ฉบับที่ ๑๔๐ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๗

วิสาขบูชา... วันแห่งชัยชนะของพระพุทธเจ้า

ทบทวนบุญ

เรื่อง : พระสมศักดิ์ จนฺทสีโล

 

 


วิสาขบูชา...

 

วันแห่งชัยชนะของพระพุทธเจ้า

 

 

 

 

   หลังจากที่พระสิทธัตถะบรมโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเพียรมาถึง ๖ ปี ในที่สุดเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อ ๒,๖๐๐ ปี มาแล้ว ทรงมีชัยชนะเหนือพญามาร จนสามารถตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยความแจ้งกระจ่างในพระอริยสัจธรรม วันนี้นอกจากเป็นวันแห่งการจุดแสงสว่างครั้งยิ่งใหญ่ให้แก่มวลมนุษยชาติแล้ว ยังถือเป็นวันอัศจรรย์ที่ทำให้ชาวโลกทั้งหลายมีโอกาสพบกับความประเสริฐของชีวิตดังนั้นองค์การสหประชาชาติจึงประกาศให้วันวิสาขบูชา คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปีเป็นวันสำคัญสากลของโลก

 

 

 


วิสาขบูชา...มหาสมาคม

 

   ในวันวิสาขบูชาปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ นี้ที่วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี ผู้มีบุญจากจังหวัดต่าง ๆ พร้อมใจกันไปสร้างบุญบารมี นับตั้งแต่ภาคเช้า มีการตักบาตรถวายทานแด่คณะสงฆ์ จากนั้นเป็นการร่วมกันเจริญสมาธิภาวนา ณ สภาธรรมกายสากล และกล่าวคำถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน

 

 

 


   ในภาคบ่าย หลังจากปฏิบัติสมาธิภาวนาที่สภาธรรมกายสากลแล้ว มีพิธีอุปสมบทอุทิศชีวิตของสามเณรเปรียญ (สามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม) จำนวน ๑๒ รูป ณ อุโบสถวัดพระธรรมกาย โดยมีพระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต เป็นพระอุปัชฌาย์

 

 

 


ชีวิต... ขออุทิศให้พระศาสนา

 

   เริ่มตั้งแต่สร้างวัด วัดพระธรรมกายมีแนวคิด ๓ ประการ คือ สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระแท้ และสร้างคนให้เป็นคนดี

 

 

 


   ในการสร้างพระแท้นั้น การบวชอุทิศชีวิต บำเพ็ญเนกขัมมบารมี ถือเป็นวิธีหนึ่ง โดยเริ่มจากการเปิดรับสามเณรเพื่อเป็นศาสนทายาท ปลูกฝังมโนปณิธานการบวชอุทิศชีวิต และมีการฝึกฝนอบรมอย่างเข้มข้นเป็นเวลานานหลายปี เมื่อสามเณรอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ และมีคุณสมบัติครบที่จะอุปสมบทอุทิศชีวิตเป็นพระภิกษุ ก็จะมีพิธีอุปสมบทในวันที่ ๒๒ เมษายน

 

 

 

 

   ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) และก่อนวันอุปสมบท พระเดชพระคุณหลวงพ่อก็จะเมตตามอบผ้าไตรและตั้งฉายาให้สามเณรทุกรูป

 

 

 


   ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ พิธีอุปสมบทจัดขึ้นในวันวิสาขบูชาเป็นปีแรก และจัดสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

 

 

 


   นับถึงวันวิสาขบูชาปีนี้ ประเพณีอุปสมบทอุทิศชีวิตของสามเณรเปรียญธรรมวัดพระธรรมกายจัดขึ้นรวม ๒๒ ปีแล้ว  มีสามเณรเข้าพิธีอุปสมบทอุทิศชีวิต ๒๕๖ รูป

 

 

 

 

 

อนุโมทนาเหล่ากอสมณะผู้อุปสมบทอุทิศชีวิต

 

   สามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรมที่เข้าพิธีอุปสมบทอุทิศชีวิตแด่พระพุทธศาสนาในปีนี้มีรายนามดังต่อไปนี้


๑. สามเณรเอกมงคล สมานวงศ์ ป.ธ.๕ อุปสมบทแล้วมีชื่อและฉายาว่า พระมหาเอกมงคล มงฺคลชโช


๒. สามเณรศราวุธย์ สองเมือง ป.ธ.๓ อุปสมบทแล้วมีชื่อและฉายาว่า พระมหาศราวุธย์ สรณชโย


๓. สามเณรจิรายุ โพธิ์ศรีทอง ป.ธ.๗ อุปสมบทแล้วมีชื่อและฉายาว่า พระมหาจิรายุ โพธิชโย


๔. สามเณรศุภณัฐ ดวงจันทร์ ป.ธ.๗ อุปสมบทแล้วมีชื่อและฉายาว่า พระมหาศุภณัฐ จนฺทชโย


๕. สามเณรพิเชษฐ์ ชินมา ป.ธ.๕ อุปสมบทแล้วมีชื่อและฉายาว่า พระมหาพิเชษฐ์ โยคชโย


๖. สามเณรชินวัฒน์ ภาระดีไพเราะห์ ป.ธ.๖ อุปสมบทแล้วมีชื่อและฉายาว่า พระมหาชินวัฒน์ วาทชโย


๗. สามเณรวชิรวิทย์ ปัญญาสมบัติ ป.ธ.๖ อุปสมบทแล้วมีชื่อและฉายาว่า พระมหาวชิรวิทย์ วุฑฺฒชโย


๘. สามเณรกันตณัฐ วรุณวงศ์ชัย ป.ธ.๕ อุปสมบทแล้วมีชื่อและฉายาว่า พระมหากันตณัฐ พฺยตฺตชโย


๙. สามเณรวีระพล หมื่นหาวงค์ ป.ธ.๔ อุปสมบทแล้วมีชื่อและฉายาว่า พระมหาวีระพล วีรชโย


๑๐. สามเณรทนงศักดิ์ เติมผล ป.ธ.๕ อุปสมบทแล้วมีชื่อและฉายาว่า พระมหาทนงศักดิ์ เนกฺขมฺมชโย


๑๑. สามเณรเทิดเกียรติ เวียงสิมมา ป.ธ.๖ อุปสมบทแล้วมีชื่อและฉายาว่า พระมหาเทิดเกียรติ นาถชโย


๑๒. สามเณรอธิวัฏ บุราณรมย์ ป.ธ.๗ อุปสมบทแล้วมีชื่อและฉายาว่า พระมหาอธิวัฏ อธิชโย


   วันวิสาขบูชาปีนี้ นอกจากจะเป็นโอกาสดีสำหรับพุทธศาสนิกชนในการสร้างบุญสร้างกุศลแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะน้อมรำลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ และเป็นโอกาสที่จะย้อนรำลึกถึงตัวเราในการประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างแห่งความเป็นพุทธศาสนิกชน บำเพ็ญตนเป็นพุทธมามกะ มุ่งจรรโลงและสืบต่ออายุพระศาสนาให้ยืนยาวนานตลอดไป


   ขออนุโมทนาสาธุการกับทุกบุญของทุกท่าน..

 

 

 


ทัศนะพระมหาเปรียญธรรม

 

 

พระมหาเอกมงคล มงฺคลชโย
เปรียญธรรม ๕ ประโยค

 

   การบรรพชาเป็นสามเณรที่บุคคลทั้งหลายบอกว่าเป็นผู้ด้อยโอกาสนั้น ผู้รู้หากล่าวเช่นนั้นไม่ เพราะสามเณรเป็นเหล่ากอของสมณะผู้แสวงหาหนทางหลุดพ้นจากกองทุกข์ ทำตนให้มีคุณค่าอย่างแท้จริง

 

   แม้หนทาง ๔ แยก ๕ แยก หรือทางหลายแพร่ง จะมีให้ทุกคนเลือกเดินไปสู่เป้าหมาย แต่ชีวิตของหลวงพี่เลือกที่จะเดินสายธรรมสายกลางเพียงอย่างเดียว โดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม

 

   ชีวิตสมณะเป็นชีวิตที่มีความสุข ทุกภาระหน้าที่ล้วนเป็นบุญ เป็นกุศลการบวชอุทิศชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็เป็นบุญใหญ่ที่จะทำให้หลวงพี่ติดตามสร้างบารมี รื้อสัตว์ ขนสัตว์ ไปกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อได้

 

   หลวงพี่โชคดีที่ได้มาอยู่วัดพระธรรมกาย ทำให้หลวงพี่มีโอกาสนั่งหลับตาดูตัวเอง การได้อยู่กับตัวเอง ได้อยู่กับธรรมะ เป็นสิ่งที่ประเสริฐและทำให้มีความสุขที่สุดแล้ว แม้โลกนี้จะน่าอภิรมย์สักเพียงไหน หลวงพี่ก็หาใส่ใจไม่

 

 

พระมหาศราวุธย์ สรณชโย
เปรียญธรรม ๓ ประโยค

 

   พระอาจารย์ พระพี่เลี้ยง ท่านคอยถามเสมอมาว่า เราเกิดมาทำไมมีหน้าที่อะไร สามเณรก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ทำพระนิพพานให้แจ้งแสวงบุญ สร้างบารมี

 

   ความประทับใจในการสร้างบารมีจนถึงทุกวันนี้ คือการได้เป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย ได้บวชอุทิศชีวิต ได้ทำในสิ่งที่คนทั่วไปทำได้ยาก ได้ตอบแทนพระคุณของพระเดชพระคุณหลวงพ่อทั้งสอง ได้ตอบแทนพ่อแม่ปู่ย่า ตายาย พี่น้อง ญาติโยมทุกท่าน ตลอดจนเพื่อนสหธรรมิก ขอกราบขอบพระคุณพระเดชพระคุณหลวงพ่อและมหาปูชนียาจารย์ ขอบพระคุณพระอาจารย์ พระพี่เลี้ยง ที่คอยดูแลอบรม คอยปลูกฝังอุดมการณ์ให้เสมอมาขอขอบคุณหลวงลุงที่เป็นกัลยาณมิตรให้หลวงพี่ได้มาสร้างบารมี และที่ขาดไม่ได้ ต้องขอนุโมทนาบุญกับโยมพ่อ โยมแม่ ที่อนุญาตให้หลวงพี่ได้บวชในครั้งนี้ ตลอดจนญาติโยมทุกท่านที่คอยสนับสนุนบำรุงพระพุทธศาสนาเสมอมา

 

 

พระมหาจิรายุ โพธิชโย
เปรียญธรรม ๗ ประโยค

 

    เมื่อหลวงพี่เข้ามาอยู่ในวัดพระธรรมกาย ก็ถูกอบรมพร่ำสอน ผ่านบทฝึกต่าง ๆ ทำให้หลวงพี่ตระหนักถึงคุณค่าของพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ที่กว่าจะบังเกิดขึ้นมาได้นั้น ต้องอาศัยผู้รู้อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ต้องสั่งสมบารมีมาอย่างน้อยที่สุด ๒๐ อสงไขยกับแสนมหากัป หลวงพี่จึงตั้งใจที่จะบวชอุทิศชีวิต เพื่อรักษาพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกายเอาไว้อย่างรุ่นพี่ ๆ ที่เป็นกำลังของหลวงพ่อในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ให้อยู่คู่โลกตลอดไป

 

   หลวงพี่คิดว่าตนเองโชคดีมาก ที่เข้ามาบวชตั้งแต่เยาว์วัย จากที่ตอนเป็นโยมมีเพื่อน ๔-๕ คน พอเป็นสามเณรมีเพื่อนเป็นร้อย ทั้งยังเป็นกัลยาณมิตร เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ ชักชวนกันรับบุญ เรียนหนังสือบาลีนั่งสมาธิ สวดมนต์ ฯลฯ เวลาที่ผ่านมาหลวงพี่มีทั้งความสุขและบุญบารมีที่เพิ่มขึ้น เป็นช่วงเวลาที่ทั้งชีวิตนี้จะไม่มีวันลืมเลือนเลย

 

 


พระมหาศุภณัฐ จนฺทชโย
เปรียญธรรม ๗ ประโยค

 

   มโนปณิธาน มาจาก “มโน” ที่แปลว่า “ใจ” กับ “ปณิธาน” ที่แปลว่า “ความตั้งมั่น” รวมความแปลว่า “ความตั้งใจมั่น”

 

   การที่หลวงพี่มีความตั้งใจมั่นในการบวชอุทิศชีวิตได้นั้น มิใช่คิดปุบปับขึ้นมาทันที แต่เป็นการหมั่นคิด หมั่นตอกย้ำ ผ่านกาลเวลาเกือบ ๑๐ปี จนกลายเป็นมโนปณิธานที่เด็ดเดี่ยว จนกล้าประกาศตนว่าจะบวชอุทิศชีวิตให้พระพุทธศาสนา เรียกได้ว่า การที่จะเกิดมโนปณิธานเช่นนี้ได้ ต้องผ่านการฝึกฝนอบรมตนเองอย่างเข้มข้นในเพศสมณะมาเกือบ ๑๐ ปี

 

   นอกจากนี้ ความสามัคคียังเป็นมนต์ขลังชนิดหนึ่งที่หลวงพี่ประทับใจและทำให้สร้างบารมีมาได้จนถึงปัจจุบัน คำปฏิญาณตนของสามเณรเปรียญธรรมวัดพระธรรมกาย “สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี ความพร้อมเพรียงของหมู่ให้เกิดสุข” คือสิ่งที่ทำให้หลวงพี่รู้สึกฮึกเหิมและมีกำลังใจในการสร้างบารมียิ่ง ๆ ขึ้น

 

 

พระมหาพิเชษฐ์ โยคชโย
เปรียญธรรม ๕ ประโยค

 

   ตอนเด็ก ๆ หลวงพี่ไม่เคยคิด ไม่เคยสงสัยว่า ความเป็นจริงของชีวิตเป็นอย่างไร ก็ใช้ชีวิตเหมือนกับคนอื่นทั่ว ๆ ไป มีเพียงความคิดว่า เมื่อเราอายุครบ ๒๐ ปี จะบวช คิดเพียงเท่านี้ จนกระทั่งอายุได้ ๑๒ ปี ก็มีความคิดขึ้นมาว่า ถ้าคนเราทุกคนเกิดมาแล้วต้องตายกันหมด เราจะเกิดมาเพื่ออะไร จนกระทั่งปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ หลวงพี่ก็ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ว่าน่าจะไปบวชที่วัดพระธรรมกาย หลวงพี่ก็เลยตั้งใจเรียนจนจบในปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ และตัดสินใจเข้ามาบวชสร้างบารมีตั้งแต่นั้น

 

   เมื่อหลวงพี่เข้ามาบวชเป็นสามเณร ก็ได้รู้ความเป็นจริงของชีวิตจากนั้นก็ตัดสินใจว่าจะตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเอง และจะต้องบวชอุทิศชีวิตเพื่อทำเป้าหมายชีวิตในชาตินี้ให้สำเร็จบริบูรณ์ และจะตั้งใจสั่งสมบุญสร้างบารมีในเพศสมณะตลอดไป ให้สมกับคำว่า “บวชอุทิศชีวิต”

 

 


พระมหาชินวัฒน์ วาทชโย
เปรียญธรรม ๖ ประโยค

 

   อย่างแรกต้องขอขอบพระคุณ “โยมแม่” ที่พาเข้าวัดตั้งแต่เด็ก นี้คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลวงพี่ได้เข้ามาสร้างบารมี ทำให้คุ้นเคยกับวัด กับธรรมะกับพระอาจารย์ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก บวกกับส่วนตัวก็ชอบอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบารมีในผ้าเหลือง เลยตัดสินใจบวชเป็นสามเณรสร้างบารมีอยู่ที่หมู่กุฏิสามเณรเปรียญธรรมเรื่อยมา ซึ่งการสร้างบารมีของหลวงพี่นั้น หลวงพี่จะทำอย่างสุดความสามารถเพื่อพระพุทธศาสนา จนกว่าจะถึงคำว่า “อุทิศชีวิต”

 

   ความประทับใจในการสร้างบารมีของหลวงพี่มีหลายอย่างมาก แต่มีอยู่บุคคลหนึ่งที่ประทับเข้าไปอยู่ในใจอย่างมิรู้ลืม บุคคลนั้นก็คือ “พระเดชพระคุณหลวงพ่อ” ซึ่งเป็นบุคคลที่หาได้ยากยิ่ง จะมีสักกี่คนที่ทุ่มเทเพื่อพระพุทธศาสนาขนาดนี้ ทั้งที่ยังป่วย ก็ไม่หยุดการสร้างบารมี ไม่หยุดงานพระพุทธศาสนา ยิ่งนานวันยิ่งมีแต่ลุยสร้างบารมีอย่างเดียว

 

 

พระมหาวชิรวิทย์ วุฑฺฒชโย
เปรียญธรรม ๖ ประโยค

 

   หลวงพี่เข้ามาสร้างบารมีที่วัดพระธรรมกายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของโยมแม่ เพราะฉะนั้นโยมแม่จึงเป็นกัลยาณมิตรคนแรก ที่นำพาหลวงพี่และครอบครัวเข้าวัดสร้างบารมีมาโดยตลอด ตั้งแต่หล่อรูปเหมือนทองคำ    พระเดชพระคุณหลวงปู่องค์แรกจนถึงทุกวันนี้

 

   ตอนเด็ก ๆ หลวงพี่มีโอกาสรับบุญต้อนรับพระเดชพระคุณหลวงพ่อทุก ๆ วันอาทิตย์ ทำให้รู้สึกผูกพันกับวัดมาตั้งแต่ยังเด็ก และสร้างบารมีเรื่อยมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้เพราะมีโยมแม่คอยเป็นกัลยาณมิตรให้ดังพระพุทธพจน์บทหนึ่งที่ว่า “อานนท์ กัลยาณมิตร คือ ทั้งหมดของพรหมจรรย์”

 

   ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร หลวงพี่ก็มีมโนปณิธานที่จะบวชอุทิศชีวิต สร้างบารมี และเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลกมาโดยตลอด และตั้งใจบวชตลอดชีวิต ครองผ้ากาสาวพัสตร์ไปจนกว่าจะหมดลมหายใจ

 

 

พระมหากันตณัฐ พฺยตฺตชโย
เปรียญธรรม ๕ ประโยค

 

   ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ หลวงพี่ขออนุญาตโยมพ่อ โยมแม่ บวชเรียนในโครงการยุวธรรมทายาท หลังจากจบการอบรม หลวงพี่ก็เข้ามาบวชเรียนต่อ และได้รับการฝึกฝนหล่อหลอมจากพระอาจารย์ พระพี่เลี้ยง มีกิจวัตรกิจกรรมเกี่ยวเนื่องด้วยบุญบารมีมาตลอด จนกระทั่งได้อุปสมบทอุทิศชีวิต

 

   มโนปณิธานในการบวชอุทิศชีวิตของหลวงพี่มาจากคำสอนที่ว่า“เราเกิดมาเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง แสวงบุญ สร้างบารมี” ดังนั้นหลวงพี่จึงตั้งใจที่จะฝึกฝนอบรมตนเอง เพราะพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านสอนอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า เมื่อเราตายไป สิ่งที่เราจะนำติดตัวไปได้มีเพียงแค่บุญและบาปเท่านั้น ในเมื่อชีวิตหนึ่งต้องเกิดมาเช่นกัน และต้องตายไปเหมือนกัน หลวงพี่จึงเลือกที่จะอยู่สร้างบารมีกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อในเพศสมณะนี้ตลอดไป

 

 

พระมหาวีระพล วีรชโย
เปรียญธรรม ๔ ประโยค

 

   การที่หลวงพี่ได้มาสร้างบารมีกับหลวงพ่อทั้งสอง นอกจากได้รับการปลูกฝังแต่สิ่งที่ดีและสามารถทำประโยชน์แก่ตนเองและชาวโลกได้แล้วหลวงพี่ยังได้อาศัยพระพุทธศาสนาและหลวงพ่อทั้งสอง หลวงพี่ถึงตั้งใจมั่นว่า อยากจะให้พระพุทธศาสนาได้อาศัยตนบ้าง จึงขอถวายชีวิตนี้ให้แก่พระพุทธศาสนาและพระเดชพระคุณหลวงพ่อทั้งสอง

 

   ทุก ๆ ครั้งที่หลวงพี่เห็นการสร้างบารมีเป็นทีมของหมู่คณะหลวงพี่รู้สึกว่า เราจะต้องเป็นหนึ่งในนั้น ทุก ๆ งานบุญหลวงพี่เห็นพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ร่วมมือกันประหนึ่งว่า เป็นโอกาสทองของทุกคน ต่างคนก็ตั้งใจที่จะเอาบุญให้ได้มากที่สุด ต่างคนต่างช่วยกันเพื่อบุญและบารมีที่จะติดตามตามติดมหาปูชนียาจารย์ไปถึงที่สุดแห่งธรรมหลวงพี่คิดว่า การสร้างบารมีแบบนี้ไม่มีที่ไหนอีกแล้วในโลก จึงทำให้หลวงพี่ประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้

 

 


พระมหาทนงศักดิ์ เนกฺขมฺมชโย
เปรียญธรรม ๕ ประโยค

 

    โยมพ่อของหลวงพี่เป็นคนชอบเข้าวัด ชอบทำบุญ ชอบนั่งสมาธิพอว่างจากงานท่านก็มักจะพาลูกไปวัดใกล้บ้าน หลวงพี่ก็เลยได้นั่งสมาธิตั้งแต่อายุ ๔-๕ ขวบ วันไหนที่ไม่ได้ไปวัด พอถึงเวลา ๑๙.๐๐ น. ท่านก็จะพาทำวัตรสวดมนต์ไม่เคยขาดจนติดเป็นนิสัย ไม่ว่าท่านจะอยู่หรือไม่อยู่บ้านหลวงพี่กับพี่น้องก็ทำวัตรสวดมนต์กันโดยไม่ต้องบอก ท่านและโยมแม่เป็นตัวอย่างที่ดีเสมอมา ต่อมาโยมพ่อรู้จักกับวัดพระธรรมกาย ท่านพาหลวงพี่มาวัดทุกวันอาทิตย์ หลวงพี่จึงได้เข้ามาสร้างบารมีในวัดพระธรรมกายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 

   หลวงพี่คิดว่า การที่เราบวชในเพศสมณะทำให้เรามีโอกาสแก้ไขข้อผิดพลาดได้มากกว่าตอนเป็นโยม แถมยังได้บุญ ได้บารมี ได้ความรู้สึกนึกคิดที่ดี ๆ ด้วย เลยตั้งใจว่า จะขอบวชไปตลอดชีวิต เพื่อฝึกฝนตนเองให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ และตั้งใจบวชตลอดมา ไม่เคยคิดจะล้มเลิกความตั้งใจเลยแม้สักวันเดียว

 

 

พระมหาเทิดเกียรติ นาถชโย
เปรียญธรรม ๖ ประโยค

 

   หลวงพี่เข้าวัดเมื่อปี ๒๕๔๙ โดยมีกัลยาณมิตร คือหลวงน้าที่เป็นญาติกันแต่ท่านบวชอยู่ที่วัดอื่น ท่านเห็นว่า วัดพระธรรมกายเป็นสำนักเรียนดีเด่นมีกฎระเบียบเคร่งครัด ท่านจึงบอกให้หลวงพี่มาบวชที่วัดพระธรรมกาย เมื่อบวชแล้วหลวงพี่ก็ได้รับการฝึกฝนจนกระทั่งมีอุดมการณ์ เป้าหมายชีวิต และสร้างบารมีอย่างมีความสุขเรื่อยมา

 

   ในการสร้างบารมีนั้น หลวงพี่ต้องการสร้างบารมีแบบ “อสาธารณ-บารมี” คือบารมีที่ไม่ทั่วไป โดยอุทิศชีวิตนี้ให้เป็นของพระพุทธศาสนา รับใช้งานพระศาสนาให้มั่นคงสืบต่อไป

 

   การสร้างบารมีของหมู่คณะวัดพระธรรมกายทำให้หลวงพี่ประทับใจมาก เพราะตั้งแต่หลวงพี่เกิดมายังไม่เคยเห็นใครที่ไหนสร้างบารมีแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน สร้างด้วยความสุข และสร้างกันเป็นทีม วิธีการก็ชัดเจนเป้าหมายก็ชัดเจน คือที่สุดแห่งธรรม พักกลางทางที่ดุสิตบุรี

 

 

พระมหาอธิวัฏ อธิชโย
เปรียญธรรม ๗ ประโยค

 

    หลวงพี่เป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่ไม่รู้เรื่องกฎแห่งกรรมเลย ยิงนกตกปลาเป็นอาจิณ แต่พอเรียนถึงประถมศึกษาปีที่ ๕-๖ อาจารย์ประจำชั้นเปิด DMC ให้ดูทุกวัน หลวงพี่ก็เลยรู้จักกฎแห่งกรรมมากขึ้น พอเรียนจบอาจารย์ชวนบวชสามเณรภาคฤดูร้อนที่จังหวัดอุบลราชธานี หลวงพี่อยู่จนจบโครงการและชอบชีวิตการเป็นอยู่แบบพระ แบบเณร เลยสมัครเข้ามาบวชเณรที่วัดพระธรรมกาย

 

    หลวงพี่ประทับใจกับการสร้างบารมีทุกอย่างตั้งแต่เข้ามาวันแรกจนถึงปัจจุบัน เวลาเห็นสามเณรรุ่นพี่บวชอุทิศชีวิตแล้วรู้สึกว่า ท่านเท่มาก เป็นต้นบุญต้นแบบ ก็เลยตั้งเป้าหมายแล้วฝึกตัวเต็มที่ แม้จะมีอุปสรรคมากมายแต่หลวงพี่มองเป้าหมายเป็นหลัก อุปสรรคก็เลยกลายเป็นเรื่องเล็ก ทำให้หลวงพี่อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ หลวงพี่ยังมองไม่เห็นว่ามีวิถีชีวิตอื่นใดในโลกดีเท่ากับการเป็นสมณะ เพราะการเป็นสมณะไม่มีโอกาสทำความชั่วเลย

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล