ฉบับที่ ๑๔๐ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๗

ทำอย่างไรทุกคนจึงจะมีความสุข ในการทำงานร่วมกัน?

หลวงพ่อตอบปัญหา

พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 


ทำอย่างไรทุกคนจึงจะมีความสุข

ในการทำงานร่วมกัน?

 

 


ANSWER

คำตอบ

 


   เมื่อคนเราต้องทำงานร่วมกัน ในฐานะที่จะต้องช่วยกันสร้างงานต่อไปในอนาคต มีสิ่งสำคัญที่จะต้องเตือนใจนักทำงานไว้เสมอคือ นักทำงานต้อง คิดก่อนทำ คิดก่อนพูด และ คิดก่อนคิดคำว่า ‘คิดก่อนทำ’ คงจะเคยได้ยินกันมาแล้ว ‘คิดก่อนพูด’ ก็คงเคยได้ยินกันมาบ้าง ‘คิดก่อนคิด’ยังหาคำตอบไม่ได้ หลวงพ่อมาเจอคำตอบจากพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเอามาฝากเพื่อให้คิดกันเป็น


   ‘คิดก่อนทำ’ หมายถึง คิดพิจารณากายกรรมหรือการกระทำทางกาย ส่วน ‘คิดก่อนพูด’หมายถึง คิดพิจารณาวจีกรรมหรือการกระทำทางวาจาหรือคำพูด และ ‘คิดก่อนคิด’ หมายถึงคิดพิจารณามโนกรรมหรือการกระทำทางความคิด


   การกระทำไม่ว่าจะเป็นทางความคิด คำพูด และการกระทำทางกาย ต่างก็เป็นกรรม ซึ่งเมื่อทำไปแล้วจะมีวิบากเป็นผล ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วต่างก็ถูกควบคุมด้วยกฎแห่งกรรมดังนั้นการระมัดระวังควบคุมเพื่อให้ผลจากการกระทำเป็นผลดีที่พึงปรารถนา จึงต้องใส่ใจคิดพิจารณาอย่างรอบคอบตั้งแต่แรกเริ่มคิดทำกรรมนั้น ๆ


   การคิดพิจารณานั้น มี ๓ ระดับ


   ระดับที่ ๑ คิดว่ากรรมนี้ทำความเดือดร้อนให้ตัวเราหรือไม่


   ระดับที่ ๒ คิดว่ากรรมนี้ทำความเดือดร้อนให้คนอื่นด้วยหรือไม่


   ระดับที่ ๓ คิดว่ากรรมนี้จะทำความเดือดร้อนให้ทั้งเราและคนอื่นด้วยหรือไม่

   ในการคิดพิจารณาแต่ละระดับนั้น ยังแบ่งออกเป็น ๓ ลำดับ


   ลำดับแรก เมื่อคิดจะทำกรรมใดไม่ว่าจะเป็นการลงมือทำ หรือการพูด หรือความคิดก็ตามให้คิดทบทวนดูก่อน หากพบว่าถ้ากระทำสิ่งนี้จะมีผู้ได้รับผลกระทบ อาจจะเป็นตัวเอง หรือคนอื่นหรือทั้งตัวเองและคนอื่น ๆ ได้รับความเดือดร้อน ก็ไม่พึงทำกรรมนั้นเลย แต่ถ้าคิดพิจารณาดูแล้วไม่มีใครถูกเบียดเบียนได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำนี้ กรรมครั้งนี้เป็นกุศล ก็ทำเถิด


   ลำดับถัดมา แม้เมื่อกำลังลงมือทำด้วยกายก็ดี พูดอยู่ก็ดี หรือคิดอยู่ก็ดี ในระหว่างที่ทำไปแล้วในระดับหนึ่งนั้น อย่านิ่งนอนใจ ยิ่งงานนั้นเป็นงานใหญ่ งานยืดเยื้อ ยิ่งต้องติดตามดูให้ดีว่าที่ทำมาถึงจุดนี้ จริง ๆ แล้วเบียดเบียนทำความเดือดร้อนให้ตนเองหรือคนอื่นบ้างหรือเปล่า หรือเบียดเบียนทั้งตัวเองและคนอื่นด้วย ถ้าพบต้องหยุดทำ ห้ามดันทุรัง ทั้ง ๆ ที่ทำไปครึ่งค่อนทางแล้วถ้าหากจะมีความเสียหายเกิดขึ้น ยอมเลิก ยอมหน้าแตก ดีกว่าก่อศัตรู


   มีข้อพึงระวังคือ ทั้งที่พิจารณามาดีแล้ว คนเราก็ยังอาจคิดผิดพลาดได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้จาก ๒ กรณี ได้แก่ ๑) เราคิดไม่รอบคอบเอง เลยเกิดกรณีเสียหายจนได้ ๒) เราคิดรอบคอบแล้วแต่สถานการณ์เปลี่ยนไป เช่น เศรษฐกิจเปลี่ยน การเมืองเปลี่ยน หรือการคมนาคมติดขัด เป็นต้น


   เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนอาจจะมีผลต่อการงานที่จะทำต่อไป อาจต้องคิดอีกครั้งให้ดี หากพบว่าได้ก่อความเสียหาย สร้างความเดือดร้อนขึ้น อย่าดันทุรังทำต่อ ถึงแม้จะต้องเสียหายอะไรไปบ้าง ก็ต้องยอมตัดใจเลิกทำ แต่หากว่าเมื่อทบทวนดูแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องดี สมควรจะต้องทำ ไม่ได้เบียดเบียนใคร เพียงแต่มีอุปสรรคบางอย่างมาขวางอยู่ อย่างนี้ต้องทำให้เสร็จให้ได้


   สถานการณ์เหล่านี้ต้องวินิจฉัยให้ดี ถ้าวินิจฉัยไม่ดีจะพลาดได้


   ลำดับสุดท้าย เมื่อทำงานเสร็จแล้ว ก็ยังต้องมาประเมินอีกครั้ง นอกจากประเมินผลได้ผลเสียต่าง ๆ แล้ว ต้องประเมินถึงผลจากการกระทำ คำพูด ความคิดที่เสร็จแล้ว หากประเมินแล้วว่าที่ทำลงไปจนกระทั่งดำเนินมาจนจบแล้วนี้ กลายเป็นความเดือดร้อน ไม่ว่าจะทำให้ตนเองเดือดร้อน ทำให้คนอื่นเดือดร้อน หรือเดือดร้อนกันทั้งตนเองและคนอื่น ก็ควรรีบไปขอโทษเสียโดยเร็วแม้จะต้องขอขมาคนทั้งเมืองก็ยังต้องยอม ถ้าผิดแล้วต้องยอมรับผิด ไม่ดันทุรัง ถ้ามีคนดันทุรังทำความผิด ความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหน ๆ ก็แตก องค์กรจะใหญ่เท่าไรก็ต้องแตกแม้ประเทศชาติก็ต้องแตก องค์กรนั้น ๆ จะตั้งอยู่ไม่ได้


   แต่ทว่าเมื่อทำการนั้นเสร็จแล้ว ประเมินแล้วว่าไม่มีใครเดือดร้อน เราเองก็ไม่เดือดร้อนใคร ๆ ก็ไม่เดือดร้อนสักคนหนึ่ง ตรงกันข้ามการงานที่ทำไปเป็นบุญกุศลเต็มที่ ประเมินแล้วมีแต่ดีกับดีแล้วละก็ ให้ทบทวนแล้วทบทวนอีก ปลื้มให้มาก ๆ แล้วชักชวนกันให้ทำความดีต่อไปให้มาก ๆ ยิ่งปลื้มมากเท่าไร บุญก็จะขยายเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น


   การทำงานไม่ว่าผิดหรือถูก เมื่อเราทำเป็นทีม ผิด ก็ผิดด้วยกัน ถูก ก็ถูกด้วยกัน งานทุกงานถ้าลูกน้องทำพลาดเมื่อไร ผู้เป็นหัวหน้ายิ่งต้องลุกขึ้นมารับผิดตรงนี้ เพราะต้องยอมรับว่า ตนผิดตรงที่เลือกใช้คนผิด หากจะมีใครสักคนในทีมอ้างว่าทำไมตนต้องรับผิดด้วย เพราะตนก็เคยทักท้วงไปก่อนแล้วว่าอย่าทำ แต่ทีมก็ยังฝืนทำ จะให้ตนไปรับผิดด้วยอย่างไร เมื่อทำงานร่วมกันเป็นทีมเดียวกันแล้ว ก็ต้องรับผิด ผิดตรงที่อธิบายไม่เป็น พรรคพวกทีมงานจึงทำไปอย่างนั้น ถ้าอธิบายได้ดี ทีมงานก็เชื่อ ก็เข้าใจ เมื่อไม่สามารถอธิบายได้สำเร็จ ก็ควรมีส่วนร่วมรับผิดไปด้วยกัน


   ด้วยวิธีการคิดก่อนการทำงานด้วยความรอบคอบ ทั้งคิดก่อนทำ คิดก่อนพูด และคิดก่อนคิด จะก่อให้ทีมงานได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขเคียงบ่าเคียงไหล่ไปด้วยกัน ทีมงานจะเดินหน้าต่อไปได้หน่วยงานจะประสบความสำเร็จ การงานเจริญเติบโต และทุกคนในทีมจะทำงานอย่างมีความสุข..

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล