ฉบับที่ 118 สิงหาคม ปี2555

ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๔ รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

พระธรรมเทศนา

 

 

ความรู้ประมาณ

ตอนที่ ๔ รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

 

           ๒. การสร้างคนในยุคกลางพุทธกาล

          ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีการบัญญัติพระวินัยนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดให้พระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกนิสัย ๔ และอปัณณกธรรม ๓ ให้แก่ศิษย์ โดยทรงกำหนดไว้ในอุปัชฌายวัตร1 และอาจาริยวัตร2 ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ที่แฝงไว้ด้วยหน้าที่ ๒ ประการ คือ

       ๑. เป็นต้นแบบความประพฤติที่ดีงามและความรับผิดชอบส่วนรวมของสงฆ์ให้กับพระลูกศิษย์

      ๒. เป็นอาจารย์อบรมสั่งสอนให้พระลูกศิษย์รู้จักการดำรงชีวิตด้วยนิสัย ๔ รวมทั้งการสำรวมอินทรีย์ การรู้ประมาณในโภชนาหาร และการหมั่นบำเพ็ญเพียรภาวนา

          โดยพระองค์ทรงกำหนดงานต่าง ๆ ไว้ในกิจวัตรประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนก่อนรุ่งสางจนกระทั่งเข้านอนในตอนดึก อีกทั้งยังกำหนดการงานในแต่ละช่วงชีวิตไว้อย่างละเอียดลออ เช่น ในยามเจ็บไข้ได้ป่วย หากพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ หรือพระลูกศิษย์รูปใดรูปหนึ่งเจ็บป่วยอาพาธขึ้นมา ก็ทรงรับสั่งให้ช่วยกันปรนนิบัติดูแลไปตลอดชีวิตหรือจนกว่าจะหายดี

          ในเรื่องการดูแลพระภิกษุอาพาธนี้ พระองค์ทรงให้ความสำคัญอย่างใหญ่หลวง โดยถึงกับตรัสกำชับไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดา ไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาล พวกเธอ ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล ผู้ใดต้องการอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นจงพยาบาลภิกษุอาพาธ

           การที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนานี้จะต้องฝากชีวิตไว้ซึ่งกันและกันตลอดชีวิตดังพระดำรัสนี้ พระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ พระลูกศิษย์ จึงอยู่ในฐานะเสมือนพ่อกับลูก ที่ต้องฝากชีวิตดูแลซึ่งกันและกันไปตลอดชีวิต ดังนั้น การคัดเลือกคนเข้ามาบวชก็ตาม การฝึกอบรมพระภิกษุบวชใหม่ก็ตาม จึงต้องทำอย่างรอบคอบและเข้มงวด มิฉะนั้นจะกลาย เป็นการก่อปัญหาให้กับตนเองและหมู่สงฆ์ไปจนตลอดชีวิต และกระทบกระเทือนถึงอายุพระพุทธศาสนาโดยปริยาย

          การที่หมู่สงฆ์จะได้บุคคลที่ทั้งพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์สามารถฝากชีวิตและ ฝากอนาคตพระพุทธศาสนาไว้ในความรับผิดชอบได้นั้น ก็มีทางเดียวนั่นคือ ต้องเคี่ยวเข็ญ อบรมการดำรงชีพด้วยนิสัย ๔ และการปฏิบัติอปัณณกธรรมให้เป็นนิสัยของพระภิกษุบวชใหม่ติดตัวไปตลอดชีวิต โดยใช้วิธีการ ๔ ขั้นตอน คือ ๑. แนะให้ทำ ๒. นำให้ดู ๓. อยู่ให้ เห็น ๔. เคี่ยวเข็ญให้เป็นนิสัย ซึ่งเป็นมาตรฐานการฝึกอบรมที่ใช้กันมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งมุ่งเน้นที่การขัดเกลาให้มีสันดานดีเป็นสำคัญ

          การที่พระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ในการอบรมศิษย์อย่างเข้มแข็งนี้เอง

          จึงทำให้ในช่วงเวลานั้นแม้การบัญญัติคำสอนยังมีน้อยอยู่ แต่ก็มีผู้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์เป็นจำนวนมาก ซึ่งแตกต่างจากในยุคหลังที่การบัญญัติคำสอนมีมาก แต่กลับมีผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์จำนวนน้อยลง เป็นการสวนทางกันระหว่างจำนวนสิกขาบทที่เพิ่มขึ้นกับจำนวนพระอรหันต์ที่น้อยลง

      ๓. การสร้างคนในยุคปลายพุทธกาล

          ต่อมาเมื่อเข้าสู่ช่วง ๒๕ ปีสุดท้าย ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน การบวชในแว่นแคว้นต่าง ๆ แพร่หลายมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ส่งผลให้จำนวนพระภิกษุ บวชใหม่มีเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ชาวพุทธก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมหาศาล การบิณฑบาตเพื่อ เลี้ยงชีพก็ไม่ฝืดเคืองเพราะจำนวนลาภสักการะ ก็เพิ่มขึ้นตามมาอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน

          ในช่วงนี้เอง การคัดกรองคนและการฝึกอบรมเริ่มหย่อนคุณภาพลง ไม่เข้มงวดเหมือน ในยุคต้นพุทธกาล เป็นเหตุให้มีพระภิกษุบางรูปประพฤติไม่ดีงาม ก่อปัญหาขึ้นในหมู่สงฆ์ และทำให้ชาวโลกติเตียน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงต้องเรียกประชุมสงฆ์ เพื่อบัญญัติพระวินัยขึ้นเป็นระเบียบสำหรับ กำกับการประพฤติปฏิบัติของหมู่สงฆ์ ให้เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้เกิด ความเข้าใจตรงกันทั้งสังฆมณฑล เพื่อเป็นการวางรากฐานของพระพุทธศาสนา ให้มั่นคงสืบไป ภายหน้า

          ปัญหาที่เป็นเหตุให้เกิดการบัญญัติพระวินัยของสงฆ์ขึ้นนั้นมีอยู่ ๔ ประการ คือ
          ๑. ปัญหาพระเถระบวชมานาน แต่ฝึกอบรมตนไม่ดีพอ
          ๒. ปัญหาพระบวชใหม่ไม่ได้รับการฝึกอบรม
          ๓. ปัญหามีลาภสักการะมาก แต่ขาดความรู้ประมาณ
          ๔. ปัญหาพระภิกษุผู้เป็นปริยัติงูพิษ ชอบติเตียนผู้อื่น แต่ไม่ชอบปฏิบัติ

          ปัญหาทั้ง ๔ ประการนี้ เกิดจากสาเหตุหลัก ๔ ประการ คือ การไม่ถือนิสัย ๔ การไม่สำรวมอินทรีย์ การไม่รู้ประมาณในการบริโภค และการไม่บำเพ็ญภาวนาเพื่อปราบ กิเลส ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการฝึกอบรมขั้นพื้นฐาน ที่ต้องได้รับการเคี่ยวเข็ญอบรมจาก พระอุปัชฌาย์หรือพระอาจารย์ตั้งแต่วันแรก ที่ได้รับอนุญาตจากที่ประชุมสงฆ์ ให้เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา

          โดยเหตุที่ในช่วงปลายพุทธกาล การอบรมเคี่ยวเข็ญนิสัย ๔ และอปัณณกธรรม ๓ ซึ่งเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานของความเป็นพระภิกษุยังทำได้ไม่ดีพอ จึงเปิดช่องให้กิเลสกำเริบ เสิบสานในจิตใจพระภิกษุ อันเป็นเหตุให้ก่อปัญหาหลายด้าน เช่น การเกี้ยวพาราสีสตรี ความละโมบในลาภสักการะ การลักทรัพย์ การดูถูกดูหมิ่นกันเพราะแย่งชิงคำสรรเสริญเยินยอ พระภิกษุที่ก่อปัญหาต่าง ๆ จึงกลายเป็นต้นบัญญัติให้พระองค์ ต้องประชุมสงฆ์เพื่อบัญญัติ พระวินัย

          หลักฐานด้านบุคคล และวัตถุที่เป็นเหตุให้ต้องมีการ บัญญัติวินัยนั้นมีอยู่มากมาย แต่ที่เป็นเหตุให้ต้องบัญญัติวินัยเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ มี ๗ ประเภท ได้แก่ สตรี สตางค์ สรรเสริญ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรค

          อนึ่งสถานที่ซึ่งต้องมีการประชุมสงฆ์ เพื่อบัญญัติพระวินัยนั้น มีกระจายอยู่ทั่ว ๖ แคว้น (หรือ ๖ ประเทศ) ได้แก่ มคธ วัชชี โกศล วังสะ สักกะ ภัคคะ ทำให้พระองค์ต้องเสด็จไป บัญญัติพระวินัยในแว่นแคว้นต่าง ๆ ตั้งแต่ยุคกลางพุทธกาลจนถึงยุคปลายพุทธกาล ซึ่งไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปี (ในคัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า ปฐมปาราชิกเกิดขึ้นในพรรษาที่ ๒๐)

          พระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้น เป็นศีลสำหรับพระภิกษุสงฆ์นั้น มีมากถึง ๒๒๗ ข้อ แบ่งเป็นปาราชิก ๔, สังฆาทิเสส ๑๓, อนิยต ๒, นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐, ปาจิตตีย์ ๙๒, ปาฏิเทสนียะ ๔, เสขิยวัตร ๗๕, อธิกรณสมถะ ๗

          มีข้อสังเกตว่าในจำนวนศีล ๒๒๗ ข้อนี้ มีอยู่ ๑๗๑ ข้อ ที่บัญญัติขึ้น ณ วัดพระเชตวัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในยุคนั้น พระวินัยที่บัญญัติขึ้น ณ ที่นี้นั้น แบ่งเป็นสังฆาทิเสส ๖ ข้อ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๒๔ ข้อ ปาจิตตีย์ ๖๕ ข้อ ปาฏิเทสนียะ ๒ ข้อ และเสขิยวัตร ๗๒ ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสตรี ลาภสักการะ และมารยาท ทั้งนี้ย่อมเป็นหลักฐานยืนยันว่า พระวินัยจำนวนมากกว่าครึ่งนี้ถูกบัญญัติขึ้น ในช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง อย่างกว้างขวางที่สุดในยุคพุทธกาล และเป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการถือนิสัย ๔ และอปัณณกธรรม ๓ ทั้งสิ้น กว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแก้ปัญหาเรื่องพระวินัยนี้ได้อย่างลงตัว ก็ต้องทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายเป็นอย่างมาก แต่ก็ส่งผลให้พระพุทธศาสนา มีอายุยืนยาวมาถึงชาวโลกในยุคปัจจุบัน

          นอกจากการบัญญัติพระวินัยที่เป็นศีล ๒๒๗ ข้อ สำหรับพระภิกษุแล้ว พระองค์ยังทรงบัญญัติพระวินัยที่เกี่ยวกับการบริหารปกครองหมู่สงฆ์อีกหลายประการ เช่น จารีตประเพณีของสงฆ์ การประชุมสงฆ์เพื่อทบทวนพระปาติโมกข์ การกำหนดเขตจำพรรษา การกำหนดระเบียบในการตั้งโรงครัว เป็นต้น ซึ่งอำนวยผลให้สามารถวางกรอบปฏิบัติส่วนบุคคลและแนวทางปฏิบัติด้านการปกครองสงฆ์ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ทำให้พระภิกษุสงฆ์ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน ตลอดจนในอนาคต เป็นผู้มีวัตรปฏิบัติตรงกัน ยังผลให้พระพุทธศาสนา ไม่อันตรธานหายไปในทันที หลังจากพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน

ในการบัญญัติพระวินัยนั้น

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรวจสอบ การบัญญัติพระวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอดีตด้วยญาณทัสนะ (อย่างน้อย ๖ พระองค์) ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนาในยุคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ก็เคยประสบปัญหาในลักษณะ เดียวกันมาก่อน และแต่ละพระองค์ก็ทรง ใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการบัญญัติพระวินัย เช่นเดียวกัน ทำให้หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระพุทธศาสนาในยุคของพระองค์ ก็ยังดำรงอายุยืนยาวต่อไป ได้อีกหลายพันหลายหมื่นปี

          นอกจากนี้จากการตรวจสอบ เรื่องการบัญญัติพระวินัยในพุทธันดรก่อน ๆ นั้น พระองค์ ยังทรงพบอีกว่า สาเหตุที่พระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มีอายุสั้นยาวไม่เท่ากัน ก็เนื่องมาจากการบัญญัติพระวินัย กล่าวคือศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์ที่บัญญัติพระวินัยมีอายุยืนยาวกว่า ศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่ไม่ได้บัญญัติ ยิ่งกว่านั้นยังพบอีกว่าศาสนา ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใด ที่มิได้ทรงบัญญัติพระวินัยไว้ เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน และเหล่าพระอรหันต์สาวกนิพพานหมดสิ้นแล้ว พระพุทธศาสนาก็อันตรธานหายไปอย่างรวดเร็ว

          ดังนั้น การบัญญัติพระวินัย และการพร่ำสอนพระธรรม จึงเป็นรากฐานสำคัญยิ่ง ที่จะช่วยยืดอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบไป เพราะวันใดที่โลกสิ้นพระพุทธองค์ และเหล่าพระอรหันต์สาวกแล้ว พระธรรมวินัยก็จะเป็นศาสดาสั่งสอน อบรมพระภิกษุและชาวพุทธรุ่นหลัง แทนพระองค์สืบต่อไปได้ ซึ่งจะทำให้พระพุทธศาสนา มีอายุยืนยาวต่อไปได้ตราบนานเท่านาน

          เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายพุทธกาลในราวพรรษาที่ ๔๔ ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จ ดับขันธปรินิพพาน ๑ พรรษา พระองค์ได้ทรงนำนิสัย ๔ อปัณณกธรรม ๓ และพระวินัย ๒๒๗ ข้อ มาสรุปเป็นหลักสูตร ๗ ขั้นตอน สำหรับฝึกอบรมพระภิกษุ โดยตรัสแสดงเหตุผลว่า การฝึกอบรมคนในพระธรรมวินัยนี้ มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในคณกโมคคัลลานสูตร หลักสูตรทั้ง ๗ ขั้นตอนนั้น สรุปได้ดังนี้

          ๑. ฝึกให้รักษาศีล
          ๒. ฝึกให้สำรวมอินทรีย์
          ๓. ฝึกให้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
          ๔. ฝึกให้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ
          ๕. ฝึกให้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ
          ๖. ฝึกให้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด
          ๗. ฝึกให้บรรลุฌานที่ ๑-๔

          เมื่อพระองค์ทรงสรุปหลักสูตรการฝึกอบรมพระภิกษุเสร็จแล้ว ก็ทรงชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้พระองค์จะทรงมีพระมหากรุณา ที่จะช่วยชาวโลกให้หลุดพ้น จากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารมากเพียงใดก็ตาม แต่พระองค์ก็ทรงช่วยเหลือได้เพียง การเป็นผู้ชี้หนทางปราบกิเลสเท่านั้น ผู้มุ่งเดินทางออกจากวัฏสงสารจะต้องลงมือปราบกิเลสเอง และจะปราบกิเลสได้สำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับกำลังความเพียรของตนเองในการปฏิบัติอริยมรรค มีองค์ ๘ โดยฝึกตนตามบทฝึกทั้ง ๗ ขั้นตอน ไปตามลำดับดังที่สรุปไว้

          จากพุทธภารกิจเร่งสร้างคนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็พอจะสรุปได้ว่า การสร้างคนในพระพุทธศาสนานั้น แท้จริงก็คือการฝึกคนให้ใหญ่ด้วย การปราบกิเลสในตนเอง ใหญ่ด้วยการแนะนำชักชวนผู้อื่น ให้ปราบกิเลสด้วย ใหญ่ด้วยการดำรงชีวิตอย่างรู้ประมาณในการบริโภคปัจจัย ๔ ตามความจำเป็นของชีวิต อุปมาเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่อุดมด้วยกิ่งก้านสาขา มากมาย แต่กินน้ำน้อยและทนทรหดต่อสภาพดินฟ้าอากาศ เหมือนต้นหญ้าในทะเลทราย บุคคลที่มุ่งมั่นฝึกฝนอบรมตนตามแนวทางนี้ ย่อมสามารถบรรลุธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ได้ สำเร็จ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล