ฉบับที่ ๑๔๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๗

ตำรับยอดเลขา จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑ ตอนที่ ๘ จรรยาข้อที่ ๑๕-๑๖

ตำรับยอดเลขา
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

 

ตำรับยอดเลขา

จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” 
วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑

 


ตอนที่ ๘
จรรยาข้อที่ ๑๕-๑๖

 

     “ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อ    ผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับยอดเลขา” โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน

 

๑๕
การเคารพต่อผู้มีวาสนาบรรดาศักดิ์


กิริยามารยาทในการติดต่องานเป็นเรื่องสำคัญ
งานใหญ่พังเพราะไม่ระมัดระวังเรื่องนี้มามากแล้ว
เปรียบเหมือนก้างปลาชิ้นเล็ก ๆ ที่ดูเหมือนไม่อันตราย
แต่ถ้าไม่ระวังก็ติดคอตายได้เหมือนกัน

 

 

๑๕. การเคารพต่อผู้มีวาสนาบรรดาศักดิ์

 

    ไปหาท่านผู้มีวาศนาบรรดาศักดิ์ ณ ที่ใด ๆ ก็ดี ต้องมีกิริยาอันสุภาพ ถ้าท่านนั่งอยู่กับพื้นฤๅที่อันต่ำ เราต้องควรใช้กิริยาธรรมเนียมไทย ๆ คือหมอบและคลานและนั่งพับเพียบกราบไหว้ให้เป็นสุภาพ ถ้าแม้ท่านนั่งอยู่บนเก้าอี้ ฤๅม้าเตียงอย่างไรที่สูง เราก็ควรใช้กิริยายืนและคำนับตาม ควรที่พึงจะกระทำ ถ้าท่านบอกให้นั่ง ณ ที่ใดเราจึงนั่ง แม้ท่านไม่บอกให้นั่ง เราก็ไม่ควรจะนั่งก่อนบอกอนุญาต และคารวะอย่างยืนนั้น ถ้าจะให้งามก็ควรจะน้อมไปข้างหน้าหน่อย ๆ ฤๅเพียง ตัวตรง ก็ยังดีกว่าแอ่นหน้าเช่นธรรมเนียมทหาร เพราะทหารเขาต้องการขึงขังอย่างแข็งแรง จึงใช้อกแอ่นผึ่งผาย ถึงนายเราก็ควรใช้กิริยาเช่นนี้เหมือนกัน เว้นแต่ท่านอยู่กับบ้านควรที่ใช้หมอบคลานและนั่ง ดีกว่าคารวะอย่างยืน ถ้าเราถือจดหมายมาเราต้องรู้ว่าจะคอยรับตอบฤๅไม่นั้นด้วย

 

  เรื่องกิริยามารยาทในการเข้าหาผู้ใหญ่นี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะอาจทำให้งานล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จได้ อย่างเด็กวัดของหลวงพ่อนี่แหละ มีฝีมือในเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน ใช้คนหนึ่งไป ติดต่อปรากฏว่าไม่ค่อยได้เรื่องกลับมา ถ้าไม่ถูกปฏิเสธก็รู้สึกไม่ค่อยราบรื่น ได้งานมาแบบเสียไม่ได้  ในขณะที่ใช้อีกคนหนึ่งไป งานคล้าย ๆ กันนี่แหละ คนนี้กลับราบรื่น ขากลับเขายังบอกอีกว่า    ยินดีมาก และจะให้การสนับสนุนต่อไปภายหน้า สืบสาวราวเรื่องดูก็พบว่า เพราะเด็กสองคนนี้       มีกิริยามารยาทต่างกัน เมื่อไปติดต่องานกับคนอื่นจึงได้ผลออกมาไม่เหมือนกัน


    เรื่องธรรมเนียมและมารยาทเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ อย่าคิดว่าไม่สำคัญ ใครมีลูกน้องแล้วไม่ฝึกให้ดี งานการเสียหายหมด อย่านึกนะว่าไม้กลัดหรือก้างปลาชิ้นเล็ก ๆ จะไม่สำคัญ ถ้าไม่ระวังให้ดี    ก็ติดคอตายได้ อย่าทำเป็นเล่นไป โบราณท่านจึงสอนวิธีนั่งเมื่อเข้าหาผู้ใหญ่ไว้ดังนี้


