ฉบับที่ 118 สิงหาคม ปี2555

การเลี้ยงดุพัมนาเด็ก ควรจะเริ่มต้นอย่างไร ?

การเลี้ยงดุพัมนาเด็ก ควรจะเริ่มต้นอย่างไร ?

 

 

    เราเป็นชาวพุทธ คำสอนที่ได้ยินกันเสมอ คือ คำสอนว่า "อัตตาหิ อัตตะโน นาโถ" ชาวพุทธได้ยินกันมาทุกคน แปลว่า "ทุกคนจะต้องพึ่งตัวเอง"

          การพึ่งตัวเองนั้นต้องเริ่มตั้งแต่เมื่อไร

          ทันทีที่ตัดสายสะดือ นั่นคือ อัตตาหิ อัตตะโน นาโถ เพราะเมื่อก่อนนี้อยู่ในท้องแม่ แม่กิน ลูกก็อิ่มด้วย แม่ห่มผ้า ลูกก็อุ่นด้วย พอตัดสายสะดือ ซึ่งเป็นสายสะพานระหว่างชีวิตเท่านั้น ถึงคราวที่ลูกต้องช่วยตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องพยายามคือ พยายามช่วยตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นการเลี้ยงลูกก็ต้องฝึกลูกให้สามารถช่วยตัวเอง เป็นที่พึ่งให้แก่ตนเอง ทำด้วย ตนเองให้ได้มากที่สุด

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักเอาไว้ว่า คนเราจะดีได้ ขั้นต้นมีสิ่งที่ต้องฝึก คือฝึกให้เป็น "คนซื่อ"

          สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนพระราหุล คือ หลักในการฝึกคน

          พระองค์ทรงนั่งสอนพระราหุล (ซึ่งเป็นสามเณรอายุ ๗ ขวบ) ว่า "ราหุล เห็นน้ำที่เหลือติดกะลา หลังจากตักน้ำล้างเท้าหรือไม่? คนที่พูดโกหกทั้ง ๆ ที่รู้ ความดีของเขาก็เหลือแค่น้ำที่ติดกะลาเท่านั้นเอง นั่นไม่ใช่คนดีจริง

          เสร็จแล้วพระองค์ก็คว่ำกะลา ตรัสอีกว่า "ราหุล เห็นไหมในกะลาไม่มีน้ำเหลือเลย คนโกหก ทั้ง ๆ ที่รู้ ความดีมันเหลืออยู่หน่อยเดียว คือความชื้นที่ติดกะลาน้ำ "

          พระองค์ทรงยกตัวอย่างอย่างนี้ ทำให้พวกเราพอจะเห็นภาพได้ชัด สรุปก็คือ การฝึกคน จะฝึกเรื่องอะไรก็ตาม ก่อนอื่นต้องฝึกให้พูดจริงก่อน

          เพราะฉะนั้น หน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง คือให้กำลังใจให้เด็กพูดจริง พูดถูกต้อง พูดครบถ้วน กระบวนความ แล้วรักที่จะพูดความจริง รักที่จะให้เหตุผลทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ปิดปากเงียบไม่ยอม พูดจา

          ในฆราวาสธรรม พระพุทธองค์ก็เริ่มด้วยสัจจะ
          ๑. สัจจะ - มีความซื่อสัตย์ เป็นคนตรง เป็นคนจริง
          ๒. ทมะ - รักการฝึกตัว
          ๓. ขันต - อดทน
          ๔. จาคะ - เสียสละ เห็นแก่พวกพ้องหรือเห็นแก่ส่วนรวม ไม่ทิ้งพวก ไม่ทิ้งหมู่

          ในขั้นต้น ต้องสร้างสัจจะขึ้นมาในตัวให้ได้ก่อน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การบ่มเพาะทางสายเลือด แต่อยู่ที่การอบรม เรื่องที่เราต้องการคือ ต้องการให้คนมีความซื่อสัตย์

          คนที่จะซื่อสัตย์หรือซื่อตรงนั้น เขาใช้คำว่า คนจริง คนเราต้องจริง ๕ อย่าง
          ๑. จริงต่อหน้าที่
          ๒. จริงต่อการงาน

           คู่นี้เรียกว่า จริงจัง

          ๓. จริงต่อบุคคล
          ๔. จริงต่อวาจา

          คู่นี้เรียกว่า จริงใจ

          ๕. จริงต่อความดี สิ่งนี้คือ ใจแสนจริงต่อความดี

          จริงต่อหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้น

          หน้าที่ หมายถึงสิ่งที่รับผิดชอบ การงาน หมายถึงสิ่งที่จะต้องทำ

          คนไม่รู้จักหน้าที่ จะทำอะไรก็ไม่เป็น หน้าที่ตนมีอะไรก็ไม่รู้ หรือรู้ว่ามีหน้าที่อย่างนี้ แต่การงานทำไม่เป็น

          คนพวกนี้ได้แต่เอาเปรียบ เขาจะเอาเปรียบ จะหลีกเลี่ยงงาน เพราะทำไม่เป็น แต่จะไม่ยอม บอกว่าตนยังโง่อยู่ เมื่อไม่รู้ ทำไม่เป็น แต่ไม่ยอมเสียเหลี่ยม จึงเอาเปรียบ เมื่อถูกถามก็โกหก

          ดังนั้น ทำอย่างไรไม่ให้คนโกหก ไม่ให้เอาเปรียบใคร ก็ต้องให้เขาพึ่งตัวเองได้ ทั้งหมดนี้คือ ความสำคัญและความจำเป็นของสิ่งที่เรียกว่า "สัจจะ"

          การฝึกคนจึงต้องฝึกให้รู้จักหน้าที่ของตนเอง และต้องฝึกให้รู้จักการงานซึ่งมีในหน้าที่ด้วย หน้าที่ที่สำคัญของคนเรา คือ

          ๑. เลิกโง่ เรียกว่า ใฝ่รู้ ๒. ไม่เลว เรียกว่า ใฝ่ดี ๓. ต้องรักษาสุขภาพเป็น

          หน้าที่ประการที่ ๑ จะต้องเลิกโง่ให้ได้

          การที่จะเลิกโง่ได้ คือจะต้องเรียน หน้าที่คือเลิกโง่ การงานคือต้องเรียน แล้วจะเรียนเรื่องอะไรบ้าง บางอย่างก็เรียนที่โรงเรียน บางอย่างก็เรียนที่บ้าน อ่านออกเขียนได้ไปเรียนที่โรงเรียน แต่ล้างหน้า อาบน้ำ แปรงฟัน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องเรียนรู้ตั้งแต่ที่บ้าน

          พอไปถึงโรงเรียน จะเรียนอย่างไรให้ดี การงานก็เกิดตามมา ต้องหยิบดินสออย่างนี้ ต้องเหลาดินสออย่างนี้ ใช้ปากกาต้องอย่างนี้ ใช้สมุดต้องอย่างนี้

          เรื่องเหล่านี้ ถ้าพ่อแม่ไม่สอนให้ ก็จะทำไม่เป็น เมื่อทำไม่เป็น ก็สู้เขาไม่ได้ อาการกะล่อน เกรงว่าจะเสียเหลี่ยม ก็เกิดขึ้นมา

          ดังนั้น หน้าที่ใหญ่ของพ่อแม่คือจะต้องฝึกลูก ไม่ทำไม่ได้ ต้องฝึกให้ลูกเลิกโง่ ให้เป็นคนใฝ่รู้ พ่อแม่ต้องสอนลูกตั้งแต่หยิบดินสอ หยิบปากกา สมุด หนังสือ ทุกอย่างสอนหมด ปูพื้นฐานความรู้ ให้ แล้วข้าวของก็ต้องจัด ต้องวางให้เป็น

          ประการสำคัญ ชีวิตอยู่ได้ด้วยปัจจัย ๔ ฉะนั้น ความรู้เกี่ยวกับการใช้ปัจจัย ๔ ขั้นต้นต้องมี เกี่ยวกับเสื้อผ้าต้องทำอย่างไรบ้าง พับเก็บอย่างไร เรื่องอาหารให้ลูกเรียนรู้ว่าอะไรควรกิน ไม่ควร กิน เรื่องบ้านช่องห้องหอ ต้องปัด ต้องเช็ด เรื่องยา เรื่องสุขภาพ ก็ว่ากันไป

          พอคนเราทำสิ่งเหล่านี้เป็น ก็ไม่มีความจำเป็นต้องโกหก เรื่องใดบ้างที่ลูกจะต้องรู้ คนเป็นพ่อแม่ต้องกลับไปถามตัวเองว่ามีอะไรบ้างที่จะต้องฝึกให้ลูก เพื่อที่ลูกจะได้ไม่จำเป็นต้องโกหกเรา เพราะเขาทำเป็นหมด แต่ถ้าพ่อแม่ตามใจลูก เอาอกเอาใจอย่างเดียว ทำอะไรก็ไม่เป็น คราวนี้ลูก จะแต่งเรื่องเก่ง สรรหาคำโกหกเป็น

          หน้าที่ประการที่ ๒ ทำอย่างไรจะไม่เลว คือใฝ่ดี

          อะไรที่ดีต้องให้ลูกทำเป็น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับปัจจัย ๔ เกี่ยวกับเสื้อผ้า เกี่ยวกับข้าวปลาอาหาร เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ

          ทำอย่างนี้หัวเหม็นสาบ ทำอย่างนี้เหาขึ้น ต้องให้ลูกรู้ จะได้เลิกโง่และทำดีเป็น

          อะไรคือดี อะไรคือถูก

          ถูก คือ ไม่เกิดความเสียหาย ดี คือ เกิดประโยชน์ เป็นประโยชน์

          ฝึกลูกตั้งแต่กินข้าว กินแล้วต้องล้างจาน นี่เป็นหน้าที่ของเรา ถ้ามีน้องเล็ก ก็ล้างให้น้องด้วย แม่จะได้เบาแรง ฝึกลูกไปอย่างนี้ อะไรที่เป็นความดีก็สอน

          ความดีแฝงอยู่ในทุกเรื่องที่ทำให้เป็นประโยชน์ขึ้นมา ดูแลลูกให้เก็บกวาดเช็ดถูให้เสร็จเรียบร้อย สอนว่าทำอย่างนี้จึงถูกต้อง ขยะทำอย่างนั้น แยกขยะอย่างนี้ จะต้องเทขยะด้วย ถ้าไม่ขยันเททิ้งคืนเดียว เดี๋ยวมดขึ้น เดี๋ยวแมลงสาบขึ้น

          เพราะฉะนั้น กินข้าวแล้วต้องรีบล้างทันที ต้องรีบเก็บขยะ ไม่เช่นนั้นเดี๋ยวจะมีเรื่องเดือดร้อน ตามมาอีก เสียสุขภาพยังไม่พอ เดี๋ยวจะต้องฆ่าสัตว์อีก เลยกลายเป็นทำชั่ว

          ดังนั้น หากทำสิ่งใด ๆ ด้วยความสะเพร่าเมื่อใด ก็ทำความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่นด้วย

          สอนให้ลูกไล่เหตุไล่ผล เมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้นจะได้ย้อนมาดูตัวเอง ไม่ใช่โทษสัตว์ โทษสิ่งอื่น ถ้าลูกดีเมื่อไร ลูกได้ทำความสุขให้เกิดขึ้นทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น แล้วในการสร้างความดี สร้างความ สุขให้ตัวเอง จำเป็นต้องมีความรู้ อย่างน้อยควรจะรู้เรื่องการใช้ปัจจัย ๔ ก่อน แล้วจะเริ่มมองเห็น อะไรมากขึ้น

          หน้าที่ประการที่ ๓ ต้องรู้จักถนอมร่างกาย ดูแลรักษาสุขภาพให้เป็น

          เพราะการกระทำใด ๆ นั้น เราต้องเอากายเอาใจลงไปทำทางใดทางหนึ่ง เพราะตลอดชีวิต นี้ไม่มีใครหายใจแทน กินแทน ถ่ายแทน เมื่อกินแทนไม่ได้ นอนแทนไม่ได้ ปวดไข้แทนก็ไม่ได้ เป็น สุขแทนก็ไม่ได้ เราต้องทำเองทั้งนั้น แล้วต้องทำให้ได้ จะทำให้ได้ต้องมีความรู้ด้วย พ่อแม่ต้องเอาใจใส่ แค่ไม่เคี่ยวเข็ญลูกให้นอนตรงเวลาเท่านั้น ก็ทำให้ลูกเสียสุขภาพ ทำให้ลูกเรียนหนังสือไม่ทันเพื่อน พร้อมจะโกหกเป็นแล้ว

          เมื่อเป็นอย่างนี้ พ่อแม่ควรให้ความรู้แก่ลูก สอนให้ลูกรู้หน้าที่ สอนลูกทำให้เป็น แล้วลูกจะไม่โกหก แต่ถ้าเราตามใจ จะเพาะนิสัยโกหกไปตลอด เพราะทำอะไรไม่เป็น หรือพอทำได้ แต่ว่าสุขภาพไม่ค่อยจะดี เพราะไม่ฝึกให้เขาออกกำลังกาย ทำอะไรเข้าหน่อยพอเหนื่อยก็เลิก ก็จะมีนิสัยเอาเปรียบ ฟ้องเก่ง โกหกเก่ง พอเราเห็นภาพอย่างนี้ชัด เราจะเข้าใจ และอยากจะเป็นคนมีสัจจะกันทันที

          เพราะฉะนั้น ฝึกลูกด้วยงานพื้นฐานเหล่านี้ ให้ลูกทำเป็น ให้เขารู้หน้าที่ แล้วให้มีน้ำใจช่วยคนด้วย ทำเป็นคือความจริงจังในหน้าที่การงาน พร้อมจะช่วยคนอื่นคือความจริงใจที่มีต่อบุคคล แล้วพูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ทำอย่างไรก็พูดอย่างนั้น นี่ก็คือความจริงใจต่อคำพูด แล้วพ่อแม่ก็จะทำให้เด็กเหล่านี้กลายเป็นเด็กที่เหมือนผู้หลักผู้ใหญ่ เพราะเขาจะสามารถให้เหตุผลได้ มีความ ซื่อตรง ซื่อสัตย์ในตัวเอง

          ดังนั้น เมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาก็จะเป็นคนดีอย่างที่ตั้งใจไว้ นั่นคือ เลิกโง่เพราะใฝ่รู้ ไม่เลวเพราะใฝ่ดี แข็งแรงเพราะรักษาสุขภาพเป็น ความซื่อสัตย์จึงกลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เขาทำความดีต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์กับทุกคนในสังคม ในโลกนี้ต่อไปในอนาคต

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล