ฉบับที่ 116 มิถุนายน ปี2555

มหัศจรรย์วันวิสาขบูชา

ข้อคิดรอบตัว

เรื่อง :พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ ( M.D ; Ph .D. )

 

มหัศจรรย์วันวิสาขบูชา

 


          ในประเทศไทยเราหากย้อนอดีตไปสัก ๓๐ ปี ๕๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี เราจะพบว่า ในวันวิสาขบูชาซึ่งถือเป็นวันสำคัญที่สุดของชาวพุทธ ชาวบ้านจะไป วัดกันเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะวัดเป็นศูนย์กลาง ของชุมชน แต่ตอนนี้สภาพสังคมเปลี่ยนไป คนห่างเหินจากวัดมากขึ้น จึงเกิดสภาพอย่างที่เห็น ๆ กันอยู่ ถ้าเราปรับให้คนสนใจธรรมะและเข้าวัดอีกครั้ง สภาพสังคมก็จะดีขึ้นวันวิสาขบูชาถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก สำหรับชาวพุทธ
แต่ทำไมคนทั่วไป จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญ

          ตั้งแต่เริ่มสร้างวัดพระธรรมกาย ตอนนั้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านเพิ่งบวชได้ ๑ พรรษา มีวันหนึ่ง ท่านนั่งรถผ่านสนามม้า เห็นคนเชียร์ม้าเป็นหมื่น ท่าน ก็ปรารภว่า วันหนึ่งท่านจะสร้างวัด แล้วจะชวนคนเข้าวัด ให้มาสวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ฟังธรรม ให้มากกว่าคนที่มาเชียร์ม้า คนข้าง ๆ ที่ได้ฟังก็อมยิ้ม ไม่ขัดหลวงพ่อ แต่ก็คิดในใจว่าคงเป็นไปไม่ได้หรอก ได้สักร้อยคนก็มากแล้ว แต่ถึงวันนี้ ภาพนั้นไม่ใช่ภาพ ในความฝันแล้ว แต่เป็นภาพแห่งความจริงที่มีคนมา ปฏิบัติธรรมครั้งละหลาย ๆ แสนคน

          ถามว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ตั้งแต่เริ่มต้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านตั้งใจว่า จะสร้างวัดที่เป็นวัดสำหรับสร้างคนให้เป็นคนดี แล้วท่านก็ยืนหยัด ทำมาตลอด โดยที่ในวัดไม่มีมหรสพ ไม่มีการละเล่น อื่น ๆ แต่เน้นธรรมะของพระพุทธเจ้า ใครมาวัดก็มาสวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ฟังธรรม ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา แล้วก็ทำอย่างสม่ำเสมอ มาตลอด ผลที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่คนไม่อยากเข้าวัด แต่ว่าที่ผ่านมาวัดอาจจะยัง ไม่น่าเข้า ถ้าเราปรับวัดให้น่าเข้าตามหลักปฏิรูปเทส ๔ คนก็จะเข้าวัดเอง

       ปฏิรูปเทส ๔ หรือการทำสถานที่ให้เป็นที่สบาย มีทั้งหมด ๔ ด้าน ได้แก่ อาวาสเป็นที่สบาย คือ สถานที่สะอาดสะอ้าน เป็นระเบียบเรียบร้อย และร่มรื่น อาหารเป็นที่สบาย คือ ใครมาวัดก็เลี้ยงข้าวปลาอาหารให้ดี อย่าให้อดกลับไป บุคคลเป็นที่สบาย คือ ฝึกบุคลากรในวัด ทั้งพระภิกษุ สามเณร  ให้มีศีลาจารวัตรเรียบร้อย สงบเสงี่ยม  สง่างาม เป็น  ที่ตั้งแห่งศรัทธา และศิษย์วัดทั้งชายและหญิงก็ต้องเป็นต้นแบบทางศีลธรรมให้กับเยาวชนได้ ธรรมะเป็นที่สบาย คือ ญาติโยมมาวัดแล้วอย่าให้กลับบ้าน มือเปล่า ต้องเทศน์สอนอบรมเขาทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ เขาจะได้มีธรรมะกลับไปด้วย

          พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านยึดหลักทั้ง ๔ ข้อ และทำสม่ำเสมอเรื่อยมา คนมาวัดจากสิบก็เป็นร้อย จากร้อยเป็นพัน จากพันเป็นหมื่น จากหมื่นเป็นแสน อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นตัวพิสูจน์ว่า ที่จริงแล้ว คนอยากจะเข้าวัด แต่เราต้องปรับปรุงวัดให้น่าเข้าด้วย

ธรรมเนียมบางธรรมเนียมเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่ธรรมเนียมของวันวิสาขบูชายังคงอยู่เพราะอะไร

          วันวิสาขบูชาถือเป็นวันที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธ เพราะเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมศาสดาของเรา ด้วยเหตุนี้ทำให้แม้แต่องค์การสหประชาชาติ ก็ยังยก ให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดประจำปีขององค์การฯ และประกาศให้เป็นวันสำคัญของโลกวันหนึ่ง แล้วประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างอินโดนีเซีย ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ก็ยังประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดประจำปีของชาติเลย เขาให้ความสำคัญถึงขนาดนั้น และในวันวิสาขบูชา ชาวพุทธในอินโดนีเซียก็จัดงานใหญ่ที่มหาเจดีย์บรมพุทโธ มีคนมารวมกันเป็นหมื่น ๆ คนทีเดียว ถือเป็นการรวมพลังของชาวพุทธ ซึ่งเขาได้เชิญทางวัดพระธรรมกายส่งคณะไปช่วยจัดงานด้วย

          บ้านอื่นเมืองอื่นเขาจะทำบุญกับพระสักทีก็แสนลำบาก ต้องนิมนต์พระข้ามประเทศ หรือแม้แต่ องค์การสหประชาชาติก็ยังเห็นความสำคัญของวันวิสาขบูชา แล้วบ้านเมืองเราเป็นเมืองพุทธแท้ ๆ เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลกด้วย พวกเรา ชาวพุทธทุกคนคือเจ้าของประเทศที่เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก พอถึงวันวิสาขบูชา ทั้งโลก เขาจับจ้องมองประเทศไทยว่าทำอะไรบ้างในวันสำคัญอย่างนี้ ถ้าเราเข้าวัดปฏิบัติธรรม ทำบุญ รักษาศีล เจริญภาวนา ก็ค่อยสมกับเป็นชาวพุทธที่อยู่ในประเทศที่เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก

ที่หลายคนลืมให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชา
เป็นเพราะโลกหรือสังคมเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

          ที่จริงเป็นเพราะเขาไม่ได้ศึกษาความสำคัญของวันนี้อย่างจริงจัง พระพุทธเจ้าของเราทรงเป็นบุคคล มหัศจรรย์ของโลก ประวัติของพระองค์งามพร้อมไม่มีใครเสมอเหมือน พระองค์ถือกำเนิดเป็นโอรสกษัตริย์ เป็นรัชทายาทที่มีรูปกายงดงาม ได้ลักษณะ มหาบุรุษครบ ๓๒ ประการ มีสติปัญญาเฉียบแหลม เรียนจบวิชา ๑๘ ประการ ตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี ถ้าเปรียบในปัจจุบัน คือจบดอกเตอร์ ๑๘ สาขา เมื่ออายุ ๑๖ ปี เท่านั้น ถึงคราวมีครอบครัว พระชายาคือพระนางพิมพาก็เป็นหญิงเบญจกัลยาณี งามทั้งกายและใจ สิ่งที่ชาวโลกแสวงหาไม่ว่าทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง สุขภาพร่างกาย รูปร่างหน้าตา หรือครอบครัวที่อบอุ่นดีงาม พระองค์ทรงมีพร้อมหมด แต่พระองค์ทรงละสิ่งเหล่านี้ออกบวชไปอยู่ป่า บำเพ็ญ เพียรแสวงหาโมกขธรรมถึง ๖ ปี เต็ม ๆ ทนลำบาก จนตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน คือ พระองค์ทรงละจากความเป็นผู้มีอะไร ๆ อย่างที่ชาวโลกต้องการ ไปสู่ความเป็นผู้ไม่มีอะไร เพราะมุ่งหวังสิ่งที่มีค่าสูงกว่านั้น คือการหลุดพ้นทางจิตใจ และพระองค์ก็ทรงตรัสรู้ในที่สุด และทรงมีเมตตาสั่งสอนชาวโลกทั้งหลายจนพระพุทธศาสนา ตกทอดมาถึงเราในปัจจุบันนี้

          แล้วสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้น ก็ไม่ได้บังคับให้ คนอื่นเชื่อ แต่พระองค์ทรงบอกเสมอว่า อย่าเพิ่งเชื่อ สิ่งที่พระองค์สอน ให้ตรึกตรองและทดลองปฏิบัติก่อน ถ้าหากปฏิบัติแล้วได้ผลดีเมื่อไรจึงค่อยเชื่อ แล้วก็มีผู้ปฏิบัติจนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เป็นพยานบุคคลว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้เป็นของจริง แค่ในครั้งพุทธกาลก็มีผู้บรรลุธรรมเป็นแสนเป็นล้านคนแล้ว แต่ละท่านประวัติไม่ธรรมดา พระอรหันต์บางรูปก่อน ออกบวชเป็นถึงพระมหากษัตริย์ เช่น พระมหากัปปินะ พระภัททิยะ บางท่านเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งในยุคนั้น เช่น โชติกเศรษฐี บางท่านเป็น มหาเสนาบดีมีฐานะตำแหน่งใหญ่โต บุคคลเหล่านี้ก็ออกบวชและยืนยันว่าสิ่งที่พระองค์กล่าวเป็นจริง ซึ่งพวกท่านไม่มีแรงจูงใจอะไรเลยที่จะมาหลอกเรา

          เคยมีนักบวชศาสนาอื่นมาศึกษาพระพุทธศาสนา เพราะต้องการจะหาจุดอ่อน และจะมาจับผิดเพื่อเอาข้อมูลไปโจมตี ปรากฏว่าศึกษาไป เรื่อย ๆ สุดท้ายเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธเลย แล้วบอกว่า เพียงแค่ความเป็นศาสนา ที่มีธาตุแห่งการเป็นผู้ไม่เบียดเบียน ข้อนี้ข้อเดียวก็มากพอแล้ว ที่จะทำให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา

สมัยก่อนมีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างไรบ้างในวันวิสาขบูชา

          กิจกรรมในวันนี้ คือการบำเพ็ญบุญและระลึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระคุณอันประเสริฐของ พระองค์ เช่น พระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ แล้วตั้งใจฝึกตัวเองตามแบบอย่างของพระองค์เป็นหลัก ส่วนกิจกรรมในแต่ละวัดก็อาจจะหลากหลายกันไป แต่โดยหลัก ๆ มักจะมีเรื่องของทาน ศีล และภาวนา คือ เช้าไปตักบาตร สาย ๆ ก็อาจจะไปฟังเทศน์ฟังธรรม สวดมนต์ นั่งสมาธิ ถึงเพลก็ถวายภัตตาหารเพล ตกเย็นก็อาจจะเวียนเทียน โดยรวม ๆ จะเป็นอย่างนั้น ส่วนรายละเอียดแต่ละวัดอาจจะมีกิจกรรม ตามท้องถิ่นตามประเพณีที่แตกต่างกันไปบ้าง

 


        สาระที่แท้จริงของการเวียนเทียนเป็นการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยแสงสว่าง คือเวลาจุดเทียน จะมีแสงสว่างเกิดขึ้น ซึ่งเปรียบเสมือนแสงสว่างแห่งปัญญาของพระองค์ แล้วเราก็เดินเวียนเทียนรอบโบสถ์ ๓ รอบ ถามว่าถ้าเทียนดับแสดงว่าปีนี้อนาคต ดับวูบหรือเปล่า ไม่ใช่อย่างนั้น ที่ไม่ให้เทียนดับก็เพื่อให้เรามีความสำรวมระวัง บางคนไม่รู้เวียนไปคุยไป อย่างนั้นไม่ถูกหลัก ถ้ามีความสงบสำรวมก็ถูกหลักวิชา จะได้บุญเต็มที่การเวียนเทียนหมายความว่าอย่างไร ถ้าเวียนครบรอบแล้วเทียนไม่ดับเลยจะได้บุญมากขึ้นจริงหรือไม่

ถ้าก่อนเวียนเทียนมีฝนตกลงมา จะขออนุญาตใส่รองเท้าเวียนเทียนได้ไหม

          ตรงนี้เป็นเรื่องของการแสดงการเคารพต่อพระรัตนตรัย ถ้าเราเวียนเทียนอยู่บนลานโบสถ์ ซึ่งอยู่ในเขตพัทธสีมา ถือว่าอยู่ในเขตพุทธาวาส เป็นเขตพระพุทธเจ้า อย่างไรก็ต้องถอดรองเท้า แดดจะร้อนอย่างไรก็ต้องถอด จะเปียกจะแฉะอย่างไรก็ต้องถอด แต่ถ้าคนเยอะแล้วเราออกไปเวียนอยู่นอก เขตพัทธสีมา ออกไปอยู่บนถนน อันนี้มี ๒ กรณี ถ้าหากถนนสะอาดดีก็ควรถอดรองเท้า แต่ถ้ามีเศษ กระเบื้อง เศษแก้ว หรือว่าฝนเพิ่งตก พื้นที่เฉอะแฉะ ลำบากมาก ถ้าอย่างนี้ก็ยังอาจจะพออนุโลมกันได้ แต่ในเขตพัทธสีมาไม่ควรใส่รองเท้าเลย

          ในวันวิสาขบูชามีคนนิยมเดินทางไปไหว้พระ ๙ วัด และหลาย ๆ คนอยากไปเสี่ยงเซียมซีด้วย การเสี่ยงเซียมซีตรงกับหลักทางพระพุทธศาสนาหรือไม่

          ที่จริงเซียมซีไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเลย เป็นเรื่องของการทำนายโชคชะตาต่าง ๆ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงสรรเสริญ แต่คนโดยทั่วไปขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เพราะยังมีอวิชชาหรือความไม่รู้หุ้มห่อใจอยู่ และต้องยอมรับว่า บางทีพระก็ละเลยการสอนโยมด้วยธรรมะ พอเห็นโยมชอบเซียมซีก็เอาใจโยม กลายเป็นว่าแทนที่จะดึงโยม เข้าวัดด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็เลยไปเอาของอื่น ๆ มาตามใจกิเลสโยม ตามใจความไม่รู้ของโยม เราน่าจะกลับมายึดถือธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็น หลักอีกครั้ง ถึงจะถูกหลักวิชา แล้วพระพุทธศาสนา รวมทั้งญาติโยมทุกคนจะได้มีความเจริญในชีวิตอย่างแท้จริง

ธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องการเวียนเทียนในสมัยก่อนเป็นอย่างไรบ้าง

          มีหลักการคล้าย ๆ กัน คือเป็นการแสดงความ เคารพต่อพระรัตนตรัย ต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงแต่ว่าในครั้งพุทธกาล พระพุทธศาสนาเพิ่งเริ่มต้นขึ้น อาจจะยังไม่มีการสร้างโบสถ์อย่างปัจจุบัน และสมัยนั้นชาวบ้านยังไม่ค่อยรู้จักพระพุทธศาสนา เมื่อมีพระไปสอนเขาจนเขาเริ่มมีความนับถือเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนาขึ้นมา พวกเขาก็ยึดพระเป็นศูนย์กลาง และจะไปทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ในบริเวณที่พักของพระ ถึงวันสำคัญก็จะไปประกอบพิธีบุญตรงนั้น ถึงแม้ยังไม่มีโบสถ์ วิหาร หรือศาลา ก็สามารถทำได้ เช่น เขาอาจจะพูนดินขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์แทนพระรัตนตรัย แล้วก็เวียนเทียนกัน หรือในยุคถัดมาเริ่มมีการปลูกต้นโพธิ์มากขึ้น บางแห่งก็อาจจะเวียนเทียนรอบต้นโพธิ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ก็ได้

การเวียนเทียนในโลกไซเบอร์เหมาะสมหรือไม่

          อันนี้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในยุคปัจจุบันที่สามารถทำได้ การที่เราไปวัด ไปทำบุญ ไปเวียนเทียนในวันวิสาขบูชา ก็เพื่อระลึกถึงคุณของพระสัมมาสัม-พุทธเจ้า ระลึกถึงคำสอนของพระองค์ แล้วก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตัวให้ดี แต่ถ้าสมมุติว่าเราอยู่ที่ไซบีเรีย ซึ่งอากาศหนาวมาก ไปไหนก็ไม่ได้ วัดก็ไม่มี แล้วเราอยากเวียนเทียนมาก เลยเข้าไปเวียนในเว็บไซต์ แบบนี้ก็ทำได้ แต่ถ้ามีวัดอยู่ใกล้ ๆ บ้านแล้วขี้เกียจไป เข้าเว็บไซต์เพราะขี้เกียจ เปิดอินเทอร์เน็ตเวียนเทียน เดี๋ยวเดียวก็เสร็จ อย่างนี้บุญน้อยหน่อย มันอยู่ที่ความตั้งใจของเรา อยู่ที่วัตถุประสงค์ ถ้าจำเป็นต้องทำอย่างนี้เพราะไม่มีวัด นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อยู่ที่ว่าเราเข้าไปเวียนเทียนในโลกไซเบอร์เพราะเหตุใด

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล