ฉบับที่ 72 ตุลาคม ปี 2551

ธรรมชาติการบรรลุธรรมของมนุษย์ ตอนที่ ๓ ทำไมต้องฝึกสมาธิ

พระธรรมเทศนา

 

     “ร่างกายจะแข็งแรงต้องเคลื่อนไหว จิตใจจะเข้มแข็งได้ต้องหยุดนิ่ง” จาก ๒ ตอนที่ผ่านมา ทำให้เราได้ทราบว่า ตัวของเราประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ กายกับใจ และใจมีลักษณะเฉพาะอยู่หลายประการ เช่น มีลักษณะเป็นดวงกลม เบา เร็ว ชอบเที่ยวไปในที่ต่างๆ และจำเป็นต้องมีบ้านของใจ นั่นคือ ร่างกาย ในตอนที่ ๓ นี้ เราจะมาทำความเข้าใจกันว่า สมาธิมีความสำคัญอย่างไร ทำไมเราจึงต้องฝึกสมาธิ

ความชอบตามธรรมชาติของใจ 
         ใจมีธรรมชาติชอบเที่ยวและชอบคิด เมื่อใดที่ใจเที่ยว ใจสามารถเที่ยวไปได้ไกล เมื่อใดที่ใจคิด ใจสามารถคิดเรื่องราวต่างๆ ได้มากมาย และสลับสับเปลี่ยนเรื่องที่คิดได้อย่างรวดเร็ว
          การคิดของใจนั้น โดยทั่วไปมักจะชอบคิดในเรื่องที่ไม่ควรคิด ทำให้ใจไปติดกับเรื่องราวที่ไม่ดีได้ง่าย อุปมาเหมือนปลาที่ฮุบกินเหยื่อ ธรรมดาของปลานั้น เมื่อหิวก็หาอาหาร ถ้าอาหารนั้นเป็นเหยื่อติดเบ็ด ปลาก็จะติดเบ็ดเพราะไปฮุบกินเอาเหยื่อนั้น ปลาติดเบ็ดเพราะความหิวของตนเอง ถ้าปลาไม่หิวก็จะไม่ติดเบ็ด
          แต่ใจมนุษย์นั้นติดเบ็ดได้ง่ายยิ่งกว่าปลา ติดเบ็ด เพราะใจมนุษย์สามารถติดเบ็ดได้ถึง ๖ ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส และใจ ทั้ง ๖ ทางที่ใจมนุษย์ออกไปติดเบ็ดเราเรียกว่า อายตนะ ๖ นั่นเอง
         ใจแล่นออกจากตัวผ่านตาไปเห็นอะไรสวยๆ เข้าก็ ติดเบ็ด ปลาที่ติดเบ็ดอาจจะ มีที่สะบัดหลุดจากเบ็ดได้บ้าง แต่ใจที่ติดเบ็ดนั้น ติดอย่างเหนียวแน่น
          ยกตัวอย่าง คุณผู้หญิงไปร้านขายเพชร เจอเพชรเม็ดงามๆ สะท้อนแสงระยิบระยับ ตอนนั้นเองที่ใจติดเบ็ดแล้ว ลองสังเกตใจของเราเองก็ได้ แม้ตัวจะกลับไปถึงบ้านแล้ว แต่ใจยังวนเวียนอยู่แถวเพชรเม็ดงาม ไม่กลับไปด้วย นี่คือตัวอย่างของใจที่ติดเบ็ด
         สำหรับคุณผู้ชาย ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาไปเจอ ผู้หญิงสาวสวยที่ไหน ใจก็ติดเบ็ดเหมือนกัน คำโบราณยังล้อเลียนใจของผู้ชายว่า “ไม่เห็นตัว เห็นหน้า เห็นแค่หลังคาบ้านก็ยังดี” ทั้ง ๒ ตัวอย่างนี้ คือ ใจติดเบ็ดทางตา ใจที่ติดเบ็ด ยังติดได้ทางอื่นๆ อีก เช่น เวลาฟังดนตรีแล้วรู้สึกว่า “เพราะจริงๆ เพราะจับใจ” ความรู้สึกแบบนี้เป็นสัญญาณบอกว่า ใจติดเบ็ด ทางหู แต่อาการติดเบ็ดทางหูของแต่ละคนจะออกอาการไม่เหมือนกัน เช่น บางคนไปซื้อเครื่องดนตรีมาเล่น บางคนไปซื้อแผ่นเสียงมาเปิดฟัง ฟังแล้วก็ฟังอีก ฟังซ้ำๆ จนกว่าใจจะเบื่อ
         บางคนใจติดในเสียงนั้นมากๆ ถึงขั้นเก็บเอาไปคิดว่า “ขนาดฟังเสียงจากแผ่น ยังเพราะขนาดนี้ ถ้าได้ตัวคนร้องมาด้วย จะเพราะขนาดไหน” นี่เป็นตัวอย่างใจที่ติดเบ็ดทางหู
          ใจที่ไปติดเบ็ดไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะใจชอบดิ้นรนไปติดเบ็ด ภาษาพระท่านเรียกว่า “ใจดิ้นรนไปในทางต่ำ”
          กลิ่นหอมๆ ก็ทำให้ใจติดเบ็ดได้เหมือนกัน ยกตัวอย่าง เช่น น้ำหอมที่มีกลิ่นหอมชื่นใจ เป็นเหมือนเบ็ดเกี่ยวใจผ่านทางจมูก คนที่คิดฟุ้งซ่านก็จะคิดเพิ่มต่อไปอีกว่า “นี่ขนาดอยู่ในขวดยังหอมขนาดนี้ ถ้าอยู่ที่แก้มคน จะหอมขนาดไหน” นี้คือใจของเรา ใจที่ติดเบ็ดทางจมูก
         รสต่างๆ ที่มากระทบลิ้น เมื่อกลืนอาหารรสก็หายไป แต่รสนั้นกลับไปติดอยู่ที่ใจ ลิ้นของเราเป็นอีกทางหนึ่งที่ใจติดเบ็ดได้ เพราะฉะนั้น คนที่ติดเหล้าก็เพราะใจติดอยู่ที่รสของเหล้า คนที่ติดยาเสพติด ก็เพราะใจติดอยู่ในรสของยานั้น
          คู่แต่งงานบางคู่ทนอยู่ด้วยกันได้ เพราะใจที่ติดเบ็ดทางลิ้น ดังคำโบราณที่ว่า “เสน่ห์ปลายจวัก” นายพลท่านหนึ่ง ท่านบ่นภรรยาของท่านเองว่า “ความรู้ก็ไม่มี ตัวก็ดำ แต่ฉันก็ไปจากเธอไม่ได้ ก็เพราะกับข้าวอร่อยๆ ของเธอ ฉันเลยต้องอยู่กับเธอตลอดชีวิต ฉันมันมีเคราะห์กรรมเพราะลิ้นแท้ๆ” ท่านนายพลเองก็รู้ตัวอยู่แท้ๆ แต่ทิ้งไปไม่ได้ อาการอย่างนี้เรียกว่า “ใจติดเบ็ด”
          ดังนั้นรสต่างๆ คือเหยื่อที่เอามาล่อให้ใจของเราติดเบ็ดนั่นเอง
          ใจที่ชอบดิ้นรน ท่านใช้คำสั้นๆ ว่า “ไปทางตัน” อุปมาความคุ้นกับกิเลสของใจเหมือนปลาคุ้นน้ำ ถ้าจับปลาที่อยู่ในน้ำ โยนขึ้นไปบนบก ปลาตัวนั้นจะมีอาการอย่างไร ปลาก็จะดิ้นจนสุดชีวิตเพื่อจะกลับลงไปในน้ำให้ได้ เพราะปลาคุ้นกับการอยู่ในน้ำ คุ้นจนเป็นชีวิตจิตใจของปลา ปลาตัวนั้นก็เหมือนมนุษย์ที่คุ้นกับกิเลส ใจดิ้นไปติดเบ็ดเพราะใจคุ้นกับกิเลส เหมือนปลาคุ้นน้ำ ดังนั้นใจจึงดิ้นรนไปติดเบ็ด ดิ้นรนไปสู่ทางตันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าคน ไม่ว่าพระ ใจคอยจะดิ้นไปอย่างนี้ พระภิกษุท่านถึงต้องหนีเบ็ดเกี่ยวใจมาบวชเอาตัวรอดให้ได้เสียก่อน เพราะถ้าขืนปล่อยให้ตัวเองอยู่ทางโลก ใจก็จะดิ้นพอๆ กับชาวโลกทั่วไปนั่นแหละ
          ใจที่ติดเบ็ดแล้วจะส่งผลอย่างไร คำตอบคือ ส่งผลให้เราดิ้นรนแสวงหา สุดท้ายเป็นทางมาของหนี้สินทั้งหลาย การที่เราต้องผ่อนส่ง ข้าวของต่างๆ ต้องเป็นหนี้ค่าเหล้า ต้องเป็นหนี้ค่าเบียร์ หมดไปกับเรื่องสารพัดที่ใจไปติดเบ็ด ต้นเหตุของหนี้สินทั้งหมดนั้นเพียงเพราะว่า “เราคุมใจตัวเองไม่ได้” เท่านั้นเอง

 

ใจมีความสว่างอยู่ในตัว และสามารถฟื้นกลับมาจากกิเลสที่ห่อหุ้มใจได้
         ใจมีความสว่างอยู่ในตัว เราสามารถพิสูจน์ได้ด้วยการนั่งสมาธิ เมื่อนั่งสมาธิไปจนใจเริ่มสงบ ขณะที่เราจะสังเกตเห็นเองว่า เราหลับตาลงเหมือนเดิม แต่จะเริ่มพบว่าความมืดภายในไม่เท่าเดิม นั่นแสดงว่า ทุกครั้งที่เรานั่งสมาธิ ความสว่างของใจก็จะฟื้นกลับคืนมาเรื่อยๆ ความสว่างนี้มีติดกับใจเรามาตั้งแต่เกิด แต่การใช้ชีวิตตามธรรมดาของมนุษย์ ที่ต้องผ่านเรื่องราวมากมาย และต้องเกี่ยวข้องกับทั้งคน สัตว์ สิ่งของ รวมทั้งสถานการณ์ต่างๆ ก็ทำให้มีกิเลสเข้ามาบดบัง ความสว่างเป็นครั้งคราว อุปมาเหมือนเมฆหมอกที่บัง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ พอเรา นั่งสมาธิมากขึ้นเรื่อยๆ กิเลสจรที่เป็นเหมือนเมฆหมอกบดบังดวงจันทร์จะค่อยๆ ละลายไป กิเลสจะค่อยๆ ถูกพัดผ่านไป ความสว่างที่มีอยู่ในใจตั้งแต่เดิมก็ค่อยๆ พลิกฟื้นขึ้นมาตามลำดับ กิเลสที่เหมือนเมฆหมอก บางครั้งเกิดขึ้นมากมายนั้น มาจากอะไร คำตอบก็คือ มาจากอบายมุขทั้งหลาย
         อบายมุขเป็นตัวไปดึงเอากิเลสจรมา ไม่ว่าจะเป็นสุรา นารี พาชี กีฬาบัตร เที่ยวกลางคืน คบคนชั่วเป็นมิตร อบายมุข ๖ เหล่านี้ดึงเอากิเลสจรมาหุ้มใจ จนกระทั่งเป็นกิเลสที่ติดแน่นถาวร
         นี่คือสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงค้นพบ ท่านเห็นใจของมนุษย์ ท่านเห็นกิเลสของมนุษย์ จึงนำมาตรัสสอนให้พวกเรา ได้รู้ตาม
        ลองนึกย้อนไปในวันแรกที่เริ่มนั่งสมาธิ เราจะพบว่าใจที่ดิ้นรนไปในเรื่องต่างๆ นั้นเป็นอย่างไร บางคนนั่งสมาธิอยู่แท้ๆ ภาพขวดเหล้าโผล่ขึ้นมาได้ทั้งๆ ที่ตั้งใจนึกถึงองค์พระ ยิ่งคนที่ติดบุหรี่มากๆ นั่งสมาธิอยู่ดีๆ บุหรี่ลอยมาแล้ว ที่เป็นอย่างนี้เพราะในชีวิตของเราถูกห่อหุ้มด้วยกิเลสมานานแสนนาน
         เมื่อเราตั้งใจที่จะฝึกสมาธิแล้ว เราจำเป็นต้องรู้จักธรรมชาติของใจเราก่อน เว้นจากการฝึกสมาธิแล้ว ไม่มีวิธีอื่นใด ที่จะทำให้เรารู้จักใจของตัวเองได้
         ถ้าเราไม่รู้จักใจตัวเอง ก็จะไม่รู้ว่าเราจะเริ่มฝึกฝนตนเองจากจุดไหน การฝึกตัวเองตามคำสอนในพระพุทธศาสนา จึงไม่พ้นเรื่องของการฝึกสมาธิ คำสอนในพระพุทธศาสนามีอยู่มากมาย และลุ่มลึกไปตามลำดับ แต่คำสอนเหล่าน ี้ก็เป็นเพียงคำสอน จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย หากผู้ศึกษาไม่ได้ลงมือฝึกสมาธิ
         เหมือนคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น แต่ได้ตำรา ว่ายน้ำที่ดีที่สุดมาเล่มหนึ่ง อ่านจนจบ เข้าใจทั้งหมดทุกหัวข้อ ท่องได้ขึ้นใจทั้งเล่ม เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วให้เขาลองกระโดดลงน้ำดู รับรองว่าจมน้ำทันที เพราะยังว่ายน้ำไม่เป็น
         คนที่ ๒ ได้ตำราว่ายน้ำมาแล้ว อ่านจนเข้าใจแล้ว ท่องเนื้อหาจนขึ้นใจ มีคนทำท่าทางให้ดู พร้อมทั้งอธิบายประกอบอย่างดี แล้วให้เขาลองกระโดดลงน้ำดู คนที่ ๒ นี้ก็จมน้ำอีกเหมือนกัน ที่ยังไม่สามารถว่ายน้ำได้ เป็นเพราะตัวเขาเองยังไม่ได้ ลงมือปฏิบัติตามความรู้ที่ได้รับมา
        คำสอนในพระพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกมีทั้งหมด ๔๕ เล่ม ก็เหมือนตำราว่ายน้ำที่หลวงพ่อยกตัวอย่าง มาข้างต้น แม้เราเรียน พระไตรปิฎกแล้ว ทำความเข้าใจแล้ว ถึงขั้นท่องได้แล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่ลงมือฝึกสมาธิ ตราบนั้นอย่าหวังว่าจะเข้าถึงธรรม อย่าหวังว่าธรรมะจะซึมซับเข้าไปในใจ ขอให้ทุกคนทำความเข้าใจเรื่องการศึกษาคำสอน ในพระพุทธศาสนาว่าเป็นอย่างนี้

ทำไมต้องฝึกสมาธิ
          เมื่อใจมีคุณสมบัติ คือ ถ้าปล่อยใจไปตามรูป ใจของเราก็จะติดเบ็ด ติดเบ็ดผ่านตาเวลาที่เราเจออะไรสวยๆ ติดเบ็ดทางห ูเวลาเราได้ยินเสียงเพราะๆ เวลาได้กลิ่นหอมๆ ก็ติดเบ็ดเพราะจมูกของเรา เมื่อลิ้นสัมผัสรสอร่อยๆ ลิ้นเราทำให้ใจของเรา ไปติดเบ็ด สัมผัสที่นุ่มๆ นิ่มๆ ก็ทำให้ใจของเราติดเบ็ดที่ ผิวกาย
          ใจคนเราชอบเที่ยว ชอบคิด และเมื่อเที่ยวมาก คิดมาก ใจก็สว่างน้อยลงๆ ทุกที ใจก็เลยไปติดเบ็ด ต้องดิ้นทุรนทุรายเหมือนกับปลาที่ถูกจับโยนขึ้นมาบนบก
         พอฝึกสมาธิมากเข้าๆ เริ่มเอาใจกลับเข้ามาไว้ในตัวได้ ใจก็เริ่มสว่าง เบ็ดที่ล่อให้ใจไปติดมีเท่าไรๆ ใจก็ไม่ไปติด ใจไม่ไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น เพราะใจกลับมารวมอยู่ที่ศูนย์กลางกาย และนี่คือ คำตอบว่า ทำไมเราจึงต้องฝึกสมาธิ
          แม้แต่พระภิกษุ เมื่อบวชแล้วท่านก็ต้องตั้งใจฝึกสมาธิเช่นกัน เพราะในการบวชนั้นจะเอา ตัวรอดจากเหยื่อล่อต่างๆ ได้ก็ต้องฝึกใจตนเองให้ได้
          ใจของนักบวชที่ไม่ติดเบ็ด จะทำให้ท่าน ไม่คิดลาสิกขา เพราะใจที่ฝึกสมาธิไว้อย่างดีแล้ว จะใสสว่าง ปราศจากกิเลส ที่มาห่อหุ้มจิตใจ ทำให้ชีวิตนักบวชของท่านมั่นคง ท่านจึงจะสามารถบวชได้ตลอดชีวิต


(ติดตามต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล