ฉบับที่ ๑๕๔ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๘

พุทธบุตร... ต้องสวมหัวใจความเป็นพระแท้ ด้วย “สัมมาอะระหัง”

อานุภาพ “สัมมาอะระหัง”
เรื่อง : พระบริบูรณ์ ธมฺมวิชฺโช

 

พุทธบุตร...
ต้องสวมหัวใจความเป็นพระแท้
ด้วย “สัมมาอะระหัง”

 

 

   ช่วงนี้เป็นฤดูกาลแห่งการเข้าพรรษา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการฝึกฝนอบรมตนเองของพระภิกษุให้เป็นพระแท้ที่สมบูรณ์พร้อมทั้งกิจวัตรกิจกรรม เพื่อนำพาไปสู่การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน โดยเฉพาะการฝึกฝนอบรมจิตถือเป็นการฝึกที่สำคัญที่สุดของพระ เพราะจิตที่สะอาดผ่องใสย่อมส่งผลให้ศีล สมาธิ ปัญญา และสมณสัญญาเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้การฝึกจิตเป็นไปอย่างก้าวหน้า รวดเร็ว ต้องอาศัยการภาวนา “สัมมาอะระหัง” กำกับตลอดเวลา

 

ดังตัวอย่างของพุทธบุตรผู้มีหัวใจ “สัมมาอะระหัง” ที่เคยปฏิบัติแล้วและได้ผลดีอย่างน่าติดตาม

 

ความประทับใจของพระธุดงค์ ปีที่ ๔
พระกิตติพงศ์ ปวรชโย

 

   ความประทับใจของอาตมาในขณะที่มีโอกาสได้บวชแล้วเดินธุดงค์คือ เรื่องของการตรึกธรรมะ ด้วยการภาวนา “สัมมาอะระหัง” ได้ทราบแล้วว่า “สัมมาอะระหัง” เป็นของจริง วันไหนที่ลืมตรึกจะมีอาการเหนื่อยหอบและเจ็บกล้ามเนื้อปรากฏขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นั่นเป็นสิ่งเตือนว่าเราเริ่มฟุ้งแล้ว จึงได้เริ่มตรึก “สัมมาอะระหัง” ไปเรื่อย ๆ อาการเจ็บก็เริ่มลดลงจนหายไปในที่สุด นี้คือความประทับใจในการตรึก “สัมมาอะระหัง”ซึ่งเห็นได้จริง และพิสูจน์ได้จริงว่า ถ้าเรานิ่งจะท??ำให้เราไม่เจ็บและจะเดินไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างสบาย ปกติอาตมาเป็นคนใจร้อน ตอนนี้นิ่งขึ้น รวมใจได้เร็วขึ้น “สัมมาอะระหัง” ได้นิ่งขึ้นนานขึ้นเป็นอย่างมาก

 

"ถ้าเรานิ่งจะทำ?ให้เราไม่เจ็บ
และจะเดินไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างสบาย
ปกติอาตมาเป็นคนใจร้อน
ตอนนี้นิ่งขึ้น รวมใจได้เร็วขึ้น"

 

ความประทับใจของพระธุดงค์ ปีที่ ๔
พระกรภัทร์ ขนฺตสุโภ

 

   ตอนอาตมาได้เดินธุดงค์ อาตมาอยู่ในลำดับที่ประมาณหกร้อยกว่าเดินไปก็ต้องรักษาใจไปด้วย วิธีที่ดึงใจให้กลับมาตั้งที่ศูนย์กลางกายได้ง่ายที่สุดก็คือ การภาวนา “สัมมาอะระหัง” ตอนแรก “สัมมาอะระหัง”ในใจยังไม่ค่อยได้เต็มที่นัก ต้องอาศัยใช้เทคนิคเป็นเสียงกระซิบออกจากปากนิดหนึ่ง ภาวนา “สัมมาอะระหัง” เบา ๆ ปากขมุบขมิบอยู่ นับไปเรื่อย ๆพอภาวนาและเดินไปได้สักพักก็เกิดความปลื้มขึ้นมาอย่างมหาศาล มีความปลื้มไม่หยุดเลย ลืมนึกถึงความเหนื่อยล้าต่าง ๆ ไปเลย พอใกล้จะจำวัดจึงเพิ่งจะมารู้ตัวว่า ตัวเองเจ็บเท้า ผลการปฏิบัติธรรมของเราจะดีขึ้นหรือเปล่าอันนั้นไม่แน่ใจ แต่ที่เราทราบอย่างเด่นชัดก็คือ เราสามารถตรึกธรรมะเป็น ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าตรึกธรรมะคืออะไร นึกอย่างไร ลืมตาก็เห็นภาพแล้วจะไปเห็นกลางท้องได้อย่างไร แต่ทีนี้พอเราได้ “สัมมาอะระหัง” ภาวนาไปด้วย นับไปด้วย หลุดบ้างไม่หลุดบ้าง พอมารู้ตัวอีกทีสามารถมองไปข้างหน้าโดยนึกองค์พระไว้ที่กลางท้องได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งก็แปลกเหมือนเราสามารถนึกถึงสิ่งสองสิ่งที่อยู่ไม่ติดกันได้ แล้วก็นึกถึงในท้องได้อยากจะขอบคุณสาธุชนที่ชวนมาบวช อาตมาไม่เคยคิดเลยว่าการบวชจะเป็นอะไรที่มีค่าขนาดนี้

 

" วิธีที่ดึงใจให้กลับมาตั้งที่ศูนย์กลางกาย
ได้ง่ายที่สุด คือ
การภาวนา ‘สัมมาอะระหัง’"

 

  กว่าใครผู้หนึ่งผู้ใดจะได้บวชไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเป็นบุคคลที่มีบุญมาก และเมื่อบวชแล้วหากตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ก็จะยิ่งเพิ่มเติมบุญบารมีให้มากขึ้นเป็นทวีคูณ เป็นการบ่มบุญบารมีให้แก่รอบได้อย่างรวดเร็วที่สุด อีกทั้งถ้าบวชแล้วหมั่นเจริญสมาธิภาวนาประคองสติสัมปชัญญะให้ตั้งมั่นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตลอดเวลา โดยการภาวนา “สัมมาอะระหัง” ทุกลมหายใจเข้าออกจะยิ่งเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้เราเข้าถึงความเป็นพระแท้ คือ พระธรรมกายภายในได้อย่างไม่ยากเย็นและเมื่อได้เห็นแล้ว เราจะยิ่งซาบซึ้งในคุณแห่งพระพุทธศาสนา คุณแห่งพระรัตนตรัย และมั่นใจในทุกวันเวลาแห่งการดำรงสมณเพศว่า นี้แหละคือทางเลือกที่ใช่ ที่นำไปสู่จุดหมายปลายทางที่ชอบคือ ที่สุดแห่งธรรมได้อย่างมั่นคง

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล