนตรัย เช่น ได้ยินเขา บอกว่ามีการตักบาตรดอกไม้ ก็อยากจะไปดูสักหน่อย ว่าเป็นอย่างไร รู้สึกมีแรงบันดาลใจอยากจะไป หรือ อยากจะไปดูหน่อยว่าเทียนพรรษาเป็นอย่างไร ทำให้ เราได้เข้าวัด พิธีกรรมจึงเป็นเครื่องหนุนส่ง แต่ถ้าเรา เป็นคนที่หนักแน่นในธรรมอยู่แล้ว และปฏิบัติธรรม สม่ำเสมออยู่แล้ว อย่างนี้ไปที่ไหนก็ได้ วัดใกล้บ้านก็ได้ หรือว่าวัดไหนสอนให้เราได้ปฏิบัติธรรม ได้ทำ ความดีเต็มที่ เราก็ไป ถ้าอย่างนี้ก็เหมือนกับว่าพิธีกรรมมีบทบาทรองลงมา เพราะเราเองพร้อมอยู่แล้ว

          แต่ถ้าเราจะชวนคนใหม่มาสวดมนต์นั่งสมาธิ ได้เลยก็ให้ชวน แต่คนไหนชวนไปตักบาตรดอกไม้หรือไปแห่เทียนพรรษาง่ายกว่า ก็ชวนเขาไปเลย ถือว่าเป็นอุบายจูงคนให้เข้าสู่พระรัตนตรัย

 




 

...เดินธุดงค์ไป สิ่งที่ห่วงพะวงในใจมันก็หลุดไปด้วย เหลือแค่คุมใจตัวเอง ถ้าทำถูกหลักแล้วละก็ การปฏิบัติธรรมก็จะก้าวหน้าได้เร็วด้วย...

      หลังจากครบ ๓ เดือน นอกจากจะทำ ความดีต่อเนื่องแล้ว ยังมีกิจกรรมทาง พระพุทธศาสนาอะไรที่พุทธศาสนิกชนต้องไปร่วมปฏิบัติหรือต้องทำอย่างต่อเนื่อง?

          ถ้าเป็นในยุคก่อน พอออกพรรษาเสร็จแล้วกิจกรรมที่รออยู่แน่ ๆ คือการทอดกฐิน การทอดกฐิน จะทำได้ในช่วง ๑ เดือน หลังจากออกพรรษา จะทอด วันไหนก็ได้ ออกพรรษาแล้วรุ่งขึ้นรับกฐินเลยก็ได้ จนถึงวันสุดท้ายคือวันลอยกระทง พอเสร็จกฐินแล้ว ส่วนใหญ่พระภิกษุจะเดินธุดงค์กัน แต่ระยะหลังมา นี้ พระธุดงค์เริ่มไม่ค่อยมี ต้องบอกว่าตอนนี้เรากำลังเอาของเก่ามาเป่าฝุ่น เดี๋ยวพอออกพรรษาแล้ว พระธรรมทายาทที่บวชพร้อมกันทั้งประเทศก็จะมีการเดินธุดงค์กัน จะคึกคักสนุกสนานกันมาก ในระหว่างพรรษานี้ ให้พวกเราตั้งใจสวดมนต์ นั่งสมาธิ เตรียมตัวเตรียมใจไว้เลย ถึงช่วงเดินธุดงค์ของพระแล้วละก็ ใครพร้อมก็เป็นลูกศิษย์ไปเดินธุดงค์กับท่าน ได้ หรือถ้าใครยังไม่สามารถลางานได้ครั้งละ ๗ วัน จะไปรอใส่บาตรก็ได้ แล้วก็ไปฟังเทศน์ฟังธรรม อยู่ ใกล้ที่ไหนให้ทำที่นั่น เพราะจะมีการเดินธุดงค์กัน ทั้งประเทศ จะสนุกสนานคึกคักมาก และเป็นการยอยกพระพุทธศาสนาให้สูงเด่น กลับมาเป็นหลักใจ ของชาวพุทธอย่างมั่นคงทั้งประเทศไทย

          ทำไมต้องธุดงค์และทำไมคนอยากจะใส่บาตรกับพระธุดงค์มาก?

          พระธุดงค์มีข้อดีคือจะต้องมักน้อยสันโดษ เพราะว่าจะต้องแบก คนเราถ้าต้องแบกที่พักติดตัวไปด้วยจะเป็นอย่างไร อยากจะเอาของไปเยอะ ๆ ไหม ถ้าอยู่บ้านอันนี้เราก็เสียดาย อันนี้ก็จำเป็น ของจำเป็นเยอะไปหมด แต่ถ้าต้องแบกขึ้นหลังเดินไปเองเป็นอย่างไร อันนี้ก็ไม่ค่อยจำเป็น อันนั้นก็ ไม่ค่อยจำเป็น เพราะมันหนัก ต้องเดินวันหนึ่งเป็น สิบ ๆ กิโลเมตร สุดท้ายจะเหลือเฉพาะของที่จำเป็น ต้องใช้จริง ๆ

         การธุดงค์ทำให้เราแยกออกระหว่างคำว่า จำเป็น หรือ Need กับคำว่า ต้องการ หรือ Want ปกติคนเรามักแยกไม่ออก อะไรก็จำเป็นไป หมด จริง ๆ ไม่จำเป็นหรอก เป็นแค่ความอยากมากกว่า แต่พอต้องเดินธุดงค์แล้วจะแยก ๒ อย่างนี้ออก แล้วระหว่างที่เดินไปนั้น เชื่อไหมว่า การย่ำในผืนแผ่นดินไทยทีละก้าว ๆ ให้รู้จักทรายทุกเม็ดบนแผ่นดินที่ย่างไป จะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างเรากับแผ่นดินมากขึ้น แต่ถ้า เรานั่งรถจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง นั่งไป ๑๐๐ รอบ จะรู้จักแผ่นดินดีเท่าเดินด้วยเท้าสัก ๑ รอบก็ไม่ได้

          นอกจากนี้ เราจะสัมผัสใกล้ชิดชาวบ้านมาก แล้วเวลาเดินไปเราก็ทำสมาธิไปด้วย เหมือนกับเดิน จงกรมไปด้วย พออย่างนี้แล้วเรื่องอื่น ๆ มันหลุดไปจากใจ ข้าวของก็ใช้เท่าที่จำเป็น เดินธุดงค์ไป สิ่งที่ห่วงพะวงในใจมันก็หลุดไปด้วย เหลือแค่คุมใจ ตัวเอง ถ้าทำถูกหลักแล้วละก็ การปฏิบัติธรรมก็จะก้าวหน้าได้เร็วด้วย ฉะนั้น ญาติโยมเขาเห็นพระท่าน ตั้งใจอย่างนั้น เขาก็มีศรัทธาเป็นพิเศษ จึงมาใส่บาตร ให้การอุปถัมภ์บำรุง

          อย่างสมัยก่อน บางช่วงพระธุดงค์เดินผ่านภูเขามาไม่มีคนใส่บาตร เพราะมีแต่ป่า บางครั้งท่านอดข้าวมา ๓ วัน ท่านก็สู้ พอมาถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านก็ตั้งใจอุปถัมภ์บำรุงเต็มที่ให้ท่านแข็งแรง เพราะเวลาที่ท่านเดินต่อไปข้างหน้า บางหมู่บ้านอาจ จะไม่มีคน ท่านจะได้สู้ไหว การเดินธุดงค์จึงไม่ใช่ เรื่องสบาย ต้องอดทน ต้องฝึกตน ทนหิว บำเพ็ญตบะ

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล