บทความน่าอ่าน
เรื่อง : Tipitaka (DTP)
ศรัทธาธรรม
ย้ำคำอธิษฐาน จารพระคัมภีร์
การอธิษฐานจิต คือ การตั้งผังสำเร็จขึ้นมาในใจ โดยอาศัยผลของบุญที่ทำในแต่ละครั้งมาเป็นพลวปัจจัยส่งเสริมให้สิ่งที่ตั้งใจไว้ดีแล้วสำเร็จสมปรารถนา เพราะเมื่อประกอบความดีแม้เพียงเล็กน้อย บุญย่อมส่งผลแก่ผู้กระทำไม่ว่าผู้นั้นจะตั้งจิตปรารถนาหรือไม่ก็ตาม แต่หากไม่อธิษฐานจิตกำกับให้ดี ผลแห่งบุญอาจไปสนับสนุนส่งเสริมสิ่งที่เป็นบาปก็เป็นได้ ดังนั้นจึงควรอธิษฐานจิตมุ่งตรงให้ผลจากบุญที่กระทำมาสนับสนุนส่งเสริมเฉพาะสิ่งที่ดีงามให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แม้พระโพธิสัตว์ในกาลก่อน ตลอดกาลยาวนานที่บำเพ็ญบารมีก่อนตรัสรู้ธรรม พระองค์ก็ต้องตั้งจิตปรารถนาอย่างแน่วแน่ที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต การอธิษฐานจึงเป็นประดุจหางเสือเรือที่คอยคัดนาวาชีวิตนำเราไปสู่จุดหมายปลายทาง เป็น ๑ ในบารมี ๑๐ ทัศ ที่ต้องทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอ ยิ่งบุญที่ได้สั่งสมมากเท่าใด แรงอธิษฐานจิตย่อมมากขึ้นเท่านั้น
การจารคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานเป็นบุญที่มีอานิสงส์อันจะนับจะประมาณมิได้เพราะภายหลังพุทธปรินิพพาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงตั้งสาวกองค์ใดให้เป็นพระศาสดาปกครองคณะสงฆ์สืบต่อจากพระองค์ แต่ทรงให้พระธรรมวินัย คือ คำสั่งสอนเป็นศาสดาแทนพระองค์ต่อไปในกาลภายหน้าจึงมีความเชื่อว่า การจารอักขระลงในคัมภีร์พระไตรปิฎกเพื่อรักษาพระธรรมวินัยแม้เพียงหนึ่งอักขระ ก็ได้บุญประหนึ่งสร้างพระพุทธรูป ๑ องค์เลยทีเดียว ดังที่สมเด็จพระวันรัตวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ในรัชกาลที่ ๑ กล่าวถึงอานิสงส์และความปรารถนาของการถวายคัมภีร์พระไตรปิฎกไว้ในหนังสือสังคีติยวงศ์ ปริเฉทที่ ๙ ว่า “แม้ว่าอักษรแต่ละตัว ๆ ก็ทรงคุณเสมอด้วยพระพุทธรูปแต่ละองค์ ๆ เพราะเหตุนั้น สาธุชนผู้บัณฑิตพึงจารึกพระไตรปิฎกไว้ก็เป็นอันชื่อว่า พระตถาคตเจ้าทั้งหลายมีประมาณ ๘๔,๐๐๐ พระองค์ ยังทรงพระชนม์อยู่ เมื่อพระไตรปิฎกยังดำรงอยู่ (ตราบใด) ผลคืออักษรดังพระพุทธรูปจะพึงดำรงอยู่เสมอ (ตราบนั้น) เพราะเหตุนั้นให้สาธุชนพึงจารด้วยตนเองและให้ผู้อื่นจารพระธรรมลงไว้ในใบลานและบรรจุไว้ในพระเจดีย์ อักษรแห่งพระไตรปิฎกทั้งหลาย ท่านประมาณไว้ว่า ๔๐๐ โกฏิ ๗๒ อักษร พระไตรปิฎกเหล่าใดที่ได้บรรจุไว้แล้ว ปิฎกเหล่านั้นได้ชื่อว่าเหมือนสร้างพระปฏิมากรไว้ ๔๐๐ โกฏิ ๗๒ พระองค์” คติความเชื่อดังกล่าวมิได้มีเฉพาะการจารใบลานสายจารีตไทยเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับคติความเชื่อของจารีตพม่าและสิงหลอีกด้วย
ที่มา : Storm, R. (2000). Indian Mythology: Myths and Legends of India, Tibet and Sri Lanka. Lorenz.
ดังจะเห็นได้ว่า ในคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานของทั้ง ๓ สายจารีต ล้วนปรากฏข้อความที่ผู้จารระบุรายละเอียดวัตถุประสงค์ในการสร้างคัมภีร์ใบลานพร้อมจารอานิสงส์และคำอธิษฐานจิตลงไปด้วย เพื่อเป็นการตอกย้ำความปรารถนาของตน ด้วยเชื่อมั่นในอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย จากการศึกษาคำอธิษฐานที่ปรากฏในคัมภีร์ทั้ง ๓ สายจารีตส่วนใหญ่จะพบข้อความว่า ผู้จารหรือผู้ถวายคัมภีร์มักอธิษฐานขอให้ผลานิสงส์จากการถวายเป็นพลวปัจจัยส่งให้เข้าสู่พระนิพพานเป็นที่สุด ดังปรากฏข้อความเป็นภาษาบาลีว่า “นิพพานะปัจจะโย โหตุ” นอกจากนี้บางคัมภีร์ ผู้จารหรือผู้สร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกถวายตั้งจิตอธิษฐานให้ตนได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต บ้างก็ขอให้ได้เกิดมาพบพระศรีอริยเมตไตรย บ้างก็เป็นการอธิษฐานให้ผู้เป็นที่รักได้รับความสวัสดีมีชัยคำอธิษฐานเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม การเวียนว่ายตายเกิด ผลของการกระทำ เพื่อประโยชน์สุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า โดยมีที่สุดคือการหมดสิ้นกิเลสอาสวะและได้เข้าสู่พระนิพพานอันสูงสุด
คัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกบาลี สีลขันธวรรค ทีฆนิกาย จารด้วยอักษรพม่า อายุราว ๒๕๐ ปี เก็บรักษาอยู่ที่เมืองอมรปุระ ประเทศเมียนมา ในตอนท้ายของมัดปรากฏเนื้อความกล่าวโดยรวมได้ว่า
การจารคัดลอกพระไตรปิฎกบาลี สีลขันธวรรค อันศักดิ์สิทธิ์ได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ ๖ แรม ๘ ค่ำ เดือนมีนาคม จุลศักราช ๑๑๒๙ ด้วยเดชกุศลกรรมอันเป็นส่วนบุญนี้ ด้วยบุญกุศลอันเกิดจากการคัดลอกใบลานนี้ ขอให้ข้าพเจ้ารอดพ้นจากอกุศลกรรม จากไฟทั้งสาม คือ ไฟราคะ ไฟโทสะ และไฟโมหะ ไม่ไปเกิดในอบายภูมิสี่ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ เดรัจฉาน ให้ปราศจากซึ่งอคติสี่ คือ ฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ และโมหาคติ ให้ปลอดภัยจากภัยทั้งห้า คือ อัคคีภัยโจรภัย อุทกภัย ราชภัย และศัตรูหมู่พาล ไม่มีธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า ๕ ประการ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ตัณหา ทิฐิมานะ และไม่ไปเกิดในสถานที่ซึ่งไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ๘ แห่ง และเมื่อข้าพเจ้าได้พบพระศรีอริยเมตไตรย ขอให้ได้บรรลุมรรค ผลนิพพาน พร้อมด้วยอภิญญา ๖ และฌาน ๘ ข้าพเจ้าขอแบ่งบุญกุศลอันเกิดจากการคัดลอกคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานให้แก่บิดามารดา ครูบาอาจารย์ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย รวมถึงสรรพสัตว์หลายล้านชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำและนภากาศ จงมารับกุศลผลบุญนี้ ขอธรณีนี้จงเป็นพยานต่อบุญกุศลที่บังเกิดขึ้น อันจะเป็นพลวปัจจัยให้เข้าถึงพระนิพพาน พร้อมด้วยปุพเพนิวาสานุสติญาณ ทิพพจักขุญาณ และอาสวักขยญาณ อักขระแต่ละตัวเปรียบประดุจพระพุทธเจ้าหนึ่งพระองค์ ดังนั้นผู้ที่มีความรู้เท่านั้นที่เหมาะสมจะคัดลอกคัมภีร์ใบลานได้ ท่านอัคคสภะโปรดอย่าได้ทำลายคัมภีร์พระไตรปิฎกบาลีแห่งสีลขันธวรรคนี้เลย หากท่านกระทำการดังกล่าวขอให้ประสบความทุกข์ยากแสนสาหัสในอบายภูมิด้วยเทอญ
ที่มา : สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร.
วิวัฒน์การอ่านไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ๒๕๕๖.
ข้อความตอนท้ายของผูกที่ ๒ จำนวน ๓ หน้าแผ่นลานของคัมภีร์พระไตรปิฎก สีลขันธวรรคอักษรธรรม จากจังหวัดแพร่ ระบุข้อความกล่าวโดยรวมไว้ว่า
คัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกฉบับนี้จารคัดลอกเสร็จในปีจุลศักราช ๑๑๙๘ โดยพระราชโอรสแห่งอาณาจักรล้านช้างร่มขาวผู้มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกขึ้น และด้วยอานิสงส์แห่งการสร้างคัมภีร์ดังกล่าว ทรงอธิษฐานขอให้หลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารมีทรัพย์สมบัติมหาศาล ได้เสวยสุขในโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ เป็นจอมจักรพรรดิผู้มีแสนยานุภาพประชาชนเคารพยำเกรง พระราชาแคว้นต่าง ๆ ยอมสวามิภักดิ์และถวายเครื่องบรรณาการให้ ขอให้บุญกุศลจากการถวายคัมภีร์พระไตรปิฎกนี้จงคุ้มครองให้ทรงแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งหลายไปทุกภพทุกชาติ อีกทั้งขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ราชวงศ์ของพระองค์ มีพระอัยกา พระอัยยิกาพระราชโอรส พระราชธิดา พระประยูรญาติ ตลอดจนสรรพสัตว์ที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด เมื่อใดพระองค์ประสบทุกข์ภัย ขอให้ทรงพ้นจากทุกข์ภัยนั้น และเมื่อใดพระองค์ประสบสุข ขอให้ทรงมีความบริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ตราบกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน
ที่มา : บุญเตือน ศรีวรพจน์, ประสิทธิ์ แสงทับ. สมุดข่อย. กรุงเทพ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๒
อักขระแต่ละตัวที่จารจารึกในคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานเปรียบประหนึ่งตัวแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เสด็จดับขันธปรินิพพานนานมาแล้ว การจารคัดลอกและการสร้างคัมภีร์ถวายในพระพุทธศาสนาบ่งบอกถึงความศรัทธาอย่างยิ่งที่ผู้สร้างและผู้จารมีต่อพระรัตนตรัย ความเชื่อมั่นในอานิสงส์แห่งการสร้างคัมภีร์ถวายสะท้อนผ่านคำอธิษฐานจิตที่ปรากฏเป็นตัวอักษรเรียงร้อยจารึกไว้ในส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ แม้ผู้สร้างและผู้จารพระคัมภีร์ละจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม แต่ทุกเส้นจารอักษรยังปรากฏอยู่บนใบลาน ราวกับจะบอกว่าความรักความศรัทธาในพระพุทธศาสนาความเชื่อมั่นในผลแห่งบุญ และคำอธิษฐานไม่เคยเลือนหาย ยังคงประทับแน่น บ่งบอกถึงความปรารถนาอันแน่วแน่ที่มีต่อหนทางพระนิพพาน เป็นต้นบุญต้นแบบให้ลูกหลานได้ปฏิบัติตามในภายภาคหน้าสืบไป
เชิญชมนิทรรศการ “เล่าเรื่องใบลาน สืบสานพุทธธรรม” ทุกวันอาทิตย์
ณ สภาธรรมกายสากล เสา ฒ ๒๔ (N 24)