    ๑.    อย่านั่งไกลเกินไปจนต้องตะโกนพูดกัน หรือใกล้เกินไปจนกลิ่นตัว กลิ่นปาก โชยไปรบกวนท่าน


    ๒.    ต้องอยู่ในแนวสายตาท่าน ไม่ใช่อยู่ขนานกับตัวท่านหรือคล้อยไปข้างหลัง จนท่านต้องตะแคงหน้าพูดด้วย คนเรามีแนวสายตาจำกัด พ้นจากแนว ๔๕ องศาไป ก็มองหน้ากันไม่ถนัดแล้ว ขืนให้ท่านตะแคงตัวพูดด้วยจนเอวยอก รับรองไม่ได้งาน แถมถูกด่าส่งมาอีก


    ๓.    อย่านั่งประจันหน้า คืออย่าไปนั่งตรงหน้าท่าน จะเหมือนกับไปนั่งจ้อง เสียมารยาท ไม่ดี ให้นั่งเยื้องไปทางซ้ายหรือขวาหน่อยจึงจะดี


    ๔.    ให้นั่งเยื้องไปทางปลายลม อย่าไปอยู่ทางต้นลม เพราะถ้าเราเป็นคนขยันทำงานละก็ เหงื่อท่วมตัวทั้งวัน ตัวเราเองอาจจะคุ้นกลิ่นตัวเองจนไม่รู้สึกรำคาญ แต่ผู้ใหญ่ท่านอาจรู้สึกได้ ยิ่งไปนั่งต้นลมด้วยแล้ว บางทีท่านทนกลิ่นสาบเราไม่ได้ เลยไม่อยากพูดด้วย ตัดบทว่ามีธุระ ลุกหนีไปเสีย     งานก็จะไม่ได้


    ทั้ง ๔ ข้อนี้จำให้ขึ้นใจ เมื่อเลือกที่นั่งได้ถูกต้องแล้ว คราวนี้ก็ต้องระวังเรื่องท่านั่งให้ดี        หลายคนยังไม่เข้าใจ เวลาไปคุยกับพระชอบนั่งขัดสมาธิ เขาไม่ทำกัน เพราะท่านั่งสมาธินั้น เขาเรียก ว่าสมาธิบัลลังก์ เป็นท่านั่งของผู้ใหญ่ เช่น กษัตริย์เวลาปกครองประเทศ ท่านใช้ท่านั่งสมาธิบัลลังก์ หรือผู้พิพากษาว่าคดีความก็ขึ้นบัลลังก์ แต่เราไปหาผู้ใหญ่ ไม่ควรนั่งขัดสมาธิ ให้นั่งพับเพียบแทน ท่านั่งพับเพียบต่อหน้าผู้ใหญ่ก็อย่ายืดจัด เดี๋ยวท่านจะหมั่นไส้ เพราะมันเกินไป


    ส่วนท่ายืน ท่าเดิน ก็สำคัญเหมือนกัน จะเดินตึง ๆ พึ่บพั่บเข้าไปแบบทหาร หรือเข้าไปหาผู้ใหญ่แล้วยืนอกแอ่น นั่นไม่ควร ถึงฝึกทหารก็เถอะ เล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ขอให้ระวังกันให้มาก อย่ามองข้ามไป เพราะบางทีเรื่องบางเรื่องท่านเต็มใจจะช่วยอยู่แล้ว แต่มาดของเรามันน่าหมั่นไส้ เลยไม่ช่วย ปล่อยทิ้งเสีย เลยยุ่งใหญ่ อย่างเราจะสอนหนังสือให้น้อง แต่น้องยืนเท้าเอว เลยไม่อยากสอน เพราะท่าไม่น่าสอน น่าเคาะหัวเสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นไปฝึกมารยาทการยืน เดิน นั่ง นอน ให้ดี ไม่อย่างนั้นจะหมดเสน่ห์ แล้วเสนียดจะเข้ามาแทน


    ถ้าเราเป็นผู้ถือจดหมายไปติดต่อผู้ใหญ่ เมื่อรับงานจากนายมา อาจถามท่านเลยว่า จะให้รอคำตอบด้วยไหม เราจะได้รอรับคำตอบมาเลย ไม่ต้องเทียวไปเทียวมา

 

๑๖
จงเลือกโอกาสเข้าหาผู้ที่นายใช้ไปด้วยกิจธุระ

 

การติดต่อธุระการงานนั้น
ถ้าไปติดต่อผิดจังหวะเวลา ก็อาจกลายเป็นทำเสียเรื่อง
โบราณจึงเตือนว่า ไม่ได้เรื่องไม่เป็นไร แต่อย่าทำเสียเรื่อง
เพราะถ้าทำเสียเรื่องจนถูกปฏิเสธกลับมาครั้งหนึ่ง
โอกาสที่จะทำงานสำเร็จ ก็กลายเป็นเรื่องยาก

 


๑๖. จงเลือกโอกาสเข้าหาผู้ที่นายใช้ไปด้วยกิจธุระ

 

    เราไปหาท่านด้วยธุระอันใดของนายเราก็ดี หรือจะเข้าหานายเราก็ดี ควรจะมีกิริยาอย่างนี้คือ ถ้าท่านพูดอยู่กับใครหรือทำการอะไรอยู่คามือ เราต้องควรยับยั้งรอพอให้ท่านพูดหรือทำเสร็จธุระขาดตอนเสียก่อน เราจึงควรร่ำเรียนสน่ำเสนอกิจการของเราจึงจะควร อย่าทลึ่งขวางกลางปล้องสวนควันเข้าไปเวลานั้นจึงจะดี เว้นไว้แต่การด่วนสำคัญจริง ๆ ซึ่งจะช้าเวลามิได้ ถ้าเช่นนั้นก็เป็นการจำเป็นอยู่กรากใส่ก็ควร และอีกนัยหนึ่งเราจะเข้าร่ำเรียนอะไรต่อนาย จะเป็นเรื่องส่วนตัวขอความเมตตา ฤๅธุระอันใดก็ดี ถ้าแม้ท่านยังขุ่นหมองฤๅมีโทสะอะไรอยู่ ก็ควรยับยั้งเหมือนกัน จงหาช่องโอกาสที่เวลาท่านสบายและปกติ การที่เรามีความประสงค์ในท่าน จึงจะสำเร็จสมประสงค์ของเรา ถ้าเราไม่มีความฉลาด หาโอกาสที่ควร การที่คิดไว้หวังสำเร็จก็อาจจะละลาย               กลายเป็นผิดเสียทีไปได้ ฤๅอีกนัยหนึ่งว่าคนชั้นสูงกว่าเราก็ดี ฤๅขั้นเสมอกับเราก็ดี เข้าพูดกิจจการ อันใดที่ติดต่อพัวพันกันอยู่สองคนแล้ว เราไม่สมควรจะสอดพูดอะไรขวางลิ่มเข้าไปให้เขาค้างเป็นอันไม่ควร เสียกิริยาไป เว้นไว้แต่เป็นการด่วน และข้อสำคัญอันที่ควรช้าไม่ได้

 

    นี้เป็นเรื่องมารยาทธรรมดา ๆ นี่เองว่า ถ้าหากผู้บังคับบัญชาใช้ให้เราไปติดต่อกับใครก็ตาม ถ้าเขากำลังติดประชุม หรือพูดคุยปรึกษางานอะไรกันอยู่ ก็แน่นอนว่า เราต้องรอจังหวะ ไม่ใช่พรวดพราดเข้าไป อย่าว่าแต่คนอื่นเลย แม้เป็นผู้บังคับบัญชาของเราเองก็เช่นกัน ถ้าหากว่าท่านกำลังทำอะไรอยู่ อย่าเข้าไปทันที เดี๋ยวจะสะดุด เพราะบางทีท่านกำลังคิดงานอะไรของท่านค้างอยู่ เราก็ควรจะเข้าไปเงียบ ๆ อาจนั่งรอก่อน หากท่านเงยหน้าขึ้นมาก็จะพูดกับเราเอง ถ้าท่านไม่พูดด้วยก็แสดงว่าท่านอาจจะกำลังคิดอะไรค้างอยู่ ก็ให้นั่งรอไปก่อน เว้นแต่เป็นเรื่องด่วนคอขาด      บาดตายจริง ๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


    สำหรับกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกับหลวงพ่อบ่อย ๆ บางทีกำลังเขียนหนังสือ ความคิดไหล กำลังหัวแล่นดี ถ้าใครมาขัดจังหวะทำให้ต้องหันมาพูดคุยด้วย พอกลับไปเขียนใหม่ อ้าว! ไม่ปะติดปะต่อกันเสียแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช่แขกแปลกหน้าละก็ หลวงพ่อเห็นแล้วอาจยังไม่พูดด้วยทันที       ขอเขียนต่ออีกสัก ๕-๑๐ นาที บางทีเกรงว่าเขาจะรอนาน ก็เหลียวกลับไปบอกให้เขารอสักครู่ แต่บางทีก็ถึงครึ่งชั่วโมง เพราะงานที่ทำนั้น ถ้าขาดตอนแล้วจะปะติดปะต่อไม่ได้ บางคนเขามีธุระ   รอไม่ไหวอาจขอกลับไปก่อน บอกวันหน้าจะมาหาใหม่ก็มี แต่ถ้างานของเขาด่วนจริง ๆ ต้องขอพบให้ได้ก็จำเป็นต้องหยุดให้เขา


    อีกประเด็นหนึ่งคือ ถ้าเราจะขอร้องหรือขอความช่วยเหลือจากผู้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ดูอารมณ์ของท่านก่อน ว่าพอจะรับอะไรได้หรือไม่ ถ้าท่านไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะรับฟังอะไร เช่น อารมณ์ขุ่น ๆ มาจากบ้าน เราเข้าไปขอโน่นขอนี่ ขอโบนัสเอย ขอยืมรถไปใช้เอย  ขอให้ท่านฝากลูกเข้าโรงเรียนเอย เที่ยวไปยุ่งกับท่าน เดี๋ยวก็โดนตะเพิด แต่ถ้าท่านอารมณ์ดี       เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย


    เวลาไปติดต่อผู้ใหญ่ โบราณสอนไว้ว่า ไม่ได้เรื่องไม่เป็นไร แต่อย่าให้เสียเรื่อง คือเมื่อเห็นว่าท่านกำลังอารมณ์ไม่ดี เข้าไปแล้วจะเสียเรื่อง อย่าทำ เพราะถ้าเสียเรื่องแล้ว หรือท่านปฏิเสธไป ครั้งหนึ่งแล้ว จะเข้าไปหาอีกก็ยาก


    บางทีไม่รู้ล่วงหน้า เข้าไปหาแล้วจึงรู้สึกว่าหน้าท่านไม่ค่อยดี อย่างนี้พูดเฉไฉไปอีกเรื่องหนึ่งจะยังเข้าท่ากว่า เช่น เข้าไปจะขอให้ท่านช่วยเหลืองานอะไรสักอย่างหนึ่ง พอเห็นสีหน้าท่านไม่สู้ดีแทนที่จะขอความช่วยเหลือท่าน ก็ถามท่านว่ามีอะไรจะให้รับใช้ไหม อย่างนี้ยังพอรอดตัว พอท่านอารมณ์ดีแล้ว ค่อยมารบกวนกันใหม่


    ประเด็นสุดท้าย อย่าว่าแต่ผู้บังคับบัญชาเราหรือบุคคลที่เราไปติดต่อ ซึ่งเป็นคนระดับเดียวกับผู้บังคับบัญชาเราเลย แม้แต่เพื่อนเรา คนเสมอเรา ถ้าเขากำลังพูดคุยกันอยู่ ก็อย่าเที่ยวสอดปากสอดคำเข้าไป มันไม่งาม รอให้เขาพูดกันเสร็จก่อน แล้วเราค่อยว่าเรื่องของเรา อย่างนี้จึงจะเข้าท่า.. 

 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล