ฉบับที่ 43 พฤษภาคม ปี 2549

สวดมนต์เป็นยาทา ภาวนาเป็นยากิน



คำโบราณท่านกล่าวไว้ว่า "สวดมนต์เป็นยาทา ภาวนาเป็นยากิน" จริง ๆ แล้วมีความหมายอย่างไรเจ้าคะ ?

        คำว่า "สวด" เป็นกิริยาของการท่องที่เป็นทำนอง เป็นจังหวะ
        คำว่า "มนต์" สำหรับชาวพุทธก็คือคำเทศน์ หรือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
        คำว่า "สวดมนต์" จึงเป็นเรื่องของการทบทวนคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
        สวดมนต์ไปก็ได้ความรู้และความเข้าใจในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้น แล้วแน่นอนว่าความสบายใจย่อมเกิดขึ้นมาด้วย
        เกิดขึ้นมาจากอานุภาพของธรรมะที่เราสวด และเกิดขึ้นเพราะเรารำลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
        ยิ่งกว่านั้นในขณะที่กำลังสวดมนต์ใจก็เป็นสมาธิ แต่เป็นสมาธิในระดับตื้น ไม่ได้เป็นสมาธิในระดับลึกเท่าไร แต่ว่าก็ให้คุณประโยชน์กับใจของเราได้ในระดับหนึ่ง คือให้ความชุ่มชื่นใจ ให้ความเบิกบานใจ แล้วก็ได้ความปลื้มปีติที่ว่าเราได้ทบทวนคำสอนธรรมะของสมเด็จพ่อของเรา
        ด้วยเหตุที่การสวดมนต์สามารถนำความปลื้มปีติใจ นำสมาธิมาให้ในระดับตื้น ท่านจึงได้อุปมาว่าการสวดมนต์เหมือนอย่างกับยาทา ซึ่งยาทาชนิดนี้ ไม่ใช่ยาทาแบบยาหม่องธรรมดา ๆ แต่ว่าทาแล้วทะลุถึงใจเลยทีเดียว
        ส่วนคำว่า "ภาวนา" หมายถึง การทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง ชนิดนั่งสมาธิกันเป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือบางทีทำต่อเนื่องเป็นเดือน เป็นปีกันทีเดียว
        หรือเอาเป็นว่าสำหรับนักทำสมาธิโดยทั่ว ๆ ไปแบบชาวโลก ทำสมาธิกันแต่ละครั้งก็ประมาณ ๑ ชั่วโมง หรือว่า ๔๕ นาที เป็นอย่างน้อย ใจก็ดื่มด่ำหยุดนิ่งลงไปที่ศูนย์กลางกายภายในตัว
        การที่ใจหยุดนิ่งลงไปอย่างนั้น เพราะว่าขณะที่ทำสมาธิเราหลับตา จึงไม่มีภาพอะไรมารบกวนนัยน์ตา แล้วใจก็รวมอยู่ที่ศูนย์กลางกาย เมื่อเป็นอย่างนี้ใจจึงหยุดนิ่งได้สนิทกว่าการสวดมนต์
        เมื่อใจหยุดใจนิ่งได้สนิทกว่าการสวดมนต์ ความชุ่มชื่นที่เกิดภายในก็ตาม ความสว่างที่เกิดภายในก็ตาม ย่อมมีมากกว่าการที่สวดมนต์
        ยิ่งกว่านั้น ถ้าทำได้ถูกส่วนจริง ๆ การเห็นธรรมะที่ลึกซึ้ง ก็มีโอกาสเป็นไปได้ในขณะที่ทำภาวนานี่เอง ปู่ย่าตาทวดของเราจึงได้อุปมาการทำภาวนาอย่างจริงจัง อย่างต่อเนื่องนี้ว่าเหมือนอย่างกับยากิน คือสามารถแก้ไข้ แก้ปวดได้มากกว่ายาทา
        แต่อย่างไรก็ตาม เราอย่าไปคิดเปรียบว่าอะไรดีกว่าอะไรเลย เพราะว่าคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่เราจะต้องท่อง เมื่อท่องแล้วก็นำมาตรอง นำมาใช้เป็นหลักในการทำภาวนา
        เมื่อการสวดก็มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นยาทาประเภทที่ทาแล้วเข้าไปถึงใจ ส่วนการทำสมาธิก็ยิ่งจำเป็นมากขึ้น เพราะฉะนั้น ทั้ง ๒ อย่างนี้ต้องทำควบคู่ไปด้วยกัน
        ตามวัดวาอารามต่าง ๆ พระท่านตื่นกันตั้งแต่ตี ๔ เพื่อลุกขึ้นมาสวดมนต์ ทบทวนคำสอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สวดมนต์กันเป็นชั่วโมงทีเดียว เสร็จแล้วท่านก็ทำสมาธิของท่านต่อ
        เมื่อรู้ เมื่อเห็น เมื่อทราบประโยชน์กันอย่างนี้แล้ว ก็ขอให้พวกเรา แม้อยู่ที่บ้านอย่างน้อยก็ต้องสวดมนต์ก่อนนอน แล้วถ้าตอนเช้าก่อนไปทำงานได้สวดอีกสักรอบหนึ่งก็ยิ่งดี
        และที่ขาดไม่ได้คือต้องทำสมาธิ เพื่อใจจะได้ใสเต็มที่ เพราะถ้าคืนนี้นอนหลับไปแล้ว ไม่ได้ตื่นขึ้นมาอีก ก็จะได้ละโลกไปด้วยใจใส ๆ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกันว่า ผู้ที่ละโลกไปขณะใจใสย่อมมีสวรรค์หรือสุคติเป็นที่ไป
        แต่ว่าถ้าหลับไปแล้ว เช้าก็ยังได้ตื่นขึ้นมาดูดวงอาทิตย์อีก ก็จะตื่นขึ้นมาด้วยใจใส ๆ พร้อมกับความคิดที่สร้างสรรค์ จิตใจที่เบิกบาน เมื่อเป็นอย่างนี้อนาคตของเราย่อมดีแน่ ๆ เลย
        เพราะฉะนั้น ต้องทั้งสวดมนต์ ทั้งภาวนา ควบคู่กันไป อย่าได้ขาดแม้สักวันทีเดียว
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล