ฉบับที่ ๑๔๓ เดือนกันยายน ๒๕๕๗

สะอาดกาย สะอาดใจ

กุศลกรรมบถ ๑๐
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณ?ิโต ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙ 
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์

 

 

สะอาดกาย สะอาดใจ

“สัตว์ทั้งหลายสะดุ้งต่ออาชญากันหมด เพราะชีวิตเป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลาย 
ฉะนั้น คนควรเอาตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ 
แล้วไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่ากัน” (ตุณฑิลชาดก)

 


   ความสุขใจของมนุษย์ประการหนึ่ง คือ การได้รับความปลอดภัยในชีวิต ความปลอดภัยนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความมั่นใจในตัวเอง คิดว่าตนเป็นที่พึ่งของตนได้จริง ขณะเดียวกันความมั่นใจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นคนไม่หวาดระแวงและไม่เกรงกลัวภัยใด ๆ เหมือนพระอรหันต์ทั้งหลายที่หมดกิเลสแล้ว ท่านจึงไม่หวาดหวั่นต่อความตาย ส่วนคนที่ไม่มีเวรมีภัยกับใครอีกประเภทหนึ่ง คือ ผู้ทรงศีล ก็จะมีความสุขกายสบายใจ ไม่หวาดระแวง และมีชีวิตอยู่ด้วยสันติธรรม 


   ในการรักษาศีลนั้น แม้เราจะตั้งใจรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ บางครั้งเราก็ขาดความมั่นใจในการวินิจฉัย มีความสงสัยว่า การกระทำของเราล่วงละเมิดศีลหรือไม่ ดังนั้นในการรักษาศีลเราควรศึกษาทำความเข้าใจในเรื่ององค์วินิจฉัยศีล ซึ่งเป็นหลักในการวินิจฉัยว่า ศีลขาดหรือไม่ จะได้มีความสบายใจและสามารถชี้ถูกชี้ผิดให้กับตัวเองได้  


    สำหรับองค์วินิจฉัยศีลนั้น พระอรรถ-กถาจารย์ได้จำแนกเอาไว้ว่า องค์ประกอบของปาณาติบาต มี ๕ อย่าง คือ ๑. สัตว์นั้นมีชีวิต ๒. รู้อยู่ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต ๓. มีจิตคิดจะฆ่าสัตว์นั้น ๔. มีความพยายามฆ่าสัตว์นั้น ๕. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น


    ยกตัวอย่างเช่น การที่เราไล่ยุง แล้วบังเอิญทำให้ยุงตาย โดยมิได้คิดจะฆ่ายุงเลย เช่นนี้ยังไม่เรียกว่าผิดศีล ศีลยังไม่ขาดเสียทีเดียว เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ครบองค์ ๕ ของการฆ่า ส่วนการกระทำใดที่แม้จะไม่ครบองค์วินิจฉัย อาจจะทำไปแค่องค์ ๔ อย่างนี้เรียกว่าศีลทะลุ ถ้าลดหลั่นลงมาอีกก็เรียกว่า ศีลด่าง ศีลพร้อย มัวหมองไปตามลำดับ


    การละเมิดศีลข้อที่หนึ่งนี้ จะมีโทษมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณของคนหรือสัตว์แต่ละประเภท เช่น ฆ่าพระอรหันต์เป็นบาปมากกว่าฆ่าปุถุชน ฆ่าพ่อแม่เป็นบาปกว่าฆ่าคนทั่วไป ถือว่าเป็นอนันตริยกรรมที่ห้ามสวรรค์และนิพพาน คือ ถ้าใครไปล่วงละเมิด ท่านถือว่าในภพชาตินั้น บุคคลนั้นจะไม่มีโอกาสเข้าถึงสวรรค์หรือบรรลุนิพพาน มีแต่ต้องไปเสวยทุกข์ใหญ่ในอบายภูมิอย่างเดียว


    หากฆ่าสัตว์ที่มีคุณมากจะมีโทษมากกว่าการฆ่าสัตว์ที่มีคุณน้อยหรือไม่มีคุณ สำหรับสัตว์เดรัจฉานชนิดที่ไม่มีคุณ การฆ่าสัตว์ตัวใหญ่มีโทษมากกว่าการฆ่าสัตว์ตัวเล็ก เช่น ฆ่าจระเข้มีโทษมากกว่าฆ่ากิ้งก่า เป็นต้นและให้เราดูที่ความพยายามในการฆ่าด้วย คือ หากมีความพยายามในการฆ่ามากก็มีโทษมาก มีความพยายามน้อยก็มีโทษน้อย สุดท้ายต้องดูที่เจตนาเป็นหลัก หากเจตนาแรงกล้า มีโทษมาก หากเจตนาน้อยก็มีโทษน้อย เช่น การฆ่าด้วยโทสะหรือด้วยความเกลียดชังมีโทษมากกว่าการฆ่าเพื่อป้องกันตัวเอง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เพื่อชีวิตการสร้างบารมีจะได้ไม่สะดุด เราอย่าได้พลาดพลั้งไปฆ่าหรือรังแกใครจะดีที่สุด จะได้มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เป็นผู้ไม่มีเวรไม่มีภัยกับใคร

 


    องค์ประกอบของอทินนาทาน มี ๕ อย่าง คือ ๑. ทรัพย์หรือสิ่งของนั้นมีเจ้าของหวงแหน  ๒. รู้อยู่ว่าทรัพย์นั้นมีเจ้าของหวงแหน ๓. มีจิตคิดจะลักทรัพย์นั้น ๔. มีความพยายามลักทรัพย์นั้น ๕. ลักทรัพย์ได้มาด้วยความพยายามนั้น


    องค์ประกอบของกาเมสุมิจฉาจาร มี ๔ อย่าง คือ ๑. หญิงหรือชายที่ไม่ควรละเมิด  ๒. มีจิตคิดจะเสพเมถุน ๓. ประกอบกิจในการเสพเมถุน ๔. สำเร็จกิจในการเสพเมถุน  


    การประพฤติผิดในกามมีโทษมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณความดีของผู้ที่ถูกละเมิด ความแรงของกิเลส และความพยายามในการประพฤติผิดในกามนั้น สำหรับศีลข้อ ๓ นี้ บางท่านอาจสงสัยว่า การเที่ยวหญิงขายบริการผิดศีลหรือไม่ เรื่องนี้แบ่งออกเป็น ๒ ประเด็น ประเด็นที่ ๑ เป็นเรื่องของการผิดศีล คือ จะหาหญิงที่ประกอบอาชีพนี้ด้วยความสุจริตใจเหมือนในสมัยก่อนนั้นยากมาก บางคนถูกบังคับข่มขู่มา บางคนลักลอบขายบริการโดยพ่อแม่ผู้ปกครองไม่รู้ เป็นต้น เมื่อมีใครไปล่วงละเมิดก็ถือว่าผิดศีล

 


    สตรี ๑๐ จำพวกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าฝ่ายชายจะล่วงละเมิดไม่ได้ หากละเมิดถือว่าผิดศีลทันที คือ สตรีที่อยู่ในความดูแลของมารดา สตรีที่อยู่ในความดูแลของบิดา สตรีที่อยู่ในความดูแลของทั้งมารดาและบิดา สตรีที่อยู่ในความดูแลของพี่ชายน้องชาย สตรีที่อยู่ในความดูแลของพี่สาวน้องสาว สตรีที่อยู่ในความดูแลของญาติ สตรีมีโคตรตระกูลปกครอง สตรีมีธรรมคุ้มครอง สตรีมีคู่หมั้น และสตรีมีกฎหมายคุ้มครอง ในทำนองเดียวกัน สตรีก็ไม่อาจล่วงละเมิดชายที่อยู่ในเงื่อนไขเดียวกันนี้ หากหญิงเหล่านี้แอบไปทำงานขายบริการ ชายที่ไปเที่ยวก็ถือว่าเข้าข่ายผิดศีลกาเมฯ เพราะฉะนั้นทางที่ดีอย่าเอาตัวไปเสี่ยงกับการผิดศีลเลย


    ประเด็นที่ ๒ การไปเที่ยวหญิงขายบริการนั้น เป็นการเปิดประตูอบาย เพราะทำให้ใจหมกมุ่น การที่ชายชอบเที่ยวหญิงขายบริการ เป็นเพราะส่วนใหญ่ไม่รู้จักหักห้ามใจตัวเอง เพราะทั้งคน ทั้งสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นหมู หมา กา ไก่ ล้วนอาศัยอยู่ในโลกใบเดียวกัน มีชีวิตเหมือนกัน ต่างมีสิ่งที่คอยบีบคั้นใจเหมือนกัน คือ ความต้องการทางเพศ เพราะกิเลสราคะบังคับ เมื่อเกิดความกำหนัด สัตว์เดรัจฉานไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะมันไม่มีหิริโอตตัปปะ มันจึงสนองความต้องการนั้นในทันใด จะสมสู่กับสัตว์ตัวใด ที่ใด เวลาใดก็ได้


    มนุษย์มีสติปัญญามากกว่าสัตว์ ถ้าไม่รู้จักหักห้ามใจ ไม่รู้จักเลือกว่าใครไม่เหมาะไม่ควร ถึงแม้จะเป็นคนโสด และฝ่ายหญิงยินดีพร้อมใจก็ตาม ก็จะเป็นการเริ่มเพาะนิสัยเอาแต่ใจตัวเอง ตามใจกิเลสจนคุ้น บาปในอดีตจะได้ช่องตามมาทัน ทำให้มีโอกาสติดโรคร้ายได้ง่าย ต้องเสียชื่อเสียง และมีมลทิน เป็นตราบาปในใจ การทำอย่างนั้นเป็นการเพาะนิสัยมักมากในกามคุณ และไม่เห็นคุณค่าของความเป็นคน เมื่อมองเห็นคนด้อยคุณค่าสังคมก็เดือดร้อนวุ่นวาย เพราะต่างขาดความจริงใจ สิ่งที่ตามมาก็คือ ขาดความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและต่อสังคมไปโดยปริยาย

 


    สิ่งที่ร้ายไปกว่านั้น คือ การติดในรสกาม ซึ่งจะติดไปในขันธสันดานข้ามชาติ เพราะเวลาใกล้ตาย ความดีที่เคยทำเอาไว้ก็นึกไม่ออก นึกออกแต่ภาพไปเที่ยวหญิงโสเภณี ภาพเหล่านี้จะเป็นกรรมนิมิตมาฉายให้เห็นอยู่คนเดียว คนอื่นเขาไม่เห็นกับเราด้วย ถ้าละโลกไปด้วยใจที่เศร้าหมอง โอกาสไปนรกจะมีมากกว่าคนที่ใจไม่หมกมุ่นในเรื่องนี้ ถึงคราวบาปส่งผล ตัวเราก็จะได้ไปเกิดเป็นหญิงขายบริการบ้าง ผลัดกันรับวิบากกรรม เพราะแต่เดิมผู้หญิงที่ขายบริการก็เคยเป็นผู้ชายนักเที่ยวมาก่อน เธอจึงได้มาชดใช้วิบากกรรมเช่นนี้ มาเป็นที่รองรับอารมณ์ให้กับผู้ชายที่หักห้ามใจไม่เป็น ดังนั้นถ้าไม่อยากผิดศีล ไม่อยากมัวหมอง และไม่ปรารถนาจะไปเสวยทุกข์ในอบาย ก็อย่าไปยินดีในการล่วงละเมิดศีลกาเมฯ ไม่ว่าจะในกรณีใด ๆ เพราะสุขสัมผัสเพียงชั่วคราวจะทำให้ต้องทุกข์ทรมานไปอีกหลายชาติ ซึ่งไม่คุ้มกัน


    ทั้งหมดนี้ คือองค์ประกอบของการวินิจฉัยศีลข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ ว่าผิดศีลหรือไม่ รวมไปถึงทัศนะเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรศึกษาไว้ และจากความรู้ในเรื่ององค์วินิจฉัยศีลนี้ ทำให้เราตอบข้อสงสัยได้ว่า การกระทำแค่ไหนเป็นการทำให้ศีลขาด แค่ไหนเป็นเพียงศีลด่างพร้อยไปเท่านั้น แต่ดีที่สุดอย่าให้ศีลด่างพร้อยมัวหมองเลย ควรสมาทานรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ทุกวัน เพราะศีลเป็นเหตุแห่งความสุข เป็นทางมาแห่งโภคทรัพย์ และเป็นต้นทางให้ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล