ฉบับที่ ๑๔๓ เดือนกันยายน ๒๕๕๗

ย้อนวันคืน...ฟื้นรอยจาร

บทความน่าอ่าน     
เรื่อง : Tipitaka (DTP)

 

 

ย้อนวันคืน...ฟื้นรอยจาร


    เส้นอักษรบนแผ่นลานเกิดจากเหล็กปลายแหลมที่ช่างจารใช้เขียนเป็นร่องลงในเนื้อลาน แล้วใช้ลูกประคบแตะเขม่าจากควันไฟที่ติดก้นหม้อดินเผาหรือถ่านหุงข้าว   บดละเอียดผสมน้ำมันยางลูบบนหน้าลานจนทั่ว จากนั้นนำทรายร้อนมา “ลบใบลาน” โดยนำทรายละเอียดที่ตากแดดหรือคั่วจนร้อนโรยลงบนหน้าลานนั้น แล้วขัดด้วย    ลูกประคบไปทางเดียวกันหลาย ๆ ครั้ง 

 

 

    ความหยาบของทรายจะขัดเสี้ยนของใบลานออกไป ทำให้ผิวหน้าลานเรียบเนียนมือ ส่วนความร้อนจากทรายจะลบสีดำส่วนที่    อยู่นอกรอยจารออกไปจนสะอาด เหลือเฉพาะตรงส่วนร่องจารที่น้ำมันยางผสมเขม่าหรือถ่านบดไหลซึมและฝังตัวติดอยู่กับเส้นอักษรนั้น ปรากฏเป็นเส้นสีดำทำให้อ่านได้ง่ายและชัดเจน 

 

    แม้ว่าวิธีการดังกล่าวจะทำให้สีดำติดเส้นอักษรเป็นเวลาหลายร้อยปี แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ความเข้มบางส่วนก็ค่อย ๆ ลบเลือนไป หรือบางครั้งหมึกยังคงติดแน่นอยู่ แต่ไม่สามารถอ่านได้ เพราะมีคราบสกปรกเปรอะเปื้อนมาปิดบังไว้ ดังนั้นการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานก่อนจะนำไปศึกษาหรือเก็บเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้ โดยเฉพาะการทำความสะอาดใบลานและตรวจสอบความสมบูรณ์ของตัวอักษรอย่างพิถีพิถัน 
    

 

    การทำความสะอาดใบลานมีทั้งการทำความสะอาดแบบแห้งและการทำความสะอาดแบบเปียก หากใบลานฉบับนั้นมีเพียงฝุ่นละอองเปรอะเปื้อน จะใช้แปรงขนอ่อน เช่น แปรง       ขนกระต่าย ปัดฝุ่นไปตามทิศทางของเส้นใย   ของลานทั้งด้านหน้าและด้านหลังอย่างเบามือ แล้วเช็ดตามด้วยสำลีแห้งเบา ๆ แต่หากเป็นคราบสกปรกติดแน่น มีเชื้อราหรือไข่แมลง      จะใช้การทำความสะอาดแบบเปียกด้วยสำลี    ชุบน้ำสะอาดหรือสารละลายเอทิลแอลกอฮอล์พอหมาด ๆ เช็ดทำความสะอาด แล้วผึ่งลม   ให้แห้งในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทสะดวก และไม่ให้โดนแสงแดด

 

     การทำความสะอาดทั้งแบบแห้งและเปียกนี้ต้องพิจารณาถึงสภาพของใบลานฉบับนั้น ๆ ด้วย หากใบลานยังอยู่ในสภาพดีก็ไม่จำเป็นต้องนำใบลานออกจากผูก แต่หากใบลานกรอบ เปราะ หรือชำรุดมาก ต้องถอดสายสนองออกแล้วทำความสะอาดใบลานทีละแผ่นอย่างระมัดระวัง ใบลานที่เปราะหรือกรอบมาก ๆ ต้องใช้วิธีแตะแทนการเช็ดเพื่อป้องกันใบลาน เสียหาย นอกจากนี้สามารถเพิ่มความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นได้โดยใช้น้ำมันสกัดจากพืชธรรมชาติทาลงบนลาน เพื่อทดแทนน้ำมันใน เนื้อลานที่ระเหยไป ซึ่งนอกจากช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแล้ว น้ำมันที่มีกลิ่น เช่น น้ำมันการบูร น้ำมันตะไคร้หอม น้ำมันยูคาลิปตัส ยังช่วยป้องกันแมลงและเชื้อราซึ่งเป็นศัตรูของใบลานได้อีกด้วย

 

    เมื่อทำความสะอาดเอาสิ่งสกปรกออกไปจากใบลานแล้วพบว่าหมึกในเส้นอักษรหลุดออกไปหรือตัวอักษรมีสีจางลง จะใช้วิธีการเติมความเข้มให้ตัวอักษร เพื่อคืนสภาพตัวเขียนให้สามารถกลับมาอ่านได้อย่างชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งอาจเลือกเติมความเข้มเฉพาะจุดหรือทำหมดทั้งหน้าลานก็ได้ ขึ้นอยู่กับกระบวนการและกรรมวิธีที่ต่างกันออกไป 


    
ภาพเปรียบเทียบหน้าใบลานขึ้นราก่อนและหลังทำความสะอาด

 

      สำหรับการปฏิบัติงานซ่อมอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานของสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร จะใช้การทาน้ำหมึกเพื่อทำให้รอยจารเข้มขึ้นทั้งหน้าลาน โดยใช้ลูกประคบแตะน้ำหมึกที่ได้จากน้ำกาวยางมะขวิดหรือกาวยางกระถินผสม     ผงถ่าน (คาร์บอน) ทาบนผิวลานให้ทั่ว ใช้       ผ้าขาวบางชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดหมึกออกจาก    ใบลาน แล้วเช็ดซ้ำอีกครั้งด้วยผ้าแห้งจนสะอาด ตัวอักษรจะติดชัดขึ้น

 

 

    สำหรับโครงการพระไตรปิฎก วัดพระธรรมกาย ก่อนการบันทึกภาพคัมภีร์ใบลาน          พระไตรปิฎกเพื่อรวบรวมเป็นไฟล์ภาพดิจิทัล เจ้าหน้าที่โครงการจะทำความสะอาดหน้าใบลานแต่ละหน้าด้วยการทำความสะอาดทั้งแบบแห้งและแบบเปียก แล้วลงน้ำหมึกเพิ่มความคมชัดให้ตัวอักษร เพื่อให้สามารถบันทึกภาพอักขระทุกตัวได้อย่างชัดเจน หลายครั้งพบว่าเมื่อลงน้ำหมึกไปจะปรากฏข้อความที่ผู้จารเดิมไม่ได้ลงสีดำไว้ สันนิษฐานว่าผู้จารหรืออาจารย์ผู้ตรวจสอบน่าจะแก้ไขเพิ่มเติมหลังจากลูบเขม่าหรือถ่านบดออกไปแล้ว แต่เมื่อนำกลับมาอ่านทวนในภายหลังพบข้อผิดพลาด จึงจารแก้ไขเพิ่มเติมลงไป แล้วไม่ได้มีการลูบเขม่าหรือถ่านบดซ้ำอีก ข้อความที่จารเพิ่มในภายหลังเมื่อหลายร้อยปีก่อนจึงปรากฏเป็นเพียงเส้นรอยจารเนื้อเดียวกับสีใบลาน ยากที่ใครจะสังเกตเห็น กว่าจะปรากฏให้เห็นเป็นรอยเส้นสีดำในปัจจุบันก็ผ่านกาลเวลามาหลายร้อยปี

 

(ภาพบน) เส้นอักษรก่อนลงน้ำหมึก  (ภาพล่าง) เส้นอักษรหลังลงน้ำหมึก
จะกลับปรากฏชัดขึ้น


    รอยจารจากเหล็กแหลมทุกเส้นที่บรรจงขีดลงไป ตัวอักษรทุกตัวที่เรียงร้อยเป็นข้อความล้วนกลั่นมาจากความตั้งใจของบรรพชน แต่งแต้มด้วยสีดำจากธรรมชาติที่ได้มาจากการสังเกตและภูมิปัญญาของปู่ย่า ตายาย น่าเสียดายที่ข้อความบางตอนขาดหายไปด้วยสาเหตุนานัปการ แต่ก็น่าดีใจที่ลูกหลานยังสนใจ มองเห็นคุณค่า เร่งเสาะหาและช่วยกันอนุรักษ์คืนสภาพตัวอักษรและข้อความที่บุรพชนเคยจารไว้ให้กลับฟื้นเห็นเป็นเส้นอักษรที่อ่านได้ชัดเจนในปัจจุบัน เปรียบเสมือนการย้อนวันคืนกลับไปสู่ห้วงเวลาประวัติศาสตร์ที่คัมภีร์อันทรงค่าได้สรรค์สร้างขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง..


การุณ โรหิตรัตนะ และคณะ, ความรู้ด้านการซ่อมอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน. กรุงเทพมหานคร : 
สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๖.
ก่องแก้ว วีระประจักษ์, หนังสือโบราณของไทย. สารานุกรมสำหรับเยาวชน ๓๒, (๒๕๕๑): ๗๙-๑๑๓.

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล